Mind Map ตัวเป็นเป็น


แมลงวันที่อยู่ใน Mind Map บ่อขยะก็ยกพวกพากันบินมาที่แผ่น Mind Map อาหารกลางวันด้วยเทคนิคพิเศษบทบาทสมมติปลอมตัวเป็นแมลงวันและใช้ปากทำซาวนด์เอฟเฟคเสียงแมลงวัน

ห่างหายไปหลายวันด้วยภารกิจตามวันเวลาในทางราชการครับ ปีงบประมาณใหม่ เริ่มชีวิตใหม่สำหรับข้าราชการไทยหลายคนและผมก็ประเดิมปีใหม่ด้วยการรับเชิญให้เป็นวิทยากรค่าย สวล ของโรงเรียน วัดทุ่งโพ ชาวค่ายเป็นนักเรียนประถมศึกษาของโรงเรียนครับ ด้วยเหตุผลเดิมๆ ที่ ศึกษานิเทศก์ต้องไปช่วยงานค่ายคือคุณครูให้เหตุผลว่า "ครูยังไม่มีทักษะในการจัดกิจกรรมฯค่าย..." ก็เลยต้องยอมและถือว่าเป็นการนิเทศแบบสาธิตการสอนและพาทำด้วยตัวอย่างไปในตัว

กิจกรรมที่ผมรับไว้คือการสำรวจจุดศึกษาและนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือเพื่อเรียนรู้ต่อไปตามแต่กรณี ในช่วงนี้ใช้เวลา ประมาณ 3 ชั่วโมง เริ่มด้วยการแนะนำจุดศึกษาในบริเวณโรงเรียน เช่น สวนหย่อม แปลงเกษตร นาข้าวหลังโรงเรียน บ่อปลาสาธิตบ่อน้อยๆหลังโรงเรียน บ่อขยะที่ภารโรงนำไปทิ้ง เป็นต้น ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกจุดศึกษา บอกข้อตกลงเรื่องเวลา การเก็บข้อมูลเบื้องต้น ฯลฯ (สำหรับนักเรียนที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ก็ให้จดบันทึกแบบง่ายไปก่อนยังไม่ต้องให้สร้างเครื่องมือ) ใช้เวลาสำรวจ 15 นาที นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือสำคัญคือ Mind Map (วิทยากรแนะนำวิธีเขียนเบื้องต้นมาก่อนหน้าแล้ว) ซึ่งนักเรียนเขียนข้อมูลจากการสำรวจ แต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน วิทยากรและครูพี่เลี้ยงช่วยเดินดู และปรับปรุงเบื้องต้น เสร็จแล้วแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนรายงานหน้าชั้น

พลังของ Mind Map ช่วยนักเรียนจำแนกแยกแยะรายละเอียด และรวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ แล้วเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน Mind Map ของกลุ่มบ่อขยะได้จำแนกให้เห็นว่าในบ่อขยะมีขยะประเภทใดบ้างตามที่นักเรียนมีประสบการณ์แยกขยะจากถังขยะหน้าอาคารที่ครูจัดแยกไว้ (ซึ่งท้ายที่สุดก็นำไปรวมกันในบ่อหลัง ร.ร.) นักเรียนสังเกตเห็น สัตว์ต่างๆ เช่น หนอน แมลงวัน แมลงอื่นๆ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ใน Mind Map แผ่นนั้นได้เป็นอย่างดี และบังเอิญว่า ก่อนหน้านั้นแบบฝึกหัดทำ Mind Map เรื่องอาหารกลางวันที่ผมให้นักเรียนฝึกปฏิบัติยังคงอยู่ในบอร์ดกระดาษหน้าชั้น ทันใดนั้น...แมลงวันที่อยู่ใน Mind Map บ่อขยะก็ยกพวกพากันบินมาที่แผ่น Mind Map อาหารกลางวันด้วยเทคนิคพิเศษบทบาทสมมติปลอมตัวเป็นแมลงวันและใช้ปากทำซาวนด์เอฟเฟคเสียงแมลงวัน นักเรียนฮือฮากันใหญ่ โอ้โฮ... ใช่แล้วนักเรียนอาหารกลางวันที่นักเรียนรับประทานอร่อยๆ บัดนี้ถูกจู่โจมจากพาหะของโรคร้ายจากบ่อขยะ Mind Map สองแผ่นถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยพาหะหรือสื่อทางความคิด จินตนาการ นักเรียนเห็นปัญหาที่เกิดจากบ่อขยะ เห็นผลที่เกิดจากปัญหา วันนั้นจบลงเพียงภาพของปัญหา และหากคุณครูได้สอนนักเรียนให้เหมือนกับได้เข้าค่ายทุกวันๆ นักเรียนก็จะได้นำปัญหาไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีใช้ ผังก้างปลา ซึ่งผมเคยใช้ในบันทึกก่อนหน้านี้ และอาจนำไปสู่โครงงาน ให้นักเรียนทำต่อไป...

 

Mind Map แบบตัวเป็นเป็น ที่มีชีวิตไม่เพียงแต่เป็นภาพที่แยกโดดออกจากสิ่งอื่น แม้จะเป็นภาพนิ่งใน Mind Map แต่คุณครูก็ช่วยให้ Mind Map นั้นเป็นภาพเคลื่อนไหวมีชีวิต ทรงพลังทางความคิดด้วยการเชื่อมโยง ขยายเพิ่มพูนให้เห็นเป็นภาพต่อเนื่อง เคลื่อนไหวได้โดยไม่ยาก สร้างความเข้าใจด้วยมุมมองที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงสัมพันธ์กับชีวิตจริงของนักเรียน เท่านี้ก็ถือว่างานครูสำเร็จไปแล้วหลายระดับ...

หมายเลขบันทึก: 137657เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2007 07:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท