การขยายเครือข่ายและขบวนการสันติวิธี


            (4 ก.พ. 49) ไปร่วมการประชุมปฏิบัติการเพื่อรองรับมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง “รัฐบาลใหม่กับการจัดการจัดการความขัดแย้งในสังคม” จัดโดย “ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล” สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมี ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ เป็นประธาน และ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นผู้อำนวยการ
            เป็นการประชุมกลุ่มเล็กประมาณ 10 คน คุณหมอประเวศ วะสี ไปร่วมด้วย ระดมความคิดเห็นว่าควรดำเนินการอย่างไรอันเนื่องมาจาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 29 พ.ย. 49 ซึ่งเห็นชอบตาม “ประเด็นอภิปราย” ของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ดังนี้
            1.   การแก้ปัญหาความขัดแย้งและไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ หากได้รับการสนับสนุนให้มีการดำเนินการก็จะเป็นเวทีหนึ่งที่จะลดความขัดแย้งอันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมของประเทศโดยส่วนรวม และจากผลสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง “รัฐบาลใหม่กับการจัดการความขัดแย้งในสังคม” ได้มีข้อเสนอเพื่อพิจารณารวมสองประการ คือ ให้จัดตั้งศูนย์สันติวิธีหรือศูนย์สันติศึกษาขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อบรรจุเรื่องการขจัดความขัดแย้งเป็นหลักสูตรหนึ่งของมหาวิทยาลัย และจัดตั้งสถาบันหรือองค์กรอิสระเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นข้อเสนอที่นับว่าเป็นประโยชน์ในการลดความขัดแย้งของสังคมได้อีกทางหนึ่ง
            2.   ปัจจุบันในสถาบันพระปกเกล้ามีศูนย์สันติวิธีที่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้โดยจัดการฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคล ในอนาคตอาจพัฒนาขึ้นเป็นคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ หากมีอัตรากำลังเพียงพอ อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นอาจพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ไปพลางก่อนโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ และเมื่อมีความพร้อมแล้วจึงพัฒนาจัดตั้งเป็นองค์กรสถาบันเพื่อทำหน้าที่ต่อไป
            3.   การจัดตั้งศูนย์สันติวิธีหรือศูนย์สันติศึกษาในมหาวิยาลัยนั้น การกำหนดหลักสูตรในเรื่องนี้มีความสำคัญและต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้วการจัดการศึกษาอาจแตกต่างกันไปคนละทิศทางในแต่ละมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้น ในระยะแรกสถาบันพระปกเกล้าควรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการและอาจดำเนินการหรือจัดหลักสูตรในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมก่อน ในอนาคตก็อาจมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ดี การลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณาแก้ไขในภาคราชการเป็นเบื้องต้นก่อน จึงควรจัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรนี้เป็นภาคบังคับสำหรับนักบริหารระดับสูง เช่น วปอ. นบส. เป็นต้น นอกจากนี้ควรอบรมข้าราชการหรือกำหนดให้การบริหารความขัดแย้งเป็นสมรรถนะหลักของบางตำแหน่งที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงด้วย เช่น ข้าราชการฝ่ายปกครอง และนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ด้วย
            ที่ประชุมสรุปว่า เห็นควรดำเนินการไปในแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และพร้อมกันนั้นก็ควร  (1) พยายามสร้างและขยาย “เครือข่ายสันติวิธี” ไปเรื่อยๆ  (2) จัดให้มีการประชุมหารือเป็นประจำในระหว่างแกนนำเครือข่ายฯเช่นเดือนละ 1 ครั้ง (3) ดำเนินการสร้างและพัฒนา “บุคลากรสันติวิธี” ให้มากขึ้น ฯลฯ
            สำหรับ “แกนนำเครือข่ายสันติวิธี” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ คุณหมอประเวศ วะสี นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ (ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (กระทรวงยุติธรรม) คุณจิราพร บุนนาค (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ดร.โคทม อารียา (ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล) ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (คณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ (สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ดร.มารค ตามไท (นักวิชาการอิสระ) นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ (กระทรวงสาธารณสุข) เป็นต้น


ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
4 ก.พ. 49

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14551เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2006 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท