เชิญเที่ยวงานออกออกพรรษา สุราษฎร์ธานี


เมื่อถึงเทศกาลออกพรรษา ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยต่างพากันจัดงานบุญที่ยิ่งใหญ่ประจำปีกันอย่างคึกคัก และหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้อย่าง จ. "สุราษฎร์ธานี" ก็มีการจัดงานประเพณีออกพรรษาที่สำคัญและยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน ในงาน "ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งขันเรือยาว" ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษนับร้อยปี เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชาวสุราษฎร์ฯโดยเฉพาะ
       
          
การ "ชักพระ" นั้นหมายถึงการชักหรือลากพระพุทธรูป โดยทางวัดจะถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา อัญเชิญพระพุทธรูปให้พุทธศาสนิกชนชักลากแห่ออกจากวัดไปบำเพ็ญกุศลและสมโภชกัน เพื่อความเป็นสิริมงคล เรียกว่า ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ
       
          
ประเพณีชักพระ หรือแห่พระ สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเทศนาโปรดพุทธมารดากลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนต่างไปเฝ้ารอตักบาตรรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนเกิดประเพณีตักบาตรเทโวขึ้น ควบคู่กับประเพณีชักพระ
       
          
สำหรับประเพณี "ชักพระ" ของชาวสุราษฎร์ฯ จะทำกันทั้งทางบกและทางน้ำ โดยในแต่ละปีวัดและชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกัน ทำรถ- เรือพนมพระ ที่ถูกประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ตระการตา แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก บนเรือพระ รถพระ เมื่อถึงวันออกพรรษาแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรอาหารคาว และขนมต้ม แล้วชักรถ-เรือพนมพระ ออกจากวัดไปสมโภชตามถนนและลำคลอง พร้อมกับตีกลองโพนไปตลอดทาง เพื่อประกาศให้รู้ว่ามีการชักพระแล้ว 

งานทอดผ้าป่า ของจ.สุราษฎร์ฯ ก็มีความแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นๆ โดยเฉพาะในเขต อ.เมือง หรือบ้านดอน เป็นการทอดผ้าป่าหน้าบ้าน คือ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไป อาคารบ้านเรือนและร้านค้าจะจัดพุ่มผ้าป่าประดับประดาด้วยไฟหลากสีสวยงาม และตกแต่งเป็นเรื่องราวพุทธชาดก เกี่ยวกับนรกสวรรค์  มีภาพเขียน  ภาพปั้น และที่ขาดไม่ได้ในการจัดพุ่มผ้าป่า  คือ ต้องมีผ้า 1 ผืน  ห้อยไว้บนพุ่มไม้ สำหรับพระภิกษุชักเป็นผ้าบังสุกุล และปิ่นโต 1 เถา พร้อมอาหาร เพราะในวันนั้นพระจะไม่ออกบิณฑบาตตามปกติ  จึงเรียกพุ่มผ้าป่าในวันนี้ว่า "ผ้าป่าข้าวสุก" นอกจากนั้นยังมีของอื่นๆ เช่น ร่ม ไฟฉาย พัด ฯลฯ แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าของพุ่ม
       
       
ส่วนการแข่งขันเรือยาวที่จัดขึ้นควบคู่กับงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า ถือว่าเป็นการจัดงานที่สร้างความสนุกสนานและสีสันให้กับงานบุญ  มีการแข่งขันเรือพาย  ประกวดเรือแต่ง  ทำให้แม่น้ำตาปีมีความคึกคัก และจากการที่จัดการแข่งขันมานานทำให้การแข่งขันเรือยาวในแม่น้ำตาปี เป็นจุดกำเนิดเรือยาวที่มีชื่อเสียง ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักกันดี คือ เรือเจ้าแม่ตาปี  เรือเจ้าแม่ธารทิพย์

หมายเลขบันทึก: 139790เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2007 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท