ยกที่ 1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯและการจัดสวัสดิการสังคมเชิงพื้นที่ ของจังหวัดพัทลุง


การประชุมหารือวันที่ 18 ธค 50               

  โครงการวิจัยนำร่องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมเชิงพื้นที่ ในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด  คือ  จันทบุรี  ลำปาง  ขอนแก่น  พัทลุง  เป็นความร่วมมือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ โครงการวิจัยและพัฒนาองค์กรการเงินและระบบสวัสดิการชุมชน (คุณภีม ภคเมธาวี เป็นผู้ประสานงานโครงการ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัด  ใช้การจัดการความรู้เป็นกระบวนการหลักในการสนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนขบวนการสวัสดิการชุมชนท้องถิ่น               

เปิดฉากโครงการฯเหมือนกันทั้ง 4 จังหวัด ด้วยการเปิดเวทีหารือระหว่างคณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการระดับจังหวัด ที่หลัก ๆได้แก่ คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัด คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมสวัสดิการสังคมจังหวัด  คณะทำงานสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นจังหวัด และตัวแทนจากพื้นที่นำร่องที่ได้รับคัดเลือกแล้วจำนวน 3 ตำบล 2 เทศบาล(สำหรับพื้นที่พัทลุง ได้แก่ ต.ลำสินธุ์ ต.ชุมพล ต.ทะเลน้อย ท.ป่าบอน ท.ปากพะยูน)  มีผู้ประสานงานโครงการทำหน้าที่ให้ข้อมูลและเชื่อมประสานให้เกิดความร่วมมือของแต่ละคณะทำงาน  ซึ่งผู้ประสานงานของจังหวัดพัทลุง คือ คุณเทพรัตน์ จันทพันธ์(พี่โต)              

 ในการหารือครั้งแรกนี้เป็นไปเพื่อทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนำร่องฯให้ทุกฝ่ายรับทราบและเข้าใจตรงกัน  ทั้งให้เห็นบทบาท สถานภาพ ผลการปฏิบัติงานของแต่ละคณะทำงานในปัจจุบัน และระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป               

การเปิดฉากโครงการฯเริ่มมาจากเวทีของจังหวัดจันทบุรี( 1 พย 50)  ลำปาง(23 พย 50)  ขอนแก่น(11 ธค 50) และพัทลุง(18 ธค 50)                

ตนเองมีโอกาสเข้าร่วมในเวทีสุดท้าย คือ ที่จังหวัดพัทลุง ขอนำเสนอภาพรวมการหารือของจังหวัดพัทลุงเป็นตัวอย่างซึ่งมีวาระคล้าย ๆ กันทั้ง 4 จังหวัดคะ  

การทำงานของแต่ละคณะทำงาน               

ตัวแทนคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัด ให้ข้อมูลว่าคณะทำงานชุดนี้มีอาจารย์ประวิง เป็นประธาน และมีที่ปรึกษาจากหน่วยงานรัฐประมาณ 20 หน่วยงาน เช่น นายกอบจ.  อบต.  สำนักงานพระพุทธศาสนา  ธกส.  สำนักงานตำรวจ  เป็นต้น  มี พมจ.เป็นเลขาฯ  การทำงานที่ผ่านมา  มีการประชุมร่วมกันเรื่องยุทธศาสตร์พัฒนาสังคมแต่ความคิดยังไม่ลงตัว

ตัวแทนคณะทำงานสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นจังหวัด  ให้ข้อมูลถึงการเคลื่อนงานสวัสดิการที่ผ่านมา มองเป็น 2 ภาค คือภาคชุมชนกับภาคราชการ ภาคชุมชนมีกระบวนการ มีข้อมูลชัดเจน  การให้สวัสดิการแก่ใครต้องผ่านเวที ผ่านกระบวนการตรวจสอบของชุมชนทำให้ไม่มีสิ่งซ่อนเร้น เช่น การจัดสวัสดิการในพื้นที่ตำบลลำสินธุ์  ตำบลชุมพล  ดังนั้นหากจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องมีกลไกทำงานระดับตำบล ต้องมีส่วนร่วมจากทุกองค์กร/กลุ่มในตำบล เช่น กลุ่มออมทรัพย์  กองทุนหมู่บ้าน  อบต. และเจ้าหน้าที่ภาครัฐร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมในการจัดสวัสดิการ   การขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการในจังหวัดพัทลุงได้ผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว  สิ่งที่จะเกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนต่อไปคือการถอดบทเรียน กระบวนการที่ทำให้การจัดสวัสดิการประสบความสำเร็จ และที่ไม่สำเร็จ การจัดการสวัสดิการชุมชนต้องให้ชัดเจนว่าต้องทำโดยชุมชน เพื่อชุมชน ต้องศึกษากิจกรรมของแต่ละกองทุนที่มีอยู่  ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบให้ชัดเจนจึงหาแนวทางบูรณาการกองทุนได้     

           

ตัวแทนจากพื้นที่นำร่อง  ให้ข้อมูลว่าการบูรณาการกองทุนในพื้นที่กำลังดำเนินการ โดยการนำกำไรของแต่ละกองทุนมารวมเป็นส่วนกลาง  เริ่มต้นพบกับปัญหาเพราะแต่ละกองทุนมีเจ้าของ เช่น กทบ.  กขคจ  ฯ เจ้าของกองทุนไม่ได้จัดการให้เกิดการบูรณาการกัน  แต่ให้ระดับผู้ปฏิบัติในกองทุนเป็นผู้บูรณาการซึ่งมักจะติดขัดในวิธีการ(อุทัย : ลำสินธุ์)               

การบูรณาการกองทุนต้องเริ่มต้นจากชาวบ้าน  มีการตกลงกันถึงการจัดการและเมื่อเห็นตรงกันก็ทำบันทึกความร่วมมือ(ผู้ใหญ่ย้วน:ชุมพล) 

ระดมความเห็นถึงแนวทางขับเคลื่อน                         

อาจารย์ภีม  ปัจจัยเอื้อต่อการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนครั้งนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรก  ยุทธศาสตร์  กระทรวง พม. สร้างความร่วมมือกับ อปท.  สปสช. ฯ  โดยสรุปเงินที่ลงมาในจังหวัดพัทลุงมีจำนวนมากจากหลายส่วน และด้านความรู้ที่จะได้มาจากโครงการวิจัยนี้ ส่วนที่สอง คือ พันธมิตรอีก 3 จังหวัด(ขอนแก่น ลำปาง จันทบุรี) และจังหวัดขยายใกล้เคียงประมาณ 2-3 จังหวัดเป็นพื้นที่เรียนรู้  เป็นกระบวนการที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ในรายละเอียดต้องอยู่ที่ทีมวิจัยทั้งหมดซึ่งได้แก่ คณะทำงานทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ 

ข้อเสนอของที่ประชุม  คณะวิจัยควรมี 3 ทีม มาจาก1) ชุดหลัก(ระดับจังหวัด) มาจากคณะทำงาน 3 ชุด  2) ชุดระดับตำบล/เทศบาล ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานคัดเลือกตัวแทนจากพื้นที่เข้ามา และ 3) ชุดคณะทำงานทั้งหมดที่ทำงานนี้ ขนาดของทีมวิจัยหลัก ไม่ควรเกิน 8-12 คน/ทีม และเพื่อให้การเคลื่อนงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วผู้เข้าร่วมประชุมวันนี้ต้องไปถ่ายทอดต่อให้วงของตนเองรับทราบและเลือกตัวแทนนักวิจัยแต่ละทีมด้วย          

การเสนอรายชื่อทีมวิจัยหลัก  จำนวน 15 ท่าน (เท่าที่จดรายละเอียดได้) คือ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) คุณสุนทร, ท้องถิ่นจังหวัด, พัฒนาชุมชน (คุณสารภี), รองนายกอบจ., ผู้ใหญ่ย้วน(ตำบลชุมพล), น้าแก้ว สังข์ชู, อุทัย (ตำบลลำสินธุ์), คุณวิเชียร เป็นต้น

กำหนดประชุมทีมวิจัยหลักครั้งต่อไปวันที่ 27 ธค 50 เวลา 09.00 . ศาลากลางจังหวัดพัทลุง

หมายเลขบันทึก: 154920เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2007 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาอ่านค่ะ

ประเด็นที่ว่า "แต่ละกองทุนมีเจ้าของ"  เป็นประเด็นที่สำคัญ  

แปลว่า  (1) จริงๆแล้วชาวบ้านไม่ได้เป็นเจ้าของ  ..คือ หน่วยงานมีความเป็นเจ้าของ ... หรือแปลว่า  (2)  ชาวบ้านเป็นเจ้าของ แต่ชาวบ้านมีหลายกลุ่มและประสานกันไม่ได้ 

แต่ละข้อ คงต้องหาทางออกต่างกัน ก่อนจะบูรณาการกองทุนได้   ..ใช่ไหมคะ

สวัสดีคะ  อาจารย์ปัท

ขอบคุณอาจารย์มากคะที่กรุณาอ่านและให้ข้อคิดเห็น 

ในความหมายของคำว่า "แต่ละกองทุนมีเจ้าของ" ในความหมายที่พ่อเล็ก(ลำสินธุ์)กล่าว คำว่า "เจ้าของ" เป็นการให้ความหมายถึง หน่วยงานผู้เป็นเจ้าของกองทุน (รัชเข้าใจอย่างงี้นะคะ ถือวิสาสะตอบตามความเข้าใจยังไม่ได้ถามผู้พูดนะคะ แต่เท่าที่ฟังมาผู้พูดกล่าวว่า "แต่ละกองทุนมีเจ้าของ ที่ไม่เคยคุยกัน  แต่บอกให้ชาวบ้านมาบูรณาการ ทำให้ชาวบ้านสับสน")

ด้วยความนับถือ

รัช

 

เจ้าของหมายถึงหน่วยงานครับ เช่น กองทุนหมู่บ้าน กขคจ.และกลุ่มออมทรัพย์ ในรายละเอียดคือ แต่ละกองทุนมีวัตถุประสงค์ต่างกัน พี่สารภีจากพช.ให้ความเห็นว่ากองทุนหมู่บ้านมีวัตถุประสงค์เรื่อง1)การเรียนรู้ประชาธิปไตย(เลือก/วาระกรรมการ)2)การพัฒนาอาชีพ3)กระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับกขคจ.เน้นคนยากจนจากข้อมูลจปฐ. ส่วนกลุ่มออมทรัพย์เป็นลูกผสมระหว่างรัฐกับ(พช.)กับชุมชน คือหน่วยงานรัฐต้องสนับสนุนกลุ่มในกรอบของกฏหมายโดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยและการเป็นสมาชิกเพราะถ้าผิดไปจากกฏหมายอาจเข้าข่ายกลุ่มแชร์ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ (ความเห็นหลายประการผมเติมเอง)

ผู้ใหญ่ประยูร(ย้วน)เสนอเป็นคำคมว่า อย่าเอาแม่ไก่มารวมกัน มันจะจิกกัน ให้เอาไข่มาฟักด้วยกัน มันก็สามารถเป็นลูกไก่ครอกเดียวกันได้ ความหมายคือใช้สวัสดิการเป็นเครื่องมือ ขอสนับสนุนเงินกำไรของแต่ละกลุ่มมากองรวมกันเป็นกองทุนสวัสดิการเพื่อชุมชน ผู้ใหญ่เสนอให้ใช้กองทุนแม่ของแผ่นดินเป็นศูนย์รวมของชุมชน(เข้าใจว่าเป็นการพระราชทานโดยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถนำร่องในบางหมู่บ้านผ่านทางกลไกปกครอง ผมได้ยินที่นครศรีธรรมราช และที่ขอนแก่นด้วย)

แนวทางการจัดการความรู้เน้นที่กลไกซึ่งเป็นคนที่เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนตามอำนาจหน้าที่ที่สนใจจริง ในเวทีเราได้นักวิจัยหรือนักจัดการความรู้จังหวัดประมาณ15คนจากกลไกที่เกี่ยวข้องทั้ง3กลไก เราจะประชุมจัดทำแผนการดำเนินงานในวันที่27ธ.ค.นี้อีกครั้งหนึ่งครับ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ขอบคุณน้องรัชและอาจารย์ภีมที่ช่วยอธิบายค่ะ

แกนนำชาวบ้านมีคำคมเสมอ    ที่ลำสินธุ์บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับชุมชนเหมือน "งูเห่ากับลูกเขียด" ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท