อย่าคิดว่าเรารู้ทุกเรื่อง


เทคนิคการเลี้ยงวัวนม

         เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค 50) ผมได้ออกไปเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ. มา 375000 บาท โดยให้อำเภอเป็นผู้คัดเลือกหมู่บ้านที่ดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นผลดี มาอำเภอละ 1 หมู่บ้าน รวม 9 อำเภอ 9 หมู่บ้าน

         คณะกรรมการชุดนี้มาจากหน่วยงานหลายหน่วยงาน จำนวน สิบกว่าคน มีกติกาที่ชัดเจนและข้อสำคัญกรรมการทุกท่าน ต้องเห็นทั้ง 9 หมู่บ้าน รางวัลที่ 1 เงินสด 100000 บาท รองลงมา 75000 บาท 50000 บาท ตามลำดับ ที่เหลือได้รางวัลปลอบใจ 25000 บาท ทุกหมู่บ้าน

         ประเด็นที่อยากนำมาพูดคุยกับท่านทั้งหลาย คือ การมองในมุมที่ว่าการประกวดครั้งนี้ ทุกท่านคงมองว่าชาวบ้านมีแต่ได้กับได้ แต่ผมกลับมองว่าคนที่ได้ที่สุดคือคณะกรรมการ เพราะกรรมการจะได้รับรู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้  ซึ่งมีอยู่หลายประเด็น ครั้งนี้เอาเรื่องเดียว ที่ผมเพิ่งรู้หลังจากเข้าใจผิดมานานแสนนาน

          บ้านโพธิ์เงิน หมู่ที่ 15 ตำบลวังสมบูรณ์ อำเภอวังสมบูรณ์ พวกเราเข้าไปในช่วงเช้า หลังจากฟังผู้ใหญ่บ้านบรรยายสรุปให้ฟังแล้ว ก็ตรวจเอกสารร่องรอยของการทำงาน แล้วเดินไปดูของจริงตามบ้านชาวบ้านทั้งหลาย  บ้านนี้เพิ่งก่อตั้งมา 5 ปี แต่เขาทำทุกอย่างได้ค่อนข้างดี ผู้คนส่วนใหญ่อพยพมาจากอีสาณ เรียกว่าเขาพัฒนาบ้านเขาได้รวดเร็วมาก

        ผมเดินเข้าไปพูดคุยกับผู้หญิงวัยกลางคนท่านหนึ่ง มีอาชีพเลี้ยงวัวนม เขาเล่าว่าไปกู้เงินจาก ธกส. มา 2 แสน ซื้อลูกวัวนมได้ 5 ตัว ปลูกโรงเรือนนิดหน่อยหมดเงินพอดี  สามปีให้หลังเขาหมดหนี้ เวลานี้มีวัวนม 20 กว่าตัว เลี้ยงตัวเองได้อย่างสบาย เขาพาผมไปดูคอกวัว ดูผลผลิตจากวัว พอเหนื่อย ก็มานั่งที่ใต้ถุนบ้านพุดคุยกัน

         ผมถามเขาว่า  วัวนมเป็นสัตว์ที่แปลก และฝืนกฏเกณฑ์ธรรมชาติมาก ราคาจึงค่อนข้างแพง  สัตว์อะไรก็ไม่รู้ให้น้ำนมตลอดปี ตลอดชาติ  ผิดกับคนจะมีน้ำนมก็เมื่อมีลูกเท่านั้น  การที่ผมถามเช่นนั้นเพราะรู้มาอย่างนั้น  เจ้าของวัวหัวเราะใหญ่เลย  ความรู้เรื่องวัวนมพร่างพรูออกจากปากชนิดที่คิดว่าไม่มีตำราเล่มใดให้แง่มุมละเอียดเช่นนั้

         วัวมันก็เหมือนกับคนนั่นแหละ  พอเริ่มเป็นสัด เราก็ผสมเทียม เมื่อติดลูกอ่อนได้ระยะหนึ่งก็เริ่มมีน้ำนม  และก็รีดไปจนเกือบจะตกลูก ก็หยุดรีด เมื่อวัวตกลูก เราก็รีดนมให้ลูกวัวกิน 7 วัน ที่ไม่ให้ลูกวัวมาดูดนมกินเองเพราะแม่วัวจะอั้นนม หลังจากนั้นก็ให้ลูกวัวไปกินอาหารอย่างอื่น เราก็รีดนมวัวต่อไป การรีดนมวัวต้องไม่มีการเปลี่ยนคนรีด เพราะวัวจะรู้จากการสัมผัส และเราจะรีดไปประมาณ 7 เดือน ในระหว่างนั้นก็มีการผสมพันธ์ใหม่ ถ้าลูกวัวออกมาเป็นตัวผู้จะเลี้ยงไว้ระยะหนึ่งแล้วขายไปทำวัวหัน (ผู้ชายอย่าทนงตัวว่าข้าแน่ โปรดดูวัวเป็นตัวอย่าง)

         แม้นจะเหน็ดเหนื่อยปานใดกับการทำงานในหน้าที่นี้  แต่ผมมองว่าคุ้มครับเพราะเรื่องที่เราได้เรียนรู้จากชาวบ้าน มีคุณค่ามากกว่าความเหน็ดเหนื่อย  ลืมบอกว่าศัตรูที่สำคัญของวัวคือ เห็บ ถามว่าแก้อย่างไร เขาบอกว่า เลี้ยงไก่ หรือเป็ดไว้ในคอกวัวจะแก้ได้ คราวหน้าจะเล่าเรื่องในลักษณะเช่นนี้อีกนะครับ

หมายเลขบันทึก: 153256เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2007 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ ผอ.สมนึก

  • บันทึกของท่านหายไปนาน (นานพอ ๆ กับของหนูเลย อิ อิ)
  • เรื่องที่เราคิดว่า "รู้" กลับ "ไม่รู้"
  • พระท่านว่า หากเราตระหนักถึงความไม่รู้ของเราอยู่ตลอด เราก็จะค่อย ๆ "รู้" ได้สักวัน
  • แต่หากเราคิดว่า "รู้" แล้ว ก็จะหมดความ "รู้" หรือเกิดการ "ไม่รู้" เข้าสักวัน เป็นจริงแท้ค่ะ
  • เชิญชวนให้อ่าน เรื่องไม่รู้แล้วยังชี้ ที่http://gotoknow.org/blog/ariyachon/149089

ผอ.ค่ะ เข้ามาอีกที เมื่อกี้ไม่ลิงค์ อันนี้โอเคค่ะ

http://gotoknow.org/blog/ariyachon/149089

         ขอบคุณ อ๊อด มากที่มักจะแนะนำสิ่งดี ๆ ให้เสมอ ช่วงนี้ที่ทำงานอยู่ในช่วงปรับวัฒนธรรมการทำงานใหม่ จึงไม่ค่อยมีเวลาเขียน Blog ที่จริงเป็นการแก้ตัว เพราะ  คนที่ไม่มีเวลา เขาต้องไม่มีเวลาแม้นกระทั่งการบ่นว่า ไม่มีเวลา  ขอบคุณมากครับ
  ผมเองก็เคยเข้าใจแบบท่านมาก่อนเหมือนกัน จนมีโอกาสได้ย้ายไปประจำอยู่วังน้ำเย็น เมือ 5-6 ปีที่ผ่านมา จึงได้เข้าใจเรื่องนมวัวครับท่าน ส่วนเรื่องการเลี้ยงเป็ด ไก่ ช่วยกำจัดเห็บได้นี่ เป็นความรู้ใหม่ครับ จะนำไปเผยแพร่ และแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆต่อไปครับ ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท