การเฝ้าดูพลังเครือข่ายพ่อแม่...ก่อตัวเป็นอนุภาคสังคมเข้มแข็ง


การสร้างสังคมเข้มแข็งและดีงามโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
จำเป็นต้องอาศัยแรงศรัทธาและความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมส้งคมด้วยก้น
เป็นงานก่อสร้างที่ไม่มีกำหนดเวลาเสร็จ
เป็นงานขายที่ไม่มีกำหนดตัวเลขว่าจะต้องทำเป้าให้ได้เท่าไร
การสร้างสังคมดีๆ โดยเริ่มจากการพูดคุยกันดีๆ ที่บ้าน
มาสู่เครือข่ายครอบครัวโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
เป็นงานที่ค่อยเป็นค่อยไปทีละนิด

ต้องลงมือทำด้วยความผ่อนคลาย เบิกบาน
อาศํยแรงจูงใจที่เกิดจากภายในใจแต่ละคน
มากกว่าแรงกดดันจากภายนอก
จึงจะเป็นสังคมที่เข้มแข็ง ดีงาม และยั่งยืน

วันที่ ๑๒ ๑๔ และ ๑๖ พ.ย.๕๐  
มีการประชุมสมาชิกสภาครอบครัวเพลินพัฒนา 
ที่ต้องจัด ๓ วัน  เพราะคณะกรรมการบริหารสภาครอบครัวฯ 
เห็นว่าพ่อแม่ของเพลินพัฒนาก็เหมือนกับเด็กๆ ทั้งโรงเรียน
ที่มีความแตกต่างกันทางวัยและประสบการณ์มาก
 
เนื่องจากโรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอน
ตั้งแต่ระดับก่อนเตรียมอนุบาล จนถึงมัธยาศึกษาตอนปลาย 
จึงตัดสินใจแยกประชุมสมาชิกสภาฯ (ตัวแทนห้องเรียนๆละ ๒ คน)
โดยแบ่งเป็นกลุ่ม ตามช่วงชั้นของลูกๆ

แล้วก็ได้เห็นว่าข้อสันนิษฐานเป็นจริงตั้งแต่ช่วงแรกของการประชุม 
ในการเล่นเกมกระตุกผ้าเรียกชื่อฝั่งตรงข้าม 
จะเห็นเลยว่าผู้ปกครองของช่วงชั้นเด็กเล็ก-อนุบาลเล่นกันแบบตรงไปตรงมา 
พอเปลี่ยนช่วงชั้นก็จะเห็นเทคนิคแพรวพราวมากขึ้นไปตามระดับของช่วงชั้น 
นั่นคือผู้ปกครองของช่วงชั้นมัธยมเป็นกลุ่มที่ใช้กลเม็ดกลยุทธมากสุด

ผลจากเกมนี้ทำให้บรรยากาศการประชุมที่ตามมาทั้งหมด
สนุกสนาน เป็นกันเอง 
และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างไหลลื่นตลอดจนจบ

ประเด็นที่พูดคุย - บอกเล่ากันก็คือ
การจัดกิจกรรมระหว่างครอบครัวต่างๆ ของแต่ละกลุ่ม แต่ละห้องเรียน
และวิธีการสื่อสารระหว่างครอบครัว
เมื่อนำมาแชร์กันแล้วทางคณะกรรมการฯ ได้ข้อมูลเป็นวิธีการจัดกิจกรรมมากมาย
ที่จะนำไปเผยแพร่ให้ผู้ปกครองอื่นๆ 
และกลุ่มที่มาพูดคุยกันวันนี้ก็ได้มีการสานเครือข่ายกันไปเรียบร้อย

การพูดคุยเรื่องของลูกนั้น คนที่มีลูกจะเข้าใจว่าคุยได้ทั้งวันไม่เบื่อ
การจัดโอกาสให้พ่อแม่มาคุยกันในบรรยากาศอบอวลไปด้วยมิตรภาพ
ทำให้มีทั้งการแชร์ความสุข และความกังวลใจ
ซึ่งการพูดคุยกันอย่างสุนทรียสนทนานี้
ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ว่าจะต้อง "คัดเลือก" แต่เรื่องดีๆ มาคุยกันเท่านั้น
แต่เราแชร์ความกังวลใจกันได้ 
ซึ่งก็มักเป็นเรื่องของพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ต่างยุคสมัยจากที่พ่อแม่ผ่านมา
วงสนทนาในสามวันนี้ มีทางออกเบื้องต้นคือ
พ่อแม่ต้องมาเจอกันบ่อยๆ คุยกันมากๆ
เพราะคำบอกเล่าจากลูกบ้านหนึ่งจะถ่ายทอดไปสู่พ่อแม่บ้านอื่นๆ
ทำให้พ่อแม่เข้าใจสถานการณ์ที่ลูกพบเจอได้มากขึ้นจากหลายๆ มุมมอง
นอกจากจะทำความเข้าใจด้วยกันเองแล้ว
ก็จะมีการเรียนรู้พฤติกรรมและพัฒนาการเด็กๆ โดย
จัดวงสนทนาวงเล็กๆ ที่จะเชิญนักจิตวิทยามาเป็นวิทยากรเป็นครั้งคราว
เพื่อแนะนำเทคนิคการจัดการกับพฤติกรรม ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์
การคุยกันเป็นวงเล็กๆ ทำให้ยกกรณีศึกษาขึ้นมาเป็นตัวอย่างได้
เพราะอันที่จริงพ่อแม่ก็พอจะเข้าใจ "หลักการ" ในการเลี้ยงลูกกันอยู่แล้ว

เวลาสามชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว 
ตัวแทนพ่อแม่แต่ละห้อง  ต่างแยกย้ายกันไปแล้ว
ทว่าได้เกิดสายใยโยงระหว่างกัน  ถึงจะใสบาง
แต่ก็จะเข้มแข็ง และทนทาน ตราบเท่าที่ทุกคนยังไม่ปล่อยมือ

พลังที่ค่อยๆ มาเกาะ มารวมกัน เป็นเครือข่ายโยงใยนี้  กำลังจะก่อตัวเป็นอนุภาค เป็นมวล  ที่ครูส้มเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตดูอยู่ข้างๆ อย่างมีความสุขเพราะได้รับพลังไปด้วยนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 148941เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2007 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท