ดอกไม้ของน้ำใจ คุณค่าจากมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 4


การที่มีทรัพยากรจำกัด เมื่อเอื้อด้วยน้ำใจ แบบไทยๆ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์มากมาย เกิดความภาคภูมิใจ เกิดปรัชญาในการทำงานเชิงตะวันออก ที่สำคัญ คือคุณค่า... ซึ่งประเมินราคาไม่ได้

        งานหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับมอบหมาย ให้รับผิดชอบ ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 4  คือ   กิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ในห้อง Play & Learn ภาคบ่าย ของวันศุกร์ที่ 30  พฤศจิกายน  2550 ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ต่อ กลุ่ม  

         กิจกรรมนี้  ผู้เขียนเรียกว่า ดอกไม้ของน้ำใจ  เนื่องจาก ผู้เขียนได้อุปกรณ์ มาจาก น้ำใจ ของสมาชิกในบริษัทฯ  ตั้งแต่ หัวหน้าเป็นผู้ออกแบบแจกันพิเศษ   ฝ่ายช่างติดตั้งเป็นผู้จัดทำแจกันเหล็กอะลูมิเนียม จากเศษวัสดุในโรงงาน แน่นอนต้องใช้อุปกรณ์สิ้นเปลืองในการทำงานบ้าง  เมื่อผลงานชิ้นนี้เสร็จ  เราประเมินมูลค่าอยู่ที่ 3,000 บาท   เพื่อนร่วมงาน ให้Tacit  Knowledge กับผู้เขียน เมื่อทราบว่า ผู้เขียนจะเก็บดอกหญ้า ไปทำกิจกรรมจัดดอกไม้   เขาบอกว่า  "ดอกหญ้า มีเสน่ห์และความสวยงาม ไม่ใช่ดอกกุหลาบ  กล้วยไม้ ที่เห็นได้ง่ายทั่วไป ดูแล้วธรรมดา  ...สมัยที่เขาเรียนช่าง ต้องจัดผลงานประกวด ก็ใช้ต้นพืช กับอุปกรณ์ที่ยืมจากวัด โดยไม่ได้ใช้เงิน เพราะไม่มีเงิน  แต่ก็ได้รับรางวัลที่ 1"  พนักงาน ช่วยกันเก็บดอกหญ้าในโรงงาน และชุมชนใกล้เคียง ก็เอื้อเฟื้อดอกไม้ที่บ้าน ให้ผู้เขียนเช่นกัน  หัวหน้าผู้เขียน เป็นผู้บรรทุกอุปกรณ์ทั้งหมด พร้อมตัดดอกอ้อริมทางให้ผู้เขียน นำมาใช้ในกิจกรรม    ผู้เขียนได้รับความเอื้อเฟื้อแจกันเพิ่มเติม จาก อาจารย์ประทีป (KM Extern)    เมื่อรวมแจกันกับที่ผู้เขียนมีอยู่  ก็สามารถ รังสรรค์ กิจกรรมดอกไม้ของน้ำใจ ขึ้นมาได้

        ผู้เขียนภาคภูมิใจกับกลุ่มผู้เข้าร่วมเล็กๆ ไม่เกิน 50 คน ใน 2รอบ ว่า ได้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นปรัชญา  การแตกกระจายทางความคิด หรือ อาจเป็นความตระหนัก ติดตัวไปอย่างแน่นอน

        ในรอบแรก   ผู้เขียนไม่อนุญาตให้กลุ่ม มีการพูดคุย ในการหยิบอุปกรณ์  และในช่วงการจัด สามารถมีการปรับแก้ได้     ในที่สุดเราได้แจกันดอกไม้ที่สวยงามน่าดูออกมาเป็นผลงาน   ผู้เขียนเห็นรอยยิ้มของผู้เข้าร่วม การแสดงความคิดเห็นที่เป็นกันเอง    การถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึก  เป็นต้น (ใช้เวลาประมาณ 30 นาที)  ที่น่าสังเกตทุกแจกันใช้ทรัพยากรเต็มที่แน่นไปด้วยดอกหญ้า     และดอกหญ้าที่ยังสดสวยงาม จะถูกเลือกไปหมด ในรายละเอียดแล้วคล้ายสามารถตกแต่ง ได้อีกพอประมาณ   ผู้เขียน ย้อนคิด ถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ของพวกเรา เมื่อยังมีมากโข ... การดำเนินวิถีแบบพอเพียง   แล้วเริ่มเข้าใจ ปรัชญานี้ ในอีกมุมหนึ่ง ณ บัดนี้

         ในรอบที่ 2   ผู้เขียน บอกผู้เข้าร่วมว่า ถ้าเรามีทรัพยากรอย่างจำกัด ไม่มีดอกไม้สีๆแล้ว เหลือเพียงแต่ดอกหญ้าที่เหี่ยวบ้างปะปนกันไป  ใบพลูด่าง เป็นต้น  ให้ปรึกษาหารือกันได้  และเริ่มทำการจัดดอกไม้    น่าแปลก ในเวลาไม่เกิน  20 นาที ผู้เขียนต้องประหลาดใจ  ที่เห็นผลงานที่มีเสน่ห์จากดอกหญ้า ในรูปแบบต่างๆ  บางกลุ่มจัดได้ถึง 3 แจกัน  แม้แต่หญ้าแพรกยังถูกนำมาถักเป็นส่วนประกอบของแจกัน  ผู้เข้าร่วม AAR ออกมาเอง  เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ว่ามีอยู่ในทุกผู้คน  ถ้าไม่มีใครขัด ก็จะถูกแสดงออกมา และได้ผลงานที่สวยงาม ในเวลาอันรวดเร็ว  ทุกท่านรู้สึกว่าได้...    บางท่านตระหนักและเชื่อมโยงความคิด เรื่องทรัพยากรดอกไม้และแจกัน ไปถึง ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ที่เหมือนดอกไม้ ดอกหญ้าเหล่านี้   การรู้จักเลือกใช้อย่างสมดุล ก็ย่อมเกิดคุณค่า    ... ผู้เขียนเดินไปหยิบดอกอ้อ มาแบ่งให้ 2 กลุ่มเล็กที่กำลังจัด เมื่อมองเห็นว่า เขากำลังต้องการดอกไม้ไปเพิ่มในแจกันที่มีใบอยู่...   การเอื้อเฟื้อ และแบ่งปัน หรือ การให้... จะทำให้พวกเราอยู่รอดอย่างมีความสุขทุกคน

        ผู้เขียนสามารถยืนยันความคิดตนเองได้ จากการทดลองโดยไม่ตั้งใจนี้ว่า  การที่มีทรัพยากรจำกัด เมื่อเอื้อด้วยน้ำใจ แบบไทยๆ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  สิ่งประดิษฐ์มากมาย เกิดความภาคภูมิใจ  เกิดปรัชญาในการทำงานเชิงตะวันออก ที่สำคัญ คือคุณค่า... ซึ่งประเมินราคาไม่ได้  ... นี่กระมัง!  ประเทศที่ประสบกับสงครามจึงทำอะไรได้ไม่เหมือนใคร เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัด ต้องมอง และใช้ทุกสิ่งควบคู่กับความนึกคิด  คนจึงเกิดการพัฒนา...

        ผู้เขียนกลับมาเล่าสิ่งเหล่านี้ ให้สมาชิกในโรงงานได้ทราบ และร่วมภาคภูมิใจ ในสิ่งที่พวกเขาได้มีส่วนร่วม อาจจะเรียกว่า น้ำใจ ความดี ความรู้ หรือไม่? ผู้เขียนไม่แน่ใจ...

.....     .....     .....     .....     .....

หมายเลขบันทึก: 153020เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท