ณ จุดของใจ


ฉันเคยนึกฝันเสมอว่า สักวันหนึ่ง ...
  จุดของใจ...เพื่อใครคนนั้น

ครอล์ปู

               

                ฉันเคยนึกฝันเสมอว่า สักวันหนึ่ง ฉันจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิสรเสรี ทำอะไรได้ตามใจตนเอง คือการใคร่อยากจะทำอะไร ก็ทำ มิต้องคอยให้ใครมาบังคับ เฉกเช่น สมัยเมื่อฉันยังเด็กและจะต้องคอยให้พ่อแม่บอกฉันตลอดเวลาว่า วันนี้ต้องทำอะไร และอย่าทำอะไร  ฉันต้องทนทรมานกับการไม่ได้ปีนต้นไม้ การไม่ได้ไปเล่นกับเพื่อน การไม่ได้ขี่จักรยานเล่นไปเรื่อยเปื่อย เพียงเพื่องานบ้านที่น่าเบื่อเสียเหลือเกิน  ล้างจาน  หุงข้าว  ช่วยแม่ทำกับข้าว พับถุงกระดาษขาย ถูบ้าน กางมุ้ง กวาดบ้าน รีดผ้า เลี้ยงน้อง โอ๊ย....อะไร  อะไร  อีกหลายอย่าง ตั้งบานเบอะ ก่อนนอนยังต้องสวดมนต์ ไหว้พระ 5 ครั้ง (ไหว้พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  บิดามารดา  ครูอาจารย์) ทำสมาธิ

                เวลา ฉันเคยนึกย้อนไปว่า ตลอดเวลา  ๑๔ ปี กิจวัตรประจำวัน ซ้ำ ๆ  ซาก ๆ ปีแล้ว ปีเล่า ที่ทำให้ฉันเบื่อ นั้น มันกลับทำให้ฉันนึกขอบพระคุณพ่อ แม่  ขอบพระคุณโชคชะตาที่ทำให้ฉันเกิดมาในครอบครัวนี้ ขอบพระคุณที่ให้ฉันได้พานพบสิ่ง ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ที่น่าเบื่อเหล่านั้น เพราะอะไรน่ะหรือ  เพราะมันทำให้ฉัน เป็นคน เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ เปรียบได้กับ กะลาที่ไม่มีค่า แล้วคนมาพานพบ เอาไปขัดถู ด้วยกระดาษทราย เบอร์ที่ หยาบที่สุด เพื่อให้กะลาใบนั้น มันเกลี้ยง พร้อมที่จะนำไปแกะสลักลวดลายด้วยมีดอันแหลมคม ลงเงาด้วยน้ำยาเคลือบมัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สวยงาม ผู้คนชื่นชมและอยากได้ไว้เป็นเจ้าของ ทั้ง ๆ ที่ต้องซื้อหามาด้วยราคาแพง

                ณ บัดนั้น ฉันล่วงรู้ได้อย่างแท้จริงแล้วว่า

การทำงาน เป็นสิ่งที่สำคัญอันยิ่งใหญ่สำหรับคน คนหนึ่งที่จะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนที่เบ็ดเสร็จ หาที่ติมิได้

การทำงาน ทำให้คนได้พบเจออุปสรรค และใช้ความสามารถฟันฝ่าไปสู่ความสำเร็จ

การทำงาน ทำให้คนตระหนักในคุณค่าของตนเอง และเกิดความภาคภูมิใจในที่สุด

การทำงาน ทำให้คนรู้จักคุณค่าของชีวิตตน และคุณค่าของชีวิตผู้อื่น อันจะนำไปสู่การให้เกียรติกัน

                ยามฉันท้อแท้ในการทำงาน สิ่งที่คอยเป็นกำลังใจในการทำงานของฉันก็คือ พระบรมราโชวาทขององค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า เคยขายเศษเหล็กไหม  เศษเหล็กเหล่านั้น เวลาขาย คุณค่ามันต่ำมาก คงได้เงินมาไม่กี่บาท  แล้วถ้าเราเอาเศษเหล็กเหล่านั้นมาหลอมรวมกันเป็นแท่ง เวลาหลอมนี่ เหล็กมันคงรู้สึกร้อนมาก พอหลอมเสร็จ เรานำมาทำเป็นดาบ คงต้องนำมาตีให้แบนอีก เวลาตี ก็ต้องคอยเอาไปเผาด้วย ต้องตีไป เผาไปอยู่หลายรอบ กว่าจะเป็นรูป เป็นร่างดาบ อย่างที่เราต้องการ ต้องผ่านความเจ็บปวด ความร้อนอยู่นาน แถมเมื่อเสร็จแล้ว ถ้าจะให้สวยงามดังใจ  ก็ต้องนำไปแกะสลักลวดลาย เวลาที่แกะลวดลาย ก็คงต้องใช้ของแข็งมีคม มาตีให้เป็นลวดลายอีก แต่เมื่อเสร็จเป็นดาบที่งดงาม ก็จะมีคุณค่าที่สูงมาก จะเห็นว่า กว่าที่เศษเหล็ก ไม่มีคุณค่ามากนัก จะกลายเป็นดาบอันงดงามนั้น ต้องผ่านอุปสรรคมามากมาย ทั้งความเจ็บปวดต่างๆ  กว่าจะประสบความสำเร็จ 

ดังนั้น  ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า

ใครไม่เคยถูกตี  ถูกทุบ เจอเรื่องเลวร้ายในชีวิตมาเลยนั้น      จงอย่าได้หาญคิดทำการใหญ่

 จะมีใครที่คิดอย่างฉันไหม..หนอ...? 
คำสำคัญ (Tags): #งานเพื่อชีวิต
หมายเลขบันทึก: 139695เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2007 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท