นอนดึก ตื่นสาย...


นอนดึก ตื่นสาย...
นอนดึก ตื่นสาย...คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า การนอนแม้จะจำเป็น แต่ดึกๆมักมีเรื่องน่าดูในจอโทรทัศน์ หรือไม่ก็บนจอคอมพิวเตอร์ เลยถ่างสายตาดูโทรทัศน์ดึกๆ วัยรุ่นเล่นคอมฯ แช็ตกันเพลินจน 5 ทุ่ม สองยามแล้วเข้านอน กะว่าตื่นเอาสายๆก็ทดแทนจำนวนชั่วโมงการนอนได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงวัยรุ่นที่ต้องรีบไปเรียนหนังสือแต่เช้า หรือวัยทำงานที่ต้องแข่งขันเบียดแทรกตัวเองไปทำงานแต่เช้ามืด ด้วยเหตุนี้ คนนอนดึก ตื่นเช้ามืด จำนวนชั่วโมงการนอนก็ไม่พออยู่แล้ว สุขภาพย่อมเสียสุดๆ ส่วนคนนอนดึกตื่นสาย ก็ใช่ว่าสุขภาพจะดี นานเข้าสุขภาพก็เสื่อมสุดๆอีกเหมือนกัน เหตุผลเพราะ แท้ที่จริง สัตว์ต่างๆล้วนมีโครงสร้างของสรีระร่างกายที่กำหนดว่า สัตว์นั้นเป็นสัตว์กลางวัน หรือ สัตว์กลางคืน อย่างค้างคาว นกฮูก แมวเหมียว ต้องถือเป็นสัตว์กลางคืน เพราะมีเรดาร์ มีตาโตเอาไว้ใช้งานตอนกลางคืน แต่คนเราต้องสังกัดเป็นสัตว์กลางวัน เดิมทีเดียวสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดแรกของโลกคือ ตัวซาลาแมนเดอร์ มีตาอยู่ 3 ดวง ตาดวงที่สามเป็นเกล็ดอยู่ตรงกลางหน้าผาก คอยทำหน้าที่รับแสงตะวัน เวลากลางวันแสงสว่างจะทำให้เกล็ดนี้สร้างฮอร์โมนซีโรโตนิน ทำให้มันแจ่มใสออกมาหากิน เวลากลางคืนเกล็ดนี้จะสร้างฮอร์โมนเมลาโตนิน ทำให้มันง่วงเหงา เข้ารูนอน ครั้นวิวัฒนาการจนมาเป็นคน เกล็ดนี้จมลึกเข้าไปในหน้าผาก กลายเป็นต่อมเหนือสมอง หรือ ต่อมไพเนียล ยังคงสร้างฮอร์โมน 2 ชนิดนี้สลับกันอยู่ หรือเรียกอีกที ต่อมนี้คือ นาฬิกาชีวภาพ ที่ปลุกเราให้ตื่นเช้า และกล่อมเราให้เข้านอนโดยอัตโนมัติ การตากแสงไฟดึกๆจึงเป็นการรบกวนต่อมไพเนียลซึ่งเป็นนายเหนือต่อมฮอร์โมนทั่วร่างกาย มันส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมอง ไปไทรอยด์ ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ ถ้าต่อมไพเนียลทำงานผิดเพี้ยน ฮอร์โมนทั่วร่างกายก็ผิดเพี้ยนไปด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่งของหมอลลิตา สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ซึ่งอาจารย์ร็อกกี้ เฟลเลอร์จูงใจให้ทำ ทดลองให้ส่องไฟให้หนูทดลองตลอดคืน ทำอยู่เช่นนั้นหลายๆวัน ปรากฏว่าหนูทดลองถึงกับแท้งลูก นี่แสดงถึงความสำคัญของต่อมไพเนียล ซึ่งถึงกับสร้างความแปรปรวนของระบบฮอร์โมนในร่างกาย เพียงเพราะว่าแสงไฟที่สาดส่องให้อย่างไม่เป็นเวลา งานวิจัยอีกชิ้นในสหรัฐฯทดลองในพยาบาลเวรดึก กลุ่มหนึ่งให้ออกเวรแล้วเดินผ่านอุโมงค์มืดๆไปเข้านอนอีกกลุ่มให้เดินผ่านแสงตะวันยามเช้า ไปเข้านอน เมื่อเจาะเลือดเปรียบเทียบระดับฮอร์โมนของร่างกาย พบว่าพยาบาลกลุ่มหลังฮอร์โมนแปรปรวนไปหมด ขณะที่กลุ่มแรกฮอร์โมนยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ นี่ก็อิทธิพลของแสงตะวันที่เจ้าตัวรับเข้าไปผิดเวลา แท้ที่จริงแล้ว คนเราจึงควรนอนหัวค่ำ ตื่นเช้า แทนที่จะตากแสงไฟอยู่จนดึกๆ
คำสำคัญ (Tags): #นมัสเต
หมายเลขบันทึก: 145225เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2007 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท