บุคคลิกภาพกับความคิดสร้างสรรค์ (เพิ่มเติม)


โดยธรรมชาติแล้วทุกๆคน ควรมีความคิดในทางสร้างสรรค์สูงแทบทั้งนั้น หากแต่ว่าผลกระทบทางสภาพแวดล้อมและสังคม วัฒนธรรมในการดำรงชีพเป็นอุปสรรคอันหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพความแตกต่างทาง พฤติกรรม และความสามารถทางความคิดสร้างสรรค์

ความรอบคอบในการคิดและการกระทำ                
         
ความคิดแปลกใหม่ในทางสร้างสรรค์ จะต้องมีความเหมาะสมด้วย เพราะจะต้องผ่านการไตร่ตรอง อย่างรอบคอบ พิถีพิถัน ของผู้คิด อันจะ นำความคิดนั้น ไปก่อให้เกิดประโยชน์ได้สำเร็จ เพราะความแปลกใหม่เป็นสิ่งยาก ที่จะยอมรับของสังคม หรือผู้อื่นในระยะแรก ผู้มีความ คิดสร้างสรรค์ จึงเป็นผู้ที่มี ความ อุตสาหะพยายาม อดทน และ ทำงานหนัก การกระทำเพื่อให้ ความคิดประสบความสำเร็จ จึงต้องมีความ มั่นใจ ไม่ย้อท้อ และมีความรอบคอบ ทางความคิด ทุกแง่มุม เพื่อต่อต้านกับ คำวิจารณ์ต่างๆได้ตลอดเวลา ผู้มีความประณีต และรอบคอบ ทางความคิด มักแสดงออกทางการกระทำ ที่สัมพันธ์ในทำนอง เดียวกันเสมอ

ความช่างสงสัย                
         
ความช่างสงสัย เป็นต้นกำเนิดของความคิด และการนำไปสู่ความแปลกใหม่ จากผลการศึกษาของ
Taylor&Holland (1964) พบว่าผู้มีความ คิดสร้างสรรค์สูง มักมีความหวาดระแวง และสงสัยในข้อคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ ไม่ยอมรับ หรือเชื่อถือสิ่งใด โดยปราศจากการเข้าใจ (Self-realization) ด้วยตนเองก่อน ผู้มี ความคิดสร้างสรรค์ มักจะเป็น ผู้ไม่พึงพอใจอะไร ในสภาพ แวดล้อม หากแต่มุ่งแสวงหา แนวทางการ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จึงมักจะไม่ค่อยยอมรับ หรือเชื่อถืออะไร ที่เคยเชื่อ และปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยไม่ได้ผ่านการไตร่ตรอง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งหวังการสร้างสรรค์ มักคิดหาทางปฏิเสธสมมติฐานที่เคย อธิบายปรากฏการณ์เดิมเสมอ การวิวัฒ นาการทางความคิดวิทยาศาสตร์ คือ ความพยายามที่หาแนวทางปฏิเสธ ทฤษฎีดั้งเดิมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Poper, 1959) ในขณะเดียวกัน จินตนาการที่นำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ๆในอนาคต จึงเกิดจากความสงสัยเบื้องต้น ที่มีต่อสิ่งที่ปรากฏ ในปัจจุบันเช่นกัน
ความดื้อรั้นและดันทุรัง                
        
เมื่อมีความคิดในแนวแปลกใหม่แล้ว ย่อมแน่นอนที่ต้องอดทน โดยไม่ย่นย่อต่อการวิจารย์ใดๆ หรือการปฏิเสธ ไม่ ยอมรับของ ผู้อื่นใน ตอนแรก ด้วยการมีความ ตั้งใจมั่น ในการทำงานให้สำเร็จ อดทนกระทำในสิ่ง ที่คนปกติ เห็นว่า ไม่น่าจะคุ้มค่านัก นัก สร้างสรรค์ เมื่อคิดจะ ทำอะไรแล้ว มักจะลงมือค้นคว้า หรือกระทำ ด้วยความอุตสาหะ และพยายาม เพราะมีแรงบันดาลใจ แฝง อยู่ภายใน ที่จะต่อต้านกฏเกณฑ์ และทัศนคติเก่าๆ ความดื้อรั้น จึงมัก เกี่ยวเนื่องกับการไม่ยอมลงรอย หรือคล้อยตามความคิดของผู้อื่น และสภาพสังคมวัฒนธรรม ในขณะนั้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทาง สภาพแวดลอ้ม และ สังคมวัฒนธรรม เพราะความดื้อรั้น และดันทุรัง ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งมักมีส่วนประกอบของเหตุผลส่วนตัว แฝงอยู่ในรูปแบบของความคิด และพฤติกรรมดังกล่าวนั่นเอง

การมีอารมณ์ขันและจิตใจเบิกบาน
               
        
จากการศึกษาวิจัยในกลุ่มเด็กๆ พบว่าเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะมีอารมณ์ขัน มากกว่ากลุ่มเด็กที่มีความฉลาดหรือ
I.Q. สูง (Getzels & Jackson, 1962) อารมณ์ขันเป็นผลของความคิด ที่พิจารณาในทางกลับกันกับความคิดเป็นปกติธรรมดา และ สามารถเป็นแรงกระตุ้น ให้นัก สร้างสรรค์แสดงออก ทางอารมณ์ร่วมกับความคิดได้เต็มที่โดยไม่เสแสร้ง ซึ่งคนปกติธรรมดา อาจมีความเขินอาย หรือไม่กล้าพอที่จะแสดง ออกได้เต็มที่ การมีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน เป็นลักษณะ ของการแสดงสภาพจิตใจ ที่ไร้กังวลและความกดดันต่างๆ ความคิดที่ตอบสนอง จึงเป็น ลักษณะที่แสดงออกได้ตามธรรมชาติ ทำให้มีความคล่องแคล่ว ทางความคิด เพราะมีการผสมผสานกับความขี้เล่นปนเป กับความเคร่งขรึม ในการคิดทำ ลักษณะความคิดอาจมีการจินตนาการ เหมือนเด็ก แต่พฤติกรรมของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ไม่เป็นเช่นเดียวกับเด็ก การโต้แย้งภายในจิตใจ และการแสดงออก ทาง ความคิดในการเสียดสีประชดประชันโดยอารมณ์ขัน เป็นการขัดแย้งต่อทัศนคติเดิมทางสังคม และวัฒนธรรม โดยไม่ก้าวร้าวนั่นเอง
การไม่คล้อยตามความคิดผู้อื่น                
           
การไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ชอบคล้อยตามความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอๆ มักเป็นลักษณะของคนที่ มีความคิดสร้างสรรค์ ต่ำ
(Cruthefiel, 1962) การมีอารมณ์อ่อนไหวเช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคในการที่จะ มุ่งมั่นดำเนินความคิด ให้เป็นไปจนถึงที่สุด คนปกติธรรมดาๆ มักกลัวและ ไม่กล้าเสี่ยงในการแสดงออก ความคิดที่แปลกของตน จึงมักจะทำการใดๆร่วมเป็นกลุ่ม ไม่ชอบทำอะไรโดยอิสระคนเดียว แม้ว่า ลักษณะ ดังนี้จะมีผลดีเป็นที่ยอมรับของสังคมและหมู่คณะ เพราะเป็นการประนี ประนอม ไม่ชอบโต้แย้ง ในทางความคิดกับใครๆ เป็นการง่ายในการ เป็นที่ชอบยอมรับของสังคมหรือหมู่คณะ แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้ หมายความว่า ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ จะยึดถือความคิดตัวเอง เป็นสำคัญจน สุดโต่งก็หาไม่ หากแต่เป็น ผู้ที่มีความ สามารถในการสร้างความสมดุลทางความคิดของกลุ่มและตนเองได้ดี ไม่ยึดถือ "ตนเอง" เสมอไป เป็นที่ยอมรับว่า ผู้มีความ คิดสร้างสรรค์ มีคุณลักษณะที่พึ่งตนเองเป็นสำคัญ
ความเชื่อมั่นในตนเอง                
         
เพราะเป็นผู้ไม่คอยคล้อยตามผู้อื่นในด้านความคิดเห็น ผู้มีความคิดสร้างสรรค์สูง จึงมักมีความเชื่อใน ความสามารถของ ตนเอง สูงตาม ไปด้วย ศิลปินที่มีความสามารถมักเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ และแนวทาง ของชีวิตที่อุทิศให้กับ ผลงาน ที่ตนเองมุ่งมั่นปรารถนา โดยไม่พะวงในอุปสรรค และความยากลำบากในทางกายภาพ สุขภาพจิตและรายได้ ในการ ดำรงชีพ เหมือนเช่นที่ผู้อื่นคิดและ ปฏิบัติ เขาอุทิศให้เพียงเพื่อความพึงพอใจ ในผลงานที่เป็นเลิศอย่างเดียว โดยปกติแล้ว ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มักเป็นคนที่มีความคิดอิสระ โดย ธรรมดา จึงปรับตัวเองเข้ากับผู้อื่นเช่นปกติได้ยาก เขาสนใจความคิด และพฤติกรรมที่เป็นเอกเทศ และอิสระมากกว่าความเป็นที่นิยมชมชอบ หรือยอมรับจาก กลุ่มเพื่อนและคนอื่นๆทั่วไป

           โดยธรรมชาติแล้วทุกๆคน ควรมีความคิดในทางสร้างสรรค์สูงแทบทั้งนั้น หากแต่ว่าผลกระทบทางสภาพแวดล้อมและสังคม วัฒนธรรมในการดำรงชีพเป็นอุปสรรคอันหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพความแตกต่างทาง พฤติกรรม และความสามารถทางความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา 
        

หมายเลขบันทึก: 143330เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2007 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท