แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาส้วมสาธารณะ


ส้วมสาธารณะ

 สุภาภรณ์ หลักรอด

                2 ปี ที่ทำงานโครงการพัฒนาส้วมสาธารณะ  ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้ ความคิดกับคนหลากหลายอาชีพ ได้รับรู้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องส้วมในแง่มุมต่างๆ    ผู้ประกอบการที่เราได้ประสานงานร่วมกัน เช่น ปั๊มน้ำมันหลายๆแห่ง    ให้ความสำคัญ และมีความตั้งใจที่จะมอบสิ่งดีๆ  ให้กับผู้ใช้บริการห้องส้วม  แต่ต้องมาพบกับปัญหาผู้ใช้บริการที่ไม่มีจิตสาธารณะ  ใช้อย่างไม่รักษา ทำลาย หรือลักโขมย  ตั้งแต่ กลอนประตู  ด้ามจับประตู ฝาทองเหลือง ก๊อกน้ำ  ข้อต่ออ่างล้างมือ-โถปัสสาวะ-โถชักโครก หลอดไฟ สายไฟ ขันน้ำ หรือแม้กระทั่งแจกันตกแต่ง ต้นไม้ /พลูด่าง ฯลฯ   ทำให้เป็นภาระในการบำรุงรักษาสภาพส้วมและเครื่องใช้ของผู้ประกอบการที่น่าเห็นใจมากๆ    ซึ่งเราก็ยังพบเห็นความพยายามของผู้ประกอบการฯที่จะแก้ปัญหาที่พบเจอ เช่น การเลือกใช้วัสดุพลาสติก/พีวีซีแทนโลหะ    การทำอุปกรณ์ป้องกันครอบ  การเจาะรูขันน้ำ  ซึ่งบางวิธีก็ไปส่งผลกระทบต่อการทำความสะอาดต่ออีก  แต่ในทางกลับกันเราก็ยังพบผู้ประกอบการไม่น้อยเลยที่ละเลย  ไม่ใส่ใจความสะอาด ปลอดภัยของห้องส้วมทั้งที่หลายแห่งติดป้ายว่า ห้องส้วมสะอาด ทั้งที่น่าจะเป็น ห้องส้วมเคยสะอาด ซะมากกว่า    

                                            

 ผู้บริหารที่สังกัดหน่วยงานราชการไม่น้อย  ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่อง ห้องส้วมสะอาด   เราคิดเอาเองว่าน่าจะเป็นเพราะ ไม่เคยถูกผู้ที่มาติดต่อราชการร้องเรียน  หรือไม่ก็คงเป็นเพราะ  ผู้บริหาร  และผู้ตรวจนิเทศหน่วยงานนั้นๆ ไม่ได้ใช้ห้องส้วมเดียวกับผู้ที่ทำงานหรือมาติดต่อราชการที่นั่น  และไม่บอกก็คงพอนึกออกว่า  ทั้ง 2 ห้องนี้แตกต่างกันอย่างไร   หรือไม่อีกทีท่านก็อาจจะมีภารกิจมากมาย  ที่คิดว่าสำคัญมากกว่าภารกิจขั้นพื้นฐานเรื่องส้วม  ทั้งที่ส้วมสามารถทำให้เป็นหน้าตา สร้างภาพลักษณ์ที่ดี  หรือสะท้อนความคิดของท่าน   และภาพลักษณ์หน่วยงานได้    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียน เราหวังให้เด็กเป็นคนรุ่นใหม่ไปสร้างบ้านเมือง แก้ไขเรื่องราวปัญหาต่างๆที่สะสมมากมาย  แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า  เด็กนักเรียนไทยจำนวนมาก ยังคงใช้ส้วมที่สกปรกเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เราเคยเห็น  เคยสัมผัสกันมา  จนทำให้เด็กหลายคนที่เคยชินกับความสะอาดของส้วมที่บ้าน   ต้องกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระ กลับไปใช้ที่บ้าน  นี่หรือ คือสถานที่ที่จะสอนความรู้ที่กว้างไกล หากแต่ขาดการสอนทักษะ และความเข้าใจพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวัน    แต่ก็น่ายินดี ที่มีอีกหลายโรงเรียนที่ผู้บริหารโรงเรียน มีนโยบายให้ห้องส้วมของโรงเรียน สะอาดเหมือนส้วมที่บ้าน ซึ่งเราเชื่อว่า  ทุกโรงเรียนคงสามารถทำได้เช่นกัน

 

 หลายคน  หลายสถานที่  บอกว่าขาดทุนทรัพย์ในการการพัฒนา ปรับปรุงส้วมสาธารณะ   แต่อีกหลายแห่ง หลายคน  บอกว่า  ไม่เน้นเงินเป็นตัวตั้ง  แต่มีความตั้งใจ ค่อยๆหาช่องทาง  ค่อยเป็นค่อยไป  เน้นสะอาด ปลอดภัย  ประโยชน์ใช้สอย       หรือว่าง่ายๆ คือ  เน้นปฏิบัติ ก่อนการลงทุน  เน้นธรรมชาติ  (ประหยัดพลังงาน / เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมและการจัดการ)  เน้นใช้รูปแบบ เทคโนโลยีที่ง่ายๆ เพื่อให้เหมาะสม ง่ายสำหรับผู้ใช้ทุกคน  เพราะเป็น ส้วมส่วนรวมที่ต้องสะดวกต่อการดูแลรักษาความสะอาด  เน้นถูกสุขลักษณะ  (มีแสงสว่าง / การระบายอากาศดี)    โดยไม่ลืมให้ความสำคัญกับระบบบำบัด  การเดินท่อ (ใต้ดิน)  และท่อระบายอากาศ    ส้วมทุกแห่ง เคยผ่านการเป็นส้วมดี สะอาด มีมาตรฐานสวยงามกันมาแล้วทุกที่ แต่ทำอย่างไรที่จะรักษามาตรฐานความสะอาดถูกสุขลักษณะไว้ให้ได้นาน ๆ  ขึ้นกับการวางแผนจัดการเรื่องความสะอาดให้เป็นระบบ  การทำความสะอาด (ที่ต้องคำนึงถึงวัสดุอุปกรณ์/สารทำความสะอาด/ความถี่/พนักงาน)  การตรวจสอบความสะอาด และ การบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง    จึงมีอีกกลุ่มบุคคลที่น่าสนใจ และต้องให้ความเห็นอกเห็นใจมากที่สุด  คือ แม่บ้าน  ผู้ที่ต้องทำงานที่ทุกคนชอบมองว่าต่ำต้อย  แต่ท่านเคยนึกไหมว่า  ถ้าหากขาดพวกเธอเหล่านี้ เราจะมีส้วมสะอาดๆใช้หรือไม่ กลุ่มแม่บ้าน จึงเป็นกลุ่มที่เราควรยกย่องให้เกียรติ  และให้กำลังใจ   เพราะแม้จะเป็นงานใช้แรงงาน  แต่ต้องมีจิตใจงาม อดทน เสียสละ และปล่อยวางได้   จึงสามารถทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ผู้คนรังเกียจจนกลับมาอยู่ในสภาพที่สะอาด น่าใช้ได้อีกครั้ง    แม่บ้านหลายๆคนให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเรามาก  เช่น จิตสำนึกที่ดีในเรื่องการรักงาน ยึดถือความสำเร็จของงาน เป็นความสุข      ทำให้เอาใจใส่ ตั้งใจทำงาน  เทคนิคการทำความสะอาดง่ายๆที่เรามองข้าม  เช่น การกวาดฝุ่นผงก่อนล้างถู   การสังเกตความสะอาดของกระเบื้อง    หรืออื่นๆ  เช่น  การ
สร้างสรรความน่าใช้   
              
            

 

 

การทำงานเรื่องส้วมสาธารณะ  ทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งเชิงบวก   และเชิงลบมากมาย  คุ้มค่า  และเปลี่ยนความคิดเราไปจากก่อนเริ่มงานนี้  ที่เคยคิดว่าทำไมไม่เลือกปัญหาอื่นๆที่สำคัญก่อนนะ   จนเมื่อได้ไปสัมผัสสภาพจริงเชิงประจักษ์ด้วยตนเอง  ในหลายๆประเภทสถานที่ตั้งส้วมที่ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าในสมัยก่อน ซึ่งเราเคยคิดเอาเองว่าคงมีการพัฒนาที่ดีขึ้นมากแล้วนั้น   ทำให้เราต้องเปลี่ยนความรู้สึก ความคิดใหม่ ว่า  เราสามารถสร้าง ส้วม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างสรร และปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีหลายแง่มุม หลายสาระการเรียนรู้ได้  และเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเป็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์    สิ่งเดียวที่เราแปลกใจและหาคำตอบอยู่ตลอดเวลาที่ทำงานนี้ ก็คือ มนุษย์ต้องถ่ายหนัก และ ถ่ายเบา...ทุกวัน..   มนุษย์จำเป็นต้องใช้ส้วม...ทุกวัน..วันละหลายครั้ง            แต่....ทำไม...เราให้ความสำคัญกับส้วมน้อยเหลือเกิน   

                                                               

          

                                            

                                                                                                                                                                                                                                                      

คำสำคัญ (Tags): #สุขาน่าใช้
หมายเลขบันทึก: 143689เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2007 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทำอย่างไรให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญ

เป็นคำถามที่ดีมั่กๆ และเป็นหัวใจของการพัฒนา

แต่ตอบยากเหลือเกิน แฮะๆ ตัวเองยังทำไม่ได้

แต่อาศัยโชคดี ผู้บริหารสนใจอยู่เอง

จากที่เคยฟังประสบการณ์ของหลายๆสถานที่มา

คิดว่า นโยบายจากหน่วยเหนือขึ้นไปก็มีส่วนเยอะ เช่น

โรงพยาบาล สพฐ.ที่มีนโยบายมาโดยตรง ผู้ตรวจเร่งรัด ก็สนใจขึ้น

แต่ก็อาจไม่ต่อเนื่อง

ถ้าจะให้ต่อเนื่อง บางที่ ประสบความสำเร็จโดยใช้

1. หยาดเหงื่อแรงงานเข้าแลก

ทำให้ผู้บริหารเห็น หรือ ได้รับประโยชน์ ของการพัฒนาส้วมก่อน

โดยเน้น ที่การปฏิบัติ เพราะ ประโยชน์สูง ประหยัดสุด

(ผู้บริหารทุกคนชอบของดีราคาถูก รวมถึงทุกคนด้วย)

ค่อยๆ ทำให้เห็น เหมือนที่สุราษฎร์ช่วงแรกๆ

สสจ.บอกจะสนับสนุนถึงผู้ว่าฯจังหวัด

หากสามารถพัฒนาส้วมในสสจ.ให้ดีได้ก่อน

2. นำเสนอ เปรียบเทียบกับที่อื่น ที่ดีๆ / พาไปดูงานที่อื่นๆ

หาจังหวะ คุย หรือให้ คนที่ท่านเชื่อถือ ไว้ใจ ช่วยคุยให้

3. นำเสนอ ประโยชน์ที่ได้รับ ในแง่มุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านสุขภาพ แพร่กระจายโรค เช่น ลดการร้องเรียน-เพิ่มความพึงพอใจ จากผู้มารับบริการ เพิ่มภาพลักษณ์

ส่งเสริมรายได้ ช่วยให้เด็กนักเรียนไม่กลั้น มีสมาธิดีในการเรียนรู้ มีแหล่งเรียนรู้

เคยชินสิ่งแวดล้อมที่ดี มีระเบียบวินัยในการใช้สมบัติสาธารณะ รักษากติกาสังคม

มีจิตอาสา

4. นำเสนอ ให้เห็นว่าเรื่องส้วมไม่ใช่เรื่อง ขี้ๆ มีวิชาการนะจะบอกให้ เยอะด้วย

5. นำเสนอ วิธีทำงานที่ประหยัด พอท่านโอเค ทำแล้วพอใจค่อยของบมาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น แต่ข้อที่จำเป็นใช้งบ ก็ต้องหาเหตุผลมาอ้างที่น่าเชื่อถือ เช่น จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวอย่างไร จะอำนวยความสะดวกแก่ คนแก่ เด็ก คนท้อง คนอ้วน คนพิการยังไง

6. ให้เกียรติผู้บริหาร บอกคนข้างนอกเสมอๆ ว่าผู้บริหารให้การสนับสนุน

มีคนชมเชย ยกย่อง ก็ให้เกียรติท่านซะ

** เห็นมั้ย คำถามสั้นๆ บรรทัดเดียว ตอบกันยืดยาว

แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้กันแค่ไหน บางทีก็เป็นเรื่องของเทคนิคของแต่ละคนน่ะค่ะ

พี่เองก็ได้แต่หยิบประสบการณ์ที่พบมา เล่าสู๋กันฟัง

ได้ผลแค่ไหนอย่างไร ก็อย่าลืม mail มาบอกกันมั่งนะคะ

[email protected] ค่ะ ขอบคุณมากๆนะคะ ที่กรุณาสนใจใน

เรื่องพัฒนาส้วม ขอกุศลแห่งความตั้งใจดี ทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างที่หวังนะคะ

สุภาภรณ์ หลักรอด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท