เห็นด้วยหรือไม่กับพ.ร.บ.ธงชาติ...


หากวัตถุประสงค์ของการให้หยุดนิ่งยืนตรงหันหน้าไปทางธงชาติหรือทางที่เสียงเพลงชาติเป็นไปเพื่อให้ทุกคนมีความรักชาติและเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า

            เมื่อวันที่ 21 เดือนพฤศจิการยนที่ผ่านมา ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติธง พ.ศ........ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื้อหาในพระราชบัญญัตินั้นได้กล่าวถึงลักษณะและความสำคัญของธงต่างๆ กล่าวคือ หมวด 1 ธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยและชาติไทย หมวด 2 ธงพระอิสริยยศ หมวด 3 ธงทหาร หมวด 4 ธงพิทักษ์สันติราษฎร์ หมวด 5 ธงกองอาสารักษาดินแดนและกองอาสารักษาดินแดนจังหวัด หมวด 6 ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือจังหวัด หมวด 7 ธงราชการทั่วไป หมวด 8 ธงแสดงตำแหน่งทั่วไป หมวด 9 การใช้ ชัก หรือแสดงธง หมวด 10 บทกำหนดโทษ     มีเนื้อหาบางส่วนของพ.ร.บที่เกี่ยวกับธงชาติดูเหมือนจะขัดกับความเป็นจริงได้บัญญัติไว้ดังนี้ 

 มาตรา 45/4 เมื่อเห็นการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการหยุดนิ่งยืนตรงหันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติจนกว่าจะเสร็จการ 
มาตรา 45/5 ในกรณีที่ได้ยินเสียงเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยการหยุดนิ่งยืนตรงหันหน้าไปทางธงชาติหรือทางที่เสียง เพลงชาติดัง ในกรณีอยู่ในอาคารให้หยุดนิ่งยืนตรงดังกล่าวด้วย หากไม่สามารถยืนแสดงความเคารพได้ ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม ในกรณีอยู่ในยานพาหนะ ให้หยุดยานพาหนะจนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง เว้นแต่กรณีอยู่ในยานพาหนะที่สัญจรบนทางด่วน ทางรถไฟ ทางรถไฟฟ้า ทางน้ำ หรือทางอื่นที่ไม่อาจหยุดยานพาหนะได้ ตามรายละเอียดที่กำหนดในกฎกระทรวง 

และนอกจากนี้ยังได้กำหนดบทลงโทษไว้ด้วย กล่าวคือ

มาตรา  48  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา  45  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี  หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท  หรือทั้งจะทั้งปรับ

บทบัญญัติดังกล่าวนั้นดูเหมือนขัดกับความรู้สึกที่ค่อนข้างไม่คุ้นเคย ในความเป็นจริงนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าการแสดงความเคารพนั้นไม่จำเป็นจะต้องแสดงด้วยการยืนตรง เพราะความเคารพนั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากสามัญสำนึก หรือ ความระลึกถึงวัตถุหรือบุคคลที่จะเคารพนับถือ ดังนั้นการแสดงความเคารพจึงไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออกมาด้วยวิธีการยืนตรง อาจแสดงด้วยวิธีการอื่นๆที่สำรวมก็ได้ เพราะการแสดงความเคารพถือได้ว่าเป็นการแสดงออกมาซึ่งความคิดอย่างหนึ่ง ว่าเรากำลังมีความคิดและความรู้สึกอย่างไร หากแต่การแสดงออกซึ่งความคิดนี้จะไม่กระทบหรือขัดต่อสิทธิของผู้อื่น

หากวัตถุประสงค์ของการให้หยุดนิ่งยืนตรงหันหน้าไปทางธงชาติหรือทางที่เสียงเพลงชาติเป็นไปเพื่อให้ทุกคนมีความรักชาติและเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า เพราะการแก้ปัญหาที่ตรงจุดควรจะเริ่มแก้ที่ต้นเหตุ ควรเริ่มจากการปลูกฝังให้มีความรักชาติ ภูมิใจในชาติของตนตั้งแต่เด็ก หรือฝึกให้มีระเบียบ วินัย มีคุณธรรม จริยธรรม เพราะหากมีพื้นฐานในเรื่องเหล่านี้แล้ว ทุกคนก็จะคิดเป็นจะรู้จักในการวางตัวอยู่ในสังคม รู้จักเคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน โดยไม่ต้องให้มีการบังคับให้แสดงความเคารพถึงขั้นที่ว่าจะต้องลงโทษหนักถึงขั้นจำคุกถึง 2 ปี

หมายเลขบันทึก: 152451เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2007 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ,

แวะเข้ามาทักทายครับ :)

เพิ่งจะเห็นบล็อกนี้น่ะครับ เลยมาคอมเมนต์ช้าไปหน่อย

ผมก็ไม่เห็นด้วยกับ วิธีแก้ปัญหาปลายเหตุ แบบนี้เหมือนกันครับ จริงๆคือไม่ชอบมากๆๆๆๆๆ เลยซะด้วยซ้ำ....รู้สึกว่ามันไร้สาระน่ะครับ....  ดูแล้วเหมือนกับเป็นนโยบายเพื่อ "เอาหน้า" เฉยๆ ...

การที่เราจะรักหรือเคารพอะไรซักอย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาด้วยกิริยาภายนอก การปลูกฝังที่ภายในต่างหากที่สำคัญกว่า

อย่างเช่นพวกฆาตกรที่ก่อคดีร้ายแรง ส่วนใหญ่ก็เรียนประถมมา ต้องสวดมนต์เคารพธงชาติหน้าเสาธงกันทั้งนั้น แต่ศาสนาก็ไม่ได้เข้าไปในจิตใจของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอยู่แล้วนะครับ ว่าการแสดงออกภายนอกอย่างเดียวแบบนี้มันไม่ได้มีประโยชน์อะไร :)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท