ย้อนรอยค่ายศึกษาพัฒนาชนบท หมู่บ้านอุ้มผางคี ตอนที่ 1


คนฉลาดไม่ใช่คนที่มีแค่ความรู้เฉยๆ แต่คนฉลาดคือคนที่รู้จักเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยความรู้นั้นไม่จำเป็นต้องมาจากโรงเรียนเสมอไป .....และการจะเป็นคนฉลาด จะต้องรวมไปถึงการอยู่ถูกที่ถูกเวลาอีกด้วย..... การที่เราเลือกไปอยู่ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม (อย่างคำไทยที่ว่า ถูกกาลเทศะ) ก็จะทำให้เราใช้ความรู้ที่มีได้อย่างเต็มที่
หลายๆคน คงผ่านช่วงเวลาดีๆ ในสถานที่ที่ประทับใจกันมาไม่มากก็น้อย บางที่ยังคงอยู่และรอการกลับไปของเรา .....แต่บางที่ก็ถูกกาลเวลากลืนหายไป .....ต้นไทรต้นใหญ่ๆ ที่เราเคยปีนเล่น วันนี้อาจจะกลายเป็นเซเว่น อีเลฟเว่น, สนามหญ้าเล็กๆ ข้างบ้าน วันนี้อาจจะกลายเป็นโรงหนังมัลติเพล็กซ์ .....ผมเชื่อว่า สถานที่ที่เราประทับใจ มันไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่มันย้าย จากที่ที่มันเคยอยู่มาอยู่ในตัวของเรา มาอยู่ในความทรงจำของเรา และก็รอให้เราไปเยี่ยมเยียนมันอีกครั้งเมื่อเรามีเวลาที่จะนึกถึงมัน

การได้เขียนถึงสถานที่ที่เราประทับใจ ก็คือการได้กลับไปเยี่ยมมันอีกครั้ง การที่เรานึกถึงมัน และพยายามเปลี่ยนความรู้สึกให้เป็นตัวหนังสือ ก็คือการชุบชีวิตมันขึ้นมาใหม่ ทำให้น้ำในลำธารไหล ทำให้พื้นดินได้อบอุ่น ทำให้กลิ่นหอมๆ ของสถานที่เหล่านั้นกลับมาเตะจมูกของเราอีกครั้ง..... และในครั้งนี้ เราก็ยังได้แชร์บรรยากาศดีๆ ให้กับคนที่ไม่ได้ไปกับเราในวันก่อน ได้รับรู้ถึงความสุขนั้นในวันนี้อีกด้วย

ย้อนไปราวๆ พ.ศ.2541 ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กมหาวิทยาลัย “กิจกรรม”เป็นสิ่งที่ได้รับการบอกต่อๆกันจากรุ่นพี่ ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญพอๆ กับหนังสือเรียนในห้อง เราในฐานะนักสังคมวิทยา การเรียนรู้จากโลกภายนอกโดยอาศัยตัวหนังสือจากคู่มือประกอบ จะทำให้เราเข้าใจระบบการใช้ชีวิตของผู้คนรอบๆ ตัวได้ ดังนั้นผมจึงพยายามหากิจกรรมทำในช่วงปิดเทอม ในเวลาที่ไม่ต้องสนใจหนังสือเรียนมากนัก

กิจกรรมหนึ่งที่จริงๆ ผมก็ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีอะไรแต่ก็เสนอตัวเองเข้าไปช่วย ก็คือการจัดทำค่ายศึกษา..... ค่ายศึกษาต่างจากค่ายอาสา ตรงที่เราจะมีแนวทางหลักของค่าย คือการไปศึกษาชีวิตของกลุ่มสังคมเล็กๆ ที่เราไม่รู้จัก เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต และแนวคิดวัฒนธรรมท้องถิ่นของพวกเขา.......... โดยการเดินทางไปศึกษานั้น เราในฐานะนักศึกษาจากแหล่งเจริญก็จะนำความเจริญเล็กๆน้อยๆ ไปพัฒนาชุมชนดังกล่าวด้วย อย่างเช่นสร้างห้องสมุด หรือบ่อน้ำ ซึ่งค่ายอาสาจะเน้นอย่างหลังนี่มากกว่า

ในหน้าร้อนหนึ่งเพื่อนๆของผม ก็ได้ริเริ่มจะทำค่ายขึ้น โดยผมเองเข้าไปช่วยในขั้นตอนของการประชาสัมพันธ์ และรับสมัคร โดยในส่วนของการติดต่อสถานที่ หาสปอนเซอร์ และยื่นเรื่องต่อคณะฯ ก็เป็นหน้าที่ของเพื่อนๆ ผมไป

เป็นคนที่ชอบไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่มักจะไม่ใช่เจ้าภาพ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ในท้ายที่สุดหลังจากเพื่อนผมไปหลงป่าอยู่หลายวัน ก็ได้ตัดสินใจที่จะลงพื้นที่ในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ลึกเข้าไปป่า ชื่อว่าหมู่บ้านอุ้มผางคี

เป้าหมายก็คือการเก็บข้อมูลและเรียนรู้ความเป็นไปของสังคมเล็กๆ โดยมีการตั้งคำถามให้ลูกค่ายนำไปหาคำตอบและมาแลกเปลี่ยนทรรศนะกัน นอกจากนี้ก็พบว่าทางโรงเรียนประจำหมู่บ้านต้องการห้องเรียนและห้องสมุดเพิ่มเติม พวกผมจึงหาทุนเพื่อไปช่วยสร้างสิ่งที่เขาต้องการตามกำลังที่จะหาได้ โดยติดต่อกับทางอำเภอและจังหวัด ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และสิ่งเคลื่อนย้ายต่างๆ ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นานนัก ทางข้างบนก็อนุมัติมา

เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เราก็เริ่มรับสมัครสมาชิกค่าย..........ในวันสุดท้ายเราก็ได้ลูกค่ายร่วม 70 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงมากกว่าครึ่ง และส่วนใหญ่มาจากคณะศิลปะศาสตร์

ถ้าไปยืนหน้าคณะสินสาด และมีสาวสินสาดมาสนใจขนาดนี้ ชาตินี้คงไม่ต้องไปไล่จีบสาวที่ไหน.....แต่การไปลุยค่ายแบบนี้พวกผมเองก็อดห่วงไม่ได้ ว่าจะประสบปัญหาเรื่องแรงงานในการพัฒนาหมู่บ้าน แต่จริงๆ เราเองก็เป็นค่ายศึกษา ไม่ได้เน้นแรงอยู่แล้ว กอปรกับทางหมู่บ้านได้ออกปากเรื่องจะหาชาวบ้านมาช่วยกันก่อสร้างห้องสมุดกับเรา จึงแค่อดห่วง ไม่ได้ถึงกับกังวลอะไร

เมื่อทุกอย่างพร้อมก็เริ่มออกเดินทาง

วันที่ผมเขียนเรื่องนี้ คือวันหนึ่งใน พ.ศ. 2550 ดังนั้นการเขียนถึงวันหนึ่งใน พ.ศ. 2541 อาจจะมีบ้างที่จำไม่ได้ หรือคลาดเคลื่อน..... แต่ตัวเลขวัน เดือนเหล่านี้ก็ไม่ได้สำคัญเท่าความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้น..........ดังนั้นผมจึงจำได้แค่ว่า ความรู้สึกดีๆ เริ่มในวันหนึ่งที่ผมจำไม่ได้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2541 ..........ผมจำได้ว่าทุกคนให้มาเจอกันเวลาประมาณ 6 โมง – 1 ทุ่ม ที่สถานีหัวลำโพง เพื่อเช็คชื่อและขึ้นรถไฟตอนประมาณ 3 ทุ่ม บ้านผมอยู่ใกล้หัวลำโพงนิดเดียวออกจากบ้านก็หกโมงได้ ด้วยกระเป๋าเป้ใบใหญ่ที่สุดที่ผมเคยมี.......... จะเรียกว่าค่ายนี้เป็นค่ายแรกของผมก็ได้ ถ้าไม่นับพวกค่ายลูกเสือ ผมเลยขนของแทบครึ่งบ้านออกไปด้วย อย่าถามเลยว่าเอาอะไรไป ถึงถามผมวันนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าในกระเป๋ามีอะไร ใครบอกว่ามีเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ในนั้นผมอาจจะเชื่อ เพราะมันหนักจริงๆ จำได้เท่านี้

เมื่อไปถึงหัวลำโพง.....ก็พบเพื่อนๆ กำลังรวบรวมคนและของไว้ด้วยกัน จากการมองผ่านๆ ก็พบว่าชาวค่ายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และไม่คุ้นหน้าคุ้นตาซักเท่าไหร่ แต่พวกเขาคงจะรู้จักกันดี เพราะเห็นก็จับกลุ่มคุยกันสนุกสนาน.....ได้ยินแว่วๆ ว่า พวกเขาจะได้ไปน้ำตกทีลอซูกันด้วย (ในยุคนั้นน้ำตกทีลอซูเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในประเทศไทย และยังไม่มีชื่อเสียงอะไรมากนัก) ..........ผมเองไม่เห็นรู้เรื่องเลยว่าเราจะไปน้ำตกที่ว่านั้นด้วย.....สอบถามเพื่อนก็เข้าใจว่า เป็นแผนการโปรโมตค่าย ส่วนจะไปหรือไม่นั้นจะดูความเป็นไปได้อีกที..... 5555 ผมทำใจเลยว่าแบบนี้โดนด่าแหงๆ เด็กคณะสังคมฯโฆษณาชวนเชื่ออีกแล้ว

รถไฟออกประมาณสามสี่ทุ่มได้ การขึ้นรถไฟแบบไปกันเยอะๆ นี่ผมว่ามันสนุกมากเลย การเดินไปเดินมาระหว่างเก้าอี้ พูดคุย ร้องเพลง เล่นกีร์ต้า หรือเล่นหมากฮอส บนเบาะนั่ง เป็นความสนุกในการเดินทางไกลๆ อย่างหนึ่งนอกเหนือจากวิวทิวทัศน์ และการมองออกไปดูว่าสถานีนี้ชื่ออะไร ..........ผมเองก็สนุกไปกับการพูดคุยกับลูกค่ายสาวๆ ซึ่งมาพบทีหลังว่าส่วนใหญ่ในนั้นเป็นรุ่นพี่ปี 4 ที่กำลังจะจบ และมาค่ายในลักษณะมาสนุกกันเพื่อสั่งลาชีวิตนักศึกษา.....คุยได้เรื่องซักพักผมก็เริ่มรู้จักพวกเขามากขึ้น พวกเขาเองก็รู้จักเรามากขึ้นเช่นกัน

รถไฟจะไปสุดทางที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่เราจะลงกันที่จังหวัดพิษณุโลก (ถ้าจำไม่ผิด) เพราะเป้าหมายของเราคือจังหวัดตาก ซึ่งที่จังหวัดพิษณุโลกนั้น เราได้ติดต่อขอรถยีเอ็มซีของทางตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อมารับชาวค่ายของเราไปยังอำเภออุ้มผาง จำได้ว่าเวลาที่ไปถึงสถานีพิษณุโลกนั้นอยู่ระหว่างตี 3 ถึงตี 4 อากาศค่อนข้างเย็น แต่โล่งสบายมากๆ ถ้าคุณเคยตื่นซักตีห้า ในตัวจังหวัดไกลๆ กรุงเทพฯ แล้วออกมาขับจักรยานสูดลม คุณจะรู้ว่าอากาศที่ผมว่านี้เป็นยังไง

รถที่มารับเรามี 2-3 คันไม่แน่ใจ พวกผู้จัดค่ายจะนั่งท้ายรถยีเอ็มซี ที่ไว้ขนสัมภาระ..........หลังจากนี้เราก็พยายามจะนอนแต่เนื่องจากอากาศที่เย็น และยิ่งเย็นหนักเข้าไปอีกเมื่อคุณอยู่ท้ายกระบะที่วิ่งเกือบ 100 กม.ต่อชั่วโมง จึงทำให้พวกเรานอนกันไม่ได้ นอกจากนอนไม่ได้แล้วก็ต้องหาผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้าปิดหน้ากันให้วุ่น เพราะไม่งั้นลมมันตีหน้าชาจนไม่รู้สึก.....พวกเราก็ต้องคลุมหน้าเหมือนกองโจรไปแบบนั้นจนรุ่งสาง ซึ่งเมื่อแดดเริ่มออก อากาศก็อุ่นขึ้น พอดีกับทางตำรวจแวะกลับมายังศูนย์ของเขาเพื่อเติมน้ำมัน และให้เราพักยืดเส้นยืดสาย หายเมื่อยไปได้บ้าง..........หลังจากนั้นเราก็นั่งรถ (จริงๆต้องเรียกว่านั่งเป้ เพราะผมเอาเป้รองก้นกันกระแทก) ต่อมาจนเข้าเขตจังหวัดตาก

การขับรถไปยังอำเภออุ้มผาง ไม่เหมือนการขับรถจากเขตปทุมวันไปยังเขตป้อมปราบฯ ผมก็เพิ่งรู้ว่าการจะไปอำเภออุ้มผาง เราจะต้องนั่งรถไกลนับร้อยๆ กิโลจากอำเภอแม่สอด (ถ้าจำไม่ผิด) ผ่านยอดเขานับสิบๆลูก กว่าจะถึงตัวอำเภออุ้มผางที่อยู่ในเขาอย่างสมบูรณ์แบบ..........ถนนสายนี้จะมีรถสองแถวบริการอยู่ตลอด จากอำเภออุ้มผางมายังแม่สอด ราคาต่อคนถ้าจำไม่ผิดก็ 70 บาท ระหว่างทางที่ผมขึ้น ผมก็เห็นรถพวกนี้ขับสวนมาเป็นระยะๆ.....สาบาน ผมเห็นคนขับรถเอาเท้าจับพวงมาลัย 5555 ผมว่าพวกเขาคงชินเส้นทางนี้อย่างที่เปรียบไม่ได้ถึงขนาดเอาเท้ามาขับแทนมือ แต่ก็เสียวแทน เพราะสองข้างทางมันเป็นเหวลึก รวมทั้งป่าไม้ คือถ้าหลุดโค้งไปคงเดินกลับออกมาไม่ได้ คงจะต้องใช้วิธีลงไปกู้ซากแทน.....ยังไงผมก็ทึ่งกับเขาจริงๆ

และ ผมคิดว่า.....คนขับรถสองแถวที่ขับอยู่ที่นี่ ที่แม้อาจจะจบแค่ ป.6 ก็คงมีประโยชน์กับสถานที่แห่งนี้ มากกว่าคนที่จบปริญญาเอกจากอเมริกา..........คนฉลาดไม่ใช่คนที่มีแค่ความรู้เฉยๆ แต่คนฉลาดคือคนที่รู้จักเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยความรู้นั้นไม่จำเป็นต้องมาจากโรงเรียนเสมอไป .....และการจะเป็นคนฉลาด จะต้องรวมไปถึงการอยู่ถูกที่ถูกเวลาอีกด้วย..... การที่เราเลือกไปอยู่ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม (อย่างคำไทยที่ว่า ถูกกาลเทศะ) ก็จะทำให้เราใช้ความรู้ที่มีได้อย่างเต็มที่..........การออกค่ายคือการค้นหาความรู้อย่างหนึ่งนอกห้องเรียน พวกผมอาจจะเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่มีความรู้ในระดับหนึ่ง แต่หลายอย่างที่ผมเรียนมาก็ไม่จำเป็นเลยกับสถานที่ไกลๆแบบนี้.......... อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่มีโอกาสในการศึกษามากกว่า ก็ควรจะออกมาค้นหาความรู้ ออกมาค้นหาสิ่งที่พวกเขาต้องการจากเรา ซึ่งเหล่านั้นคือความรู้นอกห้องเรียน ที่ถึงคุณจะจบ 10 ปริญญาเอกจาก 10 ประเทศ คุณก็ไม่มีทางรู้ หากไม่ได้มาสัมผัส..........ดังนั้นการออกค่ายคราวนี้ พวกผมทิ้งคำว่าปัญญาชนไว้ข้างหลัง เพื่อพร้อมที่จะเป็นคนฉลาด เปิดรับความรู้ใหม่ๆ จากสถานที่ใหม่ๆ อย่างที่นี่ ที่ที่เรากำลังนั่งรถกันก้นชากันอยู่นี้ เพื่อในอนาคตหากเราได้ไปอยู่ในสถานที่และเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ เราก็จะมีความรู้ปฐมภูมิที่พร้อมใช้ กลายเป็นคนลาดที่มีคุณค่าต่อสังคม

ระหว่างนั่งรถก็คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อยอย่างที่พูดในย่อหน้าข้างบน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ระยะการเดินทางหดสั้นลงแต่อย่างไร

.....ผมจบไว้ตรงนี้ก่อน คราวหน้าจะพูดถึงระยะที่ 2 ของการเดินไปทางค่าย ซึ่งไกลพอๆ กับการแข่งรถรายการ ปารีส – ดาการ์ ยังไงยังงั้น ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่านครับ
หมายเลขบันทึก: 153671เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2007 01:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • morning kah
  • ขออนุญาตนำบันทึกเข้าแพลนเน็ตของต้าค่ะ
  • ปี 40 ต้าไปเข้าค่ายที่อุ้มผาง ทำกิจกรรมที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ประมาณ 10 กว่าวัน ท่ามกลางอากาศอันเหน็บหนาว
  • จำไม่ได้ว่าอำเภออะไร  แต่ครูใหญ่เป็นนักร้องเพื่อชีวิตอ่ะคัอ ชื่อ ครูซัน ท่านเป็นคน จิตสาธารณะคนหนึงที่ควรค่าแก่การนับถือ  ผลิตเพลงเพื่อหางบอาหารกลางวันให้เด็กๆกิน
  • เพลงที่เลื่องลือในหมู่เด็กในขณะนี้ก็คือ แตงโมผลใหญ่ๆเกิดขึ้นได้จากแม่แตงเล็กๆ...
  • ไม่ทราบว่าป่านนี้ ครูซันอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร บ้าง  10 ปีแล้วี่ซึมซับประสบการณ์ดีๆจากอุ้มผาง แต่ไม่เคยลืมภาพ บรรยากาศและเด็กๆเหล่านั้นเลย
  • ขอบคุณที่ช่วยรื้อฟื้นเรื่องราวดีๆ ให้คิดถึงความอบอุ่นในอดีตนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท