วิวัฒนาการเครื่องมือประมงไทย


สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (อดีต - พ.ศ. 2488)
สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (อดีต - พ.ศ. 2488)

 

เครื่องมือประมง เครื่องมือประมงที่สำคัญสมัยนั้นเป็นเครื่องมือประจำที่ เช่น โป๊ะ โพงพาง ละมุ รั้วไซมาน (โพงพางปีก) ข่าย (อวนติดตา) ขนาดเล็ก อวนทับตลิ่ง เบ็ด ลอบปลา เป็นต้น ในปี 2483 ในอ่าวไทยมีโป๊ะจำนวน 287 ลูก โพงพาง 340 ช่อง รั้วไซมาน 106 ราย ส่วนอวนตังเก อวนลาด อวนอื่นๆ ยังไม่มีการบันทึกข้อมูล (กรมประมง, 2497)
แหล่งทำการประม คือ บริเวณใกล้ฝั่ง ใกล้เกาะ หรือปากแม่น้ำที่มีระดับน้ำตื้น เรือทำการประมงเป็นประเภทเรือใบ เรือแจว และเรือพาย ในปี 2485 เรือประมงใช้เครื่องยนต์มีเพียง 66 ลำ และ 65 ลำ ในปี 2488 (กรมประมง, 2497)
สัตว์น้ำที่จับได้ สัตว์น้ำที่สำคัญในอดีต คือ กลุ่มปลาผิวน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ปลาทู" ปลาทูจากโป๊ะเป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งทำปลาทูเค็มส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีปลาเค็มชนิดอื่นๆ และหอยแมลงภู่แห้ง ขณะเดียวกันมีการสั่งสินค้าสัตว์น้ำเข้าประเทศในรูปของปลากระป๋อง และปลาหมึกแห้ง เป็นต้น
บุญเลิศ (2530) รายงานว่าในปี พ.ศ. 2468 ได้มีเรือประมงต่างชาติคือ ชาวจีนเข้ามาทำการประมงในอ่าวไทย โดยใช้เรือใบขนาดใหญ่ และเรือเล็กอีก 2 ลำ ทำการจับปลาทูโดยใช้เครื่องมืออวนล้อมจับชนิดหนึ่ง เรียกว่า อวนตังเก หรือ เรือตังเก (Chinese purse seine) ต่อมาในปี 2478 อวนตังเกเริ่มมีการทดลองใช้เครื่องยนต์แทนใบเรือ (ถวิล, 2483) นอกจากนี้ยังมีชาวญี่ปุ่นจาก โอกินาวาเข้ามาทำการจับปลาตามแนวหินปะการังใกล้เกาะต่างๆ โดยเฉพาะปลาหางเหลือง โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า มุโรอามิ (Drive in net) ซึ่งต่อมาชาวประมงไทยเรียกว่า อวนญี่ปุ่น (หน่วยสำรวจแหล่งประมง, 2512) เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องออกพระราชบัญญัติสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตจับ สัตว์น้ำสยามเพื่อห้ามคนต่างด้าวทำการประมงในปี พ.ศ. 2477 และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมโดยออก พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทยในปี 2482 ซึ่งเครื่องมือทั้งสองชนิดนี้คนไทยที่เคยร่วมงานได้จำแบบอย่างมาทำบ้าง และยังใช้อยู่จนทุกวันนี้ แต่มีน้อยมาก และพบเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน เท่านั้น

 


สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2489 - ปัจจุบัน)

 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เครื่องยนต์เรือเริ่มมีบทบาทแทนใบเรือ โดยเครื่องยนต์ชนิดแบบเผาหัวเข้ามาก่อน ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน แต่ขนาดเรือประมงที่ใช้ยังมีขนาดไม่เกิน 20 ตันกรอส และจำนวนไม่มากนัก รายงานประจำปี กรมประมง พ.ศ. 2496 ระบุว่า ในปี 2488 มีผู้จดทะเบียนเป็นเรือกลจำนวน 65 ลำ เรืออื่นๆ จำนวน 2,513 ลำ และในปี 2496 เรือกลเพิ่มขึ้นเป็น 302 ลำ เรืออื่นๆ จำนวน 2,908 ลำ
เครื่องมือประมงที่สำคัญยังคงเป็นโป๊ะ โพงพาง รั้วไซมาน ละมุ ลอบ และเบ็ด ในปี 2490 มีโป๊ะ 823 ลูก โพงพาง 1,286 ช่อง รั้วโซมาน 247 ราย อวนตังเก 16 ราย อวนลาด (อวนล้อมจับขนาดเล็ก) 161 ราย และอวนอื่นๆ อีก 1,615 ราย จับสัตว์น้ำทะเลได้ประมาณ 114,000 ตัน (กรมประมง, 2495)
สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนหนึ่งจำหน่ายในท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งจะส่งมาจำหน่ายที่กรุงเทพมหานคร การขนส่งสัตว์น้ำเข้ามาจำหน่ายส่วนใหญ่ใช้เรือยนต์ นอกจากนี้ยังใช้รถไฟและรถยนต์ แต่รถยนต์ ยังมีไม่มากเพราะการคมนาคมทางบกยังไม่สะดวกเท่าที่ควร
ปี 2495 บริษัทญี่ปุ่นได้นำเอาเนื้ออวนประเภทเส้นใยสังเคราะห์ เช่น อวนไนล่อนเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และส่งเสริมให้ชาวประมงไทยใช้แทนเนื้ออวนที่ทำจากเส้นใยพืช(จำพวกด้ายดิบ ป่าน ปอ เชือกกาบมะพร้าว) ต่อมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันชาวประมงเปลี่ยนมาใช้เชือก และเนื้ออวนที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ทั้งหมด ได้แก่ อวนไนล่อน และโปลีเอทธีลีน
ปี 2496 - 2503 เริ่มมีการทดลองนำเอาเครื่องมือประเภทอวนลากเข้ามาใช้ในประเทศไทย ในรายงานของสันฑ์ บัณฑุกุล กล่าวว่า ปี 2496 บริษัทกิจไพศาล ได้ขออนุญาตใช้เครื่องมืออวนลากคู่ในอ่าวไทย โดยมีชาวจีนเป็นผู้ฝึกสอน และปี 2502 บริษัทไทยประมงทะเล ได้ทดลองใช้อวนลากคู่ ทางฝั่งทะเลอันดามัน แต่ทั้งสองบริษัทไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ชำนาญพื้นที่ ทำให้อวนขาดบ่อย และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ประชาชนไม่นิยมบริโภคปลาหน้าดิน เพราะเคยชินกับปลาผิวน้ำ ทำให้ปลาหน้าดินราคาต่ำมาก และไม่มีตลาดจำหน่าย โดยเฉพาะทางฝั่งอันดามัน
ปี 2497 ชาวประมงเริ่มใช้อวนลอยปลาอินทรีชนิดที่เนื้ออวนเป็นไนล่อน (หน่วยสำรวจแหล่งประมง, 2512) และใช้เรือยนต์ทำการประมง มีผู้นิยมทำตามกันมากเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ในปี 2503 รัฐบาลสาธารณรัฐเยอรมันได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมงานกับกรมประมง ส่งเสริมเครื่องมืออวนลากอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า อวนลากแผ่นตะเฆ่ (ใช้เรือลำเดียว) และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้ในปี 2503 มีจำนวนเรืออวนลากทุกชนิด 99 ลำ และเพิ่มเป็น 2,606 ลำ ในปี 2508 (กรมประมง, 251)

 

สรุปได้ว่า ในช่วงปี 2503 - 2510 เครื่องมือประมงที่มีความสำคัญ คือ เครื่องมือประเภทอวนลาก อวนล้อมจับ และอวนติดตาชนิดต่างๆ ในขณะที่เครื่องมือโป๊ะลดจำนวนและความสำคัญลงตามลำดับ จาก 2,197 ลูก ในปี 2502 เหลือเพียง 559 ลูก ในปี 2510 (กรมประมง, 2513)
ระหว่างปี 2510 - 2515 เรือประมงมีจำนวนเพิ่มขึ้นและขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ และนับตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา เรืออวนลากขนาดใหญ่ของไทยเริ่มเข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านเช่น เขมร เวียตนาม มาเลเซีย และพม่า (วิชาญ, 2530) ทำให้ปี 2515 มีผลผลิตสัตว์ทะเลของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1,548,157 ตัน กลายเป็นประเทศที่มีผลผลิตสัตว์ทะเลติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก
ในปี 2516 - 2521 เครื่องมืออวนล้อมจับแบบใช้เรือลำเดียวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอวนล้อมจับแบบอวนตังเกในอ่าวไทยค่อยๆ เสื่อมความนิยม และจำนวนเรือลดลงมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งมีจำนวน 192 ลำ และไม่มีการใช้ในอ่าวไทยในปี 2520 ปัจจุบันมีใช้เฉพาะฝั่งอันดามันเท่านั้น ส่วนอวนล้อมจับแบบเรือลำเดียว ซึ่งชาวประมงเรียกว่า อวนดำ หรืออวนฉลอม ได้รับความนิยมมากขึ้น และส่วนหนึ่งเริ่มเปลี่ยนมาใช้ตาอวนขนาด 25 มิลลิเมตร (1 นิ้ว) แทนขนาดตาอวน 38 มิลลิเมตร (1.50 นิ้ว) ซึ่งใช้กันมากก่อนหน้านี้เพราะมุ่งจับปลาทู ปลาลัง ปลาโอ ปลาสีกุนเป็นเป้าหมายหลัก เหตุที่เปลี่ยนเพราะตาอวนขนาด 25 มิลลิเมตร เป็นขนาดตาอวนเอนกประสงค์ ใช้จับปลาผิวน้ำได้หลายชนิด ยกเว้นปลากะตัก ปลาผิวน้ำที่เป็นเป้าหมายหลักคือ ปลาหลังเขียว ปลาสีกุนข้างเหลือง ปลาทูแขก ปลาสีกุนตาโต มีราคาสูงขึ้นและถูกละเลยมาเป็นเวลานาน จึงมีปริมาณมาก ทำรายได้ต่อคืนสูงกว่าการมุ่งจับปลาทู ปลาลัง ซึ่งบางช่วงหาได้ยาก และขนาดของฝูงเล็กกว่า ประกอบกับปลาผิวน้ำดังกล่าวเป็นปลาที่มีนิสัยชอบตอมแสงไฟล่อ และซั้ง จึงมีการใช้ซั้ง และแสงไฟล่อกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งแสงไฟล่อที่ใช้ในระยะเริ่มแรกเป็นแสงไฟจากตะเกียงเจ้าพายุที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ส่วนอวนล้อมจับปลากะตักยังเป็นแบบดั้งเดิม คือ ใช้อวนล้อมจับแบบกลัดขอ ยังไม่นิยมใช้อวนล้อมจับปลากะตักแบบมีสายมาน และไม่นิยมใช้แสงไฟล่อดังเช่นที่พบเห็นในปัจจุบัน
ปี 2520 - 2521 เครื่องมือจับหมึกโดยใช้แสงไฟล่อได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เรือ อวนลากแผ่นตะเฆ่ส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือชนิดนี้ ระยะเริ่มแรกใช้แหทอดหมึกก่อน แล้วพัฒนามาใช้แบบอวนยก หรืออวนช้อน และเปลี่ยนมาใช้แหยักษ์ในที่สุด อีกส่วนหนึ่งใช้แบบอวนมุ้งจับหมึก แต่ไม่แพร่หลายเหมือนแหยักษ์ ขนาดกำลังไฟที่ใช้ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันนิยมใช้ขนาด 20 - 30 กิโลวัตต์ ไม่แต่เพียงเท่านั้น ชาวประมงพื้นบ้านแถบจังหวัดจันทบุรีได้ค้นคิดวิธีจับหมึกหอมโดยใช้ลอบเป็นผลสำเร็จ ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วน่านน้ำไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และในช่วงเวลาเดียวกันเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ โดยเฉพาะเรือที่ใช้วิธีแล่นเรือค้นหาฝูงปลาเป็นหลัก ได้เริ่มนำเอาเครื่องเอคโค่ซาวเดอร์มาช่วยค้นหาฝูงปลาที่อยู่กลางน้ำและหน้าดิน เช่น ปลาสีกุนข้างเหลือง อีก 2 - 3 ปีต่อมา มีการใช้เครื่องหาฝูงปลาแบบโซน่าร์ และมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น สกุล และไพโรจน์ (2530) รายงานว่า ปี 2526 มีอวนล้อมจับที่ใช้โซน่าร์ประกอบในการทำประมง จำนวน 264 ลำ
ปี 2525 - ปัจจุบัน กรมประมง (2527) รายงานว่าในปี 2525 จำนวนเรือที่จดทะเบียนเครื่องมือประมงมีจำนวนทั้งสิ้น 19,756 เครื่องมือ และผลจากการสำรวจพบว่ามีเรือประมงพาณิชย์ออกไปทำการประมงไกลฝั่งมากขึ้น จนสุดเขตแดนน่านน้ำไทยและเข้าไปใกล้เขตน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน จึงถูกจับกุมบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือประเภทอวนลาก ในปี 2526 ขจรศักดิ์ (2530) รายงานว่ามีเรือถูกจับกุมมากที่สุดถึง 118 ลำ ในน่านน้ำประเทศต่างๆ ได้แก่ เวียตนาม เขมร มาเลเซีย พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เป็นต้น โดยเฉพาะเวียตนามกับพม่า จากการทำการประมงไกลฝั่งมากขึ้นเพราะแหล่งประมงถูกขยายออกไป เครื่องมืออีเลคทรอนิกส์ เช่น เครื่องเอคโค่ซาวเดอร์ โซ- น่าร์ เครื่องหาที่เรือระบบเรดาร์และดาวเทียมจึงมีบทบาทและใช้กันมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนมีเรืออวนลากขนาดใหญ่เท่านั้นที่นิยมใช้ นอกจากนี้วิทยุรับ-ส่งแบบซี-บี หรือเครื่องรับ-ส่งวิทยุระยะใกล้ได้รับความนิยมมาก ทั้งในหมู่เรือประมงพาณิชย์ และเรือประมงพื้นบ้าน เช่น เรืออวนปู
นอกจากนี้ เรืออวนล้อมจับส่วนหนึ่งที่เรียกว่า เรืออวนดำ ซึ่งก่อนปี 2525 มุ่งจับปลาผิวน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางได้เปลี่ยนมามุ่งจับปลาโอโดยเฉพาะ เนื่องจากราคาสูงกว่าก่อนมาก มีการออกแบบเครื่องมืออวนใหม่ใช้อวนยาวและลึกมากขึ้น รวมทั้งใช้อวนที่มีขนาดตาใหญ่กว่าเดิมเรียกว่า อวนล้อมจับปลาโอ และส่วนหนึ่งออกไปทำการประมงในน่านน้ำต่างประเทศ ส่วนเรืออวนลอยปลาอินทรีนิยมติดตั้งเครื่องกว้านอวนเกือบทุกลำทำให้สามารถใช้อวนได้ยาวขึ้นกว่าเดิมอีกเกือบเท่าตัว
และนับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ปลากะตักกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ เพราะตลาดมีความต้องการมากขึ้น เนื่องจากโรงงานน้ำปลาขยายกำลังผลิตเพื่อการส่งออกและเพื่อบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งมีการส่งออกปลากะตักในรูปปลากะตักแห้ง (ตากแห้ง และต้ม-ตากแห้ง) ทำให้ราคาปลากะตักสูงขึ้นจากอดีต 2 - 10 เท่า เป็นเหตุให้มีเรืออวนล้อมจับปลากะตักแบบใช้สายมานเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมีทั้งแบบจับปลาเฉพาะเวลากลางวัน และแบบจับปลากะตักในเวลากลางคืนโดยใช้ประกอบกับแสงไฟล่อ นอกจากนี้เรือไดหมึกส่วนหนึ่งซึ่งเดิมใช้แหยักษ์จับหมึกอย่างเดียว ได้มีการใช้อวนช้อน และอวนครอบปลากะตักจับปลากะตักอีกด้วย เพราะบางคืนทำรายได้มากกว่าการจับหมึกหลายเท่า กล่าวโดยสรุปคือ เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ หรือขนาดยาวกว่า 18 เมตร นิยมใช้เครื่องมือประเภทอวนลาก และอวนล้อมจับมากที่สุด ส่วนเรือประมงพาณิชย์ขนาดเล็กและขนาดกลางนิยมใช้เครื่องมือประเภทอวนลาก อวนรุน อวนลอยปลาอินทรี อวนล้อมจับ แหยักษ์ อวนช้อน และอวนครอบปลากะตัก สำหรับชาวประมงพื้นบ้านเครื่องมือหลักที่ใช้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเครื่องมือประเภทอวนติดตาชนิดที่ใช้จับปูม้า กุ้งแชบ๊วย ปลาทู ปลาเห็ดโคน ปลาหลังเขียว ปลากุเรา ปลาจะละเม็ด นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวประมงพื้นบ้านนิยมใช้เครื่องมืออื่นๆ ผลัดเปลี่ยนตามความชุกชุมของสัตว์น้ำที่เข้ามาชายฝั่ง เช่น ระวะรุนเคย สวิงช้อนแมงกะพรุน ลอบปลา ลอบหมึก เป็นต้น เครื่องมือชนิดใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาในระยะหลัง ได้แก่ ลอบและจั่นหอยหวาน ลอบลูกปลากะรัง และลอบปูแบบพับได้
ปัจจุบันกล่าวได้ว่า การพัฒนาเครื่องมือประมงทะเลของไทย เป็นการพัฒนาเพื่อทำประมงชายฝั่งในระดับน้ำลึกไม่เกิน 100 เมตร ได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดแล้ว จนเป็นเหตุให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง จึงต้องแสวงหาแหล่งประมงใหม่ๆ อยู่เสมอ มีการทำประมงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาถูกจับกุม แต่ในส่วนที่ยังไม่คืบหน้าและพัฒนาเท่าที่ควร คือ การประมงในน่านน้ำสากล หรือในบริเวณน้ำลึกเกินกว่า 100 เมตร ซึ่งต้องใช้เรือประมงขนาดใหญ่ การลงทุนสูง เช่น เครื่องมืออวนล้อมจับปลาทูน่า เบ็ดราวปลาทูน่า เบ็ดตวัดปลาทูน่า เบ็ดตกหมึกน้ำลึกและอวนลอยขนาดใหญ่ ซึ่งประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ทำมานานแล้ว และทำการจับสัตว์น้ำไปทั่วเขตมหาสมุทรต่างๆ นอกจากนี้เครื่องทุ่นแรงจะมีบทบาทในการทำการประมงของไทยมากขึ้น เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงสูงขึ้น ประกอบกับทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง น้ำมัน และอุปกรณ์ประมงราคาสูงขึ้น เป็นเหตุให้เรือประมงขนาดใหญ่ทำการประมงในน่านน้ำไทยไม่คุ้มทุน ต้องดิ้นรนหาแหล่งประมงใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ในน่านน้ำไทยจึงเหลือแต่เรือขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเรือประมงพื้นบ้าน เท่านั้น
จากปัญหาดังกล่าวจะทำให้ชาวประมงมีการร้องเรียนต่อรัฐฯ ให้ช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เช่น ขอให้สำรวจหาแหล่งประมงใหม่ๆ หรือเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อทำประมงร่วม ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งให้แก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงพาณิชย์กับชาวประมงพื้นบ้าน หรือแม้แต่ชาวประมงพาณิชย์ด้วยกัน

 

http://www.fisheries.go.th/DOF_THAI/Division/Web_gear/HP_gear_02.html

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15482เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท