สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในรอบปี กระแสความมั่นคงหวนกลับ กลไกคุ้มครองไม่ทำงาน กลไกที่ทำงานไม่ได้รับการส่งเสริม


ในรอบปีที่ผ่านมารัฐไทยได้นำนโยบายที่เน้นความมั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทยมาใช้เป็นแนวทางหลักในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ แนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมแรงงานข้ามชาติมากกว่าการมองแนวทางการจัดการระยะยาว เพื่อสร้างสังคมสมานฉันท์ของการอยู่ร่วมกันขึ้นมา

สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในรอบปีกระแสความมั่นคงหวนกลับ กลไกคุ้มครองไม่ทำงาน กลไกที่ทำงานไม่ได้รับการส่งเสริม 

ภาพรวม

แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในระดับล่างของภาคการผลิตและภาคบริการของระบบเศรษฐกิจไทย มีสาเหตุมาจากสองปัจจัยหลักที่สำคัญ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ กับปัจจัยทางการเมืองและสังคมในประเทศต้นทาง แม้ว่าจะมีปัจจัยในการเข้ามาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญแรงงานระดับล่างกลุ่มนี้ได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้เจริญก้าวหน้า

ตลอดช่วงที่ผ่านมาในรอบปีที่ผ่านมารัฐไทยได้นำนโยบายที่เน้นความมั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทยมาใช้เป็นแนวทางหลักในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ แนวทางดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมแรงงานข้ามชาติมากกว่าการมองแนวทางการจัดการระยะยาว เพื่อสร้างสังคมสมานฉันท์ของการอยู่ร่วมกันขึ้นมา

ในแง่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ พบว่านโยบายดังกล่าวส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบในแง่ลบมากกว่าเดิม เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น การเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น บริการด้านสุขภาพ การศึกษา เป็นไปอย่างยากลำบาก

ขณะเดียวกันกลไกที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติในฐานะที่เป็นผู้ใช้แรงงานกลับไม่เอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองแรงงาน เช่น กรณีที่แรงงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงานไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้โดยตรง ขณะเดียวกันแนวทางที่เป็นกลไกส่งเสริมการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ เช่น อาสาสมัครด้านสุขภาพในชุมชนของแรงงานข้ามชาติ ล่ามประจำโรงพยาบาล หรือสำนักงานคุ้มครองแรงงาน กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ส่งผลให้แนวทางการแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

พวกเราพบว่ามีเหตุการณ์และประเด็นต่างๆ ที่ควรจะได้รับการใส่ใจ และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนดังนี้ 

สถานการณ์

(1) จากแนวนโยบายความมั่นคงระดับชาติสู่ความมั่นคงในระดับจังหวัด               

จากแนวนโยบายทางการเมืองในระดับประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ ส่งผลต่อนโยบายเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติในระดับพื้นที่ กล่าวคือ ในช่วงปลายปี 2549 และต้นปี 2550 ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ระยอง พังงา และภูเก็ต ได้ออกประกาศจังหวัดในการควบคุมแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ โดยมีเนื้อหาห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติดำเนินการในบางประเด็น เช่น การห้ามออกจากที่พักอาศัยหลัง 20.00 น. การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ  การห้ามรวมกลุ่มเกินห้าคน  ประกาศดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันและต่อการทำงานเชิงรุกในเรื่องของการบริการสุขภาพขององค์กรพัฒนาเอกชนในบางพื้นที่ รวมถึงเป็นการเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนได้มีโอกาสใช้อำนาจในทางมิชอบเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ

ระยะเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ทำจดหมายเวียนภายในจังหวัดในเรื่องของการควบคุมดูแลแรงงานข้ามชาติและไม่สนับสนุนให้มีกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในกลุ่มแรงงาน คำสั่งดังกล่าวได้สร้างความหวั่นวิตกและความกังวลใจต่อตัวแรงงานข้ามชาติ และคนในชุมชนพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่อยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติมาเป็นเวลานาน เนื่องจากชุมชนในพื้นที่สมุทรสาครหลายชุมชนเป็นชุมชนคนไทยเชื้อสายมอญที่มีวัฒนธรรมเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติดังกล่าว แนวนโยบายที่เกิดขึ้นจึงไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ และไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์                

 ขณะเดียวกันในระดับประเทศ การดำเนินการทางการเมืองที่มีการพยายามผลักดันพรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติก็กลายเป็นข้ออ้างหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนให้เกิดการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว การหยิบยกเอาประเด็นแรงงานข้ามชาติมาสร้างวาระทางการเมืองเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดการตอกย้ำประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติให้มุ่งไปสู่แนวทางที่ต้องเน้นการควบคุมมากขึ้น ซึ่งดูจะสวนทางกับแนวทางการพยายามแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติในแบบองค์รวมที่ผ่านมา อีกทั้งยังตอกย้ำให้สังคมไทยมีทัศนคติหรือมุมมองที่เป็นลบต่อสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ มากกว่าการทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคโลกาภิวัฒน์ 

(2) กลไกการคุ้มครองสิทธิที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงของแรงงานข้ามชาติ

ในช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติพบว่าแรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงานหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงานยังไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของตนเองได้ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ทั้งๆที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้นได้ให้การคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบหรือการละเมิดสิทธิแรงงาน  นอกจากนั้นยังพบว่างานบางประเภทที่แรงงานข้ามชาติทำงานยังไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร เช่น งานรับใช้ในบ้าน เกษตรกรรม ประมงทะเล ทั้งๆที่งานเหล่านี้บางประเภทเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่มาก

อีกปัญหาหนึ่ง คือ แรงงานข้ามชาติซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานได้ชั่วคราวยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนได้โดยตรง ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานต้องรอรับเงินทดแทนที่ตนเองจะต้องได้รับผ่านทางนายจ้างเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบไปอยู่ที่การต่อรองระหว่างลูกจ้างซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกับนายจ้างที่มีอำนาจต่อรองมากกว่า ย่อมทำให้โอกาสที่แรงงานจะได้รับเงินทดแทนตามความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ซึ่งขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ต้องการสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้แก่แรงงาน

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติตามกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน บางกรณีใช้ระยะเวลายาวนานเกือบสองปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการจ้างแรงงานข้ามชาติที่มีระยะเวลาในการอนุญาตทำงานเพียงปีต่อปีเท่านั้น รวมทั้งยังง่ายต่อการถูกเลิกจ้างและผลักดันกลับประเทศในระยะเวลาอันสั้น

การไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านแรงงานของแรงงานข้ามชาตินั้น มิได้เกิดผลกระทบต่อตัวแรงงานข้ามชาติเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการคุ้มครองแรงงานทั้งระบบ เพราะจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และยังเป็นทางเลือกของนายจ้างที่จะใช้ช่องว่างเหล่านี้จ้างงานแบบกดขี่ต่อแรงงานข้ามชาติ แทนที่จะปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้เอื้อต่อแรงงานไทยที่จะเข้ามาทำงานด้วย 

(3) อาสาสมัครด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ กลไกที่เอื้อต่อการทำงาน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน               

ในประเด็นเรื่องสุขภาพของแรงงานข้ามชาติรวมถึงการป้องกันโรคติดต่อ ที่ผ่านมาทางหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และองค์กรพัฒนาเอกชนได้ดำเนินการจัดให้มีอาสาสมัครด้านสุขภาพเพื่อช่วยให้ความรู้แก่แรงงานข้ามชาติ รวมถึงเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ  และในหลายครั้งที่อาสาสมัครเหล่านี้ได้มีส่วนช่วยในการเฝ้าระวัง ติดตามและป้องกันโรคติดต่อต่างๆที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาสาสมัครด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติเหล่านี้สามารถเข้าถึงและสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติได้โดยตรง

อาสาสมัครด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นกลไกที่ช่วยให้การทำงานเรื่องสุขภาพของแรงงานข้ามชาติดำเนินการไปได้ด้วยดี แต่อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากรัฐ เช่น ยังพบปัญหาว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถจ้างงานได้โดยตรง ต้องผ่านการจ้างงานในลักษณะงานประเภทอื่น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานในช่วงที่ผ่านมา เช่น ต้องจ้างเป็นแม่บ้านแทน

(รายงานฉบับนี้เป็นเอกสารประกอบการแถลงข่าวของ Migrant Working Group เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550)

หมายเลขบันทึก: 150439เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2007 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท