แรกๆผมสนใจเมื่อได้ยินคำว่า "สุนทรียสนทนา" ผมเคยได้ยินอีกเหมือนกันว่ามีการจัด workshop เรื่องนี้ แต่ตัวเองไม่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสซักกะที
ผมก็ไม่แน่ใจว่า ผมจะเข้าใจมันถูกต้องแค่ไหน ผมตีความมันว่า สุนทรียสนทนา คือการที่คนเราคุยกันได้ ภายใต้บรรยากาศแห่งมิตร เวลาคุยแล้วมันได้ความคิดดีๆที่ปิ๊งแว๊บขึ้นมา แล้วรู้สึกว่าการที่ได้คุยกับคนคนนั้นมันดีจริงๆ ผมเลยย้อนนึกถึงว่าที่ผ่านมาผมคุยกับใครบ้าง คุยแล้วผมรู้สึกว่าเวลาคุยแล้วมันเกิดความรู้สึกดีๆ ตรงนี้สำหรับ ผมจะเรียกมันว่า สุนทรียสนทนาในโลกของผม
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาผมไปดูโครงการวิจัยท้องถิ่น สกว. ที่บ้านโคกกลาง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ตอนที่วิทยากรกระบวนการในชุมชน (ชาวบ้านที่นั่นแหละครับ) ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการว่าเขาได้อะไรบ้างจากเรียนรู้ไปพร้อมๆกับชุมชน เขาและเธอตอบดีมากครับ ตอบตรงเรี่องหนึ่ง "รู้ว่าตัวเองเป็นคนที่รู้จักฟังคนอื่นพูดมากขึ้น ฟังแล้วเก็บมาคิด คิดก่อนซักคืนแล้ว ค่อยไปคุยใหม่ในวันอื่น จากแต่เดิมจะฟังไม่ลึก พอรู้สึกไม่ตรงกับความคิดเราก็สวนกลับทันที"
ทั้งๆที่ชาวบ้านที่พูดเขาไม่รู้จักด้วยซ้ำนะครับ สุนทรียสนทนา แต่เขาถูกฝึกในท่ามกลางการพูดคุยกับคนในชุมชนของเขา กับคนในครอบครัว จนรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง
ผมจึงจับประเด็นได้อย่างหนึ่งว่า ไอ้ "สุนทรียสนทนา" นี่น่ะ! มันต้องฝึกท่ามกลางบรรยากาศของจริง ทำหลายๆครั้ง หลายๆวงการพูดคุย หลายๆเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วสังเกตอาการตัวเองว่าทักษะการฟังลึกพอหรือยัง?
แต่ถ้าไปอบรม หรือ workshop กลับมาแล้วไม่ปฏิบัติ ไม่ฝึกใช้จริง อบรมให้ตาย พูดให้ปากฉีก ก็จะไม่มีวันเข้าใจ สุนทรียจริงๆนั้นเป็นแบบไหน
ผมว่าการทดสอบที่ดีอันหนึ่งเวลาเราฟังใครพูด แล้วเราเกิดความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ไม่ถูก ไม่ดี ไม่...นานาจะ "ไม่" แล้วเรายังตั้งใจฟังเขาอยู่ ใจยังติดตามประเด็นเล็กประเด็นน้อยที่เขาพยายามสื่อสารออกมา แล้วยิ่งหาส่วนดีได้จากตรงนี้มากเท่าไร ผมว่าตรงนี้แหละยิ่งเก็บได้มาก ถือว่ายิ่งลึกมาก และอาการอย่างนี้ต้องใช้ความอดทน สู้กับใจตัวเองมาก ต้องทนให้ได้อย่าง "ควาย" อย่างคุณมาร์ติน มิลเลอร์ คนอังกฤษที่มาเป็นชาวนาอำเภอน้ำพอง ขอนแก่น เคยพูดเอาไว้ในวันที่ 6 ก.พ. ปีนี้เหมือนกัน
ผมเลยเข้าใจเอาเองนะครับว่า สุนทรียสนทนา นั้นต้องมีทั้ง
"ฟังให้ลึกสุดใจ และ พูดด้วยความจริงใจ แม้จะแตกต่างกันไป แต่ใจเราเคารพกันเสมอ"