ข้าวแลง : กระบวนการเรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็ง


พริกบ้านเหนือมะเขือบ้านใต้
          ข้าวแลง เป็นภาษาเหนือ แปลว่า อาหารมื้อเย็น ข้าวแลงมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนเรามาช้านาน เพราะไม่ได้เป็นเพียงอาหารค่ำเพื่อการดำรงของชีวิตเท่านั้น หากแต่การกินข้าวแลงของชาวเหนือนั้นเป็นกระบวนการกล่อมเกลาของครอบครัวด้วย หลายคนอาจสงสัยก็แค่กินข้าวธรรมดา จะไปช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวได้อย่างไร แต่หากเราได้ศึกษาและสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่แล้วจะรู้ว่าการกินข้าวแลงได้สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องครอบครัวไว้หลายประการ อาทิเช่น

          การร่วมมือและการแบ่งปัน การเตรียมข้าวแลง ก็จะเป็นโอกาสที่ให้คนในครอบครัวได้ช่วยกันคิดและช่วยกันทำอาหารร่วมกัน ถ้าเป็นผักสวนครัวรั้วกินได้ที่ได้ปลูกไว้ร่วมกันยิ่งดี หรือจะเป็นการแบ่งปันพืชผักกันระหว่างครอบครัวเหมือนคำกล่าวของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ว่า พริกบ้านเหนือมะเขือบ้านใต้ (บ้านแต่ละบ้านก็มีพืชผักสวนครัวของตนเองแตกต่างกันไปก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน) เมื่อทำกับข้าวเสร็จก็อาจจะแบ่งให้บ้านใกล้เรือนเคียงได้กินด้วย เป็นวัฒนธรรมการแบ่งปันอาหาร สอนให้เรารู้จักความเป็นญาติมิตรและขนบการแบ่งปัน

            การให้เกียรติผู้อาวุโส บทบาทในการ ดาโก๊ะข้าว (เตรียมสำรับข้าว) จะเป็นหน้าที่ของลูกๆ หลานๆ เมื่อทุกคนพร้อมหน้าก็ต้องให้ผู้ที่อายุมาก ซึ่งอาจเป็นพ่ออุ้ยแม่อุ้ยเริ่มปั้นข้าวจิ้มก่อน คนอื่นๆ ถึงจะกินตามได้ และเมื่อทุกคนกินข้าวเสร็จลูกๆหลานๆ ต้องเป็นคนเก็บโก๊ะข้าว เห็นไหมแค่นี่ก็เป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมการกินแบบไทยๆ ไม่เหมือนสมัยนี้ใครใคร่กิน กิน ใครๆ ใคร่ดูทีวี ดู หรือ บางที ก็เอากับข้าวไปนั่งกินหน้าทีวีคนเดียว ไม่สนใจใคร พ่อไปทาง แม่ไปทาง ไม่ได้สร้างการเรียนในครอบครัวเลย

 

            การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพูดคุยกันในวงโก๊ะข้าว (วงอาหาร) เป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ก็จะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันว่าวันนี้แต่ละคนไปทำอะไรมาบ้าง เจออะไร ได้เรียนรู้อะไร เจอปัญหาอุปสรรคอะไร ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน ปรับทุกข์สุขกัน และให้คำแนะนำช่วยเหลือกัน ผู้ใหญ่ก็จะให้คำแนะนำดีดี ในฐานะที่อาบน้ำร้อนมาก่อน บางทีผู้น้อยก็ถือโอกาสบอกกล่าวผู้ใหญ่ในฐานะที่ได้เรียนรู้โลกใบใหม่มา ตามคำกล่าวชาวล้านนาที่ว่า พี่ฮู้สอง น้องฮู้หนึ่ง (คนหนึ่งรู้หรือเชี่ยวชาญกันคนละอย่างเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็เกิดประสบการณ์การเรียนรู้แบบทวีคูณ)

 

            การวางแผนชีวิต นอกจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว ในวงโก๊ะข้าวยังเป็นโอกาสในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวที่จะช่วยกันวางแผนชีวิต ตั้งแต่ว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร อาทิตย์นี้จะทำอะไร เดือนนี้จะทำอะไร ลูกๆ จะไปเรียนอะไร ด้านไหน ฯลฯ การพูดคุยกันทำให้เข้าใจเป้าหมายของชีวิตและครอบครัวตรงกัน และทำให้เกิดการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน รวมทั้งช่วยกันคิด ทบทวน และย้ำเตือนแผนชีวิตหรือเป้าหมายของครอบครัวร่วมกันอีกด้วย

 

            การอบรมสั่งสอน การกินข้าวแลงด้วยกัน ด้วยบรรยากาศยามเย็นค่ำที่แสนจะโรแมนติก มีทั้งแสงอาทิตย์ยามโพล้เพล้หรือดวงดาวที่กำลังเริ่มเปล่งประกาย พร้อมเสียงหรีดหริ่งเรไร มันช่างเป็นบรรยายที่แสดงจะอบอุ่น ผู้อาวุโสก็จะถือโอกาสนี้ในการตักเตือนอบรมสั่งสอนลูกหลานไปด้วย บางครั้งก็จะยกเอาสิ่งดีดีมาเป็นตัวอย่างในการสอน หรือยกตัวอย่างที่ไม่ดีเป็นอุทาหรณ์สอนลูกหลาน หรือแม้แต่การยกเอาหลักธรรมหรือนิยายธรรมมาเปรียบเปรยสั่งสอน

 

            ช่วงเวลาแห่งความสุข ช่วงการกินข้าวแลงยังเป็นการสร้างความสุขร่วมกันด้วยการพูดคุยเรื่องราวต่างๆ โจ๊ก ขำขัน มาเล่าสู่กันฟัง ทำให้เกิดการผ่อนคลายร่วมกัน โดยเฉพาะหลังข้าวแลงจะเป็นช่วงพักผ่อนของชีวิต อาจจะมีการเล่านิยายก้อม (นิทานสั้นๆ) หรือร้องเพลง ดูทีวี ฟังเพลงด้วยกัน สร้างความสัมพันธ์กันในครอบครัว เรียกว่าเป็นช่วงเวลาครอบครัวสนุกสนานเลยทีเดียว

 

            การประเมินผลชีวิต ช่วงอาหารแลงก็จะเป็นโอกาสในการติดตามความก้าวหน้าของงานต่างๆ ที่แต่ละคนทำว่าไปถึงไหน มีปัญหาอุปสรรคอะไรหรือเปล่า เงินออมได้เท่าไหร่แล้ว ลูกๆ ทำการบ้านเสร็จหรือยัง จะปรับแผนชีวิตอะไรไหม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาศัยวงข้าวแลงพูดคุยกันทั้งสิ้น เรียกว่าครบวงจรตั้งแต่การวางแผน การลงมือปฏิบัติ การติดตาม ตรวจสอบ เลยล่ะ

             ข้าวแลง ยังมีความหมายต่อครอบครัวอีกหลายประการ แต่ในปัจจุบันความสำคัญของข้าวแลงและการกินข้าวแลงด้วยกันของคนในครอบครัวเริ่มลดน้อยถอยลง เพราะภาวะเศรษฐกิจและชีวิตสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป วัฒนธรรมการกินข้าวแลงร่วมกันก็เริ่มจางหายไป กระบวนการเรียนรู้และกล่อมเกลากันในครอบครัวจึงลดน้อยลงไปด้วย วันนี้หากเราจะเริ่มสร้างครอบครัวเข้มแข็งด้วยการกินข้าวแลงด้วยกันและสร้างการเรียนรู้ที่เป็นวิถีชีวิตแบบไทยๆ คงยังไม่สายเกินไป แล้วเราจะเกิดเวทีเรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็งได้ในทุกครอบครัวและต่อเนื่องทุกๆ วัน เลยล่ะ
หมายเลขบันทึก: 149562เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2007 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 20:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • คิดถึงสมัยเด็กค่ะ
  • นั่งล้อมวงทานข้าว
  • พี่ๆน้องๆ...คุณตา คุณยาย
  • ใช่คะต้องให้ผู้ใหญ่เริ่มทานก่อน
  • การถามสารทุกข์สุกดิบ..อยู่ในวงข้าวนี่ละ
  • แต่น่าเสียดายที่วงข้าว..กลายเป็นวงเหล้าไปซะแล้ว
  • และที่สำคัญ พ่อแม่ ลูก มีโอกาสทานข้าวร่วมกันน้อยเต็มที
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท