ให้ลูกเป็น "เด็กดี" ต้องจ่ายอะไร


อัตตลักษณ์ของเด็กจะถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากสิ่งที่พวกเขาได้ยินเกี่ยวกับตัวเอง ... ข้อความที่สื่อความไม่ดีนี้จะมีพลังรุนแรงเมื่อได้รับจากผู้ที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด

หลายวันก่อนมีกระดาษสองแผ่นมาวางบนโต๊ะทำงาน  เมื่อได้อ่านจึงรีบตามหาเจ้าของซึ่งเป็นผู้ปกครองเพื่อขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อไป  ขอนำมาเล่าต่อเลยนะคะ

ให้ลูกเป็น เด็กดีต้องจ่ายอะไร?

ถอดความโดย ป๊าคม พ่อน้องพล อนุบาล 1/1

 ต้นทุนแอบแฝงของการลงโทษด้วยคำพูด

พวกเราเคยใช้คำพูดเหล่านี้กับลูกไหม?  ลูกทำอย่างนี้ อายเขาไหม 

หรือ ซนจังเลย หยุดเดี๋ยวนี้นะ  เด็กดื้อ  หยุดงอแงซะทีได้ไม๊ฯลฯ  

พวกเราใช้การลงโทษด้วยคำพูด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดุด่าว่าให้อาย – SHAMING)

กันเป็นประจำไม่ว่าทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และที่อื่นๆ

บางคนบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่จำเป็นต้องทำ

เพื่อที่จะสอนให้เด็กๆรู้ว่า สิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด

สิ่งไหนเป็นพฤติกรรมที่ ดีสิ่งไหนเป็นพฤติกรรมที่ เลว  

การลงโทษด้วยคำพูดเป็นการใช้ความ น่าอาย เป็นตัวหยุดยั้งพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งเหมือนกับการเฆี่ยนตีที่ใช้ ความเจ็บปวด เป็นตัวหยุดยั้งพฤติกรรม 

แล้วการลงโทษด้วยคำพูดแบบนี้ใช้ได้จริงหรือเปล่า? 

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าการลงโทษแบบนี้กำลังทำร้ายเด็กๆของเรา? 

ถ้าเราดุด่าว่ากล่าวซ้ำๆกันแบบนี้เรื่อยๆ   

จะทำให้เด็กๆฝังใจว่าเขาเป็นคน เลวหรือเปล่า?

ถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะทำยังไงกันดี?

 ธรรมชาติของการลงโทษด้วยคำพูด

การลงโทษด้วยคำพูดถูกออกแบบมาให้ยับยั้งการกระทำของเด็ก

โดยทำให้เด็กมีความคิดและความรู้สึกเชิงลบต่อตัวเอง

การลงโทษลักษณะนี้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

เป็นการแสดงความเห็นถึงภาพด้านลบของตัวเด็ก   มากกว่าที่จะแสดงถึงผลกระทบของพฤติกรรมของเด็กๆที่แสดงออกมา

เช่น เมื่อเด็กตีน้อง

เรามักจะดุว่าเด็กว่า ทำอย่างนี้นิสัยไม่ดีนะลูก

ซึ่งจะแสดงให้เห็นด้านลบกับตัวเด็ก มากกว่าที่เด็กจะรับรู้ว่า

พฤติกรรมที่เด็กตีน้องจะทำให้น้องเจ็บ น้องเสียใจ น้องกลัว

หรือ น้องไม่อยากที่จะเล่นด้วย 

 

การลงโทษด้วยคำพูดทำให้เด็กรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองรู้สึก ต้องการ หรือ ปรารถนา 

อาจมีหลายรูปแบบ

 ตัวอย่างเช่น คำพูดกดขี่:

   เด็กดื้อ 

   พ่อหมดหวังกับเธอแล้ว 

   เด็กงก

   เจ้าเด็กขี้แย 

คำพูดเชิงศีลธรรม:

   เด็กดีไม่ทำอย่างนั้นนะลูก

   เธอเป็นเด็กไม่ดี 

คำพูดคาดหวังเชิงอายุ:

   โตซะทีสิ

   อย่าทำเป็นเด็กอมมือได้มั๊ย

   คนโตแล้วเขาไม่ร้องไห้กันนะลูก 

คำพูดคาดหวังเชิงเพศ:

   อย่าขึ้แยเหมือนเด็กผู้หญิงหน่อยเลย 

คำพูดเชิงเปรียบเทียบ:

   ทำไมไม่ทำแบบน้องล่ะ

   เพื่อนคนอื่นไม่เห็นทำอย่างหนูเลย 

  เมื่อเราว่ากล่าวเด็กๆ อารมณ์อย่างแรกที่จะเกิดกับเขาก็คือ ความอาย

หลายคนมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องธรรมดาและยอมรับได้

ไม่ได้เกิดเฉพาะกับครอบครัวที่มีความรุนแรงเท่านั้น 

แม้แต่ในครอบครัวที่ ดีมากและในโรงเรียนที่สภาพแวดล้อมดีก็ยังเกิดขึ้นได้

แล้วความรู้สึกอายหรือความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีในเด็กที่ถูกว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? 

  พวกเราทุกคนเกิดมาไม่มีความรู้สึกอายติดตัวมาด้วย  มันเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้หลังจากเกิดมา

เป็นอารมณ์ในสำนึก (Self-conscious Emotion)

ซึ่งเริ่มต้นมีเมื่ออายุ ประมาณ 2 ขวบ

เมื่อเราเริ่มรับรู้ถึงภาษาที่ใช้สื่อสารและภาพพจน์เกี่ยวกับตัวเอง 

เราเรียนรู้ที่จะรู้สึกอายหรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีจากสถานการณ์ภายนอก  นั่นแปลว่าเมื่อไรก็ตามที่มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ก็ย่อมมี ผู้ที่บอกเราเช่นนั้น  ข้อความที่สื่อความไม่ดีนี้จะมีพลังรุนแรงเมื่อได้รับจากผู้ที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด  ดังนั้นการที่พ่อแม่ดุด่าว่าลูกจึงมีอิทธิพลมากที่สุดต่อตัวลูก  

แล้วทำไมการดุด่าถึงเกิดขึ้นได้ทั่วๆไป? 

เพราะการดุด่าเป็นการปลดปล่อยความโกรธของพ่อแม่ 

มันทำให้ผู้ดุด่ามีความรู้สึกดีขึ้น (ถึงแม้เพียงชั่วขณะ) 

เมื่อเด็กๆรู้สึกด้อยค่าจากการถูกว่ากล่าว

พวกเขาก็จะพยายามมากขึ้นเพื่อทำให้พ่อแม่พอใจ 

ซึ่งทำให้พ่อแม่คิดว่าการดุด่าว่าให้อายนี้ได้ผล 

แต่ว่ามันได้ผลจริงหรือ?

 

มีข้อถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกายต่อเด็กๆ(เช่นการตี) 

หลายๆประเทศมีกฎหมายห้ามลงโทษทางร่างกายต่อเด็ก 

โรงเรียนส่วนใหญ่ก็เลิกใช้วิธีนี้ 

นักจิตวิทยามีเอกสารวิจัยเป็นปึกที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการลงโทษทางร่างกาย 

ในขณะเดียวกันพวกเรากลับมองข้ามการลงโทษด้วยคำพูด

จนเมื่อไม่นานมานี้เองที่นักจิตวิทยาพบว่า

การลงโทษแบบนี้ก็มีผลกระทบรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน 

อารมณ์ความอายเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับนักจิตวิทยา

ที่จะศึกษาถึงผลกระทบของการลงโทษด้วยคำพูด ซึ่งไม่ง่ายนัก 

ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียผู้หนึ่งบอกว่า

ความอายเป็นอารมณ์ส่วนตัวที่สุดของคน ดังนั้นพวกเราจึงอาจจะไม่ได้รับรู้ว่า
เด็กๆของเรากำลังทนทุกข์ทรมานกับอารมณ์ที่อยู่ส่วนลึกนี้อย่างไร
 ผลเสียหายที่เกิดจากการถูกลงโทษด้วยคำพูด

ถ้าเราคิดว่าการลงโทษด้วยคำพูดใช้การได้ดี

เพราะว่ามันสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่เด็กๆของเราทำ

เราก็กำลังจำกัดตัวของพวกเราอยู่แค่พฤติกรรมของเด็กที่เรามองเห็นเท่านั้น 

มันง่ายสำหรับผู้ใหญ่ที่จะละเลยโลกภายในของเด็กๆ

อารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรม

ความทนทุกข์ทรมานของเด็กๆที่เกิดจากความอาย 

เรามักจะมองไม่เห็นถึงพฤติกรรมของเด็กๆหลังจากที่เราลงโทษเขาด้วยคำพูด 

พวกเราประเมินค่าความไวของเด็กต่อคำดุด่าว่าให้อายต่ำเกินไป 

  

มีหลักฐานเป็นจำนวนมากที่ชี้ให้ เห็นว่า 

คำพูดที่เราคิดว่าไม่เป็นอันตรายมีพลังเพียงพอที่จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตัวเอง

หรือสำนึกในคุณค่าของตัวเอง (Self-esteem) เมื่อพวกเขาโตขึ้นได้

อัตตลักษณ์ของเด็กจะถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากสิ่งที่พวกเขาได้ยินเกี่ยวกับตัวเอง  

ถ้าหากพวกเราละเลยความต้องการทางอารมณ์ (Emotional needs) ของเด็ก

ถ้าหากประสบการณ์ของพวกเขาถูกมองว่าไม่สำคัญ

พวกเขาจะโตขึ้นมา โดยมีความรู้สึกว่าพวกเขาไม่สำคัญติดตัวไป 

 

ถ้าหากพวกเขาได้รับคำบอกกล่าวอยู่เสมอว่าพวกเขา เลวและ ไม่เชื่อฟัง 

พวกเขาก็จะดูดซับข้อความเหล่านี้

และจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่พร้อมด้วยความเชื่อที่ได้รับการบอกกล่าวนี้

 

ความอายทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีกำลังที่จะกระทำการอย่างที่อยากทำ

อย่างที่อยากจะแสดงออก 

เราอยากจะเต้นรำ แต่ก็ถูกหยุดด้วยความจำที่เคยถูกดุว่า

อย่าเต้นแร้งเต้นกาเหมือนเด็กๆสิ

เราอยากหาความบันเทิงในชีวิตบ้าง

แต่ก็ถูกหยุดด้วยเสียงจากข้างในว่าอย่า ขึ้เกียจนะ

เรามุ่งหาความเป็นเลิศหรืออยากจะพูดจาแสดงความเห็น

แต่เราก็ไม่ทำเพราะสงสัยว่า เราจะเก่งพอหรือเปล่า

ความอายบดขยี้ความมีชีวิตชีวา ความอยากรู้อยากเห็น และความปรารถนาที่จะทำอะไรด้วยตนเองของเด็กๆ 

นักสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียบอกว่า

ความอายขัดขวางการแสดงออกของอารมณ์

(ยกเว้นบางครั้งเราจะแสดงความโกรธออกมาเพื่อปกปิดความอาย)

คนที่รู้สึกอายจะมีการแสดงออกสองขั้ว

คือความเฉื่อยชาและเป็นอัมพาตทางอารมณ์ หรือ

ความไม่เป็นมิตรและความโกรธ 

บางคนอาจสลับไปสลับมาระหว่างสองขั้วนี้ 

 

เวลาเราเสียใจเราสามารถปลดปล่อยได้โดยการร้องไห้ 

เวลาเราโกรธเราอาจจะตะโกนออกมา 

อารมณ์โดยส่วนมากสามารถแสดงออกทางกายได้

ซึ่งทำให้มีความผ่อนคลายจากอารมณ์นั้นๆ 

แต่ความอายไม่มีทางแสดงออก  เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าทำไมผลของความอายจึงอยู่กับเราอย่างยาวนาน 

งานวิจัยใหม่ๆบอกเราว่าความอายกระตุ้นให้คนถอนสัมพันธภาพจากคนอื่น

(ไปบอกพ่อทำไม เดี๋ยวพ่อก็ดุเราอีก!) และจะกลายเป็นคนโดดเดี่ยว 

บางครั้งความอายนำไปสู่ความประสงค์มุ่งร้ายหรือความโกรธ

จนอยากจะทำการรุนแรงเพื่อลงโทษคนอื่น 

นักจิตเวชคนหนึ่งเคยให้ความเห็นว่า

คนเราจะเบี่ยงเบนความอายที่อยู่ในส่วนลึกของเราด้วยการ
ดูถูกคนอื่น   ความรู้สึกว่าตัวเองเหนือคนอื่น   ความดื้อดึง  การปฏิเสธตนเอง
และการเป็นนักสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)เมื่อมีความอายอย่างรุนแรง ความอายอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิต เช่นความหดหู่ (depression) ความกระวนกระวาย (anxiety) ความผิดปกติทางบุคคลิกภาพ (personality disorders) ฯลฯ  

การลงโทษด้วยคำพูดมีพลังที่จะควบคุมพฤติกรรมก็จริง

แต่ไม่มีพลังที่จะสอนถึงความเข้าอกเข้าใจความคิดและอารมณ์ของผู้อื่น (Empathy) 

เมื่อเราตราหน้าเด็กๆของเราบ่อยๆด้วยคำว่า เด็กไม่ดี 

เราสร้างเงื่อนไขให้เขามุ่งเข้าหาตัวเอง

พวกเขาจะสนใจในตัวเองและพยายามหาว่าพวกเขาล้มเหลวที่จะทำให้เราพอใจอย่างไร 

เด็กๆจะเรียนที่จะตีตราตัวเอง แต่จะไม่ได้เรียนรู้ถึงการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น  ถ้าต้องการให้เกิดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เขาต้องได้รับรู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร 

ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อเราว่าลูกว่า หนูเป็นเด็กไม่ดี

แต่เราไม่ได้บอกอะไรกับเขาเลยว่า เรารู้สึกอย่างไรกับการกระทำของเขา 

เด็กๆจะไม่สามารถเรียนรู้ที่จะแคร์ความรู้สึกของคนอื่น

หรือไม่สามารถเรียนรู้ได้ว่าพฤติกรรมของเขามีผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร

ตราบใดที่เขายังมัวแต่คิดว่า มันต้องมีอะไรบางอย่างผิดในตัวฉันแน่ๆ ถึงได้ถูกดุ

  พวกเราต้องระวังอย่าสับสนระหว่างพฤติกรรมที่ได้รับผลจากการใช้คำพูด

กับ พฤติกรรมที่ได้จากการขับเคลื่อนของจริยธรรมจริงๆ 

อย่างดีที่สุดการลงโทษด้วยคำพูดทำให้เราได้รับการปฏิบัติตามอย่างตื้นๆ

เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่เห็นด้วยของผู้ใหญ่และการแสวงหารางวัล 

เด็กๆยอมจำนนและทำตามเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษ (ทางร่างกาย หรือ ด้วยคำพูด) 

ความประพฤติดีที่เราเห็นอาจไม่ได้มาจากใจจริงหรือความเคารพระหว่างกันและกัน

 

แล้วเราจะตัดสินอย่างไรว่า

พฤติกรรมไหน ดีหรือ ไม่ดี” “น่าอายหรือ ไม่น่าอาย”?  

คำจำกัดความของ ความไม่ดีหรือ ความอาย

แตกต่างอย่างมากถ้าอยู่ต่างวัฒนธรรม และต่างครอบครัว 

สิ่งที่เราเห็นว่าน่าอายในที่ที่หนึ่ง อาจเป็นที่ยอมรับได้ หรือไม่แปลก

หรือแม้กระทั่งเป็นที่นิยมในอีกที่หนึ่งก็ได้ 

เวลาเด็กๆเล่นกันส่งเสียงดัง อาจเป็นที่ยอมรับได้ในครอบครัวหนึ่ง

ในขณะที่พ่อแม่ของอีกครอบครัวหนึ่งอาจขมวดคิ้วเมื่อเห็นพฤติกรรมดังกล่าว 

คนไทยเวลารับประทานอาหาร ถ้ายกชามขึ้นซดถือว่าไม่สุภาพ 

สำหรับคนญี่ปุ่นเวลาจะดื่มน้ำแกงคนญี่ปุ่นจะยกขึ้นซด

(นั่นเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงขำกลิ้งเวลาคนไทยเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นแล้ว

ขอช้อนมาตักน้ำแกงมิโซะ) 

ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เราเห็นว่า สิ่งที่เราฟันธงว่าเป็นพฤติกรรมน่าอายหรือไม่ดีนั้น

เป็นสิ่งที่เราตั้งเอาเองซึ่งมันสามารถแปรเปลี่ยนไปได้แล้วแต่สถานที่หรือสภาวะของแต่ละครอบครัว

 

ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงดี

การกำหนดขอบเขตระหว่างเด็กกับพ่อแม่สามารถทำได้แน่นอน

โดยไม่ต้องใช้วิธีรุนแรงเช่น การตี หรือการลงโทษด้วยคำพูด 

แต่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเราต่อเด็กๆ

โดยเริ่มต้นประเมินกันใหม่ว่า

พวกเราคิดว่า อะไรที่เป็นแรงจูงใจให้เด็กๆ กระทำพฤติกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น

โดยธรรมชาติแล้ว

เด็กๆมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาคุณธรรมในสังคมให้มีในตัวพวกเขาเอง  เมื่อผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความเคารพเหมือนกับปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ด้วยกันเอง และเมื่อเด็กๆได้เห็นตัวอย่างที่ผู้ใหญ่ต่างปฏิบัติตนต่อกันด้วยความเคารพ  เด็กๆจะพัฒนาความสามารถที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น แคร์ความรู้สึกผู้อื่น และสามารถมีความเคารพต่อผู้อื่นได้โดยธรรมชาติ

(มีต่อตอนที่ ๒) 

-----------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ  ถอดความจากบทความ

“Good” Children – at What Price?

 The Secret Cost of Shame

โดย Robin Grille and Beth Macgregor

จาก Website http://www.naturalchild.com/robin_grille/good_children.html

ทั้งคู่เป็นนักจิตวิทยาชาวออสเตรเลีย โดย Robin Grille ยังเป็นนักจิตบำบัด (Psychotherapist)

เขามีเขียนบทความเกี่ยวกับ

พัฒนาการของเด็ก วิธีการเป็นพ่อแม่ (Parenting) สัมพันธภาพในครอบครัว

ผลงานล่าสุดของเขาคือหนังสือที่ชื่อว่า Parenting for a Peaceful World

ซึ่งเขาได้อธิบายถึง modeต่างๆของการเลี้ยงดูเด็กในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา,

วิธีการเลี้ยงลูกมีอิทธิพลต่อชะตากรรมของชาติและสังคมอย่างไร,

ธรรมชาติของการเลี้ยงลูกแบบอำนาจนิยมและเราจะเปลี่ยน mode

จากการเป็นอำนาจนิยมไปสู่ modeช่วยเหลือได้อย่างไร,

อารมณ์และบุคคลิกภาพของเด็กมีความเกี่ยวพันกับพัฒนาการของสมองอย่างไร

และพัฒนาการของอารมณปัญญา(Emotional Intelligence)ของเด็กๆเกิดขึ้นได้อย่างไร

ถอดความโดย ป๊าคม พ่อน้องพล อนุบาล 1/1 (โรงเรียนเพลินพัฒนา-www.plearnpattana.com)

หมายเลขบันทึก: 155327เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2007 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คุณครูนำบทความที่น่าสนใจมากคะ สำหรับคนที่อญุใกล้ชิดเด็กทุกคน น่าจะได้อ่าน บางครั้งวัย ประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มุมมองการทำความรู้จักเด็กก็น้อย ส่วนมากพวกเรามักจะสอนให้เขาทำตามคำสั่งโดยลืมคำนึงถึงความต้องการของเขา  จะเป็นพระคุณอยากมาก หากจะกรุณาเผยแพร่บทความนี้ทั้งหมดคะ ขอบคุณค่ะ

ต้องขอขอบคุณ ป๊าคม-ผู้ปกครองที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ที่กรุณาถอดความมาให้ค่ะ  ครูส้มลงตอนที่สอง (ตอนจบ) ให้แล้วนะคะ  ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของครูเอค่ะ

สวัสดีครับ คุณ orange alright

       เป็นบันทึกที่ดีมากครับ  ผมเองก็รณรงค์เรื่องนี้อยู่เป็นประจำครับ  เกี่ยวกับเรื่องการดุด่าว่ากล่าว หรือการตำหนิเด็ก ทั้งกับคณะครู  ผู้ปกครอง

        แต่เป็นความเชื่อไปแล้วละครับ ว่าเด็กจะต้องดุ ต้องด่า    แก้ยากครับ เพราะเป็นความเชื่อในระดับวัฒนธรรมของสังคมไทย

       มีอยู่แนวคิดหนึ่งครับ เกี่ยวกับเรื่องของครู

       เขาบอกว่า ครู(ส่วนหนึ่ง) ไม่ว่าจะเรียนมาอย่างไรก็ตาม แต่พฤติกรรมการสอน เขาจะยึดตามที่เขาเคยมีประสบการณ์มาในวัยเด็ก

       นั่นคือ วัยเด็ก เขาเคยถูกดุถูกด่ามา  พอเขาเป็นครู  เขาก็จะต้องดุด่าเด็ก

        เรื่องนี้ถ้าจะแก้จริงๆ ต้องใช้เวลาครับ

        ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

ให้ลูกเป็นเด็กดี ไม่ต้องจ่ายอะไรครับ

แต่เป็นการ ให้ คือ ให้ความรัก ความเข้าใจ ใส่ใจ ดูแล (คือ ดู ว่าสิ่งที่เค้าทำ ดี หรือไม่ดี ส่วน แล คือ อยู่ ห่างๆ ไม่ควบคุม ปล่อยให้เป็นอิสระ เด็กๆ ต้องการชีวิต แบบเด็ก อย่าสร้างกรอบ) ครับ

ขอบคุณอาจารย์ small man และ อาจารย์เพชรากร ที่กรุณาแวะมาให้ความคิดเห็นค่ะ

แนวคิดที่อาจารย์ small man กล่าวถึงว่าครูจะมีพฤติกรรมการสอนตามประสบการณ์ในวัยเด็กนั้น  ครูส้มก็เคยได้ยินว่าพ่อแม่บางท่านก็เป็นเหมือนกันค่ะ 

ชอบที่อาจารย์เพชรากร  บอกว่าต้องทั้ง "ดู" และ "แล" ค่ะ

เรามักจะมีเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ฝังลึกอยู่ในความทรงจำ  ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่โตหรือส่งผลกระทบมากมายอะไร  มันจำได้เอง ไม่ได้เลือกที่จะจำ

ดังนั้น เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กจะจำฉากไหนไว้  เราจึงต้องทำทุกขณะให้เหมือนกับว่าอาจจะเป็นนาทีที่จะอยู่ในความทรงจำของเขาไปตลอดชีวิตก็ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท