ประสบการณ์ กลุ่มศึกษา+สุนทรียสนทนา+ปัจจุบันขณะ


เป็นที่น่าประหลาดใจพอสมควร ที่ดิฉันสามารถอินกับความรู้สึกของคนลักษณ์สี่ได้มากขึ้นกว่าเดิม....

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2550 เรามีกิจกรรมกลุ่มศึกษา ของสมาคมนพลักษณ์ไทย เป็นวงพูดคุยเรื่องราวของนพลักษณ์ โดยใช้วิธีการสุนทรียสนทนาในการพูดคุย และหัวข้อในวันนั้นคือ เรื่องของ "ปัจจุบันขณะ"


กลุ่มศึกษาของเรา พี่วิเชียร (กรรมการและเลขานุการ สมาคมฯ) ทำความตกลงไว้กับสมาชิกว่า ขออนุญาตใช้เครื่องมือคือ "สุนทรียสนทนา" ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มศึกษาของสมาคมนพลักษณ์ไทยเรา ตั้งกะตอนแรกของกลุ่มศึกษา เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา


แล้วเราก็ทดลองใช้เครื่องมือนี้กันมาโดยตลอด


ครั้งนี้ก็เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกับครั้งก่อนๆ ในประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉัน ... จะเล่าอย่างไรดีนะ ....


เอาเป็นว่าเริ่มจากเรื่องวงจรอุบาทว์ก่อนดีกว่า


ดิฉันเป็นคนศูนย์หัว เพิ่งมารู้ตัวเมื่อเรียนนพลักษณ์ เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต (หลักสี่แล้ว) พบว่า เวลาดิฉันคุยกะใคร หัวสมองมันทำงานเร็วมาก รับฟังเขา 1 ประโยค ก็สามารถคิดต่อไปหลายสิบประโยค ในการคิดต่อนั้น มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เข้าใจที่เขาพูด หรือไม่เข้าใจที่เขาพูด และในหลายๆ ครั้งมีการตัดสินคุณค่าคนพูดว่า ฉลาด .. หรือ (ขออภัย) โง่ ด้วย


แล้วค่อยกลับมาฟังเขาต่อในประโยคต่อไป ขอบอกว่าทันนะคะ ..ประโยคต่อไปหน่ะ (อย่างที่บอก สมองทำงานเร็วเป็นเสี้ยววินาที..)

แล้วสิ่งที่คิดไวๆ นี้เอง ก็จดจำเป็น "สัญญา" ในหัวสมองเรา ส่งผลต่อไปในการฟังคนนี้พูดในครั้งต่อไป

พอคนเดิมพูด เราก็จะขุด "สัญญา" หรือการจำได้หมายรู้ ถึงสิ่งที่เราเขียนไว้ในสมองเรามา "ปรุงแต่ง" ต่อ เช่นเมื่อเขาอ้าปากพูด เราก็เอาข้อมูลเดิมที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรามารอไว้แล้วว่า ไอ้นี่โง่ ฟังพอผ่านๆ ไปก็พอ .. อะไรเทือกนั้น พอเขาพูดออกมาเราก็ตัดสินใหม่ (ปรุงแต่ง) ไปเรื่อยๆ ยิ่งตอกย้ำการไม่พยายามเข้าใจคนอื่นอย่างที่เขาเป็น เพราะเราตัดสินเขาไปเรียบร้อยแล้ว
(อันนี้เล่าแบบสุดโต่งให้เห็นภาพนะคะ ..... ที่จริงอาการเหล่านี้น้อยลงแล้วค่ะ .... แหม๋ เดี๋ยวใครมาอ่านเจอ ก็กลัว เลิกคบกับดิฉันไปเลย ...เสียใจแย่) ทุกอย่างมันทำโดยอัตโนมัติค่ะ ... ขอบอกว่าเร็วมากปานสายฟ้าฟาด


อันนี้ ดิฉันเรียกว่า วงจรอุบาทว์เล็กๆ ที่พบเห็น และเจอะ เจอในตัวเอง (หมายเหตุ แต่ละคนต้องหาเอาเองว่า อะไรเป็นวงจรอุบาทว์ในตัวเอง คนแต่ละลักษณ์จะมีไม่เหมือนกัน แต่เรื่องการฟังนี่ดูเหมือนว่าจะคล้ายๆ กันนะ)



ประสบการณ์คราวนี้ ดิฉันทดลองดูว่า หากเราวางใจเป็นกลางๆ นิ่งๆ ชะลอการใช้หัวของเราลง หายใจลึกๆ ฟังเพื่อนๆ พูด ตามกระบวนการของ สุนทรียสนทนา ที่บอกว่า ให้ห้อยแขวนการตัดสินของเราต่อสิ่งที่คนอื่นพูด



เป็นที่น่าประหลาดใจพอสมควร ที่ดิฉันสามารถอินกับความรู้สึกของคนลักษณ์สี่ได้มากขึ้นกว่าเดิม....

 

 เดิมนั้นดิฉันมักสับสนทุกครั้งที่ฟังลักษณ์ 4 พูด เพราะอนุสัยเดิมที่พยายามจะจับทุกคำพูดมาเรียงกันเป็น logic แล้วก็พบว่าตัวเองเรียงไม่เคยสำเร็จเลย .. ทำให้หลายครั้งเผลอสรุปไปว่า คนลักษณ์สี่พูดไม่รู้เรื่อง (ตลกเนอะ แทนที่จะสรุปว่า เราโง่ ฟังคนอื่นไม่รู้เรื่อง 555)



ครั้งนี้ก็เรียงไม่สำเร็จเช่นกัน ... เพราะไม่พยายามเรียงงัย ... แต่ใช้ความรู้สึกรับรู้แทน 

 

 แต่ปรากฎว่า มันมีความรู้สึกอะไรบางอย่างบอกว่าเราเข้าใจที่เขาพูด มันแตกต่างจากเดิม ที่เรามักเข้าใจโดยเหตุผล แต่ตอนนี้เข้าใจโดยความรู้สึก


ถ้าเอาเหตุการณ์ตอนฟังคนลักษณ์ 4 พูด มาทำการฉายใหม่ โดยสโลว์ภาพเหตุการณ์ให้ช้าลง เหมือนกับว่า ดิฉันเจอปัจจุบันขณะในการฟังอยู่หน่อยๆ นะ


หากเป็นครั้งก่อนๆ เราฟังเสร็จ 1 ประโยค เราคิดต่อ ก็แสดงว่าเราไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ที่อายตนะของเรากำลังรับรู้เสียงของคนลักษณ์4 แต่เราอยู่ทั้งในอดีต คือเอาคำพูดเขามาคิด และอยู่ในอนาคต คือคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจไปด้วย


แต่พอเราตัดวงจรการคิดแบบเดิมๆ ของเราออก ... ฟังก็คือฟัง จบ ...เราอยู่กับคำ แต่ละคำ ที่เราได้ยิน ไม่คิดต่อ ไม่ตัดสิน (สุนทรียสนทนาเรียกว่า "ห้อยแขวนการตัดสิน" ) เออ ... มันก็รู้สึกดี พอพี่วิเชียรถาม ก็อึ้งไปอยู่พักนึง พยายามอธิบายความรู้สึกตอนนั้น ก็ได้อย่างที่เขียนเล่ามานั่นแหละ

หมายเลขบันทึก: 142059เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2007 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
-ดีใจจังที่อาจารย์เข้าใจคนลักษณ์ 4 แล้ว เย้!!
P
ดิฉันก็ดีใจเหมือนกันค่ะ....
ตอนรู้จักนพลักษณ์ครั้งแรกในชีวิต รู้สึกทึ่งคนลักษณ์ 4 มากที่สุดในโลกว่า  เขาเป็นอะไรที่แตกต่างกับเราราวฟ้ากับดิน .....แอบคิดอยู่ในใจว่า สงสัยมาจากต่างดาวแหง๋เลย (ขออภัยถ้าคิดแรงไปหน่อย ... แต่คิดอย่างนี้จริงๆ ค่ะ)
แต่ยิ่งสังเกตตัวเองดูทุกวันๆ .... เฮ้อ ... เราก็มีปีก 4 อยู่พอสมควรเหมือนกัน ... แต่เรามองไม่เห็น ไม่พยายามรับรู้ (เพราะคนห้า มักใช้แต่เหตุผล และรับไม่ค่อยได้เวลาใครใช้ความรู้สึก หรืออารมณ์เยอะๆ )
ที่ขำคือ เวลาดิฉันสอนหนังสือ นักศึกษาเคยพูดเปรยๆ ว่า แล้วจะเขียนข้อสอบอย่างไรให้ถูกใจดิฉันดีหนอ และแอบนินทาดิฉันว่า "แปรปรวน" 555 เราฟังก็งง ค่ะ ว่าแหม๋ อย่างเรานี่นะแปรปรวน เคยแต่มีคนพูดว่าเราหน่ะ แห้งแล้ง เหตุผลมาเป็นแท่งๆ ไม่ค่อยรู้สึกรู้สากับอารมณ์ความรู้สึกเลยพูดอย่างนี้บ่อยมาก ถึงมากที่สุด
เมื่อกลับมาพิจารณาดีๆ เราก็มีปีก 4 นี้อยู่ เวลาเราใช้ใจสอน ใจเราก็แสดงอาการออกมาให้นักศึกษารับรู้เหมือนกัน แต่อาจจะไปใช้จุดอ่อนของ 4 มาโดยไม่รู้ตัวหน่ะ ... ก็ได้แต่เตือนตัวเองเสมอว่า .... สติมา ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท