บทความประสบการณ์การสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ


บันทึกประสบการณ์ดี ๆ จากการได้ไปสอนภาษาไทยให้ชาวจีนที่มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี ประเทศจีน

ประสบการณ์การสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

หนีห่าว เหล่าซือ (Nǐ Hǎo Lǎo Shī) : สวัสดีคุณครู

              มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (Cooperation agreement) ในหลาย ๆ ด้าน ร่วมกับมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี (Guangxi University for Nationalities) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงร่วมกันนั้น คือ การแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อประโยชน์ด้านการเรียนการสอน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสไปสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2550  ประโยชน์ที่ได้รับจากการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ได้เสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้เขียนในด้านการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก บทความนี้ จึงมุ่งถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการสอนภาษาไทยให้แก่ชาวต่างชาติ เพื่อให้เป็นประโยชน์ทางวิชาการแก่อาจารย์ท่านอื่น ๆ ต่อไป 

รู้จักมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี

                มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี (Guangxi University for Nationalities) หรือที่เรียกกันเป็นภาษาจีนว่า กว่างซี หมิงจู๋ ต้าเสวก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2495 ด้วยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการกิจการชนชาติแห่งประเทศจีน (State Ethnic Affairs Commission) และรัฐบาลเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี (Guangxi Zhuang Autonomous Region) มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นสาขาของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ตั้งอยู่ที่เมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี เมื่อแรกเริ่มก่อตั้ง              มีสถานะเป็นวิทยาลัย ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัย เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในสาขาวิชาต่าง ๆ 8 กลุ่มวิชาหลัก อันได้แก่ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาการจัดการ นิติศาสตร์ และครุศาสตร์

                 ในปี พ.. 2544 มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศจีนให้เป็นฐานจัดการศึกษาภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ระดับปริญญาตรี พร้อมกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเซี่ยงไฮ้  ฉะนั้น ในแถบภาคใต้ของประเทศจีน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีจึงได้ขึ้นชื่อว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งด้านภาษาเป็นอย่างมาก (อรรณพ วราอัศวปติ  2549  :  เว็บไซต์)

                  นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนภาษาไทย ที่เปิดสอนมานับสิบปี โดยเริ่มแรก เปิดสอนที่คณะภาษาต่างประเทศ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก และได้ผลิตบัณฑิตสู่ตลาดแรงงานมากมาย รวมทั้งผลิตครูผู้สอนภาษาไทยในรุ่นแรก ๆ จนถึงปัจจุบัน ต่อมาความนิยมการเรียนภาษาไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับนโยบายการเปิดประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน และการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจีนและประเทศไทย จึงได้มีการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างแพร่หลาย (เบญจมาศ ขำสกุล 2549  :  เว็บไซต์)

              สถาบันการศึกษานานาชาติ เป็นหน่วยงานการศึกษาหนึ่งของมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 เปิดสอนภาษาต่างประเทศหลายภาษาให้กับชาวจีนและชาวต่างชาติ  ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาเกาหลี หรือภาษาเวียดนาม แม้ว่าสถาบันนี้จะเป็นน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย แต่ก็ถือได้ว่ามีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการพอสมควร คณะผู้บริหารของสถาบันนี้ได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยของต่างประเทศหลายมหาวิทยาลัย เพื่อให้คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษาของสถาบันได้รับประโยชน์สูงสุด

                ในส่วนของการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศนั้น เพื่อให้นักศึกษาได้มีทักษะทางการสื่อสารอย่างแท้จริง ทางสถาบันก็ได้จัดหาอาจารย์ผู้สอนจากประเทศเจ้าของภาษามาสอนนักศึกษาดังกล่าว และด้วยความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เขียนจึงได้รับมอบหมายให้ไปสอนภาษาไทยให้แก่นักศึกษาของสถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี

การต้อนรับอันอบอุ่นที่กุ้ยหลิน

                การเดินทางสู่แดนมังกรของผู้เขียนได้เริ่มต้นขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2549 ด้วยเครื่องบิน Airbus 320 เที่ยวบินที่ PG821 เวลา 16.30 น.  จากน่านฟ้ากรุงเทพฯ พาผู้เขียนทะยานลัดฟ้าไปสู่เมืองกุ้ยหลิน ใช้เวลาบินเพียงสองชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ทำให้ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกว่าห่างไกลจากบ้านเลยแม้แต่น้อย

                 เวลาสามทุ่มเศษ ๆ เมื่อผู้เขียนก้าวออกจากสนามบินกุ้ยหลิน ก็ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากอาจารย์ชาวจีนที่มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีส่งมารับ ท่านเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมของกุ้ยหลิน ดังนั้น เราจึงสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษอย่างออกรสชาติ อาจารย์ท่านนั้นได้พาผู้เขียนไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารหรูแห่งหนึ่งในเมืองกุ้ยหลิน ก่อนที่จะพาไปพักที่โรงแรมในย่านใจกลางเมือง

              รุ่งเช้า สาวน้อยชาวจีนท่านหนึ่งมารับผู้เขียนไปทานอาหารเช้าใกล้ ๆ กับโรงแรม จากนั้นจึงพาไปขึ้นรถโดยสารเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองหนานหนิง แม้ว่าเราทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถสื่อสารกันได้ แต่ผู้เขียนก็สัมผัสได้ด้วยใจว่า สาวน้อยท่านนี้ ยินดีและเต็มใจให้บริการผู้เขียนอย่างขยันขันแข็ง ทั้งอาจารย์ชาวจีนและสาวจีนคนนี้ต่างก็สร้างความประทับใจเมื่อแรกพบให้กับผู้เขียนได้เป็นอย่างดี 

สู่อ้อมอกเมืองหนานหนิง

              เวลา 8.30 น. รถโดยสารปรับอากาศก็เคลื่อนตัวออกจากสถานีรถปรับอากาศเมืองกุ้ยหลิน มุ่งหน้าไปยังเมืองหนานหนิง ด้วยเวลาสี่ชั่วโมงครึ่ง ผู้เขียนก็เดินทางมาถึงหนานหนิง เมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่า เมืองสีเขียว (Nanning : The Green City)” อีกทั้งยังเป็นเมืองเอกของมณฑลกว่างซีด้วย ก่อนลงจากรถ ผู้เขียนพยายามมองหาคนที่จะมารับ แต่ก็ยังไม่เจอใคร จิตใจจึงเริ่มหวั่น ๆ ด้วยเกรงว่าจะไม่มีใครมารับ แต่เมื่อผู้เขียนขนกระเป๋าลงไป ก็มีชายหนุ่มจีนรูปร่างผอมสูง เข้ามาถามผู้เขียนว่า อาจารย์มาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามใช่มั้ยครับ ใช่ค่ะ ผู้เขียนตอบ พร้อมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและจิตใจที่สดชื่นขึ้นมาทันควัน ค่อยยังชั่ว นึกว่าจะไม่มีใครมารับเราซะแล้ว

              ชายหนุ่มคนนี้ มีชื่อจีนว่า เหลียงกุ้ยซง ชื่อไทยคือ จิตติพล หรือ คุณพล ที่ผู้เขียนเรียกจนติดปาก คุณพลเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย เรียนจบเอกภาษาไทยจากคณะภาษาต่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผู้เขียนจึงหายสงสัยแล้วว่า ทำไมหนุ่มน้อยคนนี้จึงพูดภาษาไทยได้เก่งนัก

               เมื่อขนกระเป๋าเข้าห้องพักเรียบร้อยแล้ว คุณพลก็พาผู้เขียนไปรับประทานอาหารบ่าย ที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกเป็นภาษาจีนว่า หมิงจู๋ ชานทิง โรงอาหารแห่งนี้ดูแล้วสะอาดและเป็นระเบียบมากทีเดียว คุณพลเล่าว่า ไม่ว่าจะไปโรงอาหารใดภายในมหาวิทยาลัยนี้ หากจะสั่งอาหารรับประทาน ทุกคนจะต้องซื้อบัตรอาหารก่อนแล้วจึงจ่ายเงินให้พนักงาน (ฝูอู้หยวน) เติมเงินลงในบัตร จากนั้น เมื่อสั่งอาหารแล้ว จึงยื่นบัตรดังกล่าวให้กับพนักงานเสิร์ฟ ซึ่งเรียกเป็นภาษาจีนว่า ฝูอู้หยวน เช่นเดียวกัน (ชาวจีนจะเรียกคนที่ทำงานบริการว่า ฝูอู้หยวน) ระบบการสั่งอาหารแบบนี้ ผู้เขียนคิดว่าโรงอาหารของมหาวิทยาลัยในเมืองไทยน่าจะนำมาใช้บ้าง เพราะดูเป็นระบบดีมาก 

                ในตอนค่ำ คุณพลได้เชิญผู้เขียนไปรับประทานอาหารเย็นอีกครั้งที่ห้องอาหารอีกแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัย (หงเต้าเชวียน) แต่ครั้งนี้ เป็นการเลี้ยงต้อนรับจากมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารของสถาบันการศึกษานานาชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ชาวจีนที่สอนภาษาไทย คุณพลบอกกับผู้เขียนว่า เมื่อมีอาจารย์ชาวต่างชาติมาสอน มหาวิทยาลัยจะจัดงานเลี้ยงต้อนรับเสมอ ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงคำกล่าวที่ว่า อันธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับคำกล่าวนี้ คงมิได้มีเพียงธรรมเนียมของไทยเราเท่านั้น หากแต่ยังเป็นธรรมเนียมของชาวจีนด้วยเช่นกัน

การจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษานานาชาติ               

                  วันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 ผู้เขียนจึงได้เข้าไปคุยรายละเอียดเกี่ยวกับรายวิชาที่จะสอน กับอาจารย์เหอ ตง ซึ่งเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ ของสถาบันการศึกษานานาชาติ ระหว่างที่พูดคุยอยู่นั้น สาวน้อยคนหนึงซึ่งเข้ามาพบอาจารย์เหอ ตง ได้ถามผู้เขียนว่า อาจารย์คนไทยใช่มั้ยคะ ค่ะ ผู้เขียนตอบ อาจารย์เหอ ตง จึงได้แนะนำให้รู้จักกับเธอ หลูตานหัว หรือ คุณเตย เลขานุการวัย 26 ปี ของอาจารย์เหอนั่นเอง               

              คุณเตย ผู้เขียนขอเรียกเธอว่า เป็นผู้กุมอำนาจด้านวิชาการของสถาบันการศึกษานานาชาติแห่งนี้ก็ว่าได้ คุยเตยมีหน้าที่จัดการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตารางสอนของอาจารย์ทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติกว่า 20 ชีวิต การคุมสอบ การเบิกจ่ายวัสดุประกอบการเรียนการสอน การติดต่อประสานงานกับอาจารย์และนักศึกษา หรือแม้กระทั่งการพิมพ์และการจัดเรียงข้อสอบ เรียกได้ว่า  เธอทำงานเก่งจริง ๆ ในยามที่ผู้เขียนหรืออาจารย์ท่านอื่น ประสบปัญหาอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็ตาม ก็ได้คุณเตยนี่แหละ ที่เป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา               

               สำหรับนักศึกษาที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้สอนนั้น เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของสถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี เริ่มแรก ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นนักศึกษาวิชา   เอกภาษาไทยโดยเฉพาะ แต่เมื่อสอนไปได้ระยะหนึ่ง จึงได้ทราบว่า นักศึกษาดังกล่าว จะเรียนวิชาภาษาไทยเฉพาะในชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 จากนั้น ในปีที่ 3-4 พวกเขาจะได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยแยกสาขาวิชาไปตามความชอบ สาขาที่นักศึกษาสามารถเลือกได้นั้น เช่น ธุรกิจระหว่างประเทศ ภาษาไทย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กฎหมาย (ต้องสอบก่อนเข้าเรียน) เป็นต้น ส่วนมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาเลือกไปเรียนได้นั้น ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขากฎหมายนั้น นักศึกษาจะต้องสอบก่อนเข้าเรียน                

                 การสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 นี้ ผู้เขียนต้องสอนทั้ง 7 ห้อง 1 รายวิชา คือ พื้นฐานวัฒนธรรมไทย (Background of Thai Culture) ซึ่งมีเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่ของคนไทย  ความคิด  ค่านิยมและศิลปะ  แบบแผนการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมไทย (The Thai ways of life, people’s thoughts, values, arts, and patterns of Thai daily life in the society) เมื่อผู้เขียนได้ทราบขอบเขตของเนื้อหาแล้ว จึงได้วางแผนการสอนว่าจะสอนอะไรบ้างในแต่ละคาบ โชคดีที่ก่อนมาประเทศจีน ผู้เขียนได้เตรียมเนื้อหา รูปภาพ และของจริงที่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมไทยมาเป็นบางส่วน จึงทำให้ง่ายต่อการเตรียมสอน

               ใน 1 สัปดาห์ ผู้เขียนได้สอนห้องละ 2 คาบ คาบละ 40 นาที โดยแต่ละห้อง ผู้สอนต้องสอนรวมทั้งสิ้น 30 คาบ ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นชิดพอสมควร เพราะผู้เขียนจะมีเวลาสอนแต่ละห้องได้เต็มที่เพียง 6 สัปดาห์ (รวมเป็น 12 คาบ/ห้อง) ส่วนอีก 18 คาบที่เหลือนั้น จำต้องสอนนักศึกษา 2-3 ห้องในเวลาเดียวกัน ซึ่งถือว่ามีนักศึกษาเป็นจำนวนที่มากพอสมควร กล่าวคือ นักศึกษาแต่ละห้องจะมีจำนวนเฉลี่ยห้องละ 40 คน ฉะนั้น ผู้เขียนจึงไม่สามารถฝึกทักษะการใช้ภาษาของนักศึกษาได้ครบ  ทุกคน ผู้เขียนจึงต้องปรับแผนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ของผู้เรียน และบรรยากาศในห้องเรียน โดยผู้เขียนได้ใช้วิธีการฝึกทักษะการอ่านเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้มีส่วนร่วม นอกจากนี้ ผู้เขียนจะไม่นั่งเก้าอี้เลย ในขณะที่สอน แต่จะใช้วิธีการเดินไปทั่วห้อง พูดด้วยเสียงที่ดังกว่าปกติ พร้อมทั้งใช้ภาษาท่าทางเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้ยินและเห็นกันอย่างทั่วถึง  

เนื้อหาการสอน               

               สำหรับเนื้อหาคร่าว ๆ ที่ผู้เขียนได้สอนไปนั้น ในช่วงแรกประกอบด้วยความหมาย ประเภท และลักษณะของวัฒนธรรม เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้เรียนได้เข้าใจวัฒนธรรมแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้อง จากนั้น ผู้เขียนจึงสอนตามประเภทของวัฒนธรรม โดยแบ่งเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ (อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย ยารักษาโรค และยานพาหนะของไทย) และวัฒนธรรมทางจิตใจ ซึ่งก็คือมารยาทและการปฏิบัติตัวในสังคมไทยนั่นเอง  

บรรยากาศในชั้นเรียน               

              ในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นนักเรียนมาก่อน ผู้เขียนจึงตระหนักดีว่าบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังที่สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์ (2545 : 19) ได้กล่าวไว้ว่า บรรยากาศในชั้นเรียนที่ดีย่อมนำไปสู่การเรียนการสอนที่ดีได้      ดังนั้น ผู้สอนจึงยึดเอาหลักการนี้เป็นสำคัญ โดยเริ่มจากการสร้างความเป็นกันเองระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ทุกครั้งที่สอน ผู้สอนจะทักทายและพูดคุยกับผู้เรียนด้วยรอยยิ้มเสมอ จนผู้เรียนบอกกับผู้สอนว่า อาจารย์ยิ้มเก่งมาก ๆ และยังยิ้มสวยด้วย หนูชอบยิ้มของอาจารย์ค่ะ

วิธีการสอน

                 ด้านวิธีการสอนที่ผู้เขียนใช้ในการสอนภาษาไทยให้แก่นักศึกษาชาวจีนนั้น ผู้เขียนได้ประยุกต์เอาวิธีการเรียนการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารตามแบบที่ รศ.อรุณี วิริยะจิตรา (2532 : 31-39) ได้เสนอไว้ ดังนี้

1. วิธีการสอนแบบตรง (direct method)                               

            เน้นการใช้ภาษาไทยเป็นสื่อการสอนในห้องเรียน ผู้เขียนพยายามให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายในประโยคด้วยการเชื่อมโยงคำกับของจริง พร้อมทั้งยกตัวอย่างและแสดงภาษาท่าทางประกอบ นอกจากนี้ ผู้เรียนยังได้ฝึกอ่านโดยการอ่านออกเสียงและพยายามหาความหมายของศัพท์ที่ผู้เขียนได้สอนไป ผู้เขียนทดสอบความเข้าใจในการอ่านโดยให้ผู้เรียนตอบคำถามและอภิปรายเนื้อเรื่องที่อ่านมาในภาษาไทย วิธีการสอนแบบนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ช่วยให้ผู้เรียนคุ้นกับภาษาไทยได้เร็วขึ้น                   

     ตัวอย่างเช่น    เมื่อผู้เขียนกล่าวคำว่า "กระติบข้าว" ผู้เขียนก็ชี้ไปที่รูปกระติบข้าวเหนียว แล้วบอกว่าเป็นภาชนะที่ใส่ข้าวเหนียวของคนอีสาน นอกจากนี้ ยังใช้ประกอบการแสดง เซิ้งกระติบ อีกด้วย ผู้เขียนจึงแสดงท่าทางการเซิ้งให้นักศึกษาได้ชมไปพร้อม ๆ กัน จากนั้น จึงให้นักศึกษาออกเสียงตาม 

2. วิธีการสอนโดยอาศัยการฟังและพูด (audio-lingual method)       

               ผู้เขียนให้ผู้เรียนท่องบทสนทนา เพื่อที่จะได้ฝึกแบบการออกเสียงและระบบเสียง สูงต่ำในบทสนทนา ภาษาที่ใช้ในบทสนทนานี้ เป็นภาษาที่ใช้พูดในสถานการณ์จริง ๆ จึงทำให้  ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการใช้ภาษาของคนไทยด้วย ผู้เขียนฝึกให้ผู้เรียนพูดตามและท่องบทสนทนาจนขึ้นใจ แล้วจึงให้ฝึกโดยวิธีเทียบแทน (substitution drill) เพื่อเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าใจในเนื้อหาที่ผู้เขียนสอนมากยิ่งขึ้น                               

              ตัวอย่างวิธีเทียบแทนที่ผู้เขียนใช้สอนผู้เรียนนั้น ได้แก่ ผู้เขียนให้ผู้เรียนจดบทสนทนาลงในสมุด พร้อมทั้งขีดเส้นใต้คำกริยาที่บ่งบอกประเภทของดนตรีไทยและชื่อเครื่องดนตรีไทย จากนั้น ให้ผู้เรียนแทนที่คำดังกล่าวด้วยคำกริยาและชื่อเครื่องดนตรีไทยอื่น เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้เข้าใจเรื่องดนตรีไทยมากขึ้น                  

ตัวอย่างบทสนทนา 

            :              ก่อนเล่นดนตรีไทย ผู้เล่นเขายกมือไหว้อะไรเหรอคะ

             :               เขายกมือไหว้ครูค่ะ

             :               ทำไมถึงต้องไหว้ครูคะ

            :              เพื่อเป็นการแสดงความเคารพครูบาอาจารย์ค่ะ

            :              เหรอคะ ดีจังเลยค่ะ อืม เสียงเครื่องดนตรีไทยไพเราะมากเลยค่ะ ดิฉันชอบมาก

             :               ดิฉันก็ชอบค่ะ คุณชอบการแสดงตอนไหนมากที่สุดคะ

            :              ดิฉันชอบตอนเดี่ยวระนาดเอกมากที่สุดเลยค่ะ

             :               ค่ะ ดิฉันว่า ศร พระเอกของเรื่อง ตีระนาดเอกได้เก่งมากค่ะ

            :              แล้วคุณชอบตอนไหนมากที่สุดคะ

            :               ดิฉันชอบตอนสีซออู้ค่ะ ไพเราะดี                  

              จากบทสนทนาดังกล่าว ผู้เขียนให้ผู้เรียนแทนที่คำที่ขีดเส้นใต้ด้วยคำกริยาและชื่อเครื่องดนตรีไทยอื่น เช่น ดีดจะเข้ เป่าขลุ่ย ตีกลอง เป็นต้น 

หมายเลขบันทึก: 152321เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2007 03:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะอาจารย์

พี่หนิงสงสัยว่าจะ  บทความจะยาวไปนะคะ  ขออนุญาตแนะนำว่า  ทำเป็นตอนๆ  และจัดหน้าด้วยก็คงจะอ่านง่ายขึ้นนะคะอาจารย์

ยินดีต้อนรับสู่เวีทีเสมือนจริง G2K นะคะ

สวัสดีค่ะ พี่หนิง

ขอบคุณมากนะคะ

ตะกี้ยังพิมพ์มันเสร็จค่ะพี่หนิง มันเด้งไปบันทึกซะก่อน...ขอบคุณมากค่ะพี่ สำหรับคำแนะนำ ตอนแรกยังไม่รู้อะค่ะ ว่าต้องยาวแค่ไหน เลยใส่มาซะยาวเหยียดเลย ต่อไปจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ นะคะ ยินดีที่ได้รู้จักพี่หนิงและได้เข้าสู่เวที G2K ค่ะ :)

อาจารย์คะ

พี่ว่า  รูปอาจารย์(เจ้าของblog)ยังตกลงมาข้างล่างเลยอ่ะค่ะ  อันนี้พี่ว่าสำคัญนะคะ  เพราะคนเข้ามาอ่านคงอยากจะเห็นรูปเจ้าของblog อยู่ข้างๆบทความอ่ะค่ะ

ลองปรับแต่งหน้าจอดูนะคะ  อาจจะเป็นที่ theme ด้วยหรือป่าว 

ขอโทษนะคะอาจารย์  อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวของพี่นะคะ  ว่า theme มากเกินไปก็ทำให้ blog ดูเลอะอ่ะค่ะ

คือ  ยิ่งต่อไปใน blog ไหนอาจารย์มีรูปภาพประกอบเนื้อหา  เข้ามาอีก

พี่กลัวว่ามันจะเลอะไปหนะค่ะ   อาจารย์ลองเลือก theme ที่ชอบๆ  สักแนวนะคะ

แล้วอีกอย่างพี่สังเกตว่า  ข้อความในความคิดเห็นในนี้  ทำไมเป็นตัวทึบ หมดหละค่ะ

อาจารย์ตั้งใจทำให้เป็นหรือป่าว

แต่ก็แล้วแต่ชอบนะคะ  แล้วแต่สไตล์ 

พี่หนิงแค่รู้สึกว่า  รูปเจ้าของ blog ไม่น่าจะตกลงมาอยู่ข้างล่างอ่ะค่ะ

พี่หนิงคะ

เก๋ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมรูปมันตกลงมาข้างล่างอะค่ะ ตอนแรก ๆ มันก็อยู่ด้านข้างนะคะ ตอนหลังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เปลี่ยนยังไงอะคะ ไม่ทราบว่าพี่หนิงมีวิธีแก้มั้ยคะ

หุหุ

พี่หนิงก็ไม่เก่งอ่ะนะ  เท่าที่สังเกตจาก blog อื่นๆของอาจารย์มันก็ไม่ตกอ่ะเนอะ 

ความคิดเห็นก็ไม่เป็นตัวทึบด้วย

สงสัยเกี่ยวกับ code ของ theme นั่นแหละค่ะอาจารย์

อาจารย์คงต้องลองถามอ.ขจิต  ที่มาของ theme  แล้วหละค่ะ  อิอิ

อุอุ...แก้ไขได้แล้วค่ะ พี่หนิง ประวัติของเก๋ขึ้นมาอยู่ด้านข้างเรียบร้อยแล้ว.... ไปแก้ไขที่ตัวหนังสือไม่ให้มันหนาแบบที่พี่หนิงแนะนำน่ะค่ะ...

แวะมาอีกที

เย้เย้  เก่งมากค่ะอาจารย์  อิอิ 

พี่หนิงก็แนะนำไปตามข้อสังเกตเฉยๆอ่ะค่ะ  จริงๆแก้อะไรไม่เป็นหรอก  อิอิ

พี่หนิงคะ....

แหะ แหะ ...ก็ลองทำตามที่พี่แนะนำนั่นแหละค่ะ...แล้วก็ทำได้จริงๆ...Yes.....

นั่นแน  เปลี่ยนรูปใหม่ คิขุ เชียวค่ะอาจารย์

ตัวจริงเสียงจริงจ้า พี่หนิง อุอุ...เพิ่งถ่ายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมานี้เองค่ะ ไปราชการที่เชียงใหม่...อิอิ

อาจารย์คะคือหนูอยากจะขอคำแนะนำน่ะค่ะ คืออาจารย์ที่ม.สั่งการบ้านคือ ต้องสอนภาษาไทยให้ชาวอังกฤษ 9 คน ชาย4 หญิง 5 ต้องการเรียนภาษาไทยเพื่อ จะเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย มีเวลาเรียนสองเดือน สิบห้าครั้ง คือหนูต้องทำเป็นโครงการสอน แล้วก็นำเสนอแผนการสอนหนึ่งแผนด้วย หนูควรจะเริ่มสอน แล้วจัดกืจกรรมยังไงดีคะ รบกวนด้วยนะคะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท