การดำเนินงานการจัดตารางเรียนตารางสอนผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยนเรศวร


...อุปสรรคสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม คือ การยอมรับนวัตกรรม ที่กว่าจะทำให้ผู้ใช้นวัตกรรมยอมรับในนวัตกรรม ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการเดิมๆ ของตนได้นั้น เป็นพันธกิจที่หนักหนาสาหัสเอาการ บางครั้งยุ่งยากยิ่งกว่าการพัฒนาตัวนวัตกรรมจริงๆ เสียอีก...

               การเสนอผลงานวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งชำนาญการของผู้เขียนนั้น ได้นำเสนอผลงานฯ ในรูปแบบของงานวิจัย เนื่องจากเป็นการหาข้อมูลและประเมินผลการดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย  โดยการจัดทำวิจัยดังกล่าว ได้ทำการศึกษาระบบการจัดตารางเรียนตารางสอนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยนเรศวร  การวิจัยเน้นไปในเรื่องของการรายงานแนวทางการดำเนินงานที่ปฏิบัติบนพื้นฐานของระบบการให้บริการการศึกษาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่กองบริการฯ ได้นำเข้ามาใช้เพื่อเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศและรองรับการปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงาน หน่วยจัดการเรียนการสอนที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ เป็นหน่วยงานย่อยหน่วยงานหนึ่งในงานทะเบียนนิสิตและประมวลผล กองบริการการศึกษา ม.นเรศวร  ที่มีภารกิจหลักในเรื่องของการจัดตารางเรียนตารางสอนของมหาวิทยาลัย การเป็นศูนย์กลางควบคุมและดูแลการใช้ห้องเรียน การตรวจสอบการลงทะเบียนของนิสิตให้เป็นไปตามแผนการเรียน ซึ่งเป็นนโยบายหลักในด้านการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย      

                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาแนวทางดำเนินงานการจัดตารางเรียนตารางสอนผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์ย่อยตามขั้นตอนการศึกษา 4 ขั้นตอน  คือ (1) เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานและการใช้ระบบฯ  (2) เพื่อทดสอบระบบและการจัดอบรมการใช้ระบบฯ  (3) เพื่อดำเนินการใช้ระบบฯ สำหรับจัดตารางเรียนตารางสอน และ (4) เพื่อประเมินผลการใช้ระบบฯ  ระเบียบวิธีวิจัย ใช้เทคนิควิธีวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่  (1) ผู้พัฒนาระบบการให้บริการการศึกษาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตฯ  (2) ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบการให้บริการการศึกษาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร  (3) ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดตารางเรียนตารางสอน  หน่วยจัดการเรียนการสอน  งานทะเบียนนิสิตและประมวลผล กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร  (4) อาจารย์/นักวิชาการศึกษาและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดตารางเรียนตารางสอนของภาควิชา/สาขาวิชา หรือคณะ  (5) อาจารย์/บุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ใช้ข้อมูลสารสนเทศจากระบบฯ และ (6) นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ใช้ข้อมูลสารสนเทศจากระบบฯ รวมทั้งสิ้น 1,464 คน  เครื่องมือในการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์ แบบสำรวจและแบบสอบถาม  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการบรรยายเชิงพรรณนาและใช้ตารางพร้อมแผนภูมิประกอบคำบรรยาย                    

                  ผลการวิจัย พบว่า  ระบบฯ ได้รับการพัฒนาโดยหน่วยคอมพิวเตอร์ งานทะเบียนนิสิตและประมวลผล กองบริการการศึกษา  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ร่วมกับบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจซอฟท์แวร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการฐานข้อมูล รวมถึงการดำเนินงานด้านการให้บริการการศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยระบบฯ สามารถรองรับภารกิจหลักในด้านการให้บริการวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การจัดตารางเรียนตารางสอนฯ เป็นไปอย่างถูกต้องสะดวกและรวดเร็ว  หน่วยงานในระดับภาควิชา สาขาวิชา/คณะที่ใช้ระบบฯ ได้เห็นข้อมูลในขณะดำเนินการจัดตารางสอนพร้อมกัน โดยไม่ต้องรอข้อมูลการจัดตารางเรียนจากคณะต้นสังกัดรายวิชาซึ่งเป็นปัญหาของหน่วยงานมาโดยตลอด สารสนเทศที่ได้จากระบบฯ เป็นข้อมูลที่มีศักยภาพและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารในการบริหารจัดการภารกิจด้านวิชาการในสังกัดได้เป็นอย่างดี ผลการประเมินระบบจากผู้ใช้งานระบบฯ ทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากรนักวิชาการผู้เกี่ยวข้อง และนิสิตผู้ใช้บริการจากระบบฯ มีความคิดเห็นในภาพรวม เห็นว่าระบบฯมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของผู้ใช้  รวมถึงมีการใช้สารสนเทศจากระบบฯ อยู่ในระดับดีมาก               

                  จากการวิจัยดังกล่าว ช่วยให้ผู้เขียนได้แนวคิดอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของการยอมรับนวัตกรรม ซึ่งมีหลักการและทฤษฎีประการหนึ่งเกี่ยวกับการเผยแพร่นวัตกรรมที่เราพัฒนาขึ้นตามแนวคิดของ เอเวอร์เรต เอ็ม โรเจอร์ (Everretle M.Rogers,1983) ที่พบว่า อุปสรรคสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม คือ การยอมรับนวัตกรรม ที่กว่าจะทำให้ผู้ใช้นวัตกรรมยอมรับในนวัตกรรม ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการเดิมๆ ของตนได้นั้น เป็นพันธกิจที่หนักหนาสาหัสเอาการ บางครั้งยุ่งยากยิ่งกว่าการพัฒนาตัวนวัตกรรมจริงๆ เสียอีก นวัตกรรมระบบฯ นี้ก็เช่นกัน กว่าจะทำให้ผู้ใช้งานยอมรับได้ ต้องอาศัยเทคนิควิธีการต่างๆ มากมาย ไม่นับรวมระยะเวลาที่กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็เบ็ดเสร็จรวมแล้วเกือบ 3 ปี...   

คำสำคัญ (Tags): #no tag
หมายเลขบันทึก: 141982เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2007 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท