BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

บังสุกุล


บังสุกุล

ศัพท์นี้คุ้นหูสำหรับชาวไทยพุทธทั่วไป โดยเฉพาะปักษ์ใต้บ้านเราบางคนก็ออกเสียงเพี้ยนไปเป็น บังสกุล หรือบางคนก็ลบพยางค์กลาง ออกเสียงง่ายๆ สั้นๆ ว่า บังกุล ส่วนความหมายเดิมและความหมายที่เข้าใจกันเป็นอย่างไร ผู้เขียนจะนำมาเล่าเล่นๆ...

บังสุกุล บังสกุล หรือ บังกุล ศัพท์นี้มาจากคำบาลีว่า ปํสุกูล (อ่านว่า ปัง - สุ - กู - ละ) โดยแปลง ป.ปลา เป็น บ.ใบไม้ (เนื่องจากภาษาบาลีไม่มี บ.ใบไม้ ) และลดเสียงให้สั้น จากสระอู เป็นสระอุ นั่นคือ จาก ปังสุกูล เป็น บังสุกุล

  • ปํสุ + กูล = ปํสุกูล (บังสุกุล)

ปํสุ = ฝุ่น

กูล = กอง

  • ปํสุกูล = กองฝุ่น
.............

ตามความหมายเดิมคำว่า ปํสุกูล หรือ บังสุกุล หมายถึงผ้าชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า ผ้าบังสุกุล ดังนั้น เมื่อถือตามรูปศัพท์ ผ้าบังสุกุล ก็คือ ผ้าที่เก็บมาจากกองฝุ่น นั่นเอง...

ฟังมาว่า สมัยพุทธกาล ผ้าเป็นสิ่งที่หายากและมีราคาแพง พระภิกษุ-สามเณรทั่วไปมักจะเก็บสะสมเศษผ้าเก่าๆ ที่ไม่มีเจ้าของจากกองขยะ หรือเศษผ้าห่อศพตามป่าช้า เป็นต้น... เมื่อได้มากเพียงพอแล้วก็จะนำมาตัดเย็บเป็นจีวรเพื่อเป็นผ้านุ่งผ้าห่มต่อไป... ทำนองนี้

ส่วนบรรดาญาติโยมก็อาจถวายผ้านุ่งผ้าห่มให้แก่พระภิกษุ-สามเณรบางรูปเป็นการเฉพาะ หรืออาจถวายพระสงฆ์เพื่อให้ท่านนำไปแบ่งปันกันเอง ผ้าที่ญาติโยมถวายทำนองนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า คหบดีจีวร ... แต่เมื่อว่าโดยรวมก็อาจเรียกว่า ผ้าบังสุกุล ได้เช่นเดียวกัน

เมื่อพระพุทธศาสนามีความมั่นคงเป็นบึกแผ่น ธรรมเนียมประเพณีก็ย่อมเกิดมีขึ้นและพัฒนามาเป็นลำดับ โดยในคราวเมื่อมีคนตายเกิดขึ้น บรรดาญาติโยมก็นิยมถวายผ้าแก่พระภิกษุ-สามเณร เพื่ออุทิศส่วนบุญนี้ให้แก่ผู้ตาย ผ้านี้ก็ยังคงเรียกกันว่า ผ้าบังสุกุล

พิธีกรรมในวันเผาศพนั้น กำหนดให้พระสงฆ์สวด บทธรรมสังคิณีมาติกา หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า บทมาติกา (หัวข้อในอภิธรรม)... และหลังจากพระสงฆ์สวดเสร็จแล้ว เจ้าภาพก็จะทอดผ้าที่สายโยงหรือภูษาโยง ผ้านั้นเรียกกันว่า ผ้าบังสุกุล ... เพราะมีการสวดบทมาติกาก่อนแล้วเจ้าภาพจะทอดผ้าบังสุกุลภายหลังนี้เอง พิธีกรรมนี้จึงมีชื่อเรียกต่อมาว่า่ มาติกาบังสุกุล

พิธีมาติกาบังสุกุลทำนองนี้ นอกจากจะทำในวันปิดหีบ วันเผาศพแล้ว ก็อาจทำได้ทั่วไป ในกรณีที่ต้องการทำุบุญอุทิศให้ผู้ตาย.... 

ต่อมาแม้จะมีแต่เพียงการสวดบทมาติกาเพียงอย่างเดียว ไม่มีการทอดผ้าบังสุกุล คนทั่วไปก็ยังคงเรียงว่า บังสุกุล หรือเพี้ยนเป็น บังสกุล และ บังกุล บ้าง... กลายเป็นว่าคำนี้หมายถึงการสวดบทมาติกาซึ่งเป็นพิธีกรรมทำบุญให้แก่ผู้ตายนั่นเอง...

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ คำว่า บังสุกุล จึงอาจมี ๒ ความหมายในภาษาไทย กล่าวคือ

  • บางครั้งก็หมายถึงผ้าเท่านั้น เรียกว่ ผ้าบังสุกุล
  • แต่บางครั้งก็หมายถึงการสวดบทมาติกา จะเรียกว่า พิธีบังสุกุล

ส่วนคำว่า มหาบังสุกุล เป็นคำที่พวกโฆษกหรือพิธีกรใช้เรียกเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าภาพ ทำนองว่างานนี้เป็นงานใหญ่ งานช้าง เป็นงานของคนมีระดับ มิใช่งานธรรมดา... แต่คำนี้ผู้เขียนยังไม่เคยเจอในวรรณคดีบาลี คงจะเป็นคำที่งอกเงยขึ้นมาในภายหลัง 

อนึ่ง การสวดบทมาติกา หรือพิธีบังสุกุลทำนองนี้ ถ้าเป็นพิธีหลวงจะเรียกว่า่ สดับปกรณ์

 

หมายเลขบันทึก: 150748เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2007 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีมากครับ

คิดดีคิดบวก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท