สถานการณ์ปัญหาในอำเภอเแม่สอด


รพ.แม่สอด อุ้มค่ารักษาแรงงานต่างชาติเถื่อนฟรี คาดปีนี้ยอดอาจพุ่งถึง 50 ล้านบาท


21 ส.ค. 50
กรุงเทพธุรกิจ

กระทรวงสาธารณสุขติดตามปัญหาสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก พบแรงงานพม่าตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพลดลงเกือบครึ่ง ขณะที่โรงพยาบาลแม่สอดต้องแบกภาระรักษาฟรีปีละกว่า 40ล้านบาท คาดในปีนี้ยอดอาจพุ่งถึง 50 ล้านบาท เร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องให้แรงงานต่างชาติเข้าระบบประกันสุขภาพมากขึ้นและให้จังหวัดจับตาโรคติดต่อต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวัณโรคดื้อยา

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อเช้าวันนี้ (21 สิงหาคม 2550) ว่าพื้นที่ที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หรือพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติเข้ามาอาศัยต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังโรคควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เพราะมีความเสี่ยงที่จะนำโรคติดต่อต่างๆ เข้ามาระบาดในประเทศได้ง่ายเนื่องจากแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ มักจะเข้ามาโดยผิดกฎหมาย อยู่กันอย่างแออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ เมื่อเจ็บป่วยมักจะไม่กล้าไปรักษาตัวทำให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดโรคถึงคนไทยที่อยู่ในละแวกนั้นได้ แม้ว่าจะมีการควบคุมโรคเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ที่น่าห่วงมาก อาทิ มาลาเรีย วัณโรค โรคเอดส์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีรายงานหลายพื้นที่ว่าพบโรคดังกล่าวมากขึ้น และเชื้อรุนแรงกว่าเดิม โดยเฉพาะวัณโรคขณะนี้เริ่มมีรายงานการดื้อยามากขึ้นทำให้ต้องรักษานานและอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า แรงงานต่างชาติเหล่านี้เมื่อเจ็บป่วยมารักษาส่วนใหญ่จะไม่มีเงินแต่เราต้องให้การรักษาเหมือนกับคนไทยตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งนอกจากเพิ่มภาระงานแล้วยังเป็นภาระด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาลค่อนข้างมาก โดยขณะนี้โรงพยาบาลแม่สอด มีผู้ป่วยนอกมารักษาวันละ 1,063 ราย ในจำนวนนี้เป็นต่างชาติวันละประมาณ 200 รายและต้องรับตัวไว้รักษาวันละ 10-20 ราย เนื่องจากมีอาการรุนแรง ต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงหรือเพิ่มขนาดมากขึ้นเพื่อรักษา และต้องนอนนานกว่าปกติถึง 10-15 วัน ในปี 2549ให้การรักษาฟรีแก่แรงงานต่างชาติถึง 44 ล้านบาท ส่วนปี 2550 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม ให้การรักษาฟรีไปแล้ว 28 ล้านบาท คาดปีนี้อาจสูงถึง 50 ล้านบาทกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งประสานงานหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานฯ ผลักดันให้แรงงานต่างชาติเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพให้มากที่สุดเพื่อไห้ได้รับการรักษา ป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเจ็บป่วยจะได้มีกองทุนเข้ามารองรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลต่างๆ

ด้านนายแพทย์ปัจจุบัน เหมหงษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตากมีแนวชายแดนติดกับประเทศพม่า 560 กิโลเมตร จึงมีแรงงานชาวพม่าเข้ามาอาศัยทำงานรับจ้าง เดินทางเข้าออกชายแดนจำนวนมากวันละกว่า 500 คนแต่จำนวนแรงงานต่างชาติที่มาตรวจสุขภาพและเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 54,336 ราย ในปี 2547 เหลือ 23,300 ราย ในปี 2550ในจำนวนนี้พบโรคที่ต้องติดตามรักษา 840 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่วัณโรคปอด 680 ราย รองลงมาคือซิฟิลิส 157 ราย มาลาเรีย 2 ราย เท้าช้าง 1 รายโดยพบวัณโรคระยะแพร่เชื้อที่ต้องห้ามไม่ให้ทำงาน 2 ราย ได้ส่งตัวกลับประเทศไป สำหรับปัญหาวัณโรคดื้อยา ในปี 2550 พบผู้ป่วยทั้งหมด 19 ราย เป็นคนไทย 6 ราย และพม่า 13ราย สามารถติดตามรักษาได้ 13 ราย ส่วนอีก 6 รายที่ไม่สามารถติดตามได้ เนื่องจากเป็นชาวพม่า เดินทางเข้าๆ ออกทั้งนี้อัตราการรักษาวัณโรคหายขาดในคนไทยเท่ากับร้อยละ 80 ส่วนในคนต่างชาติ ร้อยละ 70

http://www.thailabour.org/thai/news/file.php?id=50082193

เมื่อปีที่เเล้วก็เช่นกัน

สธ.แบกรับภาระค่ารักษาแรงงานต่างด้าวเฉียด 200 ล้านบาท    ข่าวจาก อ.ส.ม.ท. 28 มิ.ย. 48 [อ่าน:156|ตอบ:0]  

 

สธ. 28 มิ.ย.- ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยคนต่างด้าวผิดกฎหมายที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดตาก คาดอาจมีนับแสนคนที่เจ็บป่วยและไม่มีระบบประกันสุขภาพทำให้โรงพยาบาลต้องแบกภาระที่หนักหน่วง ชักหน้าไม่ถึงหลัง ยอดค่ารักษาฟรีที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนใด เกือบ 4 ปี ใกล้ถึง 200 ล้านบาท เสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมแก้ไข

นพ.วิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป 17 จังหวัดภาคเหนือ และผู้บริหารระดับกรม รวมประมาณ 300 คน ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินการตามนโยบายพัฒนาด้านสาธารณสุขในจังหวัดภาคเหนือทั้งหมด

นพ.วิชัย กล่าวว่า ภาพรวมของงานในพื้นที่ภาคเหนือในส่วนของงานรักษาพยาบาลได้ตั้งศูนย์เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทางเป็นศูนย์รับส่งต่อในพื้นที่ ประกอบด้วยศูนย์โรคหัวใจ 5 แห่ง ศูนย์โรคมะเร็ง 4 แห่ง และศูนย์อุบัติเหตุ 5 แห่ง กระจายอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ และมีสถานพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานตามระบบสากลแล้ว 320 แห่ง โดยมีสถานบริการที่ประสบปัญหาการเงินจากโครงการ 30 บาท จำนวน 66 แห่ง คาดว่าหลังเพิ่มงบรายหัวจาก 1,346 บาท ในปี 2548 เป็น 1,510 บาท ในปีหน้านี้จะทำให้สถานการณ์เบาบางลง

นพ.วิชัย กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจเยี่ยมพื้นที่มีปัญหาที่หนักใจมากคือภาระการดูแลรักษาต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อย่างผิดกฎหมาย เมื่อเจ็บป่วยต้องรักษาตามหลักมนุษยธรรม ที่จังหวัดตากรับภาระหนักที่สุดเนื่องจากมีพรมแดนติดพม่า 560 กิโลเมตร มีผลกระทบทั้งการควบคุมป้องกันโรคโดยเฉพาะมาลาเรีย และค่ารักษาพยาบาลต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่ามีต่างด้าวเข้ามาอยู่ในอำเภอต่าง ๆ มากกว่า 200,000 คน ในจำนวนนี้ขึ้นทะเบียนใช้แรงงานถูกกฎหมายและเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขอัตรา 1,300 บาทต่อปี เพียง 50,000 คน หรือร้อยละ 42 เท่านั้น ยังมีต่างด้าวในศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่ง อีกกว่า 70,000 คน และคาดว่าอาจมีต่างด้าวถึง 100,000 คน ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 อำเภอติดพรมแดน โดยมากที่สุดที่อำเภอแม่สอด เมื่อคนเหล่านี้เจ็บป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาฟรี เพราะไม่มีเงิน
 
“ทำให้ยอดค่ารักษาที่ต้องจ่ายฟรีไม่มีเงินหนุนอื่นเลย ตลอดเกือบ 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2545–2548 รวมแล้วมากกว่า 173 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีครึ่งปี 2548 นี้จ่ายไปแล้วเกือบ 36 ล้านบาท โรงพยาบาลที่รับภาระมากที่สุดคือโรงพยาบาลแม่สอดจ่าย 81 ล้านบาท โรงพยาบาลอุ้มผางเกือบ 55 ล้านบาท โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จ่าย 11 ล้านบาท โรงพยาบาลพบพระจ่ายเกือบ 10 ล้านบาท” นพ.วิชัย กล่าว

 

 

สำหรับปัญหาโรคที่มาพร้อมกับต่างด้าวที่พบมากที่สุดคือมาลาเรียโดยพบมากกว่าคนไทยกว่า 4 เท่าตัว เมื่อมีคนป่วยสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มียุงก้นปล่องมาก การป้องกันที่ดีที่สุดคือการบังคับให้ต่างชาติทุกคนที่เข้ามารับจ้างอยู่ในประเทศไทย ต้องผ่านการตรวจสุขภาพและเข้าสูระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขโดยเสียค่าตรวจ 600 บาท และค่าประกันสุขภาพ 1 ปี เป็นเงิน 1,300 บาท จะได้รับสิทธิประโยชน์เดียวกันกับโครงการ 30 บาท โดยการผ่อนผันให้ต่างชาติอยู่ทำงานในประเทศไทยต่อไปอีก 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2549 จึงขอความร่วมมือนายจ้างทุกคนพาแรงงานต่างด้าวไปรับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2548 โดยแพทย์จะเอกซเรย์ปอดเจาะเลือดตรวจเชื้อซิฟิลิส โรคเท้าช้าง ตรวจปัสสาวะหาสารแอมเฟ  ตามีนตรวจการตั้งครรภ์ ตรวจโรคเรื้อน และตามดุลยพินิจของแพทย์.- สำนักข่าวไทย

 

 

หมายเลขบันทึก: 154589เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2007 04:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท