หมอบ้านนอกไปนอก(42): มองภาพรวม


ใช้แนวคิดของการพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ (R2R: Routine to research) ทำงานประจำด้วยการใช้ข้อมูล ให้เป็นสารสนเทศเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ขึ้น ทำให้เปลี่ยนจากการปฏิบัติ (Practical based) ไปสู่ฐานอ้างอิง (Evidence based) นำสู่หลักการทฤษฎีใหม่ๆ (Theoretical based) ได้

                 อากาศช่วงกลางเดือนธันวาคมที่เบลเยียมถือว่าหนาวมากขึ้น อุณหภูมิเริมติดลบ อยู่ในบ้านต้องเปิดฮีตเตอร์ตลอด ออกนอกบ้านต้องห่อหุ้มร่างกายอย่างมิดชิด คนไม่สามารถมานอนตามข้างถนน ใต้ร่มไม้ได้เลยเพราะมันหนาวมาก อาจด้วยเหตุนี้ที่เขามีระบบสวัสดิการสังคมที่ดี คนตกงานก็มีรายได้ขั้นต่ำให้เพราะถ้าไม่มีเงินก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีอาหารกิน ทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งหมด ไม่สามารถไปเก็บผักริมรั้ว หาปลากลางหนองน้ำหรือไปขออยู่อาศัยตามวัดได้แบบบ้านเรา เมืองไทยจึงน่าอยู่กว่ามาก

                 ช่วงหน้าหนาวของยุโรปถือว่าหนาวรุนแรงมาก ท้องฟ้ามืดครึ้มเกือบทั้งวันต้องใช้พลังงานทั้งแสงสว่างและความร้อนเยอะมาก ถ้าใช้ฟืนแบบสมัยก่อนก็คงไม่พอใช้ ด้วยเหตุที่เขาต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดกับสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เขาเป็นคนช่างประดิษฐ์คิดค้น สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีใหม่ๆเพื่ออำนวยความสะดวกของมนุษย์จึงมาจากชาติตะวันตกเป็นส่วนใหญ่

                เข้าสู่สัปดาห์ที่ 15 ของการมาเรียนที่เบลเยียมแล้ว เป็นช่วงของการสอบวัดผลในวิชาที่ได้เรียนจบไปแล้วจำนวน 8 วิชา วิชาประชากรศาสตร์สอบก่อนไปแล้ว เหลือที่ต้องสอบอีก 7 วิชาในช่วงสองสัปดาห์ ก่อนที่จะปิดให้พวกเราได้เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ 2 สัปดาห์ แต่กว่าจะได้พักก็ต้องเผชิญกับความเครียดระยะยาวกว่าครึ่งเดือน ผมจำได้ว่าสมัยอยู่ชั้นประถมศึกษาไม่เคยรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลเรื่องสอบเลย แต่พอเริ่มเข้าเรียนชั้นมัธยมเป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ก็รู้สึกได้ว่าตัวเองมีความเครียดทุกครั้งที่มีการสอบ

                 วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม ช่วงเช้าสอบระบาดวิทยาทางสถิติ ข้อสอบออกเป็นอัตนัยสามข้อให้เวลาสามชั่วโมงออกโดยอาจารย์วีเริ่ล มีการคำนวณในทุกข้อ มีข้อย่อยสามถึงห้าข้อในข้อใหญ่ อาจารย์ที่ออกข้อสอบไม่ได้เน้นเรื่องการคำนวณมากนักตัวเลขไม่ยุ่งยากซับซ้อน (แต่ก็เห็นทุกคนใช้เครื่องคิดเลขกัน รวมทั้งผมด้วย ขนาดบวกลบคูณหารเลขง่ายๆหลักสองหลักก็ต้องใช้เครื่องคิดเลขเพราะเคยชินกับการพึ่งพอเทคโนโลยีมากกว่าสมองตัวเอง) คำถามเน้นที่การแปลผลตีความค่าสถิติที่ได้ว่าหมายความว่าอย่างไร เอาไปใช้ได้อย่างไร อธิบายกับผู้ที่มีส่วนกำหนดนโยบายหรือนักการเมืองที่จัดสรรงบประมาณอย่างไร ช่วงบ่ายว่างให้อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ ผมก็ขดตัวอยู่บนเตียงใต้ผ้าห่มในห้องที่เปิดฮีตเตอร์อย่างอบอุ่น อ่านบ้างหลับบ้างสลับกันไป ช่วงค่ำนั่งปรับแก้รายงานตามคำแนะนำที่ได้รับจากอาจารย์ที่ปรึกษา

                  วันอังคารที่ 18 ธันวาคม ช่วงเช้าสอบสังคม-มานุษยวิทยาของอาจารย์โมนิค ข้อสอบเป็นอัตนัยมีห้าข้อใหญ่ใช้เวลาสามชั่วโมงเช่นกัน ข้อสอบเป็นลักษณะการวิเคราะห์สถานการณ์ทางด้านสังคม-มานุษยวิทยาที่ส่งผลหรือเกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ข้อสอบไม่ยากมาก ตอบได้ทุกข้อแต่ไม่รู้ว่าที่ตอบไปจะตรงใจอาจารย์หรือเปล่า ช่วงบ่ายกลับบ้านอ่านหนังสือช่วงเย็นหกโมงเย็นไปเรียนคอร์สภาษาอังกฤษ มีนักเรียนไปเรียนแค่สามคนคือผม พี่เกษมและทุ้ย คนอื่นๆคงอยู่อ่านหนังสือเตรียมสอบกัน เปลี่ยนอาจารย์คนใหม่มาสอนสามครั้งแล้วเป็นผู้ชายชื่อเดิร์ค คลินมัวรส์ (Dirk Clynmours) สอนดีมาก เน้นเรื่องการออกเสียง การพูด การอ่าน มีไวยากรณ์ไม่มากเฉพาะที่เกี่ยวกับการพูด มีสอบทุกครั้งเลย คราวนี้มีสอบเขียนตามคำบอก (Dictation) และอ่านออกเสียง แล้วก็ฝึกออกเสียงคำกริยาที่เปลี่ยนรูปไปเมื่อเปลี่ยนกาลเวลา (Irregular verb) เลิกเรียนประมาณทุ่มครึ่ง เร็วกว่าเวลาปกติ (สามทุ่มครึ่ง) กลับบ้านมานั่งเขียนรายงานจนเสร็จแล้วส่งให้อาจารย์บรูโนทางอีเมล์เพื่ออ่านก่อนพบกันวันพฤหัสบ่าย ทุ้ยบอกผมกับพี่เกษมว่าเปิดเรียนช่วงหลังปีใหม่จะชวนไปทำแหนมเนืองกินกันที่บ้านพัก ทุ้ย (Thuy) เป็นหมอผู้หญิงชาวเวียดนาม ทำงานที่สำนักงานป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม เคยมาฝึกงานที่สำนักงานควบคุมโรคที่สระบุรีด้วย อัธยาศัยใจคอดีมาก ทุ้ยเล่าว่าเวลาจะให้สามีโทรหาจากเวียดนามก็ใช้วิธีมิสส์คอลล์ไปให้สามีโทรกลับ ประหยัดเงิน (ตัวเอง) ดี แล้วก็เป็นการเช็คสามีไปในตัวด้วย ผมเองช่วงที่อยู่เมืองไทยโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสัมภาระติดตัวที่สำคัญเลย แต่มาที่เบลเยียมผมไม่ได้นำมาด้วย

                  วันพุธที่ 19 ธันวาคม ช่วงเช้าสอบวิชาระบบสาธารณสุขแห่งชาติ ข้อสอบอัตนัย 8 ข้อใหญ่ โดยมีข้อกำหนดของการตอบข้อสอบไว้ด้วยว่าให้ใช้หลักการทางทฤษฎีไปวิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศของตัวเองในการตอบแล้วให้ระบุชื่อประเทศไว้ในคำตอบด้วย อาจารย์วิมเน้นว่าขอให้ตอบสั้นๆกระชับ เท่าที่เว้นช่องไว้ให้ อย่าตอบเกิน ช่วงบ่ายกลับบ้านพักมานอนอ่านหนังสือ สมาธิในการอ่านดีมาก ความหนาวมีส่วนทำให้ไม่อยากหาเรื่องเถลไถลออกไปซุกซนนอกบ้าน

                 วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม ช่วงเช้าสอบวิชาโภชนาการของอาจารย์แพทริค ข้อสอบออกข้อเดียวเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ของการจัดตั้งคลินิกเด็กดี (Well baby clinic) ของอำเภอแห่งหนึ่งให้เวลาสามชั่วโมง มีคำถามหลักๆอยู่ 6 ข้อให้ตอบสั้นๆไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ อาจารย์บอกว่าให้อ่านโจทย์ ตีความให้ชัดแล้วค่อยๆรวบรวมความคิดสรุปเป็นคำตอบให้สั้นและกระชับภายใต้หลักเหตุและผล ประเด็นที่ผมคิดไว้ว่าจะตอบพอมีอยู่ในใจ แต่ผ่านไปหนึ่งชั่วโมงแล้วก็ยังเริ่มเขียนไม่ได้ ต้องใช้วิธีเขียนคำตอบเป็นภาษาไทยก่อนแล้วจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง ผมออกจากห้องสอบเป็นคนที่สามจากท้ายสุด พอสอบเสร็จก็เล่นปิงปองกับเพื่อนเกือบสองชั่วโมง ช่วงบ่ายได้พบอาจารย์บรูโนเรื่องรายงานวิเคราะห์ปัญหา อาจารย์บอกว่าใช้ได้แล้ว เพียงแต่สลับลำดับพารากราฟเท่านั้น นับว่าเป็นการเสร็จสิ้นเทศกาลสอบอันยาวนานของพวกเรา ข้อสอบทุกวิชาคะแนนเต็ม 20 คะแนน ถ้าได้ 12 คะแนนขึ้นไปถือว่าผ่าน

                   ผมคิดว่าการสอบน่าจะเป็นช่วงที่นักเรียนนักศึกษาทุกคนไม่ชอบแต่ต้องทำ การเรียนโดยไม่สอบก็น่าจะดี แต่มักพบว่าถ้าเรียนโดยไม่มีการสอบอาจทำให้นักเรียนไม่ตั้งใจหรือสนใจเรียน ไม่อ่านหนังสือ การสอบจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้นักเรียนสนใจอ่านหนังสือและเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในประเมินผลการเรียนไปด้วย เป็นวิธีที่ง่ายสำหรับผู้ประเมิน แต่ความไวและความจำเพาะในการประเมินผลการเรียน (รู้) ไม่รู้ว่ามีมากหรือเปล่า การสอบที่ดีจึงควรวัดผู้เรียนได้ทั้งความรู้ ความคิด ทัศนคติและการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง ผมคิดว่าข้อสอบที่อาจารย์ใช้สอบผมช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นข้อสอบที่ดีมาก

                  ช่วงบ่ายวันพฤหัสหลังจากพบอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วก็กลับบ้านมาคุยกับภรรยาแล้วก็ออกไปเดินซื้อของที่ถนนแมร์ (เมียร์) กับพี่เกษมและเกลนด้า วันพฤหัสนี้เป็นวันแรกที่ตื่นเช้าเดินไปสถาบันพบว่าบนหลังคารถมีหิมะตกลงมาปกคลุมบางๆ เกลนด้าบอกว่ากลางคืนอากาศลบห้าองศาเซลเซียส เมื่อเช้าลบสาม ตอนเดินไปซื้อของอุณหภูมิลบสอง เดินๆไปเอามือจับหูตัวเองแทบไม่รู้สึกเลยต้องแวะร้านขายของเพื่อรับไออุ่น แล้วก็เดินไปดูสวนสนุกที่แกรนด์เพลสและไปเดินหาซื้อของขวัญสำหรับแลกในงานคริสต์มาสปาร์ตี้ของชั้นปีเย็นวันศุกร์นี้ ไปที่ห้างสรรพสินค้ากรีนเพลส ตอนอยู่เมืองไทยอากาศร้อนเดินไปหลบร้อนรับความเย็นฉ่ำจากเครื่องปรับอากาศในศูนย์การค้าแต่มาที่เบลเยี่ยมต้องหลบหนาวไปรับไออุ่นจากฮีตเตอร์แทน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นการเผาผลาญพลังงานจำนวนมหาศาลด้วยกันทั้งคู่ เดินสักพักซื้อของได้แล้วก็แวะทานอาหารเย็นที่ร้านแมคโดนัลด์ ถือเป็นครั้งแรกสำหรับผมที่เข้าร้านนี้ น้องแคนจะชอบอาหารแบบนี้มาก มักบอกผมว่าแคนต้องการจะลองกินไว้เพื่อเป็นการเรียนรู้ ก่อนมาเบลเยียมน้องแคนบอกผมว่าพ่อต้องลองกินอาหารฝรั่งบ้าง พ่อจะได้มีประสบการณ์ ตอนที่ผมตกรถขณะไปเที่ยวอะตอมเมียมต้องขึ้นรถรางกับรถไฟกลับแอนท์เวิป ผมเล่าให้น้องแคนฟัง ลูกบอกผมว่าดีแล้วพ่อจะได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ ถ้าไม่มีครั้งแรกพ่อจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาขึ้นกันยังไง

             เกล็นด้า อยู่กลุ่มนอร์ทกลุ่มเดียวกับพี่เกษม จึงสนิทกับพี่เกษมแล้วก็เลยสนิทกับผมไปด้วย เกล็นด้าจบทางสาธารณสุขศาสตร์ (โภชนาการ) จากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของฟิลิปปินส์คือมหาวิทยาลัยมะนิลา ทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยทางด้านสุขภาพแห่งชาติของฟิลิปปินส์ เป็นคนเก่งคนหนึ่ง ผมรู้สึกว่าจะสนิทกับเกล็นด้าเร็วมากในช่วงหลังๆด้วยความที่เขาเป็นคนมีน้ำใจ คุยด้วยได้ง่าย เป็นคนสบายๆ คบๆกันไปก็รู้สึกเหมือนกับเป็นเพื่อนผู้ชายไปเลย ผมยังพูดเล่นกับเขาเลยว่าผมมักจะนึกว่าเขาเป็นเหมือนเพื่อนผู้ชายคนหนึ่ง เขาก็บอกว่าเขาชอบประดิษฐ์ ชอบซ่อมของเหมือนเด็กผู้ชาย แต่ไม่เรียนวิศวะเพราะเขาไม่ชอบคำนวณ

                เราได้ไปเที่ยวกลุ่มเดียวกันที่ลีเว่นกับปารีส ก็ยิ่งสนิทกันมากขึ้น เกล็นด้าเอารูปแฟนเขามาให้ดู แฟนเขาหล่อมาก หน้าตาคล้ายๆหนุ่มเกาหลีเลยแล้วรูปหลานสาวของเขาที่น่ารักมาก พี่เกษมมักจะชวนเกล็นด้ามากินข้าวที่บ้าน ส่วนผมไม่ค่อยกล้าชวนใครเพราะผมทำกับข้าวไม่ค่อยเป็น สามสัปดาห์ก่อนตอนที่ผมรู้สึกเซ็งเบื่อมากๆ เกล็นด้าก็เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่เข้ามาทักผมว่าทำไมดูเศร้าจัง มีอะไรหรือเปล่า ผมมาลองคิดดูแล้วว่าทำไมรู้สึกถูกชะตากัน (ตอนเจอครั้งแรกไม่ค่อยคุยกันเท่าไหร่ เกือบไม่ถูกชะตาด้วย)

                อาจเป็นไปได้ว่าเกล็นด้ามีลักษณะท่าทางนิสัยใจคอคล้ายๆเพื่อนที่ผมประทับใจมากคนหนึ่งที่เมืองไทย เป็นคนอัธยาศัยใจคอดี ยิ้มง่าย มีน้ำใจต่อคนอื่นๆ เหมือนกับเจ้าป้อม (รัชดา โพธิ์ทอง) นักรังสีเทคนิคที่โรงพยาบาลบ้านตาก ป้อมเป็นเพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนบ้านตากประชาวิทยาคารกับหมอเบิ๊ด (พิพัฒน์ เคลือบวัง กุมารแพทย์ที่โรงพยาบาลแม่สอด) เพื่อนสนิทของผม ป้อมเป็นคนที่เอาการเอางานดีมากทั้งงานในหน้าที่ งานส่วนรวมของโรงพยาบาลและช่วยเหลือผู้อื่นด้วยมิตรไมตรี ป้อมตัวเล็กแต่เล่นบาสเก็ตบอลเก่งมาก เป็นโคชได้ด้วย ปีก่อนป้อมไปเป็นโคชว่ายน้ำให้ผมตอนไปแข่งกีฬากระทรวงสาธารณสุขทั้งๆที่ตัวเองว่ายน้ำไม่เป็น ป้อมมีน้ำใจกับคนอื่นๆเสมอ เจ้าป้อมมีหลานชายน่ารักมากชื่อข้าวปุ้น นอกจากมีส่วนคล้ายเจ้าป้อมแล้ว ยังคล้ายเจ้าปู (วรวรรณ พุทธวงศ์) น้องพยาบาลที่สนิทกันที่บ้านตาก ที่ช่วยผมดูแลการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชนตากที่มีความรับผิดชอบในการทำงานสูงมาก เกาะติดงาน คล่องแคล่วและเป็นวิทยากรการจัดการความรู้ด้วย 

                  เวลาผมทำอะไรก็ตาม รวมทั้งการเรียนด้วย ผมจะมองภาพรวมทั้งหมด (Big picture) ของสิ่งที่ผมต้องทำให้ออกว่าเป็นอย่างไรบ้าง มองทั้งระบบจึงเป็นลักษณะของ System approach เพื่อหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของทั้งระบบให้ได้ หลักสูตรที่ผมกำลังเรียนอยู่นี้เป็นหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติทางด้านการบริหารระบบสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (Master of Public Health: Health system management and policy) ของสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนเจ้าชายลีโอโปลด์ (Prince Leopold Institute of Tropical Medicine, Antwerp) แอนท์เวิป เบลเยียม ซึ่งสถาบันแห่งนี้ตั้งมาครบร้อยปีเมื่อปี 2549 ผู้อำนวยการคนปัจจุบันชื่อ ดร. บรูโน กรีซีลส์ (Bruno Gryseels) สถาบันเปิดสอนสาขานี้ในสังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์ เปิดทุกปีเป็นหลักสูตรสลับกันปีเว้นปีระหว่างภาษาฝรั่งเศสกับอังกฤษ ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 10 เดือน

ปีนี้มีผู้อำนวยการ (Director) หลักสูตร 3 คนคือฌอง ปิแอร์ อังเกอร์ (Jean-Pierre Unger) กีย์ คีเกล (Guy Kegels) และแพทริค แวน เดอ สตัฟท์ (Patrick Van de Stuyft) มีผู้ประสานงานหลักสูตร (Co-ordinator of the course) คือทอม โฮรี (Tom Hoeree) และอาจารย์ที่ปรึกษาประจำหลักสูตร (Tutor of the course) คือคอมโพส ดา ซิลเวรา วาลาเรีย (Campos Da Silveira Valeria) คณะสาธารณสุขศาสตร์มีอาจารย์ประจำ 28 คน มีอาจารย์จากประเทศอื่นที่มาร่วมทำงานวิจัยอีกหลายคน มีทีมเลขานุการคณะ 4 คน และทีมบริหารงานทั่วไปอีก 11 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการนักศึกษาของสถาบันอีก 4 คน

นับว่ามีความพร้อมทางด้านบุคลากรในการเรียนการสอนและการทำงานวิจัยเพื่อสร้างหลักการแนวคิดเนื้อหาของหลักสูตรได้ เพราะเนื้อหาวิชาที่สอนส่วนใหญ่มาจากการศึกษาค้นคว้าแล้วสังเคราะห์ขึ้นโดยอาจารย์ของสถาบันเอง ไม่ได้ไปลอกหรือแปลเอาเนื้อหามาจากตำราของที่อื่นๆ จึงมีลักษณะเป็นสำนักความคิด (School of Thought) ทางด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมีชื่อหลายแห่งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียก็จะเป็นแบบนี้คือมีหลักการหรือทฤษฎีของสถาบันตัวเองอยู่ หลักสูตรนี้มีเนื้อหาหลักสูตรหลัก (Core components: CC) 5 ส่วนสำคัญคือ

CC1- Developing Health Systems เน้นเรื่องเกี่ยวกับระบบสุขภาพในภาพรวมทั่วไปของแนวคิดหลักการสำคัญ สถานบริการขั้นต้น โรงพยาบาล ระบบสุขภาพระดับอำเภอ ระบบสุขภาพระดับประเทศและนโยบายสุขภาพ (General Introduction, Vocabulary & Terms, Communication , First Line Health Services , Hospital, Local Health Systems , National Health Systems , Health Policy) ถือเป็นระบบบริการแนวราบหรือบริการในสถานบริการสุขภาพ เรียกว่า Horizontal

CC2- Health Problem Management and Disease Control เน้นเกี่ยวกับการบริหารจัดการปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ การควบคุมป้องกันโรคในลักษณะการบริหารแผนงานโครงการเฉพาะเรื่อง เฉพาะโรค เฉพาะปัญหาในลักษณะการบริหารแผนงานโครงการ (Project management) เป็นระบบบริการแนวดิ่งหรือ Vertical program

CC3- Analytical perspectives, research, decision making and project planning ประกอบด้วย 4 หัวข้อสำคัญเรียกย่อๆว่า ARDP ส่วนของAเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งเชิงเส้นตรงและเชิงซ้อนเพื่อเข้าใจ อธิบาย ตัดสินใจและทำนายเหตุการณ์ทางด้านสุขภาพต่างๆที่เกิดขึ้น (understand, explain, decision and predict with linear cause (simple) and generative cause (Complex) analysis.) โดยอาศัยหลักการของเศรษฐศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ระบาดวิทยาและสถิติ สังคม-มานุษยวิทยา(Economics, Demography, Epidemiology and Statistics, Socio-anthropology) ส่วนR เน้นเรื่องแนวคิด หลักการ รูปแบบการทำวิจัยต่างๆเพื่อสร้างความรู้มาใช้ในระบบสุขภาพโดยเฉพาะวิจัยปฏิบัติการ (Action research) ส่วน D เน้นเรื่องการตัดสินใจทางด้านสุขภาพที่มีความไม่แน่นนอน (Uncertainty) และความเห็นต่างกัน (Disagreement) สูงและ P เน้นเกี่ยวกับการวางแผนงานโครงการเพื่อการดำเนินงานทางด้านสุขภาพ

CC4A- Strategic Management (Option) เน้นเรื่องการกำหนดและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการระบบสุขภาพและCC4B- Health Policy (Option) เน้นเรื่องการกำหนดนโยบายทางด้านสุขภาพ เป็นตัวเลือกจะเลือกด้านไหนก็ได้เพียงเรื่องเดียว ผมเองเลือกการบริหารเชิงกลยุทธ์ แต่โดยสรุปอาจารย์บอกว่าให้เรียนเหมือนกันคือเน้นการบริหารเชิงกลยุทธ์

CC5- Synthesis เป็นบทสรุปของหลักสูตรที่นักศึกษาทุกคนจะต้องนำเอาปัญหาทางด้านสุขภาพที่ตัวเองประสบมาจัดทำเป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการประยุกต์ความรู้ที่ตัวเองได้รับร่วมกับประสบการณ์การทำงานที่มีอยู่มาวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นหลักการ แนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้

ช่วงสัปดาห์แรกของการเรียนเป็นการแนะนำหรือปฐมนิเทศเกี่ยวกับค่านิยม วัตถุประสงค์ ประวัติความเป็นมา โครงสร้างหลักสูตร การประเมินผล กระบวนการเรียนการสอนที่ใช้และแบบฝึกหัด (Introductory week : Values, Objectives, History, Structure, Assessment, Didactic approach, Exercise learning)

ตอนนี้ผมได้เรียนจนจบเนื้อหาหลักส่วนที่ 1 ไปและบางส่วนของเนื้อหาหลักส่วนที่ 3 และก็เพิ่งถูกประเมินผลไปด้วยการสอบที่ผ่านมา ผลสอบยังไม่ทราบคะแนนที่ได้ แต่ผมมั่นใจว่าผมได้ความรู้ติดตัวกลับไปใช้ประโยชน์แน่นอน

เมืองไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากขึ้น เห็นได้ว่าเริ่มมีการแข่งขันกันหานักศึกษามาเข้าเรียนในแต่ละหลักสูตร หลายมหาวิทยาลัยมีการขยายจำนวนคณะวิชา สำหรับทางด้านสาธารณสุขแล้วการเปิดคณะสาธารณสุขศาสตร์ทำได้ง่ายที่สุด ง่ายกว่าคณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์หรือเทคนิคการแพทย์ อาจจะสนใจที่จะเปิดสอนคณะสาธารณสุขศาสตร์ ผมคิดว่าการเตรียมที่ดีมากก็คือการเตรียมองค์ความรู้ของสถาบันด้วยการให้คณาจารย์ศึกษาวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับประเทศไทยและทบทวนวรรณกรรมจากงานวิจัยของประเทศต่างๆเพื่อนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของสถาบันหรือภูมิปัญญาสถาบัน (Institutional Intelligence) ขึ้นมา

ผมมองเห็นโอกาสว่าในการทำงานในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถสร้างองค์ความรู้จากการทำงานได้ด้วยการทำวิจัยปฏิบัติการไปด้วยโดยใช้แนวคิดของการพัฒนางานวิจัยจากงานประจำ (R2R: Routine to research) ทำงานประจำด้วยการใช้ข้อมูล (data) ให้เป็นสารสนเทศ (information) เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ (knowledge) ขึ้น ทำให้เปลี่ยนจากการปฏิบัติ (Practical based) ไปสู่ฐานอ้างอิง (Evidence based) นำสู่หลักการทฤษฎีใหม่ๆ (Theoretical based) ได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อมาทำวิจัยเลย

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

21 ธันวาคม 2550, 21.55 น. ( 03.55 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 155279เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2007 04:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สวัสดีค่ะคุณหมอ
         ได้รับคำแนะนำว่าถ้าจะทำ km ของหน่วยงานต้องคุณหมอเท่านั้น ได้รับคำแนะนำมาจาก บรรณารักษ์ มช. คุณกรกมล หนูทำงานที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทางสำนักหอสมุดกลางที่นี่จะทำ km แต่ไม่ทราบว่าจะติดต่อคุณหมอได้อย่างไร รบกวนคุณหมอช่วยติดต่อกลับด่วนน่ะค่ะ ถ้าคุณหมอสะดวก หวังว่าจะได้รับความเมตตาจากคุณหมอน่ะค่ะ
มัชมน  สถาพร
Dear K. Matchmon,
I am studying in Belgium now, and will finish my study in June, 30, 2008. So I cannot help you by lecture, but I recoomend that you can start with reading my articles about KM in www. practicallykm.gotoknow.org. After I came to Belgium, many organizations ask me for lecture, I recommend them to my team that used to lecture or do group work together in many organizations.
I think my team knows as I know, and they can do in km lecture/group working as I do. I prefer to help all organization for km lecture, but by this reason, I cannot help you on this time, but my team can help you.
I would like you to contact K. Supaporn who will coordinate others in team, please contact to [email protected] , but it depends on you. Thank you for recognising me. This e-mail is also disseminated to my team.
Best regards,
Phichet Banyati
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท