ข้อเสนอแผนงานเพื่อดำเนินการชุดโครงการวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทยช่วง 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2551-2553)


เมื่อ 11 ต.ค.2550 ได้มีการประชุมหารือ แผนวิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ ณ ห้องประชุม 1-2 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เพื่อต้องการเน้นนโยบายที่มีประสิทธิผล และต้องการรับฟังในมุมมองของฝ่ายวิชาการว่า ต้องการนำเสนอประเด็นใด เพื่อที่ทาง สวรส.จะได้วางแนวทางในการวิจัยและพัฒนาต่อไป....


นายบอนมีโอกาสไปร่วมรับฟังการประชุมครั้งนี้ด้วย จึงหยิบยกบางประเด็น มาบันทึกไว้ในที่นี้  สำหรับผู้ที่สนใจได้ติดตาม และค้นคว้าต่อไป

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คุกคามต่อสุขภาพของคนไทย
 สำหรับประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น มีผู้ประเมินไว้ว่าปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่จะมาคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ได้แก่
- การเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและการขยายตัวของการบริโภคสินค้าที่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม
- การลงทุนของอุตสาหกรรมที่มกากของเสียบำบัดยากหรืออันตรายสูง
- ความต้องการพลังงานและราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น
- การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ
- การขยายตัวของอุตสาหกรรมสู่เขตชนบทและเมืองชายขอบ
- การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกและการค้ากับสิ่งแวดล้อม
- การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าต่างๆ (Advanced Technology) เช่น เทคโนโลยีทางพันธุกรรม, เทคโนโลยีชีวภาพ, นาโนเทคโนโลยี ฯลฯ หรือการออกแบบการผลิต
- พันธะกรณีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม

ในด้านสุขภาพอันเป็นผลกระทบที่อาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อมที่คุกคามจากภายนอก ได้แก่
- โรคอุบัติใหม่และการระบาดของโรคที่กระจายและรุนแรงมากขึ้น
- โรคอันเกิดจากพิษสารเคมีที่มีลักษณะเฉียบพลันและเรื้อรังที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ๆในภาคอุตสาหกรรม
- ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
- ความเสียงจาดภัยพิบัติต่างๆที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในคุณภาพชีวิตของประชาชน


เมื่อพิจารณาสำหรับประเทศไทยแล้ว ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เผชิญอยู่ ยิ่งทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะต้องได้รับการทบทวนและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะช่องว่างและอุปสรรคที่มีอยู่ทั้งในระดับปฏิบัติและระดับนโยบาย เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาแผนงานวิจัยสร้างองค์ความรู้และพัฒนาระบบงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ


เมื่อย้อนกลับมามองดูสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมากับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น นับได้ว่าก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างมาเป็นเวลานาน และหลายปัญหายังไม่สามารถคลี่คลายเยียวยาได้ บั่นทอนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และสร้างความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างองค์กรและภาคีที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ดังกรณีตัวอย่างของประเด็นปัญหาที่มีโอกาส ทำให้เกิดโรคจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่

1. การปนเปื้อนสารหนูในน้ำอุปโภคบริโภค อันเนื่องมาจากกิจกรรมเหมืองแร่ดีบุกในบริเวณใกล้เคียง ที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช กับโอกาสทำให้เกิดโรคไข้ดำ

2. การปนเปื้อนสารตะกั่วในลำธารซึ่งเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน อันเนื่องมาจากมีการดำเนินการเหมืองแร่ตะกั่ว ด้วยเป็นแหล่งที่มีศักยภาพของแร่ดีบุก ที่ห้วยคลิตี้ จ. กาญจนบุรี กับโอกาสทำให้เกิดโรคพิษตะกั่ว

3. การปนเปื้อนแคดเมี่ยมในดิน และข้าว อันเนื่องมาจากเป็นแหล่งแร่สังกะสีและมีการดำเนินกิจกรรมแร่สังกะสี ในบริเวณใกล้เคียง  อ.แม่สอด จ.ตาก กับโอกาสทำให้เกิดโรค อิไต อิไต

4.มลพิษในอากาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เนื่องมาจากเป็นบริเวณที่ตั้งอุตสาหกรรรมหนัก และมีหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะปิโตรเคมี ทำให้มีสารระเหยแพร่กระจายไปทั่ว กับโอกาสที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสารก่อมะเร็ง

5. การปนเปื้อนของสารพิษในน้ำใต้ดินและดิน โดยเฉพาะบริเวณใกล้แหล่งอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำปริมาณมาก และต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสร้างระบบบำบัดมีมูลค่าสูง จึงมีการลักลอบทิ้งของเสียสู่พื้นที่สาธารณะ กับโอกาสที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสารเคมีที่มีพิษ

6. ผลกระทบต่อสุขภาพจากเสียงของเครื่องบิน บริเวณพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับโอกาสที่ทำให้เกิดระบบการได้ยินบกพร่อง และปัญหาสุขภาพจิต

7.  ผลกระทบต่อสุขภาพจากหมอกควันที่ปกคลุม อันเนื่องมาจากไฟไหม้ป่า  ในภาคใต้และภาคเหนือ โอกาสที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และภูมิแพ้

8. ความเสี่ยงที่เกิดจากการปนเปื้อนของเสียอันตรายในลำห้วย จากโรงงานรับบำบัดของเสีย อันตรายจากอุตสาหกรรมที่ไม่มีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสมในพื้นที่ จ.สระแก้ว กับโอกาสที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้  โรคเกี่ยวกับระบบประสาท และสารก่อมะเร็ง

9. ภัยพิบัติจากสึนนามิ ในพื้นที่ภาคใต้ 6 จังหวัด กับโอกาสที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสุขลักษณะและการสุขาภิบาล โรคระบบทางเดินอาหารเป็นต้น

10. ภัยพิบัติจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง  หรือ โคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง กับโอกาสที่ทำให้เกิดปัญหสุขภาพจิต ปัญหาสุขลักษณะและการสุขาภิบาล โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

11. การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในสวนส้ม ทำให้เกิดสารพิษตกค้าง กับโอกาสที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสารเคมีที่มีพิษ หรือ สารก่อมะเร็ง

12. การปนเปื้อนของน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม อันเป็นผลให้ปลาในแม่น้ำตาย ที่ จ.อ่างทอง

ฯลฯ

บทเรียนจากตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้ของไทย เป็นการชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดมาตรการการป้องกันปัญหาและการเตือนภัยล่วงหน้า อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาผลกระทบแล้วยังขาดระบบและกลไกในการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ (forensic science) เพื่อหาต้นตอหรือสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง รวมทั้งขาดกลไกเยียวยาการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมนั้นๆ

ความท้าทายในเชิงเทคนิควิชาการของปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีความซับซ้อน

* ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดภาระ มีจำนวนมากซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เสียง รังสี)
* ช่องทางที่มนุษย์จะรับสัมผัสสารเคมีได้ ได้แก่ ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การสัมผัส การรับรังสี แต่เส้นทางเหล่านี้มนุษย์รับสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลายาวนาน จึงยากแก่การพิสูจน์ ขณะดียวกันยังมีปัญหาการเคลื่อนย้ายของมลสารในสื่อกลางของสิ่งแวดล้อมด้วยกันเอง
*  ประเภทของผลกระทบต่อสุขภาพมีความหลากหลาย และมลสารแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน (เช่น สารเคมีบางชนิดสามารถทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นสารก่อมะเร็งและผลกระทบที่มีต่อระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น)
* ผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรงแนเนื่องมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม อาจเป็นผลมาจากการผสมผสานของปัจจัย ทางพันธุกรรม แบบแผนการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจสังคม สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ บรรยากาศ และการรับสัมผัสกับสิ่งคุกคามในสิ่งแวดล้อม
*  เมื่อใดที่มีการปล่อยมลสารในสิ่งแวดล้อม มลสารก็สามารถที่จะถูกถ่ายโอนระหว่างสื่อกลางในสิ่งแวดล้อม (เช่น สารไดอ๊อกซินที่ถูกปล่อยออกมา และส่งผ่านสู่ชั้นบรรยากาศ จะฝังอยู่ในดิน พืชผักและน้ำ) และจะเคลื่อนย้านระหว่างกัน ( เช่น อากาศ สู่น้ำ น้ำสู่ตะกอนดิน) กับระบบนิเวศน์อย่างต่อเนื่อง
* นอกเหนือจากผลกระทบทางเคมีและกายภาพแล้ว กลไกทางชีววิทยาจะแสดงบทบาทที่เป็นส่วนสำคัญในการแพร่กระจายสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มลสารบางชนิดจะสะสมในร่างกายของสัตว์และในต้นพืชที่ระดับความเข้มข้นสูงกว่าในสิ่งแวดล้อมนั้น  ความเข้มข้นของสารปนเปื้อนบางชนิดในสิ่งมีชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งสองนี้สามารถทำให้ระดับความเข้มข้นของสารปนเปื้อนในสิ่งมีชีวิตสูงกว่าในสิ่งแวดล้อมโดยรอบเป็นพันเท่า
* แต่ละคนจะรับสัมผัสต่อปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะผสมผสาน ซึ่งสามารถรับสัมผัสต่อปัจจัยหลายอย่างพร้อมกัน ( เช่น สารเคมีที่ตกค้างกับเสียง) หรือการรับสัมผัสต่อปัจจัยต่างๆในช่วงเวลาที่ต่างกัน
* โรคหลายชนิด เช่น มะเร็ง มีผลมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ในอีกด้านหนึ่งกล่าวได้ว่า อาจจะมีสาเหตุจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมหลายปัจจัยรวมกัน การรับสัมผัสหลายๆปัจจัยเหล่านี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดโอกาสการพัฒนาของโรคนั้นได้
* สำหรับผลกระทบที่เกิดจากการตกค้างของจุลินทรีย์และสารอนินทรีย์และโลหะหนักบางชนิดจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่ต่ำมาก แต่จะสะสมในสิ่งแวดล้อม ในห่วงโซ่อาหารและในร่างกายของมนุษย์ และผลกระทบจะปรากฏให้เห็นหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี  (low dose-long term effects) (e.g. dioxins, PCBs) ดังนั้น ขนาดของเวลาที่ยาวนานจำเป็นที่จะต้องนำมาพิจารณาอย่างเหมาะสม
* ผลกระทบทางอ้อม คือ  สารอาหารที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำหรือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในน้ำอาจจะมีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อสุขภาพของมนุษย์ อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของโรคที่เกิดจากน้ำเป็นพาหะ

ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ จะทำให้งานของนักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจต่อความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ (ขณะนี้ยังไม่เพียงพออย่างมาก) จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมา

โจทย์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในปัจจุบันของไทย

หากพิจารณาลำดับความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจสังคม และสุขภาพของประเทศไทยนั้น โดยประเมินตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรเกินศักยภาพของการจัดการที่ยั่งยืน ก็จะพบว่า มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยในช่วง 5 ปี คิดราคา ณ ปี 2547 แล้ว กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติจะมีความเสียหายคิดเป็นมูลค่าทางการเงินมากที่สุด ได้แก่ ป่าไม้มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดคิดเป็นประมาณ 14,000 ล้านบาท/ ปี รองลงมา คือ ทรัพยากรที่ดินและการใช้ที่ดิน (ประมาณ 7,700 ล้านบาท / ปี)  ทรัพยากรน้ำ ( ประมาณ 7,000ล้านบาท ไ/ ปี) แบะทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ( ประมาณ 6,300 ล้านบาท / ปี)

สำหรับกลุ่มมลพิษ จะมีมูลค่าความเสียหายรองลงมาจากกลุ่ททรัพยากรธรรมชาติโดยรวม เรียงลำดับมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคม ได้แก่
1. มลพิษอากาศ (สร้างความเสียหายสูงสุด คิดเป็นประมาณ 5,900 ล้านบาท / ปี)
2. มลพิษจากของเสียอันตรายในชุมชน (มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 5,500 ล้านบาท / ปี )
3. มลพิษขยะ (มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 4,700 ล้านบาท / ปี)
4. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 3,400 ล้านบาท / ปี)
5. มลพิษทางน้ำ (มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 1,500 ล้านบาท / ปี)
6. มลพิษจากสารอันตราย (มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 374 ล้านบาท / ปี)
7. ทรัพยากรธรณีและแร่ (มูลค่าความเสียหายประมาณ 15 ล้านบาท / ปี)

การประเมินมูลค่าความเสียหายนี้ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นเพียงการประเมินค่าต่ำสุดเท่าที่ข้อมูลจะหาได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดลำดับความสำคัญเพื่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม  ในแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2550 - 2554) ของประเทศ

จากการทบทวนประเด็นปัญหาและกรอบคิดข้างต้นในบางส่วน จึงนำมาสู่แนวทางการพัฒนาวัตถุประสงค์และกิจกรรมหลักที่ควรจะดำเนินการในแผนงานเพื่อพัฒนาชุดโครงการวิจัยและพัมนา ดังนี้

วัตถุประสงค์ของแผนงานการวิจัยและพัฒนา
  การวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) สร้างความเป็นธรรม (Justice) และมีระบบการป้องกันและเตือนภัยล่วงหน้า (Precautionary)

วัตถุประสงค์เฉพาะ
+ เพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงระบบการส่งต่อข้อมูล และพัฒนาข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่าง แหล่งมลพิษกับ ผลกระทบต่อสุขภาพ
+ เพื่อพัฒนาระบบการประเมินและการจัดการความเสี่ยง
+ เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบและวิธีประเมินความเสียหาย รวมทั้งพัฒนากลไกที่เป็นธรรมในการเรียกเก็บและจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่มผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ที่จะใช้ประโยชน์ทั้ง ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนโยบาย และฝ่ายตุลาการ
+ เพื่อพัฒนาการสื่อสารสาธารณะและขับเคลื่อนสังคม โดยยกระดับความตระหนัก การสื่อสารความเสี่ยงให้กับประชาชน  เพื่อให้สามารถเข้าถึงและมีข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจดีขึ้น และเพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
+ เพื่อศึกษาวิจัยนโยบายและทบทวนมาตรการทางกฏหมาย เพื่อเยียวยาและดูแลรักษาสุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบ

กิจกรรมที่ควรดำเนินการใน 3 ปีข้างหน้า
1. เน้นการพัฒนาเครือข่ายและสร้างทีมงานข้ามสาขาวิชาและข้ามหน่วยงาน
2. เน้นการพัฒนาระบบข้อมูลการเฝ้าระวังโรค
3. เน้นการติดตามประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
4. เน้นการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนานโยบาย กลไกการจัดการเชิงระบบ
5. เน้นการจัดการความรู้ สร้างการเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่าย และพัฒนาองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ

วิธีการดำเนินงาน
 เน้นการดำเนินงานร่วมกับองค์กรภาคีในระดับต่างๆ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น2 ระยะ

 phase 1 ระยะสั้น 6 เดือน (ก.ย.2550  - ม.ค.2551 ) แบ่งงาน ออกเป็น 5 ส่วน
+ งานประเมินและวิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการเสริมสร้างขององค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง
+ งานทบทวนและวิเคราะห์องค์ความรู้ ทั้งภายในและต่างประเทศ เตรียมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างบุคลากรในระดับต่างๆ
+ งานพัฒนาโจทย์วิจัยและข้อเสนอโครงการวิจัย
+ งานสร้างเครือข่าย และสร้างการเรียนรู้ในการดำเนินงานแบบสหสาขาวิชาและข้ามหน่วยงาน
+ งานบริหารจัดการเพื่อจัดทำรายงานแผนงานฯ

phase 2 ระยะ 3 ปี (2551-2553) แบ่งออกเป็น 5 ส่วน
+ งานพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงระบบการส่งต่อข้อมูล และพัฒนาข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดความข้าใจในความสัมพันธระหว่าง แหล่งมลพิษ กับผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาระบบเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (popular edidemiology) ทั้งนี้ ในการดำเนินงานจะเน้นการทำงานแบบเครือข่ายข้ามสาขาวิชา ควบคู่กับการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายในพื้นที่
+ งานพัฒนาการสื่อสารสาธารณะและขับเคลื่อนสังคม
+ งานศึกษาวิจัยนโยบายและทบทวนมาตรการทางกฏหมาย เพื่อเยียวยาและดูแลรักษาสุขภาพ และเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบและวิธีการประเมินความเสียหาย
+ งานวิจัยและพัฒนาระบบการประเมินและการจัดการความเสี่ยง
+ งานสร้างและพัฒนาเครือข่ายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เน้นการจัดการความรู้ สร้างการเรียนรู้ร่วมกันบนฐานความรู้และความเข้าใจ
+ งานบริหารจัดการแผนงาน โดยดำเนินการติดตามโครงการ และการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
+ ผลที่คาดว่าจะได้รับในภาพรวม
1. เกิดเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และเชื่อมโยงกับส่วนกลาง
2. มีทีมงานที่มีทำงานข้ามสาขาวิชาและข้ามหน่วยงานในระดับพื้นที่และในระดับส่วนกลาง
3. ได้ชุดความรู้ในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม และชุดความรู้ในการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
4. มีการพัฒนาระบบงานเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อมและระบบการประเมินและจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
5. มีการจัดการความรู้และสังเคราะห์ความรู้ และสามารถนำไปใช้สื่อสารกับสังคมและประชาชนในพื้นที่
6. เกิดรูปแบบการดำเนินงาน ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมาตรการในการแก้ไขและป้องกันปัญหามลพิษที่มีความเสี่ยงสูง


+ ผลผลิต
++ ผลผลิตจากการดำเนินงาน phase 1
1. รายงานข้อเสนอแผนงานวิจัย และพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในช่วง 3ปี ประกอบด้วย
- ข้อเสนอชุดโครงการวิจัย ประมาณ 12-15 เรื่อง
- แนวทางและกิจกรรมหลักๆที่จะดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเรียนรู้ในสังคม
- เครือข่ายพันธมิตร เพื่อการพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
- งบประมาณดำเนินการ
2. ชุดความรู้จากการทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์ จำนวน 2 เรื่อง

++ ผลผลิตจากการดำเนินงาน phase 2
1.รายงานและคู่มือการดำเนินงานของระบบการเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม
2. รายงานและคู่มือการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ
3.  รายงานชุดความรู้เพื่อการเผยแพร่และข่าวสารในการสื่อสารกับสาธารณะในรูปแบบต่างๆ เช่น เอกสารวิชาการ CD VCD บทความ เป็นต้น
4. รายงานผลการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงนโยบาย เชิงระบบ และการจัดการ จำนวน 12-15 เรื่อง
5. รายงานผลการดำเนินงานของเครือข่ายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และศักยภาพขององค์ภาคีเพื่อความร่วมมือในการดำเนินงานต่อไป
6. รายงานผลการพัฒนานโยบาย กลไก และการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคม

องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง
 หน่วยนโยบายของประเทศ  หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย TRF, สสส, สภาวิจัย, สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค หน่วยงานราชการ  ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งภายในหน่วยงานและข้ามหน่วยงาน  นักวิชาการอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น TDRI, TEI, GSEI ฯลฯ  องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

+ หน่วยงานบริหารจัดการ
 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

+ คณะทำงานกลางของแผนงาน ประกอบด้วย
- ทีมงานที่ปรึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ = ผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงสาธารณสุข, ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวะ, ด้านการแพทย์, ด้านพิษวิทยา, ด้านสิ่งแวดล้อม,ด้านนโยบาย

ทีมงานวิชาการ = นักวิชาการด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม, แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ, นักวิชาการด้านระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านพิษวิทยา, นักวิชาการกฏหมายสิ่งแวดล้อม ทนายความผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อม, นักวิชาการผู้เชียญชาญด้านมาตรวิทยา, ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม, ผู้เชี่ยญชาญด้านวิศวกรสิ่งแวดล้อม, ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ทีมงานสื่อสารสาธารณะ ทีมสื่อของ มสช. และทีมงานเครือข่าย

+ คณะดำเนินงานหรือปฏิบัติงานในพื้นที่
จะเน้นการสร้างทีมงานสหสาขาวิชา สร้างพันธมิตรและดำเนินงานเป็นเครือข่ายเป็นสำคัญ โดยคณะดำเนินงานในพื้นที่จะมี มหาวิทยาลัย เป็นแกนหลัก และหน่วยงานราชการภูมิภาค และท้องถิ่นเป็นเครือข่าย และร่วมทำงานกับภาคีในชุมชน





 

หมายเลขบันทึก: 139324เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2007 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
หนูอยากได้ข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงจากขยะอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมหากมีข้อมูลอย่างไรก็ส่งมาทางเมลเลยนะคะขอบคุณล่วงหน้าค่ะ      นักศึกษาสิ่งแวดล้อม
เรียนคุณเอ้
  คงต้องแนะนำให้ลองค้นหาเอกสารจากห้องสมุดก่อนนะครับ เพราะจะมีเอกสารในหัวข้อที่ท่านต้องการอย่างมากมายทีเดียว ส่วนไฟล์เอกสารข้อมูลนั้น สามารถค้นหาได้จากเวบไซต์ของต่างประเทศนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท