แถลงการณ์และข้อห่วงใยต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติผ่านแนวนโยบายเรื่องการควบคุมแรงงานข้ามชาติในระดับจังหวัด และแนวคิดการส่งหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ


การดำเนินนโยบายจัดการแรงงานข้ามชาติที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมุ่งเน้นไปที่การจัดการภายใต้กรอบแนวคิดความมั่นคงแห่งรัฐแบบสุดโต่งเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ปัญหาที่ดำรงอยู่ดีขึ้น การจัดการภายใต้วิธีคิดที่เน้นความมั่นคงเป็นหลัก ยิ่งจะสร้างให้เกิดสังคมแห่งความหวาดกลัวทั้งต่อตัวแรงงานข้ามชาติและชุมชนที่อยู่ร่วมกับแรงงาน

แถลงการณ์และข้อห่วงใยต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติ
ผ่านแนวนโยบายเรื่องการควบคุมแรงงานข้ามชาติในระดับจังหวัด และแนวคิดการส่งหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ
 
เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีความพยายามที่จะผลักดันแนวนโยบายแห่งรัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เป็นแนวทางสำคัญในการบริหารจัดการประเทศไทย ประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติได้กลายเป็นวาระความมั่นคงในระดับชาติที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่ติดตามมาจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว คือ การจัดการภายใต้กรอบแนวคิดที่เน้นความมั่นคงแห่งรัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทิศทางการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติในระยะยาว

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 เป็นต้นมา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ระยอง ระนอง และพังงาตามลำดับ ได้มีการออกประกาศจังหวัดเรื่อง การกำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา โดยเน้นในเรื่องของการควบคุมกิจกรรมต่างๆของแรงงานข้ามชาติในชีวิตประจำวัน เช่น การห้ามออกจากที่พักอาศัยหลัง 20.00 น. การห้ามมิให้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ การห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าร่วมชุมนุมกันเกิน 5 คน โดยใช้ข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของชุมชน เป็นข้ออ้างถึงความจำเป็นที่ต้องออกประกาศดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ทางจังหวัดสมุทรสาครก็ได้มีหนังสือสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องการควบคุมดูแลแรงงานต่างด้าว ที่เน้นย้ำว่าแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศพม่า และชุมชนของแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนไทยในพื้นที่สมุทรสาคร และรวมถึงการที่แรงงานข้ามชาติได้มีการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นภัยต่อความมั่นคงและขัดต่อนโยบายของรัฐบาล ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมแรงงานข้ามชาติอย่างเคร่งครัด และไม่สนับสนุนให้เผยแพร่วัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติอีกต่อไป

 นอกจากนั้นแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ได้ลงตรวจเยี่ยมชุมชนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงกรณีของการพบแรงงานหญิงข้ามชาติตั้งครรภ์และคลอดบุตรในประเทศไทยว่า แรงงานหญิงกลุ่มนี้จะต้องกลับไปคลอดบุตรในประเทศบ้านเกิด และห้ามครอบครัวเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ซึ่งหากแนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติจริง จะเกิดผลกระทบหลายด้านที่จะติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งผลกระทบต่อตัวแรงงานข้ามชาติและต่อการจัดการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การยุติการท้องหรือทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การคลอดลูกกับหมอตำแย ทำให้เข้าไม่ถึงการดูแลระหว่างท้องและวัคซีนป้องกันโรคเด็ก ในขณะเดียวกันการสัมภาษณ์ด้วยท่าทีดังกล่าวยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงแนวคิดในการจัดการแรงงานข้ามชาติภายใต้แนวคิดความมั่นคงแห่งรัฐมากยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในแง่ข้อเท็จจริงแล้ว แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในพื้นที่สมุทรสาคร ได้มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2539 และมีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นแรงงานหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่งออกของไทย และสมุทรสาครมาโดยตลอด การส่งผ่านข้อมูลเช่นนี้ไปสู่สาธารณะ เป็นการสร้างภาพลบต่อแรงงานข้ามชาติเพียงด้านเดียว ซึ่งจะนำมาซึ่งนโยบายที่เน้นควบคุมแรงงานข้ามชาติ มากกว่าการจะมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดนโยบายการให้บริการเชิงรุกดังที่ผ่านมา

การดำเนินนโยบายจัดการแรงงานข้ามชาติที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมุ่งเน้นไปที่การจัดการภายใต้กรอบแนวคิดความมั่นคงแห่งรัฐแบบสุดโต่งเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ปัญหาที่ดำรงอยู่ดีขึ้น การจัดการภายใต้วิธีคิดที่เน้นความมั่นคงเป็นหลัก ยิ่งจะสร้างให้เกิดสังคมแห่งความหวาดกลัวทั้งต่อตัวแรงงานข้ามชาติและชุมชนที่อยู่ร่วมกับแรงงาน ส่งผลต่อแนวทางการควบคุมโรคติดต่อ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่กล้าที่จะปรากฎตัวเพื่อออกมารับบริการสุขภาพและการป้องกันโรคติดต่อ ส่งผลต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพราะทำให้เกิดกระบวนการลักลอบการจ้างงานที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงยังส่งผลต่อการบริหารราชการในระดับพื้นที่ ที่จะเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนมากยิ่งขึ้น และในที่สุดแล้วความหวาดระแวงระหว่างแรงงานข้ามชาติและชุมชนไทยจะนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่และลุกลามจนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางสังคมติดตามมา

 พวกเราองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานใกล้ชิดและติดตามปัญหาแรงงานข้ามชาติมาโดยตลอด เห็นพ้องร่วมกันว่าแนวทางดังกล่าวไม่ได้ส่งผลดีต่อการจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาวและยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดต่อพื้นฐานกฎหมายแห่งรัฐ ที่มุ่งเน้นต่อการเคารพในหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนและไม่เลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มต่าง ๆ ที่สำคัญแนวทางที่เกิดขึ้นยังเป็นการพยายามที่ใช้แนวคิดความมั่นคงแห่งชาติไปกดทับคนกลุ่มหนึ่งไว้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของสังคมอย่างแท้จริง

พวกเรามีข้อเรียกร้องต่อแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลปัจจุบัน ดังนี้

1. ต้องยกเลิกประกาศจังหวัดเรื่องการกำหนดมาตรการการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ของจังหวัดภูเก็ต ระยอง ระนอง และพังงา และหนังสือสั่งการเรื่องการควบคุมแรงงานต่างด้าวของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสะท้อนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ และเลือกนำแนวทางการสร้างความเข้าใจและมุ่งพัฒนาชุมชนและสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มมาใช้ในการปฏิบัติงาน

2. ยกเลิกแนวปฏิบัติที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาลและการป้องกันโรคติดต่อ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ เพราะแนวปฏิบัติเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อความมั่นคงของชุมชน สิ่งสำคัญรัฐควรจะต้องส่งเสริมให้เกิดกลไกการเข้าถึงการบริการและการคุ้มครองของแรงงานข้ามชาติ เพราะกลไกเหล่านั้นคือรากฐานที่สำคัญในการเข้าใจปัญหา สถานการณ์ และสามารถชี้ทิศทางที่เหมาะสมในการจัดการแรงงานข้ามชาติได้อย่างยั่งยืน

3. ยุติแนวคิดที่จะผลักดันแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับประเทศ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งต่อตัวแรงงาน และชุมชนในพื้นที่ รวมถึงยังเป็นการละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธ์ต่อแรงงานหญิงข้ามชาติอย่างร้ายแรง

4. การส่งแรงงานข้ามชาติกลับไม่ว่าหญิงหรือชาย จะต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่าในกลุ่มแรงงานเหล่านี้มีผู้ลี้ภัยที่หลบหนีจากการประหัตประหารอยู่ด้วย และการส่งบุคคลดังกล่าวกลับไปสู่อันตราย เป็นการขัดต่อกฎจารีตระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

5.  รัฐจะต้องมีแนวนโยบายเรื่องแรงงานข้ามชาติในมิติที่รอบด้านและสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเน้นในเรื่องการคุ้มครองและเคารพในสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับนโยบายด้านอื่นๆ ยกระดับนโยบายแรงงานข้ามชาติไปสู่นโยบายคนข้ามชาติที่มีมุมมองและมิติที่ลึกซึ้ง สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าแค่การมองเฉพาะเพียงเรื่องของการเป็นแรงงานเท่านั้น  และสุดท้ายรัฐจะต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยยังต้องการแรงงานข้ามชาติที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย ฉะนั้นจำเป็นที่รัฐจะต้องมองการจัดการที่เกี่ยวโยงกับบริบทประเทศไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลกร่วมด้วย

ด้วยความสมานฉันท์
เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group)
19 พฤศจิกายน 2550

ข้อมูลเพิ่มเติมติดค่อที่  อดิศร เกิดมงคล 089 7887138
สุภัทรา นาคะผิว 081 614 8487
ทัศนัย ขัตยาภรณ์ 081 667 5254

หมายเลขบันทึก: 150441เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2007 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท