Post Modern in Iraq(ต่อ)


เลือดไม่ใช่น้ำตา:บทสรุปสงครามเลบานอน – อิสราเอล
นักวิเคราะห์การเมืองตะวันออกกลางชื่อดังท่านหนึ่ง คือ ฮวน โคล ให้ความเห็นว่าหลังจากการเปิดตัวรัฐบาลใหม่ว่า แม้รายชื่อรัฐมนตรีจะออกมาไม่ครบ แต่นั่นอาจจะไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเขามีความเชื่อว่าความรุนแรงในอิรักกำลังจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และการเคลื่อนไหวของชาวซุนนีในรูปแบบสงครามกองโจรน่าจะยิ่งเข้มข้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ในอิรักมีกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธ์ วัฒนธรรมและเกิดการแบ่งกลุ่มกันหลายๆกลุ่มด้วยกัน เช่น กลุ่มของชาวซิอะห์ กลุ่มของชาวซุนนี่  กลุ่มของชาวเคริด์ และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการที่จะเข้าไปมีอำนาจในบริหารและการจัดการปกครองประเทศอิรัก ส่วนในที่นี้จะกล่าวถึงการเมืองของชาวซิอะห์ที่มีท่าทีต่อการเมืองของอิรักภายหลังสงคราม และการเมืองของซีอะห์เวลานี้มีแนวโน้มทางการเมือง-ศาสนาในหมู่ประชากรชีอะฮ์มีอยู่  4  แนวโน้มด้วยกัน 

                แนวโน้มแรกปรากฏอยู่ในเฮาซะฮ์  ในเมืองนายัฟอันเป็นองค์กรทางศาสนาของสำนักคิดชีอะฮ์  ซึ่งมีอยาตุลลอฮ์  อัศ - ซัยยิด  อะลี  อัศ - ซิสตานี  เป็นผู้นำสูงสุด  ตามมาด้วย  อยาตุลลอฮ์

 อัล - ฟัยยัด  ฮุสเซ็น  บาชีร  อัล อัฟฆอนี  และมุฮัมมัด  ซาอีด  อัล -  ฮากิม  แม้ว่ากลุ่มนี้จะได้รับความเคารพจากชีอะฮ์ส่วนใหญ่  แต่ก็เป็นที่สงสัยกันว่ากลุ่มนี้จะมีความสามารถในการระดมประชาชนในทางการเมืองในลักษณะของรัฐอิสลามหรือไม่  และอัล ฮากิม  ก็เป็นชาวอิรักคนเดียวในกลุ่มนี้

                แนวโน้มที่สองประกอบขึ้นด้วยสานุศิษย์ของอัศ ศาดร์ กลุ่มนี้แสดงให้เห็นความสามารถในการระดมผู้คนส่วนใหญ่ในอิรักทางตะวันออกที่อยู่รอบนอกของกรุงแบกแดด ซึ่งมีชาวชีอะฮ์มากกว่า  2  ล้านคนเข้ามาอยู่ในเมืองนี้ก่อนที่รัฐบาลจะโค่นล้มมีชื่อว่า  ซัดดัมซิตี้  คนเหล่านี้ได้เข้ามาริเริ่มให้เพื่อนบ้านต่าง ๆ  ของชาวชีอะฮ์และเมืองอื่น ๆ  สร้างกองกำลังขึ้นมารักษาระเบียบแบบแผนหลังจากเกิดความแตกแยกขึ้นในองค์กร  ดังนั้น  ความเข้มแข็งของกองกำลังชีอะฮ์จึงเพิ่มขึ้น

                แนวโน้มที่สามประกอบด้วยพรรคการเมืองต่าง ๆ  และขบวนการที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาอย่างเช่น  พรรคเผยแพร่อิสลาม  (Islamic  Daawa  Party)  องค์การภารกิจอิสลาม  (Islamic  Task  Organisation)  และกลุ่มเล็ก ๆ  อื่น ๆ  ซึ่งสมาชิกของพวกเขาก็มิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในอิรักมาตั้งนาน  เวลานี้พวกเขาจึงต้องเผชิญกับการบริหารในบรรยากาศที่แตกต่าง  และต้องแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติการทางการเมืองที่ยังมิได้เปิดเผยออกมารวมทั้งต้องสามารถหาทางออกให้กับปัญหาทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมให้ได้อีกด้วย

                แนวโน้มที่สี่นำเสนอโดย  สภา  SCIRI  ผู้นำสภานี้คือ  อยาตุลลออ์  มุฮัมมัด  บากิร  อัล ฮากิม  ที่ได้รับความนิยมอย่างมากเพราะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับการโค่นล้มรัฐบาลซัด  รวมทั้งการที่ครอบครัวของเขามีประวัติศาสตร์อยู่ในดินแดนแห่งนี้  โดยบิดาของเขาเป็นผู้นำที่มีศักยภาพในเมืองอายัฟก่อน  อัล ฮากิม  ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเมื่อเขาเดินทางกลับอิรัก  อย่างไรก็ตามความไม่สามารถของสภาของเขาในการชี้นำชาวชีอะฮ์จากแขวงต่าง ๆ  แสดงให้เห็นว่ามีชาวชีอะฮ์อีกมากที่ไม่ปรารถนาที่จะเข้าร่วมสภาของเขา  ดังนั้นการที่  อัล ฮากิม  อ้างว่าพูดในนามของชาวชีอะฮ์ทั้งมวลอาจถูกลดความเชื่อถือลงเมื่อไปสมคบกับสหรัฐอเมริกาที่ใช้สภานี้เป็นเครื่องกำบังเพื่อทำให้การรุกรานมีความชอบธรรมก่อนที่จะละทิ้งแนวคิดของสภาไปในที่สุดเพราะสหรัฐอเมริกาได้ยืนกรานอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลอิสลามไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามไม่ใช่ข้อเลือกสำหรับอิรักที่สหรัฐจะรับได้

                เมื่อพูดถึงขบวนการทางการเมืองของชีอะฮ์  ควรจะรับรู้ไว้ด้วยว่า  คนส่วนใหญ่ของพวกเขาไม่ได้มาจากสภาหรือองค์การข้างต้นเท่านั้น  จำนวนไม่น้อยของพวกเขาเป็นพวกชาตินิยม  เสรี-นิยม  หรือยึดติดกับฝ่ายซ้าย  การล่มสลายของรัฐบาลซัดดัมจึงเปิดโอกาสให้ชาวชีอะฮ์รวมทั้งจำนวนของพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้นั้น  จะต้องผ่านการท้าทายอย่างหนักด้วยเช่นกัน

                ในขณะเดียวกันนี้พวกเขาจะต้องถนอมความรู้สึกของซุนนีที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศอาหรับต่าง ๆ  ที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิรักในอนาคต  แม้ชาวชีอะฮ์มุ่งที่จะพิจารณาตัวเองว่าพวกเขาเป็นศูนย์รวมของอิรักอย่างแท้จริง  แต่ก็จะต้องดูกันต่อไปว่าในที่สุดพวกเขาจะได้รับความสำเร็จในการมีส่วนร่วมกับความมั่นคงและอำนาจทางการเมืองในอิรักหรือไม่

                การบูรณะฟื้นฟูอิรักโดยชาวอิรักหลังจากที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอีกสองประเทศได้ใช้อาวุธที่ทันสมัยและกองกำลังเข้าโจมตีอิรัก  และสามารถปลดคณะผู้นำประเทศชุดเก่าออกไปได้โดยปริยาย  คือ  ไม่ปรากฏตัวคณะผู้นำชุดเดิมของซัดดัมมาอ้างอำนาจการปกครองประเทศโดยชอบธรรม  ตั้งแต่วันแรกที่ถูกโจมตี  จนถึงช่วงที่สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้นำในการฟื้นฟูประเทศนี้แล้ว  ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก  ก็คือในช่วงการบูรณะฟื้นฟูอิรัก  รวมทั้งในวันเวลาข้างหน้า  ดูเหมือนว่าชาวอิรักเองจะไม่มีบทบาทในการจัดการกับอนาคตของบ้านเมืองของเขา  ทรัพยากรของเขา  และวิถีชีวิตของเขาแต่อย่างใด

                รูปแบบของการบูรณะฟื้นฟูอิรักหลังสงคราม  คณะมนตรีความมั่นคงก็อาจช่วยวางกรอบให้เห็นภาพของบทบาทของสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรด้วยกันที่จะเข้ามาร่วมกันบูรณะฟื้นฟูอิรัก  แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นในอิรักนั้นจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดแน่นอน  คือ  สหรัฐอเมริกาจะเป็น  ผู้แสดงนำ  ในการบูรณะฟื้นฟูอิรัก  ซึ่งจะเป็นไปตามวิธีการและผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น  ซึ่งประชาชนชาวอิรักเองจะมีโอกาสได้ร่วมตัดสินใจชะตาชีวิตของตนเองภายหลัง  ระบบซัดดัม  ถูกโค่นล้มไปแล้วมากน้อยเพียงใด  ถ้ามองดูสถานการณ์ด้านต่าง ๆ  ที่แวดล้อมอยู่ในขณะนี้แล้วคงจะบอกได้ว่าชาวอิรักไม่พอใจเท่าใดนัก  และสหประชาชาติก็ดี  สหรัฐอเมริกาก็ดี  องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง   รวมทั้งประเทศต่าง ๆ  ที่ติดตามสถานการณ์ในอิรักนั้น  คงบอกได้ว่าประเทศอิรักหลังยุคซัดดัมจะต้องเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยมีรัฐบาลที่ปกครองตนเอง  และได้รับการยอมรับจากประชาชนในประเทศและจากนานาชาติ  อีกทั้งเป็นสังคมหลากหลายชาติพันธุ์  ซึ่งมีการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของชาวอิรัก  มีศูนย์การตัดสินแบบพหุนิยมทางการเมือง  และมีการจัดสรรทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์ของชาวอิรัก  โดยเฉพาะทรัพยากร  น้ำมัน  ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ชาวอิรักพึงมีอยู่

                การปกครองแบบประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกา  และพันธมิตรเน้นย้ำนั้น  เป็นประชาธิปไตยแบบที่มี  ข้อแม้  ตั้งแต่แรกแล้วที่สหรัฐอเมริกาแสดงความต้องการอย่างเปิดเผยว่า อิรักจะต้องมิใช่ประเทศที่ปกครองตามหลักปฏิบัติแบบอิสลามอย่างเคร่งครัด  และหากประชาชนชาวอิรักมีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปแบบประชาธิปไตย  มุสลิมชีอะฮ์ซึ่งเป็นประชากรที่จำนวนมากที่สุดในประเทศก็น่าจะได้รับเลือกเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ  มากที่สุด  และชนกลุ่มนี้จะต้องเสนอให้นำหลักศาสนาเป็นวิถีการปกครองบ้านเมือง  ซึ่งชาวอิรักกลุ่มอื่นและสหรัฐอเมริกาก็คงจะไม่ยอมแน่นอน  แม้ว่าขั้นตอนการได้มาซึ่งระบบการปกครองนั้นจะถูกต้องตามขั้นตอนของประชาธิปไตยทุกอย่างก็ตาม

                เมื่อปัญหาใหญ่เป็นเช่นนี้แล้ว  ปัญหาที่ตามมาก็จะยากต่อการแก้ไข  คือ  รัฐบาลที่มีสิทธิปกครองตนเอง  ของอิรัก  ซึ่งได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากของประชาชน  จะตั้งระบบการปกครองในลักษณะที่หลายกลุ่มไม่ยินยอม  รวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็น  คนนอก   แต่มีอำนาจในอิรักเต็มที่  สภาวะเช่นนี้จะนำไปสู่ความเสียหายอย่างที่อิรักจะไม่มีช่วง  สงบ  เพื่อการพัฒนาประเทศได้เลยและที่คาดว่าสังคมใหม่ของอิรักนั้นจะต้องเป็นสังคมหลากหลายชาติพันธุ์  ซึ่งมีศูนย์การตัดสินใจแบบพหุนิยม  สิ่งนี้คือพฤติกรรมที่สวนทางกับความเป็นมาของประเทศนี้  คือ  อิรักสมัยโบราณและสมัยใหม่ประกอบด้วยคนหลากกลุ่ม  หลายชาติพันธ์  หลากศาสนา  ซึ่งไม่เคยยอมสยบต่อการตัดสินใจของคนนอกกลุ่ม  ดังนั้น  การปกครองแบบ  เผด็จการอย่างเข้มงวด  ทั้งก่อนและระหว่างยุคซัดดัม  จึงจำเป็นสำหรับการสร้างเสถียรภาพให้แก่สังคมชนิดนี้  ความหวังที่จะให้สังคมอิรักในอนาคตเป็นสังคมปิด  โดยชนกลุ่มต่าง ๆ  มีความเป็นมิตรต่อกัน  มองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน  และยอมรับความแปลกแยกของกันและกัน  โดยยอมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายในประเทศเดียวกันนั้น  ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

                ทางด้านทรัพยากรที่มีค่าของอิรักนั้น  ในระยะบูรณะฟื้นฟูประเทศ  ชาวอิรักจะไม่มีสิทธิที่พูดถึงเรื่องน้ำมัน  เพราะอำนาจการผลิตและการขายจะอยู่ในมือของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร  โดยที่ประเทศเหล่านี้จะกระทำให้ดูเหมือนอยู่ในกรอบของนโยบายของสหประชาชาติ  สหรัฐอเมริกาจะต้องมีอำนาจเหนือกว่าทุกองค์กรในเรื่องการบริหารการผลิตและรายได้จากน้ำมันเพราะสิ่งนี้คือเหตุผลสำคัญของสหรัฐอเมริกาในการใช้กำลังโจมตีอิรักครั้งนี้  ดังนั้น  สหรัฐอเมริกาจะไม่มีวันปล่อยให้อำนาจการตัดสินใจเรื่องน้ำมันหลุดมือไปได้โดยเด็ดขาด

                อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร  สหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาต่างก็มีความเห็นเช่นเดียวกับประชาชาติทั้งปวงที่ใส่ใจเรื่องอิรักว่า  ประชาชนชาวอิรักจะต้องถูกนำเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญของคณะผู้บริหารประเทศในระดับชั่วคราวและถาวร  ซึ่งจะดำเนินไปโดยกระบวนการประชาธิปไตย

                การสรรหาประชาชนชาวอิรักที่เหมาะสมให้เข้ามามีบทบาทร่วมกันฟื้นฟูประเทศไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคม  รวมทั้งบทบาทในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยภายในและภายนอกประเทศนั้น  เป็นความยากเย็นแสนสาหัส  ดังจะได้ยกเหตุผลมาประกอบดังนี้  คือ

1.  ชาวอิรักที่มีความสามารถด้านการบริหารประเทศ  บุคคลทั้งหมดที่มีความสามารถเช่นนี้  คือ  ชาวอิรักที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใดในระบบเก่านั่นเอง  ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคบาธ  ทหารในกองทัพทุกเหล่าบุคลากรในกองกำลังพิเศษทั้งเปิดและลับนอกเหนือจากกองทัพปกติ  สมาชิกในสภาบัญชาการปฏิวัติ  (RCC)  ข้าราชการในกระทรวงทบวงกรมและหน่วยงานต่าง ๆ  ของรัฐ  รวมทั้งบุคลากรที่มีสังกัดหรือไม่มีสังกัดอย่างเป็นทางการ  ซึ่งเป็นภารกิจปฏิบัติงานให้แก่ซัดดัมและคณะผู้นำของประเทศชุดเดิมในทางทฤษฎีนั้น  บุคคลเหล่านี้สูญหารตายจากไปแล้วเป็นส่วนใหญ่  หากไม่ตายในสงครามก็หลบซ่อนอยู่ภายในหรือลอบหนีออกไปนอกประเทศแล้ว  และยิ่งเมื่อฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้ประกาศจับตัวนักการเมืองชั้นสูง  55  คน  (จับมาได้แล้วบางส่วน)  และได้ประกาศยุบพรรคบาธลงไปแล้ว  (ในเดือนพฤษภาคม  ค.ศ. 2003)  ก็ยากที่จะนำตัวบุคลากรเหล่านี้มาร่วมฟื้นฟูประเทศได้ในทันที  นอกจากจะมีการ  อบรม  หรือ  ปรับเปลี่ยน  ทัศนคติคนเหล่านี้เสียก่อน  ซึ่งภายในเวลาประมาณสองเดือนภายหลังสงครามยังไม่มีโครงการดังกล่าวนี้

                     ดังนั้น  สรุปในขั้นแรกคือ  ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในระบบเก่าจะมิใช่ทรัพยากรมนุษย์ที่ถูกนำมาช่วยในการฟื้นฟูอิรักภายใต้ระบบใหม่  อิรักในระบบใหม่จึงเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก  เพราะบุคคลที่เคยทำงานอยู่ในระบบเก่าเหล่านั้นเรียกได้ว่าเป็น  มืออาชีพ ที่มีความสันทัดภารกิจภายใต้ความรับผิดชอบของเขาในระดับหนึ่ง เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาดีที่สุดเท่าที่มีในอิรัก และอย่างเป็นระบบที่สุด

2.   ประชาชนอิรักทั่วไป  ไม่ว่าจะเป็นในสมัยโบราณ  สมัยอยู่ภายใต้จักรวรรดิออตโตมันตลอดจนสมัยใหม่  ก่อนที่พรรคบาธจะผูกขาดอำนาจการปกครองนั้น  ชนชาติอิรักได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่ฉลาดปราดเปรื่องอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง  ชาวอิรักชำนาญในวิชาคำนวณ  วิศวกรรมศาสตร์  สถาปัตยกรรม  และถนัดในการใช้อาวุธ  อีกทั้งยังเป็นพ่อค้าและนักธุรกิจที่หลักแหลม  รู้ทันคนและทันเหตุการณ์  การที่อิรักร่วมสมัยมิได้ผูกติดกับหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด  เช่น  ซาอุดีอารเบีย  หรืออิหร่านตั้งแต่ยุคโคเมนีเป็นต้นมา  ทำให้ประชาชนอิรักทั้งชายและหญิงมีโอกาสได้พัฒนาตนเองไปในแนวทางสากลนิยมไม่มีการจัดบทบาทของสตรี  ไม่มีข้อสงวนของศาสนา ที่มีผลต่อการจำกัดพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชนที่เข้มงวดจนไร้เหตุผล  แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น  ประชาชนอิรักนั้นก็เป็นทรัพยากรที่เหมาะสมแก่การช่วยสร้างชาติในยามที่ชาติต้องการ

3.  ชาวอิรักคืนถิ่น  ระหว่างที่อิรักตกอยู่ภายใต้การปกครองใน  ระบอบซัดดัม  มีชาวอิรักเป็นจำนวนมากลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเพื่อหลีกหนีการกดขี่ข่มเหงของซัดดัมและพลพรรคของเขา  ชาวอิรักที่มีรายได้น้อยมักลี้ภัยไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน  เช่น  จอร์แดน  ซีเรีย  และเลบานอน  ส่วนชาวอิรักที่มีความรู้และมีฐานะจะลี้ภัยไปยังประเทศที่เจริญแล้ว  เช่น  สหรัฐอเมริกา  แคนาดา  และยุโรป  เป็นต้น  และการที่ชาวอิรักกลุ่มต่าง ๆ  เข้ามาร่วมกันฟื้นฟูประเทศดูจะไม่มีหนทางสำเร็จเสียเลย  แม้แต่จะมาช่วยร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาก็ดูจะเป็นปัญหาให้ต้องแก้อีกด้วย

 

คำสำคัญ (Tags): #ตะวันออกกลาง
หมายเลขบันทึก: 140095เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2007 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท