ภาษาแห่งชนชั้น


บทวิพากษ์ และคำถาม ถึงมุมมองแห่งการใช้ภาษา และหลักปฏิบัติของภาษา นอกเหนือจากสถานะเครื่องมือเพื่อเชื่อมโยง สื่อสาร และสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คน อำนาจซึ่งแฝงเร้นในตัวตนของภาษา ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ เพื่อแบ่งแยกจำแนกและเหยียดหยามผู้คนในเวลาเดียวกัน คำถามนี้ถามเพียงความหมาย เมื่อถูกหยิบจับและใช้เป็นเครื่องมือ ในรูปอันผิดที่ผิดทางของสังคมมนุษย์

ภาษาแห่งชนชั้น

อ้างอิง - ภาพ http://www.lomography.com/folkways

เมื่อหลายเดือนผ่านมา

มีโอกาสได้ยินได้ฟังคำเถียง

จากเรื่องราววิวาทของดาราสองฝ่าย

ในทำนองแย่งชิงทรัพย์สิน ฉุดกระชากด่าทอ จนมีการให้ข่าวว่าเกิดการทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวจำกัดอิสรภาพ หรือพยายามสร้างเหตุการณ์เพื่อถ่ายทำเรื่องราวประจานข่มขู่ กระทั่งถึงช่วงจุดยอดของบทโทรทัศน์ ในสงครามน้ำลายดารา เมื่อแต่ละฝ่ายต่างออกมาแถลงข่าว

ต่างฝ่ายต่างยืนยันความถูกต้อง

ยืนยันทั้งด้วยหลักฐาน เหตุผล และความรู้สึก

กระทั่งคำกล่าวพาดพิงกระแหนะกระแหนประชดประชัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวของฝ่ายหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงคู่กรณีเมื่อตนเองโทรศัพท์ไปหาเพื่อน เพื่อให้ช่วยเหลือรอดพ้นจากวิกฤต โดยเธอกล่าวว่า เธอพูดสนทนากับเพื่อนของเธอเป็นภาษาประกิต เพราะคิดว่าคู่กรณีไม่สามารถฟังรู้เรื่อง เธอเชื่อเช่นนั้น และให้สัมภาษณ์เช่นนั้น

ได้ใจจริงจริงครับ

นั่งฟังคำแถลงข่าวไป ผมก็นั่งตบเข่าไปด้วย

เหมือนอ่านคำทำนายของพุทธตำนาน

นั่งอุทานกับตัวเอง เหมือนเมื่อสิบปีก่อนอ่านงานศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และมานุษยวิทยา ของ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ หรืออาจารย์ผู้หลงรักโลกแห่งอดีตมากมายหลายท่าน

หนึ่งในเรื่องราวนั้น

ศึกษาและกล่าวถึงวัฒนธรรม

แห่งราชสำนักอโยธยาศรีรามเทพนคร

ว่าราชสำนักแห่งนี้ นับได้ว่ามีระเบียบแบบแผนทางจารีตประเพณีที่ชัดเจน มีองค์สมมุติเทพ มีภูมิธรรมในองค์อวตาร ความศักดิ์สิทธิ์แห่งราชบัลลังค์ และพระมหากษัตริย์เกษตร ผู้ทรงควบฟ้าคุมดินได้ เพราะมีสายสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่กับเทพเทวาในชั้นฟ้าทั้งหลาย รวมทั้งเทพทรงแห่งฮินดูศรัทธา

เรื่องเล่าในงานศึกษาชีวิตราชสำนัก

กล่าวคล้ายคลึงกันไว้ว่า

แต่ดั้งเดิมชาววังนั้น

ชาวราชสำนักมักกล่าวถ้อยคำถ้อยความภาษาชั้นสูงเป็นการภายใน เพื่อไม่ให้บ่าวไพร่ข้าทาสบริวารรู้เรื่องราว ด้วยภาษาขอม หรือบางครั้งคราวก็กล่าวด้วยภาษาฮินดูสันสกฤตบ้าง แต่ด้วยหลักแล้ว ภาษาขอมถือว่าเป็นภาษาชั้นสูงในการสื่อสารภายในแห่งราชสำนักอโยธยา

ไม่เพียงเท่านั้น

คติจารีตดังกล่าวยังสืบเนื่องสืบทอด

ไปจนกระทั่งสำเนียง คำกล่าว และวัฒนธรรม

เมื่อโลกแห่งความเจริญอยู่ในฝั่งขอม ซึ่งทำเพียงหันหน้าสู่ทิศเบื้องตื่นยามตะวันออก ข้าราชสำนักล้วนได้รับการบอกสอนสั่งสอน ร่ำเรียนด้วยคำขอม เทียบเท่ากับการส่งลูกหลานไปศึกษายังดินแดนแห่งอารยะ ด้วยถือเป็นนักเรียนนอก เช่นเดียวกับหลักสูตรส่งพระไปเจริญศึกษาธรรมยังต่างแดน เรียนภาษาเพื่อถ่ายพระธรรมเบื้องแท้กลับสู่สุวรรณปฐพี

ยุคแห่งการตื่นรู้

ในโลกของพุทธศาสนา

ทำให้พระสงฆ์จากทั้งสุโขทัย ล้านนา แลอโยธยา

ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่ำเรียนศึกษายังศรีลังกา นำความกล่าวคำสอนของเจ้าชายแขกขาว ที่ได้รับการศึกษาขัดเกลา จนแตกหน่อแขนงแห่งการตีความ มาสู่การรับรู้ของราชสำนักและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สร้างทั้งจารีตและธรรมเนียมในการศึกษาต่อยังต่างประเทศแก่ไพร่ฟ้าทั้งหลาย

 

ภาษามคธจึงกลายเป็นหนึ่งในภาษาชั้นสูง

เทียบเท่าคำกล่าวในภาษาสันสกฤต

โดยมีนามคุ้นชื่อว่าภาษาบาลี

คำมคธกลายเป็นศัพท์วิทยาของสาวกแห่งธงธรรม สาวกแห่งจีวรเหลืองต่างร่ำเรียนพระไตรปิฎก เพื่อนำมาถ่ายทอดเผยแพร่เผยแผ่ หรือจนกระทั่งนั่งแปลเรื่องราวเหล่านั้นให้ไปสู่การรับรู้ด้วยภาษาอื่น ในยุคดังกล่าวมีการเรียกถึงชนชาติห่างไกลพระธรรม ว่าเป็นดินแดนล้าหลังไร้อารยะ

คำบาลีสันสกฤต

จึงขึ้นมาเป็นคำชั้นสูง

เทียบเท่ากับในยุคสมัยหลังจากนั้น

ความเจ็บปวดในยุคล่าอาณานิคม กระทำการบังคับและโน้มน้าวให้ชนชั้นสูงในภูมิภาคบูรพาทิศ ต้องหันมาร่ำเรียนศึกษาภาษาของพวกฝรั่งดั้งขอ ร่ำเรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ฮอลันดา หรือปอร์ตุเกส เรียนให้คล่องชำนาญจนกล่าวโต้ตอบได้ กระทั่งกลายเป็นเรื่องราวแห่งค่านิยม

เมื่อแกนอำนาจของโลกเบี่ยงเบน

กลุ่มภาษาแต่ละเผ่ากลายเป็นภาษาสากล

เสมือนหนึ่งบังคับให้ชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างต้องรู้เรื่อง

ไม่เพียงกล่าวได้ แต่ยังต้องเข้าใจความหมาย โต้ตอบได้ เรียนถึงภูมิธรรมและจุดเริ่มแห่งวิธีคิด ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลต่อคุณค่าของการยอมรับทางสังคม ยอมรับความโดดเด่นในความมีอารยธรรม ของแต่ละเจ้าของภาษา ซึ่งประดาชนชั้นนำแห่งบูรพาทิศต้องหันไปร่ำเรียน

รอยแห่งภาษาชั้นสูงจึงปรากฎ

ไม่เพียงรูปรอยแห่งการพูดเป็นแต่หมายถึงคิดเป็น

คิดแบบเดียวเช่นเดียว ด้วยวิถีชีวิตเดียวกัน

คิดฟังใคร่ครวญไตร่ตรองปฏิบัติ ด้วยภาษาของต้นตระกูลฝรั่งชาติอื่น รอยแผลของการแบ่งชนชั้น ด้วยอำนาจแห่งภาษา ตามวาทกรรมของอาจารย์ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ผู้หลงรักแลศึกษาแนวคิดโลกยุคหลังสมัยใหม่

โดยกล่าวไว้ว่า อำนาจของภาษา

ล้วนติดตัวและติดกรอบคิด

เป็นพลังอันแอบแฝง

มีเพียงการตั้งคำถาม เข้าใจ และใคร่ครวญตามเรื่องราวเท่านั้น ที่จะทำให้เราได้เติบโตขึ้นไปโดยไม่กระทบต่อการเรียนรู้ เข้าใจถึงเหตุเบื้องหลังเบื้องลึก กระทั่งวันหนึ่งสามารถเลือกเชื่อได้ว่า อนาคตจะพูดภาษาพ่อแม่ หรือภาษาใด

เช่นครั้งหนึ่งพลพรรคทหารป่า

โดยเฉพาะกลุ่มพวกจากรั้วมหาวิทยาลัย

ต่างไม่พึงใจในพฤติกรรมแบ่งชนชั้น ของกรรมการพรรคชาวจีน

ผู้ชื่นชอบที่จะแอบพูดคุยกันเป็นภาษาจีน โดยเฉพาะระดับสหายนำทั้งหลายที่ไม่ต้องการให้สหายท่านอื่นได้รับรู้เข้าใจ การพูดคุยภาษาจีน จึงเสมือนเป็นภาษาชั้นสูงแห่งราชสำนักกองทัพปลดแอก ยามใดไม่อยากให้ใครรู้เรื่อง ก็พูดภาษาจีน จีนกลางที่ไม่กลางกับสมาชิกพรรค

การปรับเปลี่ยนจึงเป็นต่อต้าน

คำถามต่อชนชั้นจึงดังกลบภาษาจีน

ถามด้วยคำถามหลักแห่งชนชั้นกรรมาชีพ

แต่ดันมากินของดี กินอิ่มนอนอุ่น แต่พวกพี่น้องสหายกลับต้องทนต่อสู้ แบกปืน เดินข้ามห้วยแลลุยเขา ต้องตรากตรำทรมานไม่ใช่เพียงเพื่อต่อสู้โดยไม่มีเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นการให้เกิดความเท่าเทียมในหมู่ประชาชนคนไทยหรอกหรือ จึงทำให้น้ำเสียง และคำเรียกร้องหนักแน่นมากขึ้น

โมงยามนี้จึงตระหนัก

ด้วยภาษาล้วนเป็นเครื่องมือแบ่งแยกจริงจริง

แบ่งและกดขี่คนอื่นให้เพียงต่ำกว่าเรา

หมายเลขบันทึก: 154459เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท