การนวดสัมผัสทารกเกิดก่อนกำหนด


ดรุณี ชมกลิ่น : ผลของโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์บิดาและทารกโดยการนวดสัมผัสต่อความผูกพันของบิดาต่อทารกเกิดก่อนกำหนด วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2549 อาจารย์ที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ ดร.วีณา จีระแพทย์

                

            

 

                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์บิดาและทารกโดยการนวดสัมผัสต่อความผูกพันของบิดาต่อทารกเกิดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่าง คือ บิดาและทารกเกิดก่อนกำหนด อายุครรภ์ 32-37 สัปดาห์ ที่เข้ารับการรักษาในหอทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย จำนวน 40 ราย           

                เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling)  โดยจับคู่ทารกเกิดก่อนกำหนดให้มีอายุครรภ์และน้ำหนักแรกเกิดใกล้เคียงกัน เก็บรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มควบคุม 20 รายก่อนแล้วจึงศึกษาในกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์บิดาและทารกโดยการนวดสัมผัสวันละครั้ง ครั้งละ 15 นาที ทั้งหมด 12 ครั้ง

                เครื่องมือในการวิจัย คือ โปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์บิดาและทารกโดยการนวดสัมผัส ประกอบด้วย แผนการสอน หุ่นทารกแรกเกิด คู่มือการนวดสัมผัสทารกเกิดก่อนกำหนดที่ผ่านความตรงตามเนื้อหา เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามความผูกพันของบิดาต่อทารกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงของภาษาโดยวิธี back translation มีค่าความเที่ยงของครอนบาคอัลฟ่าเท่ากับ .7 และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา Repeated ANOVA และการทดสอบค่าที (Independent t-test)                

ผลการวิจัยพบว่า

               1. ค่าเฉลี่ยของคะแนนความผูกพันของบิดาต่อทารกเกิดก่อนกำหนด กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์บิดาและทารกโดยการนวดสัมผัส เมื่อทารกอายุ 18 วันสูงกว่าเมื่อทารกอายุ 3 วัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01)

               2. ค่าเฉลี่ยของคะแนนความผูกพันของบิดาต่อทารกเกิดก่อนกำหนด กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์บิดาและทารกโดยการนวดสัมผัส เมื่อทารกอายุ 1 เดือนสูงกว่าเมื่อทารกอายุ 18 วัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01)

               3. ค่าเฉลี่ยของคะแนนความผูกพันของบิดาต่อทารกเกิดก่อนกำหนดในบิดา กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมปฏิสัมพันธ์บิดาและทารกโดยการนวดสัมผัส สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ เมื่อทารกอายุ 18 วัน และเมื่อทารกอายุ 1 เดือน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01) 

        ผลการวิจัยแสดงถึงประสิทธิภาพของโปรแกรมที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดบริการพยาบาล เพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของบิดาต่อทารกเกิดก่อนกำหนด ช่วยลดช่องว่างจากการแยกจาก  ในรูปแบบการจัดบริการที่เน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลาง และก่อให้เกิดความคงอยู่ของความผูกพันของบิดาต่อทารกเกิดก่อนกำหนด 

หมายเลขบันทึก: 152651เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2007 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท