การปฏิรูปการศึกษา


การปฏิรูปการศึกษา

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตราที่ 81 ได้กำหนดว่า รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายการศึกษา ที่จะมาสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และสังคม การค้นคว้าวิจัย นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ พัฒนาครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมของชาติ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เน้นการให้การศึกษาแก่ปวงชน ทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน และวัยสูงอายุรูปแบบการศึกษาจึงต้องหลากหลาย และเหมาะสม เน้นการให้ทุกภาคส่วน ในประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันในการจัดการศึกษา ผู้ให้การศึกษามีทั้งเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันต่าง ๆ เช่นครอบครัว สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงงาน ในแต่ละภาคส่วนจึงมาร่วมกัน จัดการศึกษาและมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร โรงเรียนจะต้องบริหารหลักสูตร โดยใช้หลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรความเป็นท้องถิ่น และแบ่งสัดส่วนระหว่างภาคทฤษฎี การปฏิบัติให้เหมาะสมกับหลักสูตรใหม่ เปิดโอกาสให้มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายขึ้น ครูจะหากิจกรรมการเรียนรู้มาเสริมได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และในปี 2547 ทบวงมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบวัดความรู้เพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกจากจะมุ่งปลูกฝังด้านปัญญา พัฒนากรคิดของผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณแล้ว ยังมุ่งพัฒนาความสามารถทางอารมณ์ โดยการปลูกฝังให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเอง เข้าใจตนเอง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถแก้ปัญหา หรือข้อขัดแย้งทางอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยนำกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่มสาระเดียวกัน หรือต่างกลุ่มสาระมาบูรณาการในการจัด การเรียนการสอน ซึ่งจัดได้หลายลักษณะ การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว การบูรณาการแบบคู่ขนาน การบูรณาการแบบสหวิทยาการ การบูรณาการแบบโครงการ สื่อการเรียนรู้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากสื่อการเรียนรู้ และแหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท รวมทั้งจากเครือข่ายการเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นชุมชนและอื่นๆ เน้นสื่อที่ผู้เรียนและผู้สอนใช้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนผู้สอนสามารถจัดทำและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ขึ้นเอง หรือนำสื่อต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวและในระบบสารสนเทศมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณใน การเลือกใช้สื่อ และแหล่งความรู้ โดยเฉพาะ หนังสือเรียน ควรมีเนื้อสาระครอบคลุมตลอดช่วงชั้น สื่อสิ่งพิมพ์ควรจัดให้มีอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ควรให้ผู้เรียนสามารถยืมได้จากศูนย์สื่อ หรือห้องสมุดของสถานศึกษา และมี การพัฒนา มีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อ และการใช้สื่อการเรียนรู้เป็นระยะๆการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานใหม่ สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาต้องมีข้อมูลผลการเรียน ระดับสถานศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ ตลอดจนจากการประเมินภายนอก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียน แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาอันแสดงถึงความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของสถานศึกษาหรือการประกันคุณภาพการศึกษา

การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งใช้เวลา 12 ปี ผู้เรียนสามารถจบการศึกษาภาคบังคับและจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถือว่าจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังคมไทยจะก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หลากหลายเรื่องที่ส่งผลต่อแบบแผนการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ทั้งในชุมชนชนบทและชุมชนเมืองคนไทย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดจะต้องมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนองไปตามพลวัตรทางเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างที่มีการแข่งขันด้านคุณภาพสูงจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดความต้องการการเรียนรู้และกระบวนการการเรียนรู้แก่คนไทย แทบทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในภาคการผลิตใด อนาคตพลังประชาชนและชุมชนในการปกครองตนเองสูงขึ้น มองเห็นการเมืองที่ถูกถ่วงดุลด้วยกลุ่มองค์กรประชาชนมากขึ้น คนไทยในท้องถิ่นต่างๆ ย่อมต้องดิ้นรน ให้ได้มาซึ่งความรู้ในการปกครองตนอง และเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเห็นความสำคัญ ของการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งรู้เท่าทันการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนและลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบท ที่สำคัญและท้าท้ายที่สุดก็คือพลังการเรียนรู้และการแสดงออก ของชุมชนที่ถูกโหมด้วยการเข้าถึงข่าวสารสำคัญต่างๆ อาจจะนำไปสู่การทวงคืนบทบาทในการจัดการศึกษา จากภาครัฐกลับไปสู่ภาคประชาชนอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการศึกษาทางเลือกและศูนย์การเรียนรู้โดยองค์กรประชาชนและกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น มีการโอนกิจการศึกษาของรัฐให้องค์กรท้องถิ่นและองค์กรชุมชนบริหารจัดการแทนมากขึ้น ตลอดจนการเบ่งบานของหลักสูตรท้องถิ่นที่สะท้อนชีวิตจริงและความต้องการที่ตรงกับสภาพท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นท้ายที่สุดท่ามกลางการเรียนรู้อย่างมีความสุขสะท้อนความเป็นท้องถิ่นจะต้องมีการประกันว่าเด็กๆ มีมาตรฐานการเรียนรู้ที่ดีเทียบได้ในระดับสากล และสอดคล้องกับโลกของความเป็นจริงในตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน ด้วยการพัฒนาระบบการวัดผลประเมินผลที่มีมาตรฐานรวมถึงการตั้งสำนักทดสอบแห่งชาติขึ้นเพื่อติดตามวัดมาตรฐานการเรียนรู้ในวิชาหลักๆ กับผู้เรียนทั่วประเทศ เพื่อให้การศึกษาไทยแข่งขันได้กับสากลโลก และมีการติดตามผลสถานศึกษาผ่านเครือข่ายสารสนเทศทางการศึกษาที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นความหวังของผู้ทำการปฏิรูปการศึกษา ที่มีความต้องการให้การศึกษาไทยเป็นเช่นนั้น
แต่ ในความเป็นจริงการศึกษาไทยยิ่งปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ทำให้การจัดการศึกษาของไทยดีขึ้นเลย การพยายามให้การศึกษาทุกระดับเป็นการศึกษาที่ให้เปล่า เพื่อให้ประชากรมีระดับการศึกษาสูงขึ้นแต่นักเรียน ก็มีปัญหาเรื่องไม่ตั้งใจเรียนอย่างจริงจัง มีปัญหาครอบครัว ขาดความรักความอบอุ่นจากผู้ปกครอง และเนื่องจากการสอนในแนวปฏิรูปซึ่งไม่ได้กระทำอย่างจริงจังและขาดการนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่องส่งผลให้นักเรียนอ่าน – เขียนและใช้ภาษาไทยได้ต่ำกว่าระดับชั้น และขาดระเบียบวินัยในตนเองมากขึ้น หากมองในด้านครู ขาดแคลนครูในบางสาขาวิชาที่ขาดแคลน ครูสอนไม่ตรงกับวิชาที่เรียนมาไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่น ไม่สามารถสอนให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร สอนไม่เต็มที่ และไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาดังกล่าวหากนำมาวิเคราะห์ จะพบว่าวิชาที่ขาดแคลนมีผู้จบทางด้านสาขาดังกล่าวที่ว่างงานจำนวนมากแต่ไม่สามารถเข้ามาสู่ในระบบโรงเรียนได้ ด้านผู้บริหารส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องไม่นิเทศภายใน ที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ไม่บริหารงานวิชาการอย่างจริงจัง ไม่มีอำนาจในการบริหารอย่างสมบูรณ์ ด้านหลักสูตรและการเรียนการสอนมีปัญหา เรื่องหลักสูตรมีรายวิชาและเนื้อหาสาระมากเกินไป ทั้ง ๆที่ให้สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดแต่ด้วยความที่ไม่เป็นเอกภาพ สถานศึกษาต่าง ๆ กลัวว่าเด็กจะได้รับความรู้น้อยจึงพยายามใส่เนื้อหาไปมาก ๆ การเรียนการสอนไม่เป็นไปตามแผนการสอน เพราะครูใช้แผนการสอนที่มีขายอยู่ทั่วไปแต่เวลาสอนจริง กลับสอนตามประสบการณ์ ที่ครูเคยสอนเพราะหากพูดความจริงหัวหน้าส่วนต่างๆไม่ยอมรับ ครูจำเป็นต้องทำตามนโยบาย หลักสูตรที่นำมาใช้ไม่บรรลุตามจุดมุ่งหมาย หลักสูตรไม่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น การจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของการเรียนรู้ การดำเนินการวัดผลไม่เป็นไปตามหลักวิชาและหลักสูตรขาดศักยภาพในการพัฒนาคน ด้านอุปกรณ์แม้ว่าผู้รับผิดชอบจะพยายามให้ครูสอนนักเรียนโดยใช้สื่อต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริง โรงเรียนร้อยละ 70 ขาดอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนและ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นโยบายเขียนไว้ว่า นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกคนมีความรู้เรื่อง ICT โรงเรียนแต่ละโรงเมื่อสำรวจพบว่าบางโรงเปิดสอนตั้งแต่ช่วงชั้นที่ 1- 3 แต่ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่รัฐจัดสรรให้เลย เหตุผลเพราะเป็นโรงเรียนขนาดกลางซึ่งจะต้องดูแลตนเองได้ จากปัญหาดังกล่าวนักเรียนจึงไม่มีอุปกรณ์และสื่อที่เพียงพอ ขาดแคลนวัสดุฝึก อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ด้านชุมชน และสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมในปัจจุบันเป็นแหล่งอบายมุข การพนัน และสิ่งเสพติดระบาดอย่างรวดเร็ว และขาดผู้ดำเนินการอย่างแท้จริง นโยบายต่าง ๆ พยายามให้สังคมมามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแต่เขตที่อยู่ในชนบทเป็นไปได้น้อยมากเพราะผู้ปกครองต้องทำมาหากิน และอีกส่วนหนึ่งไม่รู้หนังสือ จึงเป็นไปได้ยากที่บุคคลเหล่านั้นจะมามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ด้านศึกษานิเทศก์ มีปัญหาเกี่ยวกับไม่สามารถนิเทศได้ตามแผน ขาดการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและเป็นระบบ ขาดเทคนิคการนิเทศและติดตามที่ดี การนิเทศยังคงใช้แบบเดิม ๆ หรือลักษณะการจับผิด จึงไม่ได้รับการสนใจจากครูผู้สอนเท่าที่ควร ด้านนโยบาย และ แผนมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากผู้บริหารไม่ตระหนักถึงการดำเนินงานจะต้องประกอบด้วยการศึกษา 2 ส่วนที่เท่าเทียมกัน คือ การศึกษาส่วนที่หนึ่ง การศึกษาส่วนที่สร้างกำลังคน การศึกษาส่วนนี้เป็นการศึกษาที่จำเป็นที่ต้องสร้างให้แต่ละบุคคลมีความรู้ความสามารถที่จะประกอบสัมมาอาชีพได้เป็นอย่างดี คือทำมาหากินได้ นั่นคือสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถที่จะเป็น แพทย์ เป็นวิศวกร เป็นครู เป็นนักกฎหมาย เป็นกวี เป็นนักดนตรี เป็นเกษตรกร หรือประกอบสัมมาอาชีพอื่นใดได้อย่างดีที่สุด การศึกษาส่วนที่ 2 คือการศึกษาส่วนที่สร้างความเป็นคน การศึกษาส่วนนี้เป็นการศึกษาที่สำคัญมากที่ส่งเสริมให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เต็มหรือเต็มคนเป็นการศึกษาส่วนที่ทำให้คนมีคุณธรรม มีศีลธรรม มีจรรยามารยาทตามที่สังคมไทยต้องการเป็นคนที่เกรงกลัวต่อบาป เป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว การศึกษาทั้งสองส่วนนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคนที่ได้รับการศึกษาแต่เพียงส่วนหนึ่ง ส่วนใดเพียงส่วนเดียวย่อมจะไม่มีชีวิตที่สงบสุขอยู่ในสังคมได้ เมื่อใดก็ตามเราสามารถจัดการศึกษาให้คน ในสังคม ลด ละ เลิก อกุศลมูลทั้งหลายได้นั่นแหละจึงจะถือได้ว่า ประสบผลสำเร็จทางการศึกษาแล้ว แต่หากคนที่ได้รับการศึกษาแล้วยังเห็นแก่ตัว ยังหลงใหลในวัตถุ ยังยึดติดวัตถุนิยม ยังฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่รู้จักทำความดี ไม่สามารถละ ความชั่ว ไม่รู้จักทำใจให้บริสุทธิ์ ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ตราบนั้นยังห่างไกลต่อผลสำเร็จดังกล่าวอยู่มาก คนที่สมบูรณ์ เต็ม หรือเต็มคนนั้นจะต้องมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม

หมายเลขบันทึก: 144981เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2007 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท