กว่าจะ...ชำนาญการ


...ปัญหาของนักวิจัยส่วนใหญ่ ก็มาจาก “ไม่มีปัญหาในการ วิจัย” นี่แหล่ะ ที่สำคัญคือ อย่าเครียดและคิดว่าเป็นเรื่องยากเสียจนท้อไปก่อน เพราะนั่นหมายถึงล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น ยังไงขอให้ได้เริ่มก่อน ล้มเหลวหรือไม่ค่อยว่ากัน อีกที.....

                 วันนี้ได้กลับมานั่งหน้าจอบันทึกเรื่องราว เรื่องเล่า ได้อีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานเกือบปี คงเพราะสนุกกับภาระงานในหน้าที่ ทั้งงานประจำแล้วก็งานโครงการ ที่บอกว่าสนุก เพราะบรรยากาศในที่ทำงานชวนให้เป็นอย่างนั้น มีการร่วมกันคิดร่วมกันทำโครงการหลายโครงการของบุคลากรในงาน  ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการให้บริการของงานทะเบียนฯ ทำให้พวกเราสนุกกับงานทั้งในและนอกสถานที่ จนหลงลืมที่จะแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนคนบนบล๊อก  ประกอบกับเรื่องเรียน ที่ตอนนี้เป็นปีที่ 3 เทอม 2 แล้ว หัวข้อยังคลุมเครือ ตำรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังแปลได้ไม่ถึงไหน หวั่นๆ อยู่ว่าจะสำเร็จการศึกษาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่  แต่ก็พยายามไม่ให้ตัวเองเครียดมากนัก เพราะจะทำให้นึกอะไรไม่ออกส่งผลเสียต่อการเรียนยิ่งไปอีก  เอาเป็นว่าต้องพยายามต่อไป  หลังจากนี้คงได้เข้ามาเจอะเจอกันบ่อยขึ้น เพราะยังคงคิดถึงงานเขียนและชุมชนคนบนบล็อกอยู่ แม้ไม่มีเวลามากนักก็ตาม                 

                   นอกจากจะยุ่งกับภารกิจที่ว่าแล้ว อีกภาระหนึ่งที่ยุ่งซะยิ่งกว่า คือ  การทำผลงานวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการ  อันเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่มาก็หลายปี จนบรรดาคนรอบข้าง(ทั้งหลาย)เหมาว่าเราควรจะเป็นผู้ชำนาญการได้แล้ว  สำหรับสายงานสนับสนุนงานด้านวิชาการอย่างพวกเรา  ทางที่จะเติบโตได้คือ การทำผลงานทางวิชาการ ซึ่งมีกฎระเบียบบังคับอยู่หลายประการ ว่า ถ้าเราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชำนาญการในงานนั้น เราควรต้องมีคุณลักษณะอะไรบ้าง  ทั้งคุณวุฒิการศึกษา  ความเชี่ยวชาญในงาน อัตราเงินเดือน  ระยะเวลาปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างต่อเนื่อง  จิปาถะ  เบ็ดเสร็จแล้ว สรุปว่า เราสมควรต้องเป็นผู้ชำนาญการแล้วนะ   ซึ่งทำให้ต้องเริ่มดำเนินการทำผลงานวิชาการ (อันเกี่ยวกับงานประจำ) มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เพื่อนฝูงหลายคนบอกว่า ทำไมไม่ทำสักที อยากจะบอกว่าทำอยู่ค่ะแต่เนื่องจากเป็นวิจัยเชิงพัฒนา บนพื้นฐานของการปฏิบัติการ ต้องอาศัยระยะเวลามาเรื่อย จนวันนี้ ส่งผลงานสรุปรวมแล้วใช้เวลาเกือบ  3 ปีเต็ม (คุ้มค่าจริงๆ) 

                  การยื่นเสนอเพื่อขอกำหนดตำแหน่งชำนาญการ จะต้องประกอบด้วยเอกสาร 3 ชุด คือ  ผลงานทางวิชาการ  ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เสนอขอ จะนำเสนอผลงานวิจัย หรือการวิเคราะห์งานมากกว่าที่จะเป็นการเขียนบทความ  อีกทั้งมหาวิทยาลัยนเรศวรก็มีทิศทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็น Research Based  และส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรได้ทำวิจัย ไม่ว่าจะเป็นวิจัยเพื่อการเรียนการสอน หรือวิจัยสถาบัน  ดังนั้น ผู้เขียนจึงเลือกที่จะทำงานวิจัยในงานหรือวิจัยสถาบันในหัวข้อเรื่อง แนวทางการดำเนินงานการจัดตารางเรียนตารางสอนผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นการทำวิจัยเชิงพัฒนา อาศัยเทคนิควิธีการทั้งการสำรวจและการมีส่วนร่วมรวมถึงประเมินผลการใช้ระบบฯ  เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นแต่ละขั้นตอนก็ใช้เวลาพอสมควร                 

                   คู่มือปฏิบัติงาน  ที่มักจะบอกกันว่า ต้องเขียนให้คนอ่านรู้ว่าเราทำอะไร และเค้าสามารถนำไปปฏิบัติได้ ผู้เขียนได้เขียน "คู่มือการปฏิบัติงานการจัดตารางเรียนตารางสอนมหาวิทยาลัยนเรศวร"  ทำให้พบข้อเท็จจริงประการหนึ่งจากการเขียนคู่มือฯ คือ  การปฏิบัติงานไม่ยากหากมีประสบการณ์  แต่การที่จะเขียนเรื่องที่เรามีประสบการณ์ให้คนอื่นเข้าใจแล้วทำตามได้นี่ต่างหากที่ยากกว่า  จากที่เคยคิดว่า การเขียนคู่มือปฏิบัติงานไม่ยุ่งยาก กลับกลายเป็นว่าขั้นตอนยุ่งยากหลากหลายกว่าการทำวิจัยซะอีก  เพราะกว่าจะเขียนเสร็จเรียบร้อยใช้เวลาเกือบครึ่งปี  ทั้งๆ ที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับบุคคลอื่นเหมือนการทำงานวิจัย  และที่สำเร็จลงได้  เพราะได้แนวทางจากหนังสือ การเขียนคู่มือปฏิบัติงาน ของ คุณเสถียร คามีศักดิ์  เจ้าหน้าที่บุคคลชำนาญการพิเศษ 9 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ที่ผู้เขียนได้รับจากการไปประชุมสัมมนาผู้ประสานงานวิจัยของ ปขมท. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2550 ที่จังหวัดภูเก็ต  ซึ่งนับว่ามีส่วนช่วยให้การเขียนคู่มือปฏิบัติงานเป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์ขึ้นมาได้  ซึ่งหากผู้ใดจะเขียนคู่มือปฏิบัติงาน  ผู้เขียนแนะนำว่าควรได้ศึกษาแนวทางและวิธีการเขียนจากหนังสือดังกล่าว จะช่วยให้มีกรอบทิศทางในการเขียน ส่งผลให้งานเขียนของเราสำเร็จรวดเร็วขึ้น                

                  เอกสารชุดสุดท้าย คือ  แบบ ก.บ.ม.4  ซึ่งเป็นแบบกรอกประวัติและผลงานย้อนหลัง 3 ปี  เอกสารชุดนี้ไม่ยุ่งยากมากนัก เนื่องจากมีรูปแบบการเขียนชัดเจน เป็นประวัติและผลงานของเรา  ซึ่งเป็นเอกสารชุดสุดท้ายจริงๆ ที่ผู้เขียนเขียนเสร็จก่อนที่จะส่งผลงาน แต่เพื่อนๆ ที่กำลังดำเนินการจัดทำผลงานอยู่ บอกว่าขอทำแบบ กบม.4 ก่อนก็แล้วกัน ดูเหมือนจะเร็วที่สุด เอาไว้ปลอบใจตัวเองว่า เสร็จแล้ว 1 ชิ้นงาน”  ถือเป็นแนวคิดที่ดี อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจ อะไรก็ได้ขอให้สำเร็จ ถือว่าเป็นการดีกับตัวเราและการปฏิบัติงานทั้งนั้น                                        

                   หลังจากดำเนินการส่งผลงานฯ ทั้งหมดแล้ว ตอนนี้เพียงรอให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกได้อ่านตามระเบียบของการบริหารงานบุคคลต่อไป ซึ่งคงต้องให้เวลาผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งได้พิจารณาผลงานทั้งหมด  ตอนนี้ที่ทำได้คือ ให้กำลังใจกับน้องๆ รุ่นหลังที่กำลังเร่งทำผลงานทางวิชาการเพื่อความก้าวหน้าของตนเอง หลายคนท้อตั้งแต่หาปัญหาวิจัย  เพราะปฏิบัติงานกันจนคิดว่าอะไรๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาซะแล้ว  ต้องพูดให้คลายเครียดไปว่า  ไม่เป็นไรหรอก ปัญหาของนักวิจัยส่วนใหญ่ ก็มาจากไม่มีปัญหาในการวิจัยนี่แหล่ะ ที่สำคัญคือ อย่าเครียดและคิดว่าเป็นเรื่องยากเสียจนท้อไปก่อน เพราะนั่นหมายถึงล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น ยังไงขอให้ได้เริ่มก่อน ล้มเหลวหรือไม่ค่อยว่ากันอีกที.....

                

หมายเลขบันทึก: 141782เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2007 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

โลกภายนอกกว้างไกลอยากไปรู้
ต้องก้าวสู่เส้นทางต่างสอดส่อง
โลกภายในใฝ่จิตคิดประคอง
โลกทั้งสองรวมลงตรงกลางใจ

จิตมุ่งมั่นฝันใฝ่ในโลกหล้า
จงหาญกล้าเผชิญประเมินใฝ่
จนรู้เห็นเป็นจริงสิ่งเป็นไป
กลัวอะไรชีวิตลิขิตเอง

เก่งนะน้องชมพู่ เล่นบทกวีแบบนี้ สงสัยผลงานวิชาการของน้องออกมา สวยหรูน่าดู สู้ สู้.. เป็นกำลังใจให้นะคะ
  • คิดว่าผ่านชัวร์ ๆ เพราะยุพาจะมีประสบการณ์ในการทำงานมากเพราะรับผิดชอบตารางเรียนและตารางสอนอยู่แล้ว
  • ทำงานก็เก่ง เรียนก็เก่ง ว่าที่ ดร.อยู่แค่เอื้อม
  • ให้กำลังใจค่ะ ทั้ง 2 เรื่อง งาน และเรียน สู้ ๆๆ
ขอบคุณค่ะพี่ตา หวังว่าคงเป็นเช่นนั้นค่ะพี่ ต้องลุ้นๆ ๆ จะนอนหลับสนิทได้ก็ตอนที่ มติ กบม.เห็นว่า "อนุมัติ" ให้ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ 8 ได้แหล่ะค่ะ ตอนนี้ก็หนาวๆ ร้อนๆ ไปเหมือนกัน กลัวตรงที่เราบอกว่าดีแล้ว ท่านผู้ทรงคุณวุฒิจะบอกว่า เอาไปปรับปรุงเถอะ ประมาณนั้นน่ะ ต้องรออีก 6 เดือน กว่าจะยื่นได้ใหม่อีก คงนอนไม่หลับไปหลายคืน ถ้าเป็นแบบนั้นนะคะ...

มาให้กำลังใจค่ะ สู้ๆ กว่าจะเก่งต้องผ่านด่านอะไรมากมาย เฮ้อ.......เมื่อไหร่จะไปถึงบ้างน้า อิอิ

ขอบคุณแก่นจังค่ะ  ต้องมีวันของเราสักวันแน่นอน  ชื่นชอบคนเรียนบรรณารักษ์ค่ะ เพราะเคยเรียน (ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่วิชาโทก็ตาม) รู้เลยว่า คนที่จบบรรณารักษ์นี่ "หนอนหนังสือ" จริงๆ ไม่งั้น จะแค๊ตฯ ได้ยังไงหมด  แต่ดีนะคะ ถือว่าได้เปรียบคนอื่น ได้อ่าน ได้รู้อะไรที่คนอื่นไม่รู้มากมาย ไงก็เป็นกำลังใจให้เช่นกันค่ะ  

อ่านแล้ว ทำให้มีกำลังใจที่จะสู้ขึ้นเยอะเลยค่ะ ตอนนี้ก็กำลังคิดจะทำเหมือนกัน ไม่ทราบว่าพอมีคำแนะนำอะไรบ้างคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท