GotoKnow

ทัศนคติของตุลาการ มีผลต่อการตัดสินคดีหรือไม่ ?

Thai Judicial Process Research Team
เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2549 20:38 น. ()
แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2555 01:19 น. ()

 

นิติพลวัตรในอเมริกาขณะนี้ คือเรื่องที่นายแซมมุเอล แอนโธนี อะลิโต (Samuel Anthony Alito) ผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีบุช ขึ้นเป็นตุลาการศาลฎีกาแทนนางแซนดรา เดย์ โอ’คอนเนอร์ (Sandra Day O’Connor) ต้องขึ้นให้การต่อวุฒิสภา ตั้งแต่ ๙ – ๒๐ มค. ๐๖.

ทัศนคติของตุลาการ มีผลต่อการตัดสินคดีหรือไม่?” - - -> นี่คือโจทย์ที่ไม่มีใครโต้เถียงอีกต่อไปแล้วในอเมริกา เพราะคำตอบนั้นชัดเจนแล้วว่า “Yes.”

สำหรับไทย เรายังพยายามย้ำกันว่า ตุลาการคือผู้ที่นั่งพิจารณาคดี เหนือทัศนคติส่วนตัวทั้งมวล.  เราสั่งสอนกันว่า ตุลาการคือผู้ “บริสุทธิ์-ยุติธรรม” และปราศจากอคติทั้งปวง แต่ดูจะไม่เน้นวิจัยให้เห็นชัดว่า การสั่งสอนเช่นนั้น ได้ผลจริงจังเพียงใด.  ผู้ที่มีจิตใจเป็นธรรม คงยอมรับว่า แม้สังคมไทยจะยกย่องว่า ตุลาการคือวงการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงน้อย แต่เราก็มักได้ยินเสียงต่อว่าต่อขานเสมอมาว่า ตุลาการไทยยึดถืออำนาจ & มักตัดโอกาสคู่ความ ในการสืบพยานสำคัญ หรือไม่จดคำเบิกความพยาน โดยใช้ทัศนคติส่วนตัวว่า “ไม่มีสาระสำคัญ ถึงจดไปก็จะไม่นำไปพิพากษา.”  เรายังแทบไม่วิจัยอะไร ในเชิงวิชาการ ที่พิสูจน์ทั้งบทบาทในทางบวก & ทางลบของตุลาการไทย.  นี่คือจุดบอดของไทย.

แต่ในอเมริกา จะพบว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นซึ่ง Legal Dynamics ขอเสนอข้อมูล “Social Background of the Justices” (ภูมิหลังของตุลาการ) จากหนังสือใหม่ ๑,๒๓๙ หน้าโดย Kermit L. Hall, The Oxford Companion to the Supreme Court of the United States, 2nd Edition, 2005, pp. 935-936.

เดิมที มีผู้เห็นว่าภูมิหลังของตุลาการ ไม่เกี่ยวพัน กับการตัดสินคดี แต่ไม่มีการวิจัยมาพิสูจน์ เช่น Mr. Felix Frankfurter (๑๘๘๒ – ๑๙๖๕) ตุลาการศาลฎีกาสหรัฐฯ ตั้งแต่ ๑๙๓๙ – ๑๙๖๒.  เขาเชื่อว่า ผู้ที่ขึ้นเป็นตุลาการ จะวางทัศนะส่วนตัวไว้นอกบัลลังก์ ไม่ใช้ในการตัดสินคดี ทั้งนี้เพราะเหตุผล ๔ ประการ คือ (๑) มีการฝึกฝนอบรม (Training) (๒) มีจริยวัตรในวิชาชีพ (Professional Habits) (๓) มีวินัย (Self-Discipline) และ (๔) มีความตระหนักในหน้าที่ตัดสินคดี (Obligation).

แต่ได้มีนักวิชาการหลายคน ที่วิจัยเพื่อพิสูจน์ว่า ภูมิหลังของตุลาการ เกี่ยวพันโดยตรง กับการตัดสินคดี ทั้งนี้ ได้แก่งานวิจัยโดย (๑) Rodney Mott เมื่อทศวรรษ ๑๙๓๐, (๒) Herman Pritchett เมื่อทศวรรษ ๑๙๔๐, (๓) Bowen & Grossman เมื่อทศวรรษ ๑๙๖๐, และ (๔) C. Neal Tate เมื่อทศวรรษ ๑๙๘๐.

คำสำคัญ (Tags): #ตุลาการ 


ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย