(3 ก.พ. 49) ไปร่วมประชุมนัดแรกของ
“คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาสอบสวนและศึกษาปัญหาการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น
จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นโดย
“คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต
วุฒิสภา”
ผมได้รับการทาบทามให้ร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้เมื่อ
2-3 วันก่อนหน้า
และตัดสินใจรับเข้าร่วมเพราะเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อส่วนรวมและควรมีการศึกษาอย่างน้อยใน
2 ส่วนที่สำคัญคือ
1. ส่วนความเป็นจริง
คือศึกษาว่าเรื่องเป็นอย่างไรกันแน่ มีความเป็นมาอย่างไร อะไรเกิดขึ้น
เกิดอย่างไร นำสู่ผลอย่างไร
อะไรมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับอะไรอย่างไร
ก่อให้เกิดผลกระทบต่อนื่องอย่างไร ฯลฯ
2. ส่วนข้อควรพิจารณา คือศึกษาว่า
เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงตามข้อ 1. ประกอบกับหลักการ เหตุผล
สภาพแวดล้อม สถานการณ์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว
มีข้อพิจารณาอย่างไร มีข้อสังเกตอย่างไร
และจะสามารถมีข้อเสนอแนะอย่างไร
ซึ่งควรจะรวมถึงข้อเสนอแนะในเชิงการปรับปรุงพัฒนาระบบให้ดีขึ้นด้วย
การประชุมนัดแรกนี้ ได้วิเคราะห์สถานการณ์โดยรวมพอสังเขป
แล้วแบ่งงานกันไปทำ แยกเป็น 4 กลุ่ม
ศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ (1)
การปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ (2)
การปฏิบัติตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์และ กลต. (3)
ภาระภาษีจากการซื้อหุ้นขายหุ้น และ (4)
ผลของการซื้อขายหุ้นต่อการได้สัมปทานต่างๆ
ผมได้เลือกอยู่ในกลุ่มที่ศึกษาประเด็นเรื่อภาระภาษี
เพราะผมเองได้เป็นส่วนหนึ่งของ
“คณะทำงานพัฒนาตลาดทุน”
ในช่วงเวลาก่อนการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ ก่อนปี 2518
และทราบเรื่องการยกเว้นภาษี “กำไรส่วนทุน” (Capital gains)
ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์ ซิดนีย์ เอ็ม. ร็อบบินส์
(Sidney M. Robbins)
และต่อมาผมได้ทำหน้าที่กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงพ.ศ.
2523 – 25 จึงพอมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง
และเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นกรณีปกติ
จึงควรต้องศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้มากพอเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์
อนึ่ง
คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ มีจำนวน 10 คน คุณทองใบ ทองเปาด์
เป็นประธาน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นเลขานุการ
และมีที่ปรึกษาอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ คุณโสภณ สุภาพงษ์ คุณเดชอุดม
ไกรฤทธิ์ ฯลฯ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
3 ก.พ. 49