การประชุมหารือเพื่อพัฒนาร้านเกมคาเฟ่ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตอนที่ ๑ ทบทวนสถานการ์


ที่ประชุมได้เร่มต้นวิเคราะห์สถานการณ์ของปัญหา โดยมองว่าสถานการณ์ของปัญหาด้านเกมคาเฟ่ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มีสถานการ์ของปัญหาสำคัญอยู่ ๗ ประการ

            วันพฤหัสบดีที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ทางท่ารองนายกไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ทั้งจาก กระทรวงวัฒนธรรม (รองปลัดกระทรวง ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สวช) กระทรวงมหาดไทย (หัวหน้ากองนิติการ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ นักวิชาการ เข้าร่วมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาร้านเกมคาเฟ่ ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็ก เยาวชนและสังคม

             ที่ประชุมได้เร่มต้นวิเคราะห์สถานการณ์ของปัญหา โดยมองว่าสถานการณ์ของปัญหาด้านเกมคาเฟ่ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มีสถานการ์ของปัญหาสำคัญอยู่ ๗ ประการ

ประการที่ ๑     ด้านสภาพและพฤติกรรมของการใช้งาน

·       เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเป็นกลุ่มที่ใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตมากที่สุด[1] 

·       เป็นการใช้งานกว่า 80% เป็นการใช้เพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะการเล่นเกมส์ ซึ่งเมื่อเทียบกับการใช้งานเพื่อการค้นคว้าหาความรู้หรือทำงานเพียงไม่ถึง 20%

·       ปัญหาเด็กติดเกมส์ซึ่งเด็กไม่สามารถควบคุมเวลาในการเล่นเกมส์และทำกิจกรรมอย่างอื่นได้อย่างเหมาะสม

·        การขายของในเกมส์ด้วยเงินจริง เด็กและเยาวชนต้องใช้เวลาในการเล่นเพื่อสะสมความมั่งคั่งในเกมเพื่อนำมาขายให้กับผู้เล่นคนอื่นด้วยเงินจริง

ประการที่ ๒     การประกอบการโดยละเมิดต่อบทบัญญัติกฎหมาย โดยที่กฎหมายที่มีผลใช้บังคับกับการประกอบการร้านเกมคาเฟ่ ก็คือ พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐  ซึ่งมีผลให้การขอนุญาตประกอบการ ประเภทฉาย (อาศัยอำนาจตาม มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติฯ) จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง เกณฑ์หรือเงื่อนไขในอารออบใบอนุญาต ตาม ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติในการกำหนดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยเฉพาะโดยเฉพาะ

·       การประกอบการนอกเหนือเวลาเปิด – ปิด สถานประกอบการที่ได้รับอนุญาต

·       การอนุญาตให้เด็ก เยาวชน สามารถเข้าใช้บริการนอกเหนือเวลาที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ  ช่วงเวลาก่อน ๑๔.๐๐ น. ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ยกเว้นวันหยุดราชการ

·       การให้เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ใช้บริการหลังเวลา ๒๒.๐๐ น. ของทุกวัน 

·       การให้เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เล่นเกมคอมพิวเตอร์เกินกว่า ๓ ชั่วโมงต่อวัน 

·       การจำหน่ายบุหรี่ สารเสพติดทุกชนิด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ให้บริการ

·       การมีสื่อลามกอนาจารใดๆ ในสถานที่ให้บริการ 

ประการที่ ๓     การขาดระบบการสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมบรรยากาศของการลงทุนประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และ ร้านเกมคาเฟ่ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และ สามารถส่งเสริมการประกอบการที่เป็นรูปธรรม อันที่จริงแล้ว ภาคนโยบายเคยจัดทำโครงการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่สีขาว แต่เนื่องจากปัญหาความต่อเนื่องและอุปสรรคในด้านมิติการส่งเสริมการประกอบการที่เป็นรูปธรรม ทำให้แนวทางในการสนับสนุนดังกล่าวเกิดความไม่ต่อเนื่อง เป็นผลให้สถานประกอบการที่ประกอบการอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่สามารถประกอบการได้เท่าเทียมหรือได้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่ากับสถานประกอบการทั่วไป

ประการที่ ๔     การขาดระบบการตรวจร้านที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง เนื่องจากปริมาณร้านเกมคาเฟ่ และร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่เปิดกิจการใหม่ในทุกวัน ประกอบการจำนวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจร้านที่มี่จำนวนน้อยทำให้เกิดปัญหาด้านการออกตรวจร้านเกมคาเฟ่อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุให้ร้านเกมคาเฟ่บางส่วนสามารถหลีกเลี่ยงข้อบังคับทางกฎหมายในการประกอบการได้  

ประการที่ ๕     การขาดการสร้างความเข้มแข็งและมีการมีส่วนร่วมให้กับชุมชน สังคม โดยเฉพาะ เด็ก เยาวชน และครอบครัว อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในปัจจุบันพบว่า สังคมไทยยังขาดการสร้างความเข้าใจให้กับเด็ก เยาวชน และครอบครัวในปัญหาที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการเล่นเกม การเลียนแบบพฤติกรรมในเกม ตลอดจนการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม อีกทั้ง การสร้างระบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร้วมไปเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปตรวจเยี่ยมสถานประกอบการในชุมชนของตนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้สถานประกอบการเป็นพื้นที่ที่แปลกแยกจากสังคมโดยทั่วไป กล่าวคือ กลายเป็นพื้นที่เฉพาะของเด็กเยาวชนในอีกหนึ่งกลุ่มเท่านั้น

ประการที่ ๕     การขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและนโนบาย พบว่า ผู้ประกอบการนั้นอยู่ในสถานะของ “ผู้ละเมิดกฎหมาย” กล่าวคือ เพื่อผลกำไรสูงสุดในการประกอบการจึงประกอบการโดยละเมิดต่อกฎหมาย เช่น การอนุญาตให้เด็ก เยาวชนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีเข้ามาเล่นภายในร้านก่อนเวลา ๑๔.๐๐ น. และ หลัง ๒๒.๐๐ น.[2] และ ในสถานะของ “เหยื่อ” ของความไม่รู้ในการพิทักษ์สิทธิของตนภายใต้กฎหมาย โดยเฉพาะ การได้รับความคุ้มครองในทางกระบวนการยุติธรรม เช่น การประกันตัว เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำกระบวนการในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในการประกอบการทั้งในเรื่องของการกำกับดูแล การปราบปรามในกรณีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติทางกฎหมาย กฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความ และ กฎหมายที่เกี่ยวกับการสนับสนุนหรือส่งเสริม

ประการที่ ๖     การขาดการสร้างความเป็นเอกภาพของกฎหมายที่ผลใช้บังคับอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดเวลาเปิด-ปิด ของสถานประกอบการในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา ๒๐ วรรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐  ในเรื่องของการอนุญาตให้ฉายเทปและวัสดุโทรทัศน์ เป็นอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบกับมาตรา ๓๙ แห่ง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ทำให้การกำหนดเวลาเปิด – ปิด สถานประกอบการประเภทให้บริการฉายวัสดุเทปโทรทัศน์เป็นอำนาจดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งพบว่าปัญหาที่สำคัญก็คือ การขาดการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นเอกภาพในการกำหนดเรื่องเงื่อนเวลาในการประกอบการ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเป็นเอกภาพที่ชัดเจนในประเด็นเรื่องเงื่อนเวลาในการกำหนดเวลาเปิด ปิด ของสถานการประกอบการ

ในขณะเดียวกัน ระเบียบกระทรวงมหาดไทยเรื่องของการกำหนดช่วงเวลาห้ามไม่ให้เด็ก เยาวชน อายุตำกว่า ๑๘ ปีเข้ามาใช้บริการในช่วงเวลาก่อน ๑๔.๐๐ น. ในช่วงวันปิดภาคเรียน ดูเหมือนว่าจะเป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของการจัดทำระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ เพราะเป้าหมายหรือเจตนารมย์ของระเบียบนี้มุ่งเน้นการป้องกันเด็กไม่ได้หนีเรียนหนังสือมาเล่นเกมจนเสียการเรียน

ประการที่ ๗    การขาดระบบการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ในกรณีของการประกอบการโดยฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติฯ เช่น การเปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด การอนุญาตให้เด็ก เยาวชนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เข้ามาใช้บริการนอกเหนือเวลาที่กฎหมายกำหนด จากสภาพข้อเท็จจริงพบว่า ยังไม่มีการดำเนินการกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ



[1] จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติปี 2548
[2] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติในการกำหนดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๔๙
หมายเลขบันทึก: 151918เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท