ต้นอ้อ
อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์

“Interested Topic” เรื่องนี้ ฉันสนใจ : ตอน 2 ทำอาหารจากไมโครเวฟ


ที่เราเห็นนักศึกษาเราขาดพลัง ขาดความสุข ไม่รู้สึกสนุกกับการเรียน ส่วนหนึ่งมาจาก อาจารย์ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้เขาได้ลองผิดลองถูก

        ขึ้นต้นหัวข้อแบบนี้ อาจชวนให้สงสัยว่าจะมาสอนวิธีทำอาหารหรืออย่างไร ต้องขอบอกก่อนว่าไม่ใช่ซะทีเดียวค่ะ แต่การเรียนรู้วิธีทำอาหาร ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเราสามารถจัดการเรียนรู้ที่มีพลัง และสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาของเราอย่างไร

 

เมื่อต้นปีการศึกษา คาบหนึ่งของชั่วโมง IT (อ่านรายละเอียดของชั่วโมง IT ได้จาก  บันทึก “Interested Topic” เรื่องนี้ ฉันสนใจ : ตอน 1 http://gotoknow.org/blog/the-inspiration-on-education/139825) นักศึกษาขออาสาทำหน้าที่เป็น คุณครู จัดการเรียนรู้ให้กับเพื่อนๆและอาจารย์บ้าง งานนี้อาจารย์ทั้งหลายเลยต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักเรียน (ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง) หัวข้อที่นักศึกษาเสนอคือ  การทำอาหารไมโครเวฟ ที่มาที่ไปของหัวข้อนี้ ไม่ได้มีซับซ้อนอะไร  เรื่องของเรื่องมีอยู่มีว่า สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มเคยอยากจะลองทำอาหารจากไมโครเวฟ ถึงขนาดลงทุนไปซื้อคู่มือทำอาหารมาหลายเล่มแต่ก็ไม่เคยได้ลงมือทำซักที ชั่วโมง IT นี่แหละที่จะเป็นโอกาสที่จะได้ลองทำดู

 

ไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่า ชั่วโมงนี้ อาจารย์มาลงทะเบียนเรียนหลายท่าน เพราะเมนูอาหารมีทั้งของคาวของหวาน อาทิ ต้มข่าไก่  ปีกไก่น้ำแดง ขนมตะโก้ เป็นที่ยั่วตา ยวนใจ ชวนน้ำหลายสอ แน่นอนว่างานนี้กลุ่มนักศึกษาเป็นผู้จัดการเรียนรู้เองทั้งหมด หาสูตร เตรียมอุปกรณ์ ไปจ่ายตลาดเตรียมวัตถุดิบ มีการแบ่งงาน วางแผนกันเป็นอย่างดี ส่วนบรรดาอาจารย์ไม่ต้องเตรียมการสอนใดๆ ก็เพราะ ชั่วโมงนี้เราเป็นนักเรียนนี่นา

 

ในชั่วโมงเรียน นักศึกษาตกลงกันว่าจะแบ่งการทำงานออกเป็นสามกลุ่ม เพื่อทำอาหารสามอย่าง อาจารย์ที่ลงเรียนไว้ก็ให้ กระจายไปในแต่ละกลุ่มแล้วแต่ชนิดอาหารที่สนใจ  สำหรับตัวผู้เขียนเลือกที่จะไปอยู่กลุ่มทำขนมตะโก้ เพราะดูว่าน่าจะทำได้ไม่ยาก วัตถุดิบในการทำก็มีน้อย เมื่อจากสูตรวิธีทำดูแล้วมีไม่กี่ข้อ น่าจะไม่ยุ่งยากเท่าไหร่

 

บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปอย่างสนุกสนาน สิ่งที่ได้สังเกตเห็นขณะที่เรียนไปด้วยคือ ทีแรกคิดว่าการทำอาหารไม่น่ามีอะไรยาก ก็ทำไปตามสูตรที่เขาบอกมาเป็นข้อๆ แต่พอได้ลงมือทำจริง เริ่มต้นเราต้องช่วยกันตีความสูตรอาหารที่มีอยู่ในมือว่ามันหมายความว่าอะไรก่อน เพราะ สูตรเขียนมาอย่างสั้นๆ ว่าใส่อะไรก่อนอะไรหลัง ไม่ได้บอกว่าเมื่อไหร่จะใส่อะไร หรือว่าต้องใส่เครื่องปรุงขนาดไหน ทำอย่างไรถึงจะอร่อย  ชักจะไม่ง่ายดังที่คาดแล้วล่ะสิ เราแต่ละคนต้องขุดเอาประสบการณ์เดิม ที่เคยไปชะโงกดูแม่ทำกับข้าวเป็นครั้งคราวมาใช้ บางคนก็นึกถึงตอนที่ตัวเองเคยทานอาหารประเภทนี้มาบ้างว่าที่อร่อยน่ะ  รสชาติมันเป็นอย่างไร แล้วก็ปรุงให้ได้ตามนั้น 

 

 ขนมตะโก้ที่นึกว่าจะทำง่าย ไม่ได้ทำง่ายอย่างที่คิด เพราะ พวกเราส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการทำอาหารคาว เช่น ต้ม ผัด แกง ทอด เลยไม่คุ้นเคยว่าการทำอาหารหวานมันควรจะเริ่มอย่างไร หน้าตามันจะเป็นยังไง  หลังจากที่อ่านและวิเคราะห์สูตรตะโก้ ผสมกับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่น้อยนิด พวกเราก็ได้ข้อสรุปว่าจะทำอย่างไร อย่างที่บอกว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด รอบแรกทำออกมาไม่เห็นเป็นตะโก้เลย กินไม่ได้ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าอร่อยหรือเปล่า  ในกลุ่มเราเลยช่วยกันนั่งวิเคราะห์ว่ามันผิดพลาดตรงไหนแล้วแก้ไขกันใหม่  ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง ค่อยทำทีละนิด จนมั่นใจแล้วค่อยลงมือทำจริงๆ สุดท้ายเราก็ได้ตะโก้สมใจ เกือบจะไม่รอดซะแล้วงานนี้

 

อีกสองกลุ่ม ที่ทำต้มข่าไก่ และปีกไก่น้ำแดง บรรยากาศก็คล้ายๆกัน สูตรที่มีอยู่ในมือไม่ได้บอกไว้อย่างละเอียด ต้องมีการตีความ วิเคราะห์ โดยต้องอิงอาศัยประสบการณ์เดิมของแต่ละคนมาประกอบ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ต้องถึงขนาดลองผิดลองถูกแบบกลุ่มตะโก้

 

หลังจากที่พวกเราประสบความสำเร็จจากการทำอาหารจากไมโครเวฟแล้ว  ก็ถึงเวลาของเชลล์ชวนชิม เริ่มต้นของคาวแล้วตามด้วยของหวาน...อื้ม..ม..อร่อยใช้ได้ทีเดียว หากทว่า การเรียนชั่วโมงนี้ ไม่ได้จบที่พวกเราได้รับประทานอาหารร่วมกันเท่านั้น หลังจากอิ่มหนำกันแล้ว อาจารย์ก็ทำหน้าที่ชวนนักศึกษาคุย ว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากชั่วโมงนี้

           ทุกคนเห็นตรงกันว่าชั่วโมงนี้ สนุก อร่อย (มาก..ก..) และอิ่มมาก..ก นักศึกษารู้สึกว่าเขาได้หัดคิด วิเคราะห์ วางแผนการทำงาน และอีกทั้งยังต้องขุดคุ้ยเอาประสบการณ์เดิมมาประยุกต์ใช้ หลายคนรู้สึกทึ่งที่แม้ว่าตัวเองไม่เคยทำอาหารเลย แต่ก็พอจะมีความรู้อยู่กับเขาบ้าง จากการได้กิน ได้เห็นคนอื่นทำ  และอีกอย่างที่เห็นตรงกันคือ งานนี้ทุกคน (ทั้งอาจารย์และนักศึกษา) รู้สึกภูมิใจที่สามารถปฏิบัติภารกิจนี้ได้อย่างสำเร็จลุล่วง อาจารย์ท่านหนึ่งได้หยอดคำถามหนึ่งลงในวงสนทนานี้ว่า นักศึกษารู้สึกขาดความมั่นใจไม๊ เมื่อปรุงอาหารไม่สำเร็จ นักศึกษาได้สะท้อนให้เราฟังว่า ....ไม่เลย เขารู้สึกมั่นใจมากขึ้น เพราะเขาได้เรียนรู้จากการได้ลองผิดลองถูก เขารู้สึกมีความสุขที่ได้ลองทำด้วยตัวเอง แม้จะผิดพลาดก็ไม่เป็นไร เพราะมันทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า เขาจะแก้ไขมันให้ดีขึ้นอย่างไรต่อไป.. 

กับเสียงสะท้อนนี้ ในฐานะอาจารย์อาจจะต้องนำมาขบคิดให้แตก เพราะทุกวันนี้ ที่เราเห็นนักศึกษาเราขาดพลัง ขาดความสุข ไม่รู้สึกสนุกกับการเรียน ส่วนหนึ่งมาจาก อาจารย์ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้เขาได้ลองผิดลองถูก ไม่ได้ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากความผิดพลาด การเรียนการสอนหลายต่อหลายครั้งที่เราหลงทาง คิดว่าเราต้องฝึกให้นักศึกษาต้องทำให้ได้ แต่เราลืมไปว่า ก่อนที่เขาจะทำได้ เขาต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดก่อน  ความคาดหวังต่อตัวนักศึกษาว่าต้องทำให้ได้ กลับเป็นการบั่นทอนความมั่นใจของนักศึกษา แต่การเปิดโอกาสให้นักศึกษาผิดพลาดได้ และได้เรียนรู้ที่จะแก้ไขข้อผิดพลาด เป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้พวกเขา

        การจัดการเรียนรู้ ชั่วโมง IT หัวข้อ การทำอาหารไมโครเวฟนี้ สามารถสะท้อนให้เราๆในฐานะอาจารย์ได้ใคร่ครวญในสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี 

ขอบคุณนักศึกษาที่จัดชั่วโมงการเรียนรู้นี้ และ ทำหน้าที่เป็น ครู ให้กับอาจารย์ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 140060เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2007 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์ต้นอ้อ

ดิฉันนั่งอ่านไปยิ้มไปอีกแล้วอะค่ะ  รู้สึกว่าห้องเรียนเป็นห้องที่ "น่ารัก"ขึ้นเยอะ  ทำไมแต่ก่อนเรา(คือดิฉัน)ต้องทำให้ห้องเรียนเป็นห้องที่อยู่นอกบ้านด้วยก็ไม่รู้  ครูก็เลยกลายเป็นคนแปลกหน้า ไม่ใช่คนในครอบครัวไปอย่างน่าเสียดายเวลา(ที่ได้อยู่ร่วมกัน)

กิจกรรมไมโครเวฟสัมพันธ์ : )  ทำให้ห้องเรียนเป็น"ห้องที่อยู่ในบ้าน"  และทำให้อาจารย์ผู้สอนกลายเป็น "คนในครอบครัว" ได้อย่างน่ารักจังเลยนะคะ

ปล.ขออนุญาตเรียกอาจารย์ด้วยชื่อหวานๆที่ฟังดูใจดีข้างต้นนะคะ   ทำให้ดิฉันนึกไปถึงเพลงสมัยนู้น ของสาว สาว สาว เพราะมากเลยอะค่ะ   : )

 สวัสดีค่ะคุณ ดอกไม้ทะเล

ดีใจค่ะ ที่ติดตามอ่านบันทึกและเข้ามาให้กำลังใจเสมอ จริงๆแล้วชื่อบันทึก ว่ากิจกรรมไมโครเวฟสัมพันธ์ก็น่ารักดีนะคะ ทำไมตอนนั้นนึกไม่ออก...

ที่อาจารย์บอกว่า ทำห้องเรียนให้เป็น "ห้องที่อยู่ในบ้าน" ใช่เลยค่ะ เพราะ เราจะพยายามทำอย่างนั้น ให้ห้องเรียน เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เต็มไปด้วยความรัก พื้นที่แบบนี้ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากค่ะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท