14 แนวทางพระราชดำริบริหารบ้านเมือง (๒)


“คำต่อคำ” ของ ‘รัฐบุรุษ’

การบริหารจัดการภาครัฐตามแนวทางพระราชดำริเพื่อประเทศไทยในอนาคต

การบริหารจัดการภาครัฐนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผมรวบรวมได้ มีอยู่ 14 ประการ
       
       ข้อที่ 1 มีพระราชดำริว่า การบริหารจะต้องเป็นการบริหารเพื่อความมั่นคงของชาติ เพื่อความเจริญของประเทศ และเพื่อความผาสุกของประชาชน การบริหารจะต้องไม่นำเอาประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ของญาติพี่น้อง ประโยชน์ของบริวารเข้ามาเกี่ยวข้อง
       พวกเราทั้งหลายคงจะจำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ว่า ทรงมีรับสั่งว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นพระราชปณิธานที่ทรงดำรงไว้ได้อย่างมั่นคง ผมเข้าใจว่า ธรรมที่ทรงรับสั่งนั้น ย่อมหมายถึงทั้งธรรม คือคุณความดี และความยุติธรรม
       
       ข้อ 2 ท่านรับสั่งว่า จะต้องบริหารด้วยความสามัคคี ทรงเน้นและทรงเห็นว่า ความสามัคคีปรองดอง จะนำไปสู่ความร่วมมือและความเข้มแข็ง ทำให้งานบรรลุผลสำเร็จ
       ผมมีความเห็น ผมขอเน้นว่า ผมมีความเห็นว่า ผู้บริหารทุกระดับจะต้องรู้จักรักษาความสามัคคีในหน่วยงาน ในชาติของเรา ผู้บริหารจะต้องรู้จักกำหนดนโยบาย ซึ่งสมัยนี้เรียกกันว่า “ยุทธศาสตร์” ผู้บริหารจะต้องรู้จักกำหนดมาตรการเพื่อให้บรรลุนโยบายหรือยุทธศาสตร์นั้นๆ จะต้องเข้าใจว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ความขัดแย้ง ไม่ใช่ความขัดขืน
       ผู้บริหารที่ดีต้องยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น ให้โอกาสผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีส่วนร่วม เพราะพวกเราทุกคน หรือส่วนใหญ่ของพวกเรา ต่างก็มีความปราถนาดีต่อหน่วยงานและต่อชาติบ้านเมืองด้วยกัน
       
       ข้อ 3 จะต้องบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านรับสั่งว่า ต้องซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิด การพูด และการกระทำ ยังทรงเน้นในเรื่องนี้อยู่เสมอๆ
       ผมขอให้ความเห็นเป็นส่วนตัว เป็นการขยายความว่า ผู้บริหารนอกจากจะต้องซื่อสัตย์สุจริตแล้ว จำต้องดูแลคนรอบข้างตัวเราให้ซื่อสัตย์สุจริตด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารจำต้องเพิ่มเติมคำว่า “เสียสละ” และ “จงรักภักดี” เข้าไปด้วย
       
       ในบ้านเมืองของเราปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการบริหารภาครัฐ ถ้าจะมาพูดกันก็พูดได้ยาวมาก พูดได้นานมาก พูดกันได้เหมือนเรื่องสนุกสนาน แต่เรื่องที่เราไม่ค่อยจะพูดถึงกันบ่อยนัก ก็คือเราไม่ค่อยพูดว่า การทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพในการบริหาร และลดความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อผู้บริหารและหน่วยงานของรัฐ
       

       ข้อ 4 จะต้องเป็นการบริหารที่ถูกต้อง คือถูกต้องตามกฎหมาย ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ มีความเที่ยงธรรม เที่ยงตรง มีประสิทธิภาพ และให้ประสิทธิผลสูง
       ความเห็นส่วนตัวของผม ผมเห็นว่า ผู้บริหารต้องมีมาตรฐานเดียว เสมอหน้ากัน ทั่วถึงกัน ต้องไม่มีหลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลย หรือใช้มาตรฐานตามอารมณ์ มาตรฐานตามกิเลส พระเจ้าอยู่หัว ทรงย้ำเตือนอยู่เสมอว่า ความสุจริตและความถูกต้องเป็นของคู่กัน
       
       ข้อ 5 จะต้องเป็นการบริหารที่มีเอกภาพ มีการประสานงาน มีการประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงาน
       
พระราชดำรินี้ชัดเจน และเข้าใจง่าย แต่โดยข้อเท็จจริง หน่วยงานภาครัฐค่อนข้างละเลยจนกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่มีในตำรา บางทีก็กลายเป็นการแข่งขันหรือกลายเป็นการแก่งแย่งกันเองระหว่างหน่วยงานต่างๆ
       
       ข้อ 6 จะต้องบริหารด้วยความเพียร อย่างต่อเนื่อง ดุจเช่นพระมหาชนก ผู้บริหารต้องไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวเหนื่อย ดำรงความมุ่งหมายอย่างกล้าหาญ กล้าเผชิญอุปสรรค และอดทนต่อความยากลำบาก
       
ผมเองเห็นว่า ผู้บริหารต้องมีความเพียรพยายาม โดยไม่คำนึงว่าตนจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ อย่างไร มุ่งแต่ความสำเร็จของการบริหาร และผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
       
       ข้อ 7 ผู้บริหารจะต้องไม่หวาดกลัวต่ออิทธิพลใดๆ และต้องอยู่คนละฝ่ายกับความไม่ถูกต้อง
       ผมเห็นว่า ผู้บริหารต้องหนักแน่น สงบนิ่ง และสง่างาม ในบ้านเมืองของเรา ผู้บริหารมักจะเผชิญกับการเรียกร้องและความกดดันของกลุ่มอิทธิพล หรือผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม หรือเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และความต้องการของกลุ่ม กรณีเช่นนี้ ผู้บริหารจะต้องเลือกเอาเองว่าจะยืนหยัด หนักแน่น รับใช้ประชาชน หรือจะรับใช้กลุ่มอิทธิพล

ภาคที่สองครับ/JJ

หมายเลขบันทึก: 14865เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท