ความพยายามของนักวิชาการในการรับใช้สังคม


โครงการพัฒนาเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม ก่อเกิดขึ้นจากแนวคิดของนักวิชาการ ม.ทักษิณ  เพื่อสร้างและเปิดพื้นที่ทางวิชาการในมหาวิทยาลัยและนักพัฒนาเอกชนได้ร่วมกันศึกษาระดมความเห็น  แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น วิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมและร่วมกันกำหนดบทบาทที่เหมาะสมต่อสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น  รวมทั้งร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคม  เพื่อนำข้อสรุปไปเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

เวทีนี้เลือกหยิบยกวรรณกรรมมาทบทวนความรู้การทำงานของปัญญาชนเพื่อสังคมจากแนวคิดของนักการศึกษา Paolo Freire(เปาโล แฟรร์) และนักคิด อันโตนิโอ  กรัมชี Paolo Freire คิดว่าคนต้องมีจิตสำนึกจึงจะเกิดจินตนาการ ซึ่งการปลุกจิตสำนึกไม่จำกัดเพียงปัจเจกบุคคล แต่ดำเนินโดยพฤติกรรมรวมหมู่ เชื่อว่าการทำกิจกรรมทางสังคมไม่สามารถทำเป็นปัจเจกได้  การสร้างจิตสำนึกสามารถสร้างโดยการปฏิบัติจริงทางสังคม กระทำโดยการสนทนา   ชุมชนมักถูกกดขี่  เอารัดเอาเปรียบเรียกว่า วัฒนธรรมแห่งความเงียบงัน  ถูกทำให้ไม่สามารถแสดงตัวตนออกมาได้  ถูกกีดกันทางกระบวนการ  การหลุดพ้นจากการถูกกดขี่สามารถทำได้ด้วยการ 1)การสนทนา 2)การปลุกจิตสำนึก 3)การเผชิญปัญหา อันโตนิโอ  กรัมชี  เชื่อว่ากรรมกรไม่ได้มีจิตสำนึกทางชนชั้นทั้งที่ถูกกดขี่เนื่องจากรัฐมีวิธีการกดขี่ที่แยบยล รัฐทำหน้าที่ 2 ด้าน คือ ด้านแรก คือ ปราบปราม โดยใช้อาวุธ  อำนาจ ด้านที่สอง คือ ครอบงำ เป็นการลดทอนปัญหา ผ่านกลไก การศึกษา วัฒนธรรมสังคม อุดมการณ์ เมื่อถูกครอบงำก็มีจิตสำนึกที่ผิดพลาด (เชื่อว่าเป็น ความจนแต่ปางก่อน จน-เครียด-กินเหล้า หรือเข้าข้างนายทุน) สามารถแก้ปัญหาด้วยการสร้างความเป็นใหญ่เพื่อช่วงชิงอุดมการณ์ให้สังคมยอมรับ ทำโดยกลุ่มทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีทั้ง กรรมกร ชาวไร่ชาวนา ชนชั้นกลาง คนยากจนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งต้องมีคนเชื่อมกลุ่มประวัติศาสตร์ อันได้แก่ ปัญญาชนจารีต และปัญญาชนของชนชั้น

โครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2550 ณ ม.ราชภัฎนครศรีธรรมราช มีผู้เข้าร่วมจาก ม.ทักษิณ  ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ม.ราชภัฏนครศรีฯ  วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้  ม.วลัยลักษณ์  พรรคศิลปิน

มีโอกาสเข้าร่วมงานเพียงวันที่ 1 วันเดียว ได้รับฟังความเห็นถึงแนวปฏิบัติของเครือข่ายนักวิชาการฯ จากวงและเห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์วิเชียร จากม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ถึงการร่วมงานของนักวิชาการที่เป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษา หากให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต้องผลักดันให้งานสังคมเป็นส่วนหนึ่งของงานสอนให้ได้ 

จากประสบการณ์งานของตนเองต่อสังคม  ขอสะท้อนภาพปัจจุบันของสังคม  หากแบ่งประเภทสังคมตามลักษณะความสัมพันธ์ของสมาชิก  ตนเองมีโอกาสทำงานที่คลุกคลีกับสังคมปฐมภูมิ  ที่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  สมาชิกในสังคมรู้จักกันดี  ซึ่งตนเองคุ้นชินกับการใช้คำว่า ชุมชน มากกว่า (ไม่มั่นใจว่านิยามของตนเองถูกต้องหรือไม่?) ชุมชนเองก็มีพฤติกรรมรวมหมู่เช่นกัน  มีทั้งการรวมหมู่แบบคล้อยตามแรงกระแทกจากภายนอก  เป็นการรวมตัวตามเงื่อนไขการให้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเป็นการรวมตัวกันเพียงชั่วครั้งคราว  และแบบเรียนรู้(ต่อสู้)กับแรงกระแทกจากภายนอก  กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวที่สอดแทรกการเรียนรู้ให้สมาชิกในกลุ่มดึงองค์ความรู้ในตัวเองมาใช้ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของสิ่งที่มาปะทะจากภายนอก รูปแบบของกลุ่มแบบนี้เรียก  องค์กรภาคประชาชน  ที่ตนเองมีโอกาสติดตามสถานการณ์เป็นการก่อเกิดจากการรวมตัวของคนในระดับหมู่บ้าน และเชื่อมโยงกลุ่มอุดมการณ์เดียวกันเพื่อการช่วยเหลือและพลังการต่อรองกับหน่วยงานภายนอกที่มากขึ้น ในรูปของเครือข่ายระดับอำเภอ  หรือจังหวัด รูปแบบองค์กรที่ตนเองติดตามเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีแนวคิดต่อสู้กับความยากจนด้วยการสร้างวินัย  ศีลธรรม  ความรู้เท่าทันเหตุการณ์ภายนอกให้แก่ตนเองและเพื่อนร่วมชุมชน  ก่อเกิดเป็นกลุ่มสัจจะ(กิจกรรมการเงินและสวัสดิการ) ที่เป็นเครื่องมือนำคนในชุมชนมารวมกัน  ใช้กฏ/ระเบียบของกลุ่มกำหนดให้ทุกคนหรือตัวแทนครัวเรือนละ 1 คนมาฝากเงินด้วยตนเองทุกเดือน  เป็นอุบายให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนปัญหา  ความรู้  ซึ่งกันและกัน  กำหนดให้ตัวแทนสมาชิกของกลุ่มเป็นกรรมการ  และใช้ความเห็นของสมาชิกทุกคนในการกำหนดระเบียบ/ข้อบังคับของกลุ่ม  เป็นการฝึกการบริหารงานให้เกิดแก่สมาชิกทุกคน  ตัวอย่างของการรวมตัวจากการเริ่มต้นของประชาชนในภาคใต้  ได้แก่ มูลนิธิสวัสดิการภาคประชาชนสงขลา  เครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต  นครศรีธรรมราช   เครือข่ายกลุ่มองค์กรการเงินกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี  เป็นต้น  นอกจากนั้นเป็นการรวมตัวที่เริ่มต้นจากการสนับสนุนของภาครัฐ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านซึ่งมีอยู่ในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ  และมีการเชื่อมโยงเพื่อเสริมพลังของกลุ่มเป็นเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ตัวอย่างในภาคใต้ที่ตนเองติดตามสถานการณ์อยู่ ได้แก่ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลกะหรอ จ.นครศรีธรรมราช

ปัญหาหนึ่งที่สังคมเช่นนี้ประสบคือ การเข้าถึงแนวคิดกลุ่มของสมาชิกส่วนใหญ่ หรืออาจใช้ความหมายเดียวกับแนวคิดของ Paolo Freire คือขาดการปลุก จิตสำนึก ทำให้ไม่เกิดจินตนาการร่วม การเคลื่อนงานส่วนใหญ่จึงยังคงลื่นไหลได้เพราะบุคคลเพียงกลุ่มน้อย คือ แกนนำกลุ่ม 

ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเครือข่ายนักวิชาการที่กำลังก่อรูปขึ้นนี้มีวิธีการทำงานอย่างหนึ่งที่สามารถหนุนสังคมปฐมภูมิได้ คือการเชื่อมต่อกับกลุ่ม/เครือข่าย  เพราะองค์กรเหล่านี้มีกลไกที่สามารถเชื่อมต่อถึงทั้งในระดับมวลชนไปจนถึงระดับบุคคลได้อย่างทั่วถึงที่สุด

หมายเลขบันทึก: 144592เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้าจะให้นักวิชาการเพื่อรับใช้สังคมภาคใต้ที่ว่าหันมาสนใจG2K เขียนบันทึกบล็อก พอมีทางจะเป็นไปได้บ้างไม๊ครับ

ขอบคุณครับน้องรัช

เรียนครูนง

การเปิด blog สำหรับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมเป็นแนวทางหนึ่งที่เวทีมีแนวคิดให้เกิดขึ้นคะ แต่ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นหรือยัง เมื่อไหร่นั้น รัชจะหาคำตอบมาให้ครูนงอีกทีหนึ่งคะ

ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท