หมอบ้านนอกไปนอก(38): เมืองโลเล


คำว่า โลเล หมายถึงการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้ไม่รู้จะทำอย่างไรหรือเป็นอย่างไรแน่ มักใช้กับคนที่เปลี่ยนในบ่อยๆ ประโยชน์คือทำให้คนต้องพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นความไม่แน่นอนอย่างหนึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ชอบ

  เช้าวันอาทิตย์ (25 พฤศจิกายน) ตื่นนอนแบบสบายๆ ไม่เร่งรีบ ได้ออกไปตลาดนัดวันอาทิตย์ตรงบริเวณที่เป็นตลาดสดวันเสาร์ ตอนออกจากบ้านท้องฟ้าแจ่มใส แม้อากาศหนาวเย็น มีแดดออกค่อนข้างแรง พอให้อบอุ่นได้บ้าง แต่พอเดินในตลาดได้สักครึ่งชั่วโมง เมฆฝนกลุ่มใหญ่ได้เคลื่อนตัวออกมาบดบังแสงอาทิตย์จนหมดทำให้ฟ้าครึ้ม แล้วตามมาด้วยฝนตกปรอยๆ ทำให้ทวีความหนาวยิ่งขึ้น ตลาดนัดมีของขายหลายอย่างทั้งขนม ของกิน ผักผลไม้ เสื้อผ้า ของเครื่องใช้ต่างๆในบ้าน มีคนมาเดินตลาดนัดกันมากเพราะร้านขายของในย่านการค้าปิดหมด

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการนำเสนอปัญหา วิเคราะห์สาเหตุและผลของปัญหา แบ่งเป็นห้องเหมือนการจัดประชุมวิชาการของกระทรวง 4 วันที่ผ่านมาจึงมีประโยชน์มาก เช่น

ริด้า (Rida) เป็นชาวกัมพูชา(ริด้า แปลว่า นางฟ้าหรือนางอัปสร) ทำงานอยู่ที่เสียมเรียบ เล่าว่ากัมพูชามีทั้งหมด 24 จังหวัด หมอจบใหม่ปีแรกไม่ได้รับเงินเดือนแต่ต้องทำงานให้รัฐแล้วก็ต้องไปทำเอกชนด้วยเพื่อเลี้ยงตัวเอง เสียมเรียบเป็นจังหวัดที่มีเป็นเมืองมรดกโลกคือนครวัด มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเยอะ เมืองเติบโตขึ้น โรงแรมห้าดาวเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่สำหรับประชาชนแล้วยังคงติดอันดับจังหวัดยากจนที่สุดของกัมพูชา ผมเคยไปเสียมเรียบเมื่อ 6 ปีก่อนโยรถบัสผ่านสระแก้ว เข้าด่านปอยเปตไปเสียมเรียบ ถนนเป็นลูกรังขรุขระมาก ระยะทาง 180 กิโลเมตรเดินทาง 8 ชั่วโมง บางช่วงเป็นสะพานไม้ ขากลับสะพานขาดต้องลงรถบัสมานั่งท้ายกระบะวิ่งข้ามไปได้ ริด้าบอกว่าถนนยังคงเหมือนเดิมกับเมื่อ 6 ปีก่อนที่ผมเคยไป

เรื่องระบบริการสาธารณสุขในจังหวัดเสียมเรียบแบ่งออกเป็น 4 เขตสาธารณสุข (operational district offices) ไม่ได้แบ่งตามเขตการปกครอง มีโรงพยาบาลอำเภอ 2 แห่งที่โสทนิกุมกับโครลานห์ มีโรงพยาบาลจังหวัดเสียมเรียบ มีสถานีอนามัย 56 แห่ง ประชากรทั้งจังหวัด 888,773 คน ปัญหาที่นำเสนอคือการใช้บริการสาธารณสุขของรัฐต่ำมาก สาเหตุมาจากการเข้าถึงบริการไม่ดีจากการที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ไม่เชื่อมั่นบริการของรัฐ และอีกสาเหตุคือผลงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่ำจากการที่ไม่มีการสนับสนุนทางด้านการบริหารจัดการ แรงจูงใจ ทักษะความรู้ความสามารถและความอึดอัดจากนโยบาย ทำให้ประชาชนหันไปซื้อยากินเองหรือไปสถานพยาบาลเอกชนที่มีบริการที่ดีกว่าแล้วมีการเก็บเงินที่ยืดหยุ่น เช่นค้างหนี้ได้ ผัดผ่อนได้ ทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องขายที่ดินทำกิน ขายบ้าน ขายวัวขายควายเพื่อมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล

บาชีร์ (Bashir) เป็นชาวไนจีเรีย เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไปดุตซี่ (Dutse general hospital) ขนาด 120 เตียง โดยโรงพยาบาลทั่วไปของเขาคือโรงพยาบาลที่รักษาโรคทั่วๆไป ไม่มีเฉพาะทางก็คือโรงพยาบาลอำเภอแบบบ้านเรา มีหมอ 4 คน ดูแลประชากรทั้งอำเภอ 138, 451 คน ไนจีเรียเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษทำให้คนไนจีเรียพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแต่สำเนียงก็เป็นลักษณะเฉพาะของเขา มีการปกครองแบบสาธารณรัฐโดยแบ่งออกเป็น 36 รัฐ แต่ละรัฐมีรัฐบาลท้องถิ่นของตนเองดูแลแบบสหรัฐอเมริกา มีกระทรวงของแต่ละรัฐเอง ดำเนินนโยบายโดยรัฐเป็นอิสระ รัฐที่เขาอยู่ชื่อรัฐจิกาว่า (Jigawa) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ มีประชากร 3,686,200 คน เป็นพื้นที่ชนบทและห่างไกล ยากจนกว่าร้อยละ 90 ระบบบริการสาธารณสุขในรัฐแบ่งออกเป็นสองส่วนคือโรงพยาบาลดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข ส่วนสถานีอนามัยดูแลโดยกระทรวงการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีเทศบาลในพื้นที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง เขาบอกว่ามี 14 % ของอนามัยเท่านั้นที่ทำงาน ทำให้คนไข้ไปหนักที่โรงพยาบาลเยอะมาก มีปัญหาการประสานงานกัน ปัญหาที่เขาเสนอคือการทำหน้าที่ที่ไม่ดีของสถานีอนามัยในอำเภอ

แพทริซ (Patrice) จากคาเมรูน เสนอปัญหาเรื่องการใช้บริการในสถานบริการสาธารณสุขในอำเภองูเลเมลเดอกะ (Nguelemendouka) ของจังหวัดอีสท์ (East province) ที่มี 13 เขตสาธารณสุขอำเภอ เขาเคยเป็นสาธารณสุขอำเภอควบผู้อำนวยการโรงพยาบาลของที่นั่น ก่อนจะย้ายไปทำงานในระดับจังหวัด คาเมรูนมีพื้นที่ที่ใช้ภาษาแตกต่างกันสองเขตคือเขตที่ใช้ภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศส ในอำเภอมีประชากร 40,372 คน แบ่งออกเป็น 4 เขต 5 สถานีอนามัยของรัฐ 4 แห่งกับของศาสนา 1 แห่ง มีโรงพยาบาลอำเภอขนาด 32 เตียง 1 แห่ง แพทพูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่เร็วมาก ฟังยาก ปัญหาที่ชาวบ้านมาใช้บริการต่ำมีทั้งจากระบบงานและการสนับสนุน ยาไม่เพียงพอ ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ สถานีอนามัยเปิดบริการไม่แน่นอน คนไข้ไม่มีเงินมาใช้บริการและไม่ยอมรับสถานบริการด้วย สิ่งที่น่าตกใจคือข้อมูลที่นำเสนอบอกว่าที่สถานีอนามัยเปิดไม่เป็นเวลาเพราะเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่คนเดียวต้องไปทำภารกิจอื่นๆเกือบ 15-16 วันต่อเดือนเช่น เดินทางไปรับเงินเดือนที่เมืองหลวง 4 วัน ไปรับวัคซีนที่อำเภอ 2 วัน เดินทางไปซื้อยาที่จังหวัด 4 วัน ไปออกหน่วยพื้นที่ห่างไกล 3-5 วัน ไปประชุมอบรมที่จังหวัด 3 วันและถ้าเป็นฤดูเก็บเกี่ยวต้องหยุดงานไปเก็บเกี่ยวผลผลิตอีก 2 วัน ผมก็เลยเสนอความเห็นไปว่าสาเหตุที่แท้จริงน่าจะอยู่ตรงนี้แหละ ถ้ามีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำสถานีอนามัย ชาวบ้านก็เข้ามาใช้บริการมากขึ้นแน่ๆ พอเขามาแล้วปิดอยู่เรื่อยๆ เขาก็ไม่อยากมาหรือไม่กล้ามา กลัวเสียเที่ยว ทำให้นึกไปถึงช่วง 1 ปีที่ผ่านมาก่อนที่ผมจะเลิกทำคลินิกส่วนตัว ผมปิดคลินิกบ่อยมากๆ สถานการณ์น่าจะเป็นแบบนี้เลย คนไข้ไม่รู้ว่าวันไหนผมจะเปิดหรือไม่เปิดคลินิก

นามีน (Namine) เป็นชาวอาเซอร์ไบจัน ประเทศเล็กๆที่แตกออกจากสหภาพโซเวียต แต่ร่ำรวยเพราะมีน้ำมันมาก นามีนเป็นหมอเด็ก ทำงานในหน่วยงานเอ็นจีโอ นำเสนอปัญหาเรื่องการขาดโอกาสในการผ่าตัดความผิดปกติทางตาของเด็กๆ ในพื้นที่ที่เธอทำงานอยู่ จากเดิมที่ริงโก้ (RINGO) ได้ช่วยสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้ทีมจักษุแพทย์รุ่นใหม่ จัดหน่วยเคลื่อนที่ผ่าตัดตาในราคาถูก ต่อมาถูกตัดเงินสนับสนุนลง ทำให้กิจกรรมนี้ถูกยกเลิกและโรงพยาบาลของรัฐก็ปฏิเสธที่จะรับมาดำเนินการต่อ เด็กๆที่ผิดปกติทางตาต้องไปรับการรักษาที่สถาบันโรคตาของประเทศที่อยู่ไกลและคิดค่ารักษาแพง คิวยาว มีระบบเส้นสายและกระทรวงสุขภาพ (Ministry of Health) ก็ไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้

เมื่อวันอังคารได้คุยกับทุ้ย (Thuy) เพื่อนชาวเวียดนามที่เรียนหลักสูตรการควบคุมโรค เล่าให้ฟังว่ามีเพื่อนที่มาเรียนหลักสูตระยะสั้นกำลังจะกลับเวียดนาม มาเรียนพร้อมต้องนำข้อมูลมาลาเรียจากเวียดนามมาวิเคราะห์วิจัยให้กับทางสถาบันด้วย เป็นการลงทุนที่ถูกกว่าลงไปทำเอง เปิดโอกาสทางการศึกษาแก่คนในประเทศกำลังพัฒนาโดยผู้ให้ทุนได้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างองค์ความรู้ขึ้นใหม่ ผมคิดว่าเมืองไทยเราเองก็อาจมีลักษณะแบบนี้เหมือนกัน เอาข้อมูลจากบ้านเรากลับไปวิเคราะห์สร้างความรู้ที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วทำเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆมาขายให้เราอีกต่อหนึ่ง ถ้าเป็นความรู้เพื่อสาธารณะก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวโลกทั้งมวล แต่ถ้าเป็นความรู้ที่เอามาทำการค้าขายที่มุ่งเน้นกำไร ประเทศที่เป็นแหล่งข้อมูลก็เสียเปรียบมาก

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน เรียนเรื่องระบบสุขภาพของเบลเยียมและเทคนิคการสังเกตเพื่อเตรียมตัวไปดูงานสถานบริการขั้นต้นของเบลเยียมในวันพรุ่งนี้ และอีกคาบหนึ่งเรียนระบาดวิทยาสถิติ

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน ไปดูงานที่สถานบริการขั้นต้นหรือสถานีอนามัยเดอสลีป (De Sleep) ที่เมืองเกนต์ ไปกับเกรซและโรซ่า เดินทางโดยรถไฟจากสถานีกลางแอนท์เวิปไปลงที่สถานีเกนต์ แดมพอร์ต ค่ารถไฟไปกลับ 16 ยูโร เดินทางประมาณ 45 นาที มีคุณหมอขับรถมารับไปที่ สังเกตว่าเมืองใหญ่ๆที่เป็นเมืองหลักในเบลเยียมมีสถานีรถไฟใหญ่ๆของเมืองสองแห่ง ของเกนต์อีกแห่งหนึ่งคือเซนต์ปีเตอร์ ส่วนของแอนท์เวิปก็มีสถานีกลางหรือเซนทรัลกับเมอร์เค่ม ส่วนของบัรสเซลส์ก็มีนอดกับซุด (Nod & Zuid) หรือเหนือกับใต้ ดูงานจนสามโมงครึ่ง ทางสถานีอนามัยต้อนรับดี เป็นมิตรมาก เป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่ที่เป็นแบบศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) ให้เงินมาจัดทำ มีหมอเวชปฏิบัติทั่วไป 11 คน รวมเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 40 คน เราดูงานจนถึงบ่ายสามโมงครึ่ง มีเวลาเดินเที่ยวในตัวเมืองเกนต์ได้ 2 ชั่วโมง กลับถึงแอนท์เวิปหนึ่งทุ่มก็รีบไปเรียนภาษาอังกฤษต่อ เข้าสายไปหนึ่งชั่วโมง เปลี่ยนครูสอนคนใหม่เป็นผู้ชายชื่อ Dirk Clynmours เป้นคนที่สอนแล้วพูดเสียงดังมาก มีสไตล์การสอนที่น่าดึงดูดใจและมีการแบ่งกลุ่มพวกเราออกเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มที่ผมอยู่ด้วยเหลือแค่ 7 คน ส่วนอีก 8 คน ไปเรียนวันพฤหัสบดีเพื่อให้สามารถฝึกพูดได้มากขึ้น

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายนก็เป็นการสรุปการศึกษาดูงานเพื่อเตรียมนำเสนอและส่งรายงานให้อาจารย์กับส่งให้สถานีอนามัยที่ไปดูงาน แต่กลุ่มผมไม่ต้องนำเสนอ อาจารย์เลือกให้นำเสนอแค่ 3 กลุ่ม

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน มีการนำเสนอผลวิเคราะห์จากการศึกษาดูงาน 3 กลุ่มมีกลุ่มของนาร์มีนกับเอ็ดวิน กลุ่มของแพทริซกับแซมบิเต้และกลุ่มของพี่เกษม ประชันธ์และคิอูล่า

ผมตั้งชื่อบันทึกไว้ว่าเมืองโลเล คำว่า โลเล หมายถึงการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้ไม่รู้จะทำอย่างไรหรือเป็นอย่างไรแน่ มักใช้กับคนที่เปลี่ยนในบ่อยๆ ประโยชน์คือทำให้คนต้องพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นความไม่แน่นอนอย่างหนึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ชอบ คนชอบสิ่งที่แน่นอน ชัดเจน ที่ทำให้การวางแผนทำงานได้ชัดเจน ในความเป็นจริงไม่มีอะไรแน่นอนอยู่แล้ว การบริหารในยุคปัจจุบันต้องตัดสินใจบนความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนสูงมาก จึงตองมีการวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เมืองที่ผมมาอยู่มีสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนอย่างมาก อาจารย์กี คีเกล บอกว่า อากาศในเบลเยียมมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) และความเห็นที่ไม่ตรงกันสูง (Disagrement) ในแอนท์เวิปก็เป็นอย่างนี้ เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย

แม้อากาศจะแปรปรวนรวนเร ไม่แน่นอน แต่แอนท์เวิปก็เป็นเมืองที่มีเสน่ห์และประวัตศาตร์อันยาวนานอย่างน่าสนใจ เบลเยียมก่อน ค.ศ. 1830 เป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์และเป็นประเทศเบลเยียมเมื่อ ค.ศ.1830 แต่แอนท์เวิปมีมานานกว่านั้น ในศตวรรษที่ 15 แอนท์เวิปเปรียบเสมือนนิวยอร์คของยุโรป ทุกสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นที่นี่ เป็นจุดแบ่งของวัฒนธรรมเยอรมันทางตอนเหนือและวัฒนธรรมโรมันทางตอนใต้ของเบลเยียม แอนท์เวิป ในศควรรษที่ 17 ชื่อว่า Hantwerpen มาจากตำนานว่าเดิมพื้นที่สองฝั่งน้ำสเกลด์อยุ่ในความครอบครองของยักษ์แอนติกูน ที่คอยเก็บค่าผ่านทางจากผู้เดินเรือ ถ้าใครไม่จ่ายจะถูกตัดมือ ต่อมามีทหารชาวโรมันชื่อซิลเวียส บราโบ ได้เข้ามาจัดการกับยักษ์ตนนี้ได้แล้วตัดมือยักษ์ขว้างทิ้งลงแม่น้ำ จึงเรียกว่า Hantwerpen ต่อมา H หายไปเหลือแต่ Antwerpen มาจนทุกวันนี้ แต่อีกแนวหนึ่งก็บอกว่าน่าจะมาจากการที่ปากแม่น้ำมีตะกอนดินพัดพามากองรวมกันในช่วงแรกของการตั้งชุมชนที่เรียกว่า Aanwerp แต่ตอ่มาแม่น้ำสเกลด์ได้พักพาตะกอนหายไป แต่อย่างไรก็ตามตำนานเรื่องยักษ์ก็มีคนเชื่อกันแล้วนำมาสร้างเป็นรูปปั้นคนกำลังข้วางมือยักษ์เป็นน้ำพุสีบรอนด์ที่หน้าศาลากลางของเมืองบริเวณโกรต มาร์เก็ต

แอนท์เวิป (อังกฤษเรียก: Antwerp, ดัชท์เรียก: Antwerpen; ฝรั่งเศสเรียก: Anvers)) มีประชากรทั้งสิ้น 457,749 (มกราคม 2005) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 204.519 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นของประชากร 2,238.23 คนต่อตารางกิโลเมตร เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญมายาวนานทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในสามเมืองเริ่มต้นของศูนย์กลางอุตสาหกรรมเพชรของโลก (New York City's "diamond district", and South Africa) เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ติดอันดับสองของโลกรองจากรอตเตอร์ดัม(the Dutch city of Rotterdam, the German city of Hamburg, Hongkong, Singapore) แอนท์เวิปตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำสเกลด์ (Schelde) เชื่อมต่อกับทะเลเหนือทางแม่น้ำสเกลด์และสเกลด์ตะวันตก (Western Schelde) แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ (district) ที่บริหารในรูปแบบเทศบาล (Municipality) คือ

Berchem  เป็นอำเภอทางตอนใต้ ที่เชื่อมแอนท์เวิปกับบรัสเซลส์ มีประชากรประมาณ 39,326 คน มีสภาอำเภอ (District counsil) มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง 23 คน มีวาระ 6 ปี มีประธานสภาเป็นหัวหน้า มีฝ่ายบริหาร (Executive college) 5 คนที่แต่งตั้งโดยสภาอำเภอ มีหัวหน้าผู้บริหารเรียกว่า District mayor เป็นอำเภอที่ถือเป็นชุมทางรถไฟ เป็นสถานีที่สำคัญอีกแห่งของแอนท์เวิป

Berendrecht-Zandvliet-Lillo เป็นอำเภอที่รวมสามเมืองเรียงกันไปตามแนวแม่น้ำที่ใช้เป็นท่าเรือทางตอนเหนือของแอนท์เวิปเข้าด้วยกัน เรียกว่า Bezali มีประชากร 9,645 คน

Borgerhout  เป็นอำเภอที่มีประชากร 41,614 คน กว่า 90 เชื้อชาติ ตัวเมืองถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยเส้นทางหลักคือถนนใหญ่สองสายและทางรถไฟสายบรัสเซลส์-อัมสเตอร์ดัม

Deurne เป็นอำเภอที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจังหวัด มีประชากร 69,408 คน เป็นเมืองที่มีสนามบินเก่าแก่ที่ยังใช้งานได้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นสายการบินเฉพาะในเขตและจำกัดเที่ยวบินต่อวัน มีพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในโรงงานผลิตเครื่องบินเก่าคือ Stampe & Vertongen Museum

Ekeren เป็นอำเภอชานเมืองทางตอนเหนือ ที่มีอายุมากว่า 850 ปีแล้วในชื่อเดิมคือ Hecerna เคยเป็นสนามรบของชาวสเปนเมื่อปี พ.ศ. 2246 เรียกว่า The Battle of Ekeren มีประชากร 22,073 คน

Hoboken เป็นอำเภอทางตอนใต้ ประชากร 33,296 คน

Merksem เป็นอำเภอที่มีประชากร 41,000 คน

             Wilrijk เป็นอำเภอชานเมือง เรียกว่า หมู่บ้านแพะ (Goat village) ทุกๆ 5 ปีจะมีการจัดขบวนพาเหรดแพะเป็นที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมาก เมืองนี้ถือได้ว่าเป็นไข่มุกของแอนท์เวิปเพราะเป็นเมืองที่คงความสมดุลระหว่างชีวิตสมัยใหม่กับความเป็นอยู่ในอดีตไว้ได้ ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ การค้า อุตสาหกรรม การต้อนรับอย่างมิตรไมตรี กีฬาและพื้นที่สีเขียว เมืองที่มีพื้นที่ 13.6 กิโลเมตร ประชากร 38,220 คน เมืองนี้มีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตกาล

Antwerp (town) มีประชากร 155,317 คน มีขนาดไม่กว้างนัก ทอดตัวไปตามแนวแม่น้ำสเกลด์ เมืองเป็นอาคารตึก ถนนปูด้วยหินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมเมืองทั้งรถไฟ รถรางและรถบัส แต่ประชาชนก็ใช้รถจักรยานกันมากเพราะสะดวก ฝั่งตรงข้ามเป็นส่วนของเมืองใหม่ที่เป็นส่วนบ้านพักแบบทาวน์เฮาส์เรียกว่าLinkereover มีอุโมงค์ 3 แห่งใช้ข้ามแม่น้ำโดยไม่ทำสะพานข้ามเพื่อไม่ให้กีดขวางการเดินเรือขนาดใหญ่ มีมหาวิทยาลัยสองแห่งคือมหาวิทยาลัยแอนท์เวิปและสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนปริ๊นซ์ลีโอโปลด์ หรือ ITM ระบบสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ แก๊ซหุงต้มเป็นระบบใต้ดินทั้งหมด ทำให้ไม่เห็นสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ระโยงรยางค์ แต่จะเห็นรางไฟฟ้าของรถรางแทน ส่วนรถไฟก็ใช้ระบบไฟฟ้าเช่นกันโดยมีสายไฟฟ้าพาดไปตลอดแนวทางรถไฟ

ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นแบบชีวิตคนเมือง ค่าครองชีพค่อนข้างสูง ครอบครัวเดี่ยว ผู้คนน่าจะเหงากันมากเพราะส่วนใหญ่จะเลี้ยงสุนัขแล้วก็พาออกมาเดินเล่นทุกวัน ทั้งคนแก่และหนุ่มสาว คนก็จะเดินคุยกัน แต่หมาก็คอยแยกเขี้ยวใส่กัน ส่วนของตัวเมืองเก่าที่มีสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้างจะอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ส่วนห่างออกไปเป็นชานเมืองที่มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆเกิดขึ้น บริเวณโกรต มาร์เก็ต ศาลากลางเดิม พิพิธภัณฑ์ โบสถ์สวยๆเช่นCathedral of our lady, St. paul’s แหล่งเดินชมอยู่ไม่ไกลกันนัก สามารถเดินเที่ยวชมได้สะดวก มีรถม้าพาเที่ยวชมเมือง มีสนามบินแอทน์เวิปแต่เป็นเที่ยวบินภายในและมีสายการบินไม่มาก เที่ยวบินจำนวนน้อยอยู่ที่อำเภอDeurne

มีถนนที่เป็นแหล่งเดินเที่ยว จับจ่ายซื้อของคือถนนแมร์ มีห้างสรรพสินค้าหลายแห่งและที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อเดือนที่แล้วใช้อาคารเก่ามาปรับภายในเป็นห้างสรรพสินค้าสวยมาก ถนนเส้นนี้เชื่อมไปถึงโกรตมาร์เก็ตที่อยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์เรือริมฝั่งสเกลด์พร้อมจุดชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำ และอีกด้านของถนนเชื่อมไปบริเวณสถานีรถไฟกลางที่เป็นย่านกลางคืน โรงแรมและไชน่าทาวน์ที่มีร้านขายของเอเชียอยู่ มีร้านอาหารไทย อาหารจีน ละตินอเมริกาและแอฟริกาอยู่ ใกล้ๆกันเป็นย่านค้าขายเพชรและวิถีชีวิตหลากวัฒนธรรม มีจุดจอดรถบัสที่ไปตามอำเภอต่างๆและรถบัสจากสนามบินบรัสเซลส์

ในภาพรวมแล้ว แอนท์เวิปเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความปลอดภัยสูง ผู้คนมีอัธยาศัยใจคอดี พูดภาษาอังกฤษได้เยอะและเป็นเมืองที่น่ามาเยือน แม้อากาศจะรวนเรไปบ้างก็ตาม

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

29 พฤศจิกายน 2550, 22.52 น. ( 04.52 น.เมืองไทย )
หมายเลขบันทึก: 150365เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2007 05:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมมีคำถามส่งมาหาทางอีเมล์ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมาก เมืองไทยเรามีสิทธิรักษาพยาบาลฟรีแล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่ได้รับสิทธิหรือใช้สิทธิ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์และไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วยที่เขียนมาปรึกษาเนื่องจากไม่ได้ระบุชื่อครับ

ข้อความ:
คุณหมอค่ะ  หนูมีโรคประจำตัวคะ หนูเป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันตั้งแต่กำเนิดค่ะ  แล้วหนูก็ได้รับการผ่าตัดขยายท่อน้ำดีอายุประมาณ 3 เดือนที่โรงพยาบาลเด็กค่ะ หลังจากผ่าตัดแล้วหนูก็มีอาการตับแข็ง แล้วหนูก็เข้ารักษาอยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตอนอายุประมาณ 9ขวบ ปัจจุบันนี้หนูอายุได้ 17 ปีแล้วค่ะ อาการแย่ลงค่ะ ตาหนูเหลืองมาก ตัวเหลือง ท้องโต ม้ามโต เท้าบวม เจ็บบริเวณชายซี่โครงด้านขาวมากค่ะ หมอที่จุฬา บอกว่าต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ แต่ในการผ่าตัดต้องใช้เงินจำนวนมากเลยค่ะ พ่อกับแม่หนูก็มีเงินไม่มากพอสำหรับการผ่าตัด ต้องส่งพี่ชายและน้องสาวเรียนอีกสองคน หนูเลยอยากขอความเมตตากรุณาจากหน่วยมูลนิธิพอ.สว.ช่วยรับหนูเป็นคนไข้ในพระราชณูปถัม ไว้สักคนจะได้ไหมค่ะ หนูไม่รู้ว่าจะหันหน้าเพิ่งใครที่ไหนแล้วค่ะ ขอให้เมตตาหนู ให้หนูได้มีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทดแทนพระคุณพ่อและแม่ด้วยน่ะค่ะ
                                         ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 ผมได้ตอบกลับไปทางอีเมล์แล้ว แต่บางครั้งได้รับคำถามมาแล้ว พอตอบกลับไปอีเมล์ถูกตีกลับก็มี
สวัสดีครับ
หมอแนะนำให้ลองหาเบอร์โทรหรือรายละเอียดเกี่ยวกับมูลนิธิว่ามีจังหวัดไหนบ้าง หมอเคยเขียนลงในเว็บบล็อคไว้ ลองค้นดูนะครับ แล้วก็ประสานกับสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆหรือที่ใกล้บ้านเรา ถามเขาว่ามีออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอสว. ที่ไหน เมื่อไหร่ แล้วก็ไปตรวจในวันที่เขาออกหน่วย แล้วขอให้แพทย์ที่ออกหน่วยส่งตัวไปรักษาก็จะได้เป็นคนไข้ในโครงการ พอสว.ได้ครับ ถ้าอยู่กรุงเทพฯอาจจะทำไม่ได้และไม่สะดวกครับ
อีกทางหนึ่ง ถ้ามีหนูสิทธิบัตรทอง (โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค) ก็ไปตรวจตามระบบที่เราขึ้นทะเบีียนไว้ แล้วขอให้แพทย์จากโรงพยาบาลที่เราขึ้นทะเบียนหรือในอำเภอบ้านที่เราอยู่ส่งตัวไปให้ ก็สามารถใช้สิทธิรักษาฟรีได้ครับ สามารถรักษาโรคยากๆ โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้ได้ ถ้าหนูอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมลองหาเบอร์โทรของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้วโทรปรึกษาเขาได้ครับ วิธีนี้อาจจะสะดวกสำหรับหนูมากกว่า
หมอขออวยพรให้หนูได้รับการรักษาและหายดีนะครับ ขอให้หนูมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ขอให้หนูมีความหวัง และฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆในชีวิตไปให้ได้ ลองพยายามทั้งสองวิธีที่หมอแนะนำไปนะครับ ถ้าสงสัยอะไรอีกก็เขียนเมล์มาปรึกษาหมอได้ครับ
หมอพิเชฐ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท