บทความเรื่องตลกอีสาน : ภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย (ตอนที่ ๗)


เมื่อความขัดแย้งในครอบครัวไทยถูกนำมาเล่นตลก                     

                 จากการศึกษามุขตลกที่คณะเสียงอีสานและคณะเพชรพิณทองนำมาเล่นนั้น เรื่องหนึ่งที่พบในการแสดงคือ ความขัดแย้งและความสัมพันธ์ในครอบครัว หากเราวิเคราะห์มุขตลก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย จะพบว่าปมขัดแย้งระหว่างแม่ผัว-ลูกสะใภ้ พ่อตา-ลูกเขย สามี-ภรรยามีความสัมพันธ์กับความขัดแย้งในครอบครัวไทยอย่างมาก                       

               ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง (2544:  202-203) กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างพ่อตาลูกเขยนั้น ต้องพิจารณาจากโครงสร้างครอบครัวไทย ตามประเพณีไทยเมื่อผู้ชายแต่งงาน จะย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิง (matrilocality) หรือที่เรียกว่า แต่งลูกเขยเข้าบ้าน ในอดีตถ้าถามชายหนุ่มที่กำลังแต่งงานว่า แต่งงานแล้วไปอยู่ที่ใด มักได้รับคำตอบเป็นสูตรว่า ไปอยู่บ้านพ่อตา เมื่อธรรมเนียมไทยเป็นเช่นนี้ จึงเอื้อต่อความขัดแย้งระหว่างพ่อตากับลูกเขยผู้ต้องอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ลูกเขยก็รู้สึกว่าต้องอยู่ใต้อำนาจของพ่อตา พ่อตาก็รู้สึกว่า ลูกเขยรอคอยที่จะมีอำนาจสูงสุดในบ้าน                     

                การนำเสนอมุขตลกเกี่ยวกับความขัดแย้งและความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงทำหน้าที่เป็นทางออก (Social outlet) ให้กับสมาชิกคู่ที่มีความขัดแย้งในครอบครัว  เมื่อเป็นดังนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ชอบดูความขัดแย้งด้วยกันทั้งสิ้น เพราะบางเรื่องบางตอนก็ให้ความ สะใจ และเปิดโอกาสให้ลูกเขยเป็นฝ่ายชนะ ทำให้ผู้ฟังที่เป็นลูกเขยรู้สึกพอใจ                  

                     อีกประการหนึ่ง ในขณะที่ในชีวิตจริง ทุกฝ่ายต้องอดทน แต่ในการแสดงตลก ผู้แสดงหยิบยื่นทางออกที่ สะใจ ผู้ฟังมาก เพราะในชีวิตจริง ลูกเขยอาจจะพูดหรือแสดงออกอะไรไม่ได้ ด้วยสังคมไทยมีระบบความเกรงใจผู้อาวุโสเป็นหลักอยู่ แต่เมื่อนำมาแสดงด้านหน้าเวที ผู้แสดงสามารถแสดงอะไรก็ได้เพื่อระบายความกดดันของตนเองและคนในสังคมที่ไม่อาจจะกระทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง การแสดงดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมไทยที่ผู้คนกล้าที่จะเปิดเผยและระบายความคับข้องใจกันมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 155482เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2007 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท