เมื่อวานนี้ (6 กพ. 49) ผมได้มีโอกาสไปร่วมสังเกตสังกาเวทีสรุปบทเรียน "โครงการวิจัยพัฒนากลไกการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นระดับตำบล" โดยมี รศ.สุจินต์ สิมารักษ์เป็นหัวหน้าโครงการ สนับสนุนโครงการโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทราบว่าโครงการนี้ครบอายุ 2 ขวบ ผลผลิตหลักของโครงการคือ การสร้าง "วิทยากรกระบวนการ" ที่พาชุมชน ชาวบ้านเรียนรู้บนวิถีชีวิตของตัวเอง ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอภูเวียง หนองเรือ ภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
ร่องรอยการเรียนรู้ที่ปรากฏ :
ระยะแรกวิทยากรกระบวนการ 13 คน แจ้งเกิดจากจำนวนทั้งหมด 21 คนในตอนเข้าเริ่มโครงการ ซึ่งว่าไปแล้วกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือ "คุณอำนวย" (Knowledge Facilitator) ตามภาษา สคส. ที่เราเรียกกัน หลังจากนั้นมีการพัฒนา"คุณอำนวย" ต่อมาเรื่อยจนมีทักษะหลากหลายระดับ แบ่งออกเป็น
ดี 1 ประเภท 1 มีทั้งหมด 14 คน
ดี 1 ประเภท 2 มี 10 คน
ดี 1 ประเภท 3 มี 25 คน
กลุ่มวิทยากรกระบวนการที่ผ่านการติดอาวุธทางความคิดทั้งหมดล้วนเป็นชาวบ้านในชุมชน โดยมีพี่เลี้ยงที่เป็นนักวิจัยร่วมในสายงานวิจัยท้องถิ่น วิทยากรกระบวนการเหล่านี้สามารถจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พาชาวบ้านเรียนรู้บนฐานการทำมาหากินในหมู่บ้านของตน ซึ่งมีผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้หลายอย่างที่น่าสนใจ อาทิ
กลุ่มแม่บ้าน, ตลาดชุมชน, กลุ่มเยาวชน, เครื่องอัดปุ๋ยชีวภาพ, ร้านค้าชุมชน, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน, ป่าชุมชนโคกห้วยบง, นาข้าวปลอดสารพิษและพันธุ์ข้าวพื้นเมือง, ความรู้เรื่องกบภูเขา, ชุดความรู้เรื่องกล้วย, ชุดความรู้เรื่องไผ่ อื่นๆอีกมากมาย
ดูตามชื่ออาจคิดว่าที่อื่นก็มีกลุ่มแบบนี้ ไม่เห็นพิเศษกว่าตรงไหน ที่จริงแต่ละรายชื่อกลุ่มหรือกิจกรรมที่กล่าวมานั้น มีการอธิบายรายละเอียดไว้อย่างสนใจ แต่ผมไม่นำขึ้นมาในบันทึกนี้ เอาไว้บันทึกต่อๆไปนะครับจะทะยอยเอามาให้ดู ให้อ่านเพิ่มเติมอีก
จากการสอบถามพูดคุย และเห็นสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญในภาษาการจัดการความรู้ คือ ขุมความรู้ หรือคลังเรื่องเล่าความสำเร็จของชุมชน มีการบันทึก แต่บันทึกโดยบุคคลภายนอก ไม่ใช่คนในชุมชนเอง ตรงนี้ถึงแม้ว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้ของชาวบ้านมีถ่ายโอนความรู้จาก Tacit สู่ Tacit โดยตรง แต่หากเราจะเคลื่อนกระบวนการให้ขยายไปยังกลไกต่างๆในชุมชนเช่น โรงเรียน อบต. หน่วยงานส่งเสริมอื่นๆที่เข้ามา จำเป็นต้องมีการเก็บเรื่องเล่าดีๆเหล่านั้นเอาไว้ในรูปแบบของ Explicit บ้างเช่นกัน จุดนี้ผมมองเห็นศักยภาพของกลุ่มเยาวชนที่มีไม่น้อยเลยทีเดียว กลุ่มนี้มีพื้นฐานการขีดเขียนอยู่แล้ว แต่หากจับมาพัฒนาทักษะ "คุณลิขิต" ต่ออีกนิดก็จะช่วยเสริมพลังการจัดการความรู้ของกลุ่มนี้ได้มากทีเดียว
ที่ประทับใจจากเวทีในช่วงการเสวนา วิทยากรกระบวนการได้สะท้อนความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ ผมถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาเหล่านั้น เช่น
เขาบอกว่ารู้จักฟังคนอื่นมากขึ้น ฟังแล้วเก็บมาคิด แล้วค่อยมาหารือกัน ทั้งๆที่ชาวบ้านเหล่านี้ไม่เคยรู้เรื่อง "สุนทรียสนทยา" เลย แต่เชื่อว่าพวกเขาเข้าใจมัน ทั้งๆที่ไม่รู้จักมัน
รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักความพอเพียงมากขึ้น
เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน แล้วค่อยไปคุยกับคนอื่น เป็นต้น
อีกท่านหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้....
คุณมาร์ติน มิลเลอร์ เขยอีสานที่บินข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาจากประเทศอังกฤษ มาตั้งรกรากอยู่ในชนบทอีสาน จนเรียนรู้การต่อสู้เพื่อพึ่งพาตนเองได้จนแตกฉานพอสมควร ทำนา 1 ไร่เก็บข้าวไว้กินกันครอบครัว ปลูกมะละกอเอาไว้กินเอง เพราะภรรยาโปรดปราน "ตำบักฮุ่ง" สร้างเถียงนาที่เรียกมันว่าบ้านที่แสนอบอุ่นของเขา มาร์ตินอ่านทุนเดิมของชุมชนออก ในขณะที่คนไทยหลายพัน หลายหมื่นคนยังอ่านทุนเดิมเหล่านั้นไม่เป็น ทุนเดิม ที่ว่าคุณมาร์ตินอธิบายว่า คนชนบทมีบ้านของตัวเอง สามารถมีอาชีพได้ทุกวัน อาหารของกินหาได้ง่ายแทบไม่ต้องซื้อ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ถึงแม้เงินทองจะไม่ค่อยมี แต่มีความสุขมาก อยู่ในชุมชนที่ปลอดการพนัน ปลอดสิ่งเสพติด ผู้คนเป็นกันเอง ที่น่าสนใจมากตรงที่คุณมาร์ตินพูดว่า "การเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต เป็นการเรียนรู้แบบที่ชาวบ้านเป็นอยู่ เป็นความรู้ที่ส่งต่อถึงลูกถึงหลานได้"
ความท้าทายในอนาคตของชาวภูเวียง
ชาวบ้านที่นี่เริ่มมี "คุณอำนวย" สามารถสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็น จับฉวยทุนเดิมของชุมชนได้ เริ่มเรียนรู้สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาเสริมได้บ้างแล้ว ทุกคนเห็นแล้วว่ากระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองตอบโจทย์การพึ่งตนเองของชุมชนได้ แต่ที่ผ่านมามีปัจจัยพิเศษที่มาจากการสนับสนุนของ สกว. ภายใต้โครงการวิจัยท้องถิ่น หลังจาก 2 ปีนี้ไปแล้ว ทำอย่างไรจะให้กระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านที่นี่ยังคงดำเนินต่อไปเหมือนเช่นเก่าที่ทำมา ดูเหมือนว่าทุกคนในเวทีนี้ประจักษ์ถึงคุณค่าของมัน นับจากจุดสิ้นสุดโครงการกลุ่มชาวบ้านทั้งหมดที่ร่วมกิจกรรมกันมาจะรักษากระบวนการเหล่านี้ได้อย่างไร? กระบวนการเรียนรู้ทำได้โดยไม่ต้องมีเงินภายนอกสนับสนุน (เป็นส่วนใหญ่) ได้หรือไม่? ชาวบ้านจะร่วมกันสร้างความรู้อีกชุดหนึ่งที่ว่าด้วย "การปฏิสัมพันธ์กับกลไกอื่นในชุมชนของตน" ได้หรือไม่ ทำอย่างไร? และชาวภูเวียงจะสร้างชุดความรู้ว่าด้วย "การอยู่ในชุมชนตัวเองอย่างมีความสุข" ได้หรือไม่?
เหล่านี้ยังเป็นคำถามที่ต้องติดตามดูกันต่อไป เสมือนหนึ่งการอ่านตำราเล่มหนึ่ง ที่ยังไม่จบและยังไม่รู้ว่ามันจะลงท้ายอย่างไร
ไม่มีความเห็น