เรตติ้งภาคสังคม จะยั่งยืนได้อย่างไร


สถานการณ์ความผันแปรของระบบเรตติ้งที่ต้องตกไปตามสถานการณ์ทางการเมือง คงไม่ดีแน่สำหรับการจะปฏิรูประบบสื่อที่ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หวังเพียงว่าเราจะไม่เผชิญกับปัญหานี้อย่างรุนแรง

เรตติ้งภาคสังคม จะยั่งยืนได้อย่างไร 

                      หลังจากกลับจากประชุมร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน ๑๒ สถาบันที่ห้องประชุม ๑ ชั้น ๑๕ สสส.เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดเวทีวิชาการในการประเมินสถานการณ์ด้านโทรทัศน์และการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ หรือที่เรียกกันว่า เรตติ้ง                

อันที่จริงแล้วเป้าหมายของการจัดเวทีที่เรียกว่า เวทีประเมินสถานการณ์ นั้น จัดทำขึ้นเพื่อทำให้เกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนมุมมองในสถานการณ์ด้านโทรทัศน์ระหว่าง ผู้ผลิต สถานี พ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก เยาวชน นักวิชาการ ภาคนโยบาย องค์กรพัฒนาเอกชน งานนี้ เป็นการ “ร่วม”กันเหลียวหลังและแลหน้าว่ารายการโทรทัศน์ไทยควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นการทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ๒ ประการ

ประการแรก เราจะเริ่มเห็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกันฉันมิตร เพราะที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างอยู่กันคนละด้าน พื้นที่นี้เองจะช่วยทำให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนกัน

ประการที่สอง เกิดการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน และ ร่วมกัน มองไปข้างหน้าว่าเราปรารถนาจะเห็นรายการโทรทัศน์เป็นอย่างไร ก็ใช้พื้นที่นี้แหละในการมองร่วมกัน

ส่วนวิธีการในพื้นที่นั้น มักจะให้

·         นักวิจัยและนักพัฒนาที่ศึกษาแนวคิดในการพัฒนารายการโทรทัศน์ในด้านต่างๆได้เปิดประเด็นแลกเปลี่ยนว่า ตนเองนั้นได้เห็นอะไรที่เป็นสถานการณ์เด่นๆในช่วงนั้น

·         พ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้นำเสนอมุมมองว่าตนเองเห็นอะไร และอยากเห็นอะไรในรายการโทรทัศน์

·         ผู้ผลิต วิชาชีพ สถานี ได้นำเสนอสถานการณ์ของรายการโทรทัศน์  รวมไปถึงอุปสรรคในการผลิต อีกทั้งแนวคิดของสถานีในการพัฒนารายการ

·         ภาคนโยบาย ที่จะเข้ามาเสนอมุมมองว่าแนวทางในการบริหารจัดการสื่อโทรทัศน์นั้นมีทิศทางอย่างไร

ในเวทีประชุมของเครือข่ายประชาคมนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ เห็นตรงกันอยู่ประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นด้านสถานการณ์หลักสำหรับการพัฒนาระบบและกลไกในการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ นั่นก็คือ การสนับสนุนให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมในการจัดทำเรตติ้ง หรือ ที่เรียกว่า โพสต์เรตติ้ง

ต้องรีบออกตัวก่อนเลยว่า การจัดทำโพสต์เรตติ้งนั้น ไม่ได้จัดทำขึ้นเพื่อจับผิดภาควิชาชีพ แต่ตรงกันข้าม ระบบโพสต์เรตติ้ง จะทำให้เกิดกระบวนการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาควิชาชีพ ภาคประชาชน ภาคนักวิชาการ ภาคนโยบาย ว่า เรตติ้งที่แตกต่างกันระหว่างเรตติ้งก่อนออกอากาศ กับ หลังออกอากาศนั้น แตกต่างกันด้วยสาเหตุอะไร เช่น เรื่องเพศ เรื่องความรุนแรง หรือ เรื่องของภาษา แล้วนำชุดข้อมูลนั้นมาแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน

เป็นไปได้ว่า เราจะได้ชุดความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบเรตติ้งร่วมกันอย่างต่อเนื่อง  ไม่เพียงเท่านั้น ประโยชน์ต่อที่สองก็คือ เกิดกระบวนการในการเรียนรู้เท่าทันระวังสื่อในกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว

ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งก็คือ โอกาส ช่องทางของการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานดังกล่าว คงต้องอาศัยพลังทั้งในระดับปฏิบัติการที่มาจากภาคนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ที่มีอยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ อีกทั้ง สถานการศึกษาในทุกระดับชั้น กลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง เครือข่ายเยาวชน เช่น สภาเยาวชนแห่งประเทศไทย

รวมทั้งพลังในระดับนโยบาย ซึ่งต้องทำให้ระบบโพสต์เรตติ้งถูกกำหนดเป็นนโยบายที่ต่อเนื่อง และคงต้องสนับสนุนให้เกิดระบบการประชาสัมพันธ์ให้กับภาคประชาชนได้รู้และเข้าใจ สามารถมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

คงต้องกัลบมานั่งพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วนกันอีกรอบว่า นอกจากฟากนโยบายที่จะต้องรีบสร้างโครงสร้างที่ยั่งยืนทำงานได้อย่างต่อเนื่องแล้ว การทำให้เกิดการพัฒนาช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในระบบกระดาษ ระบบเว็บไซต์ ระบบ call center ระบบตู้ไปรษณีย์ ที่ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ การรุกเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา ทั้งหมดจะเป็นผลให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ความผันแปรของระบบเรตติ้งที่ต้องตกไปตามสถานการณ์ทางการเมือง คงไม่ดีแน่สำหรับการจะปฏิรูประบบสื่อที่ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หวังเพียงว่าเราจะไม่เผชิญกับปัญหานี้อย่างรุนแรง               
คำสำคัญ (Tags): #no tag
หมายเลขบันทึก: 142100เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2007 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท