km


km

เดินหน้า..จัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนราชการแนวใหม่

           รายการ เดินหน้า...พัฒนาราชการไทย ประจำเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ออกอากาศไปเมื่อคืนวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ได้พูดคุยกับแขกรับเชิญในรายการ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในเรื่อง การจัดการความรู้กับการขับเคลื่อนราชการแนวใหม่ ซึ่งวันนี้ OPDC News มีสาระที่น่าสนใจของรายการในวันนั้นมาฝากกันค่ะ

           การจัดการความรู้ มี key word คือ “จัดการ” กับ“ความรู้” ซึ่งมีหลายมุมมอง....

           สำหรับอาจารย์ประพนธ์ มองการจัดการความรู้ใน 3 มิติ เทียบได้กับรูปสามเหลี่ยม โดยยอดบนสุดของสามเหลี่ยมจะเป็นเรื่อง ความรู้ในกระดาษ อยู่ในหนังสือในตำรา ต้องมีการจัดหมวดหมู่หนังสือ/ตำราเหล่านั้นแบบห้องสมุด หรือจัดเก็บทางคอมพิวเตอร์ให้เป็นระบบ

           ต่อไปเป็น ความรู้ที่อยู่ในตัวคน ในตัวผู้ปฏิบัติงาน (มุมขวาของสามเหลี่ยม) จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้ได้ความรู้จากการพูดคุย เป็นการแชร์ทั้งความรู้และประสบการณ์ และอาจจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจด้วย

           และสุดท้ายมุมซ้ายมือของสามเหลี่ยนเป็น ความรู้ในเครือข่าย คนมารวมกันแล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยเฉพาะคนที่รับผิดชอบงานด้านเดียวกันแต่มีเทคนิคต่างกัน เพื่อให้เกิด community of practice ขึ้นมา หากมีการทำ KM ทั้ง 3 มิติ ก็จะทำให้เราได้การจัดการความรู้ที่สมบูรณ์ และหัวใจสำคัญของการทำ KM อยู่ที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย

           วิธีการในการสร้างชุมชนการเรียนรู้ (Community of Practices : CoPs) หรือชุมชนนักปฏิบัติ จะเริ่มจาก กลุ่มจะต้องมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือมีปัญหาร่วมกัน หรือแสวงหาบางอย่างร่วมกัน จากนั้นแต่ละคนในกลุ่มจะมาเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์ หรือประเด็นความสำเร็จ หรือเทคนิคการแก้ปัญหา หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ตรงนี้จะทำให้เห็นวงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ KM และประการสุดท้ายเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่ม หากมีความสนิทสนมคุ้นเคย ไว้เนื้อเชื่อใจ รู้สึกปลอดภัย ก็จะเกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนกันได้ลึกมากขึ้น

          การจัดการความรู้ จึงเป็นการจัดการให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นมา วิธีดีที่สุด คือ จัดให้คนได้คุยกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละไม่มากนัก หรือที่เรียกว่า ตลาดนัดความรู้” ในแต่ละกลุ่มกำหนดประเด็นให้ชัด และต้องเป็นประเด็นที่เชื่อมไปสู่ความรู้หลักขององค์กร ที่สำคัญ ไม่ใช่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ต้องแลกเปลี่ยน case จริงที่เกิดขึ้น จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้ เอาบทเรียนที่ได้รับมาแชร์กัน

           ประโยชน์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ ทำให้ผู้ฟัง เข้าใจในเรื่องนั้นๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น เพราะเป็นการฟังจากกรณีศึกษา (case study) เมื่อเจอปัญหาจะสามารถประยุกต์ใช้ได้เลย ความรู้นี้จึงเป็นความรู้ที่เราเรียกว่า tacit knowledge นั่นเอง...

           สำหรับสกู๊ปในรายการนั้น เป็นผลจากการเล่าประสบการณ์การทำงานในเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการประชุม “เวทีปัญญา สัมมนาวาที” ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งผลจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในวันนั้น ทำให้เราไปติดตามการทำงานของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทำสกู๊ปประกอบรายการ ในชื่อว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ วิถีแห่งการคืนคนดีสู่สังคม”

      
  

           กรมพินิจฯ ได้เล่าถึง การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการหันเหคดี เพื่อคืนเด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิด กลับสู่สังคม ภายใต้แนวคิดที่ว่า ...เราต้องคืนเด็กดี คนดี สู่สังคม...

           เพราะไม่ว่าอย่างไรแม้เด็กจะกระทำผิด แต่เด็กก็คือ เด็ก หากถูกตัดสินความผิดไปแล้ว ท้ายที่สุด เขาเหล่านั้นก็ต้องกลับคืนสู่สังคม สู่ชุมชนที่อยู่อาศัยนั่นเอง จึงเป็นวิธีคิดที่ว่า ทำไมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงทำทั้งหน้าที่ไกล่เกลี่ยเพื่อหันเหคดี ให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง และนำเด็กที่กระทำผิดมาเรียนรู้หลักคุณธรรม ศีลธรรม และฝึกฝีมือการทำงาน เพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองในยามที่ออกจากสถานพินิจฯ ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่าย ที่มีส่วนร่วมกันแก้ปัญหานี้

           การหันเหคดี จะมีกระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยบุคคลเหล่านี้ได้แก่
พนักงานคุมประพฤติ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ผู้นำชุมชน หรือ ผู้นำสังคม หรือครู เด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิด ผู้เสียหาย บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้กระทำผิด บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้เสียหาย

           หลังจากที่เราได้ติดตามสัมภาษณ์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแล้ว ทีมงานยังได้ติดตามไปดูบรรยากาศจริง ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ใน 2 จังหวัดด้วยกัน คือ จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครราชสีมา

   
       

           บนเส้นทางเดียวกันของถนนสายมิตรภาพ เราได้รับเกียรติจาก คุณอภิชาต จารุศิริ ผู้ตรวจราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาเป็นพิธีกรภาคสนาม โดยร่วมพูดคุยกับเด็กๆ เหมือนพ่อคุยกับลูกๆ อบอวลด้วยบรรยากาศอบอุ่นของเจ้าหน้าที่ทุกคนในสถานพินิจฯ แต่ละแห่ง ซึ่งทุกคนมองเห็นโอกาสและความหวังของเด็กๆ และที่สำคัญ นอกจากหน้าที่ ในการดูแลเด็กที่กระทำผิดพลาดไป การใช้ความรู้ทางนิติศาสตร์ จิตวิทยา การให้ความรู้ ตลอดจนการสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้นำชุมชน จนนำไปสู่ความร่วมมือของภาคประชาชนแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนยังได้รู้ว่า ตนเองได้มีส่วนช่วยกันปลูกความหวังเพื่อสร้างโอกาสดีๆ ให้กับสังคมอีกด้วย ซึ่งภายหลังจากที่เด็กเหล่านี้ได้ก้าวข้ามผ่านโลกสีเทา เข้าไปสู่โลกของการเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเหล่านี้สามารถอยู่ในโลกหลากสีสันอย่างที่เป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข และมีคุณค่า ก็อยู่ที่การช่วยกันดูแลของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน รวมไปถึงสังคมและสภาพแวดล้อมด้วย


              
ผลิตภัณฑ์ผลงานของเด็ก ๆ ในสถานพินิจฯ


ธารทิพย์   (สลธ.) / เรื่อง & ภาพ
อินทริยา (สลธ.) / ภาพ
วสุนธรา (สลธ.) / จัดทำ

 

 
   
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 153941เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2007 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท