เรียนรู้จากการคุยกับผู้ป่วยเบาหวาน


หากไม่พูดคุยกับผู้ป่วยเราจะรู้หรือไม่ว่าคำแนะนำของเราเข้าไม่ถึงชีวิตชาวบ้าน
เมื่อสองสัปดาห์ก่อนพบผู้ป่วยเบาหวานรายหนึ่งมารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการเป็นลมหมดสติเพราะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซักประวัติพบว่าขาดยามาประมาณ 1 เดือน แต่ด้วยความที่เราอยากรู้และไม่อยากคิดไปเองว่าผู้ป่วยไม่สนใจเรื่องการดูแลตนเอง จึงเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยได้ความว่า ที่ขาดยาเพราะเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อนไปทำงานก่อสร้างกับสามีที่กรุงเทพฯ แล้วเกิดป่วยกินข้าวไม่ได้ เลยไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่เขาบอกให้ผู้ป่วยงดยาฉีดควบคุมเบาหวานไปก่อนจนกว่าจะกินข้าวได้ แล้วค่อยกลับมาฉีดยาใหม่  กลับมาบ้านก็ปฏิบัติตาม และรอว่าเมื่อไหร่จะกินข้าวได้  จะได้กลับมาฉีดยาเหมือนเดิม เพราะผู้ป่วยเองก็กลัวว่าอาการของโรคเบาหวานจะเป็นมากขึ้น  ผู้ป่วยเป็นเบาหวานมาประมาณ 7 - 8 ปี และใช้ยาและฉีดอินซูลินควบคุมมาตลอดไม่เคยขาดยา ผู้ป่วยบอกว่ากลัวและคิดอยู่เหมือนกันว่าตัวเองจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเริ่มกลับไปใช้ยาได้เมื่อไร จะกลับไปที่โรงพยาบาลอีกก็ไม่กล้าเพราะเขาไม่ได้นัด จะกลับไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลที่เคยรับยาอยู่ประจำก็ไปไม่ได้ เพราะที่บ้านน้ำท่วม และปู่ก็มาเสียชีวิต เลยต้องช่วยจัดงานศพปู่ให้เรียบร้อยก่อน  ระหว่างที่ผู้ป่วยช่วยจัดงานศพปู่ญาติพี่น้อง และเพื่อนๆชวนดื่มเหล้า ด้วยความที่ขัดเขาไม่ได้ เกรงเขาจะว่าเอาก็เลยต้องดื่มบ้าง ทำไปทำมาก็เลยดื่มเพลิน ไม่ค่อยได้กินข้าว เสร็จงานศพปู่ รุ่งขึ้นจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก็เลยเป็นลมหมดสติ สามีจึงพามาโรงพยาบาล  หลังจากพูดคุยกับผู้ป่วยทำให้เราคิดว่าน่าจะเป็นเพราะคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ก็เลยทำให้ผู้ป่วยต้องขาดยา ทั้งนี้ด้วยความเข้าใจว่าจะกลับมาใช้ยาได้อีกก็ต่อเมื่อกินข้าวได้แล้ว  ประกอบกับความกลัว ความเกรงใจจึงไม่กล้ากลับไปหาหมอที่โรงพยาบาลนั้นอีก  แม้จะต้องเผชิญกับความกังวลไม่รู้จะตัดสินใจเริ่มฉีดอินซูลินเมื่อไรก็ตาม ยิ่งเจอปัญหาเรื่องน้ำท่วมบ้าน ปู่เสีย  เรื่องสุขภาพของตัวเองก็เลยต้องปล่อยไว้ก่อน และยิ่งเราพยายามเรียนจากผู้ป่วยรายนี้ จะทำให้เห็นชัดเจนว่าคำแนะนำของพวกเราเป็นแค่ความรู้เชิงวิชาการที่ขาดความเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์ที่มีความคิด ความเข้าใจ มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ต้องเผชิญภายใต้บริบทของแต่ละคน และการที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจปฏิบัติตัวอย่างไรนั้น ขึ้นกับความเข้าใจคำแนะนำที่เขารับรู้ และสติปัญญาของเขาในการเผชิญปัญหาชีวิตของตนเอง  ดังนั้น หากคำแนะนำหรือการแก้ปัญหาสุขภาพของเราเกิดขึ้นด้วยความไม่เข้าใจ ที่มาของพฤติกรรม ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ  ไม่ยอมรับจุดอ่อนของเราในการแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วย และที่สำคัญหากเราไม่ใช้วิจารณญานคิดใคร่ครวญให้รอบคอบ  ผู้ป่วยก็จะต้องกลับไปเผชิญทุกข์ด้วยตัวเองตามลำพัง และท้ายที่สุดถ้าโชคร้ายไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ก็จะกลับเข้ามาโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยรายนี้ ประเด็นคือ
1) เราจะทำอย่างไรให้คำแนะนำของเรามีประโยชน์พอที่เขาจะนำกลับไปใช้ในวิถีการดำเนินชีวิตที่มีบริบทเฉพาะของแต่ละคนได้
2) เราควรคิดไปเองหรือไม่ว่า เขาไม่เอาใจใส่เรื่องการดูแลตนเอง หากเรายังไม่ได้พูดคุยกับเขาก่อน เช่น ผู้ป่วยรายนี้ เขาเล่าให้ฟังว่าเขารับยามาตลอด 7 - 8 ปี สามารถบอกเราได้ว่าเขาสังเกตตัวเองอย่างไรจึงรู้ว่าตอนนี้น้ำตาลเขาขึ้นหรือลง สามารถคุยกับแพทย์รู้เรื่องว่าตอนนี้เขาฉีดยา กี่หน่วย ฉีดอย่างไร แม้ท้ายที่สุดจะมีข้อมูลว่าดื่มเหล้ากับญาติพี่น้องในงานศพของปู่จนไม่ค่อยได้กินข้าว
3) หากไม่พูดคุยกับผู้ป่วยเราจะรู้หรือไม่ว่าคำแนะนำของเราเข้าไม่ถึงชีวิตชาวบ้าน
หมายเลขบันทึก: 153374เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2007 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • อยากให้ชาวสาธารณสุขเราเข้าใจผู้ป่วยอย่างครูนกมากๆค่ะ
  • มีเหตุผลมากมายที่เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชน ซึ่งบางครั้งหลักวิชาการก็ต้องรอไว้ใช้เมื่อถึงเวลาอันสมควร....ครั้งแรกต้องให้รู้จักโรคที่เป็นและยอมรับที่จะอยู่กับโรคให้ได้ก่อน แล้วความร่วมมือต่างๆจะตามมา

ขอบคุณค่ะ ที่ช่วยเข้ามาแสดงความคิดเห็น คงมีชาวสาธารณสุขอีกมากมายที่อยากให้พวกเราเข้าใจผู้ป่วยแบบนี้  แต่ปัญหาคือจะช่วยกันทำอย่างไร  เป็นครูมาหลายปีก็เพิ่งมาเข้าใจ  เมื่อได้เข้าไปสัมผัสกับความจริงของสรรพสิ่งต่างๆ และกำลังพยายามจะปรับวิธีการสอนใหม่เพื่อให้ผลผลิตของเราเปลี่ยนไปใช้เหตุผล และข้อจำกัดอีกมากมายของชาวบ้านมาเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนนำหลักวิชาการของเราไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทชีวิตและความต้องการของเขา และไม่ควรด่วนสรุปเอาเองว่าเขาน่าจะต้องมีปัญหาแบบนี้และต้องปฏิบัติอย่างนี้เท่านั้น

 ๑ เห็นด้วยกับแนวคิดของครูนกมากๆเลย  แต่อย่างที่ครูนกบอกแหละค่ะ เป็นครูมาหลายปีก็เพิ่งเข้าใจ ดังนั้นคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยเลย ที่จะให้บุคคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่เข้าใจผู้ป่วยจริงๆ อย่างที่เราอยากได้     ๑ สิ่งที่เราน่าจะช่วยกันได้ก็คงเป็นการช่วยกันปลูกผังให้นักศึกษาพยาบาล/ สาธารณสุข รุ่นใหม่ ให้เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาการให้บริการ โดยคำนึงถึงบริบทชีวิตและความต้องการของผู้รับบริการ  ขอเป็นกำลังใจให้ สู้..สู้..ต่อไปนะคะ

ขอบคุณค่ะที่เป็นกำลังใจให้สู้ต่อไป กำลังพยายามทำทั้งเรื่องการปรับวิธีการเรียนการสอน และขณะเดียวกันก็พยายามทำความเข้าใจกับบุคลากรสาธารณสุขบางส่วนเท่าที่จะทำได้ค่ะ แม้จะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย ครูนกเชื่อว่าครูนกไม่ได้ทำอยู่คนเดียว จริงๆเรามีเพื่อนสาธารณสุขที่คิดแบบนี้อีกไม่น้อยที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงอยู่ วันหนึ่งจิ๊กซอว์ที่เราต่างพยายามทำอยู่คงมาต่อกันเป็นผืนใหญ่ในที่สุด ขอเพียงเราเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท