แนวทางในการทำงานวิจัยและพัฒนาการจัดการปัญหาความมั่นคงของมนุษย์บนอินเทอร์เน็ต


การแสวงหาชุดความรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับไอซีทีดังกล่าว เน้นกระบวนการดำเนินคดีในเชิงรูปธรรม ที่จะนำมาซึ่งข้อความรู้เกี่ยวกับการพัฒนากลไก และ การพัฒนากฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพ ประกอบการสื่อสารความรู้สู่สังคม เช่น การนำเสนอรูปคดีต่อสังคม จะช่วยให้สังคมเกิดความรู้ความเข้าใจในปัญหาและแนวทางในการจัดการปัญหาไปในตัว เท่ากับว่าเป็นการกระตุ้นความเข้มแข็งให้กับสังคม
 

อีกหนึ่งครั้งที่ได้ร่วมประชุมเพื่อแสวงหาแนวทางในการจัดการปัญหาเรื่องสื่อลามกอนาจารบนอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ที่ห้องประชุม ๑ ชั้น ๑๙ กระทรวงวัฒนธรรม ปัญหาหลักที่หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นของการพิจารณาก็คือ “เราจะจัดการปัญหาสื่อลามกอนาจารบนเว็บไซต์อย่างไรดี” อันที่จริงเราพูดเรื่องนี้กันมาหลายต่อหลายครั้ง เรียกได้ว่า นับไม่ถ้วนกันเลย สถานการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นและพอสรปุได้จากเวทีมีด้วยกันหลายประเด็น

ประเด็นที่ ๑     เราประสบกับรูปแบบและปริมาณของเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อสังคมไทยมากขึ้น นั่นหมายความว่า เราขาดกระบวนการในการเข้าไป ปิดกั้น กลั่นกรองเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ ที่ยั่งยืน ที่พ่อแม่ ปกครองสามารถใช้เป็นที่พึ่งพิงได้

ประเด็นที่ ๒     เราขาดการดูแลให้ความคุ้มครองเด็ก เยาวชนในโลกออนไลน์อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่ ๓     เราขาดกระบวนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสื่อทางเพศอย่างเหมาะสมกับพื้นฐานสังคมไทยในยุคปัจจุบัน อีกทั้ง การขาดซึ่งการเสริมสร้างจริยธรรมในการใช้ไอซีทีให้กับบุคคลบนโลกออนไลน์อย่างจริงจัง

ประเด็นที่ ๔     เราขาดกระบวนการในการส่งเสริมให้เกิดคนสร้างสรรค์ การประกอบการสร้างสรรค์ พื้นที่สร้างสรรค์ และ สื่อสร้างสรรค์ ทั้งในแง่ของเงินทุนหรือใช้มาตรการทางภาษี ที่สำคัญการส่งเสริมจะต้องเป็นรูปธรรมและสามารถช่วยให้เกิดกลไกในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์

ประเด็นที่ ๕     เราขาดกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ขาดการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาสื่อออนไลน์ พัฒนาคนออนไลน์เพื่อสังคม กล่าวง่ายๆก็คือ เราขาดการพัฒนากฎหมายเพื่อตอบสนองต่อประเด็นหลักทั้ง ๔ ประเด็นข้างต้น ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ คนทำเว็บไซต์ลามกอนาจาร คนหมิ่นประมาทคนอื่นบนกระดานข่าว ผู้ประกอบการที่ปล่อยให้มีเว็บไซต์ลามก หมิ่นประมาท ผู้ประกอบการร้านเกมคาฟ่ เน็ตคาเฟ่ที่ผ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ยังคงลอยนวล รวมถึง การละเลยไม่คุ้มครองดูแลข้อมูลของเด็ก เยาวชนในโลกออนไลน์ ก็ยังคงต้องประสบปัญหาต่อไป

ถ้าจะพูดถึงสาเหตุของปัญหา คงหนีไม่พ้นเรื่อง ความเข้าใจถึงคำว่า อะไรคือ สื่อทางเพศที่เป็นภัยต่อสังคมไทย ซึ่งถ้าหากไปค้นดูแนวคิดที่ปรากฎในสังคม งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ และ แนวคำพิพากษาศาลฎีกา รวมถึง แนวทางในการปฏิบีติของ สตช. ก็จะได้แนวคิดเบื้องต้นว่า สื่อทางเพศในเชิงไม่สร้างสรรค์ที่สังคมไทยยอมรับไม่ได้ เช่น เพศสัมพันธ์ของคนในครอบครัว สื่อลามกเด็ก กับสัตว์ ข่มขืน แอบถ่าย และ สื่อลามกทั่วไปที่เจตนายั่วยุให้เกิดกามารมณ์ เช่น ภาพการร่วมเพศ เห็นอวัยวะเพศ ก็จะพบว่ามีความชัดเจนระดับหนึ่ง แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังพบว่าปัญหาเรื่องนี้ก็ยังคงมีอยู่ และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ต่อมา ส่วนสำคัญที่เรื้อรังมานานก็คือ การขาดเจ้าภาพในการดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ ทั้ง ·       การดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บไซต์ โดยใช้ มาตรา ๒๘๗ ประมวลกฎหมายอาญา พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ·       การดำเนินการระหว่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP)กับเจ้าของเว็บไซต์ โดยอาศัยสัญญาทางแพ่ง ·       การดำเนินการระหว่าง กทช กับ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอาศัยข้อ ๑๓ ประกาศ กทช·       การมีฐานข้อมูลรายชื่อเว็บไซต์ลามกอนาจารเพื่อทำการปิดกั้น กลั่นกรองเนื้อหา·       อีกทั้ง การดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์อย่างจริงจัง

ไม่เพียงแต่ กรณีของสื่อลามกอนาจารเท่านั้น ยังมีกรณีของร้านเกมคาเฟ่ เน็ตคาเฟ่ที่ประกอบการผิดต่อกฎหมาย ยังมีกรณีของการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบออนไลน์ ยังมีการไม่ได้ทดลองใช้ระบบการส่งเสริมการลงทุนที่มีอยู่ภายใต้กฎหมายที่เอื้อต่อการส่งเสริมการประกอบการ

ประกอบกับได้มีการหารือร่วมกับ ทางคุณสุนิษฐ์ เชรษฐา ผู้จัดการแผนงานด้านไอซีทีจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส ว่าน่าจะมีการปฎิบัติการเกี่ยวกับการจัดการสื่อไอซีทีจริงจังสักเรื่อง จึงได้หารือกับอาจารย์แหวว และ ทางมูลนิธิ ศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย

หลังจากหารือ จึงลองตั้งข้อเสนอง่ายๆในการทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการในการดำเนินคดีกรณีศึกษา ๔ ประเด็น

ประเด็นแรก     ดำเนินคดีกับกับผู้ประกอบการเว็บไซต์ลามกอนาจาร โดยใช้ มาตรา ๒๘๗ ป.อาญา และ มาตรา ๑๔ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐

ประเด็นต่อมา   ดำเนินการกับผู้ประกอบการร้านเกมคาเฟ่ ร้านเน็ตคาเฟ่ที่ประกอบการขัดต่อ พรบ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐

ประเด็นที่สาม    ดำเนินการกับผู้ประกอบการที่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยอาศัย พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗

ประเด็นที่สี่       ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตาม พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในกรณีของหมิ่นประมาท

ประเด็นสุดท้าย  ดำเนินการทดลองขอการส่งเสริมการลงทุนในการส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ ทั้งเรื่องของภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการขอสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุน

การแสวงหาชุดความรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับไอซีทีดังกล่าว เน้นกระบวนการดำเนินคดีในเชิงรูปธรรม ที่จะนำมาซึ่งข้อความรู้เกี่ยวกับการพัฒนากลไก และ การพัฒนากฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพ ประกอบการสื่อสารความรู้สู่สังคม เช่น การนำเสนอรูปคดีต่อสังคม จะช่วยให้สังคมเกิดความรู้ความเข้าใจในปัญหาและแนวทางในการจัดการปัญหาไปในตัว เท่ากับว่าเป็นการกระตุ้นความเข้มแข็งให้กับสังคม

จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามการปฎิบัติการต่อไปในอีก ๒ เดือน

 

หมายเลขบันทึก: 144906เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2007 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

งานวิจัยนี้ต้องทำร่วมกับสังคมค่ะ

กระบวนการรับรู้ของสังคมจะทำให้เราใช้ประโยชน์ผลการวิจัยได้จริงค่ะ

แต่ถ้าทำกันไม่กี่คน เมื่อผลออกมา การผลักดันการใช้ประโยชน์ก็จะยากเย็นมากค่ะ

อยากให้ อ.โก๋ ตระหนักตรงนี้ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท