เราดีเขาเลว


ความเรียง ถึงบทนำเสนอต่อแนวคิดของมนุษย์ ในการมองผู้คน ถกเถียง โต้แย้ง แย่งชิง และจัดสรรผลประโยชน์ จัดสรรทรัพยากรของแต่ละกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ ท่ามกลางโลกและความสัมพันธ์ทางสังคมวิทยาของมนุษย์ มนุษย์คิดและมองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างไร เรากำหนดมาตรฐาน และกำหนดตรรกะในการสื่อสารระหว่างกันอย่างไร

เราดีเขาเลว

อ้างอิง - ภาพ http://www.lomography.com/folkways

นักคิดฟากฝั่งฝรั่งดั้งขอ

เช่นศาตราจารย์ นอม ชอมสกี้ กล่าวไว้

ในท่ามกลางสงครามอ่าวเปอร์เซีย จนกระทั่งอัฟกานิสถาน

ถึงสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ในท่ามกลางกระแสธารของอารยธรรมบนโลกใบนี้ สำหรับความยากลำบากในตัวตนมนุษย์ ถึงตรรกะแห่งความดีงามของอารยธรรมที่กำลังถูกท้าทาย โดยเฉพาะความพยายามในการสถาปนาความดีงาม ขึ้นมาเฉพาะตนเฉพาะกลุ่ม

Depend on Good - Evil

เคยเป็นตรรกะซึ่งไม่ยากลำบาก

ท่ามกลางความไม่ซับซ้อนของสังคม

แต่ปัจจุบันสำหรับการตีความ ว่าสิ่งใดเป็นความดีงาม หรือสิ่งใดเป็นความชั่วร้ายนั้น กลับยากลำบากและซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งรวมความอันฉ้อฉล และกลเกมของการทับซ้อน ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ จึงผสมกลมกลืนเป็นเนื้อดินน้ำมันหลากสี ไม่มีสีใดโดดเด่นออกมา แต่กลมและกลืนในก้อนนั้น

ดำขาว

ม่วงครามน้ำเงิน

เขียวเหลืองแสดแดง

แลอีกมากมายสีสันละลานตา

ล้วนผสมกันไปให้เกิดขึ้น แม้อยากปฏิเสธก็ยากจะกระทำ เผลอไผลบ่อยครั้งที่เรามองก้อนดินน้ำมันเหล่านั้น เพ่งบ้างไม่มองบ้าง เรายังนึกว่าสีอันชัดเจน ในก้อนดินน้ำมันแห่งตัวตนมนุษย์นั้น ผสมกลมกลืนกลายเป็นสีเทา

สีอันโดดเด่น

ในท่ามกลางพื้นที่อันยากตีความ

เมื่อความดีความเลวในตัวตนของผู้คนเริ่มซับซ้อน

มีบางสำนักคิดเสนอมุมมองทางสังคม ถึงการต่อรอง และทำความเข้าใจเหตุผลความรู้สึกอันหลากหลายซับซ้อน ให้กลายเป็นวิธีการเบื้องต้น แยกแยะในแต่ละครั้งของการมองเห็น มองและเข้าใจเรื่องราวในแต่ละคราวของการกระทำ

แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดแย้ง

กับตัวตนของมนุษย์

เมื่อเรามีศูนย์กลางแห่งจักรวาล ศูนย์แห่งตรรกะ ทุกอย่างโคจรอยู่รอบเหตุผลของชีวิตเรา หลักคิดแห่งความดีงามเลวร้าย ล้วนอยู่ที่ตัวตนของเรา กรอบคิดว่าเราดีเขาเลว หรือฉันขาวแล้วเธอดำ ล้วนเป็นตรรกะขั้นพื้นฐานอันง่ายดาย โดยที่เราไม่ต้องมองให้มากความ ใช้หลักคิดเช่นนี้แว่นตาชีวิตอย่างนี้

ใช้มองทุกอย่างของการตัดสินใจ

ใช้อธิบายทุกการกระทำ

เพียงแต่ไม่อาจนำมาอธิบายโดยรวมเท่านั้น

บางสำนักคิด อธิบายจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในสงครามแห่งความดีงาม ว่านับตั้งแต่มนุษย์เริ่มต้นคิดว่าตนเองสูงสุดกว่า สงครามแห่งอารยธรรมจึงเกิดขึ้น สงครามแห่งศรัทธาความดีงามจึงเริ่มทำหน้าที่ หลักคิดเช่นนี้คือเครื่องน้อมนำความเจริญมาสู่โลกมนุษย์

เพราะมนุษย์ไล่เข่นฆ่ากัน

ด้วยความดีงามกว่าสูงส่งกว่า ศรัทธาที่ดีกว่ามากกว่า

เหมือนจุดไฟเผาอารยธรรมอันเลวร้ายกว่า อ่อนด้อยกว่า

 

เพียงเพื่อให้สิ่งที่เหลืออยู่เข้มแข็งขึ้น ที่อ่อนแอจากความพ่ายแพ้ก็ล้มหายตายจากไป หลังการเผาทำลายทุกสิ่งอย่างในอารยธรรม ทั้งวิธีคิด ชีวิตผู้คน ศิลปวัฒนธรรมอันอ่อนด้อยเลวร้าย ให้กลายเป็นเถ้าถ่าน เพียงเพื่อรอวันฝนตกลงมา ให้หญ้าระบัดผลัดใบขึ้นมา จากกองซากศพแห่งความเลวร้าย

นักคิดสำนักนี้

คิดด้วยกรอบของการวัฒนาแห่งชีวิต

อ่อนแอก็พ่ายแพ้เข้มแข็งก็ดำรงอยู่ หากจะอยู่ร่วมก็ต้องปรับ

ครั้งหนึ่งความห่างไกลของแผ่นดิน ความแห้งแล้งยากลำบากทุรกันดาล ช่วยสะกัดกั้นความกร้าวร้าวรุนแรง จากสัญชาตญานดิบในตัวตนของมนุษย์ไว้ จะพบเจอกันท่ามกลางความยากลำบาก ด้วยการเผชิญหน้าหรือร่วมมือกลายเป็นคำถาม

เมื่ออารยธรรมแห่งการค้าขาย

บนเส้นทางสายไหม เส้นทางไหปลาแดก

เส้นทางเครื่องเทศ หรือเส้นทางศาสนา คือสิ่งประหลาด

ซึ่งได้ทำลายกรอบคิดในความต่าง ทำลายการเผชิญหน้าบางประการของมนุษย์ ด้วยการสมอ้างความปรารถนา ผ่านการแลกเปลี่ยน ต่อรอง และค้าขาย สนทนาปสาทะระหว่างกัน เมื่อต้องการสิ่งของระหว่างกันและกัน

บ่อยครั้งเข้าในการกลายสู่มิตรภาพ

สัมพันธ์ด้วยความรู้จัก เพื่อนฝูง และเครือญาติ

จนกระทั่งสุดท้ายเมื่อมีใครอยากได้ทั้งหมด

เมื่อความปรารถนาอันยิ่งใหญ่มากกว่า ครอบครองมากกว่า เชื่อว่าจะยังความเข้มแข็งแห่งอาณาจักรมากกว่า หรือกระทั่งเกิดเหตุแห่งความขัดแย้งอันไม่ลงตัว การทุ่มเถียงกลายชั้นเป็นกำลัง จากกำลังหมัดสู่อาวุธ จากคนเพียงไม่กี่คนสู่กลุ่มต่อกลุ่ม และจากชนเผ่าสู่สงครามอาณาจักร

ความขัดแย้งในสงคราม

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันเลวร้ายสู่เผ่าพันธุ์อันดีงาม

ในโลกอันดีงามของอนาคต บนซากศพอดีตของความเลวร้าย

นักคิดบางสำนักก็กล่าวเช่นนั้น โดยหยิบยกวงจรแห่งอารยธรรมของมนุษย์มาคอยกำกับไว้ ว่าสุดท้ายของการเริ่มต้น ดำรงอยู่อย่างรุ่งเรือง ก็ถึงวันที่อารยธรรมล่มสลายและดับสูญ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสัญชาตญาณในตัวคน

แต่ใช่ทุกสำนักคิด

จะยอมรับเฉกเช่นเดียวกัน

กับความตายของอารยธรรมแบบสัตว์ป่า

หลายสำนักคิด เสนอทางออกให้กับสังคมมนุษย์ เมื่อเรามีโอกาสเรียนรู้ เรามีโอกาสคิดมองเห็นเข้าใจ และพิจารณา เมื่อเรารู้ว่า มนุษย์อีกคนหนึ่ง ต่างปรารถนาและอยากได้มาซึ่งความดีงามในชีวิตจิตใจ เช่นเดียวกับเรา ดังนั้นเราจึงมีความเหมือนอยู่เช่นเดียวกัน ด้วยความเหมือนเช่นนี้ เราท่านจึงดีงามและเลวร้ายเท่าเทียมกัน เราจึงมีโอกาสไปสู่สิ่งที่ดีกว่าร่วมกันได้

แม้สำนักคิดอันงดงามนี้จะไม่ชนะ

แต่สำนักคิดมากมายเหล่านี้ ก็ถ่ายทอดคำตอบบางประการ

ในท่ามกลางความซับซ้อน ของสิ่งที่เรียกว่า ความดีงาม และ ความเลวร้าย ในแต่ละปรารถนา แต่ละตัวตนของความเป็นคนความเป็นมนุษย์ เมื่อเราท่านต่างคล้ายคลึงกัน ด้วยคำถามตัวโตของโลกแห่งการตีความ

สุดที่ใครจะตีความเช่นไร

หมายเลขบันทึก: 148834เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2007 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท