พุทธธรรมสำหรับครู


เต็มรู้ คือ มีความรู้บริบูรณ์          อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องถ่ายทอดอธิบายให้ความรู้แก่คนดังนั้นครูทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ทำให้ตนเองนั้นบริบูรณ์ หรือเต็มไปด้วยความรู้ ครูควรจะทำให้บริบูรณ์ในตัวครูประกอบด้วยความรู้ 3 ประการ คือ
      1.ความรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพครูควรเสาะแสวงหาความรู้รวบรวมข้อมูลโดยการอ่าน การฟังและพยายามนำประสบการณ์ใหม่ๆเพื่อมาถ่ายทอดให้ผู้เรียนของตนได้เกิดความรู้ที่ทันสมัย ดังนั้นครูจะต้องแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมให้ผู้เรียนเรียนอย่างครบถ้วนเหมาะสมตามระดับความรู้นั้น

     2.ความรู้เรื่องโลกครูควรมีความรู้และประสบการณ์ชีวิตอย่างเพียงพอเพื่อสามารถอธิบายบอกเล่า ถ่ายทอด ทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของชาติ ของสังคมไปสู่ศิษย์ ครูควรเข้าใจชีวิตอย่างเพียงพอที่จะให้คำแนะนำคำสั่งสอนเพื่อให้ศิษย์ได้ดำเนินชีวิตที่ดีในอนาคตได้ ดังนั้นนอกเหนือจากตำราวิชาการครูแสวงหาความรู้รอบตัวด้านอื่นๆให้บริบูรณ์โดยเฉพาะความเป็นไปของระเบียบ ประเพณี สังคม วัฒนธรรม       

3.ความรู้เรื่องธรรมะครูควรมีสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจเพื่อที่จะสามารถอบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีความคิดที่ดี มีความประพฤติดีไม่ว่าครูจะนับถือศาสนาใดก็ตามทุกศาสนามีจุดหมายเดียวกันคือมุ่งให้คนเป็นคนดี ครูที่มีความรู้ด้านธรรมะจะสามารถหยิบยกเรื่องธรรมะมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับสั่งสอนศิษย์ได้ เช่น จะสอนให้ศิษย์ประสบผลสำเร็จด้านการศึกษา เล่าเรียนได้ดี ก็ยกหัวข้อธรรมะ อย่างอิทธิบาท 4 คือ

1.พอใจในการศึกษา รักและสนใจในวิชาที่ตนเรียน

2.มีความเพียรที่จะเรียน ไม่ย่อท้อ

3.เอาใจใส่ในบทเรียน การบ้าน รายงาน

4. หมั่นทบทวนอยู่เสมอ          ถ้าศิษย์เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ก็ย่อมทำให้ศิษย์ประสบความสำเร็จในการศึกษานอกจากที่ครูจะต้องทำตนให้บริบูรณ์ด้วยธรรมะเพื่อไปสอนศิษย์ ครูก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาธรรมะเพื่อให้ครูไม่หวั่นไหวต่อกิเลสอันทำให้จิตของครูต้องเป็นทุกข์เศร้าหมอง ครูก็ย่อมจะเบิกบานและได้รับความสุขที่จะได้สอนคนในเรื่องต่างๆอีกด้วยการศึกษาธรรมะจึงจำเป็นสำหรับอาชีพครู

เต็มใจ คือ ความมีใจเป็นครู

            พุทธศาสนาถือว่าใจนั้นแหละเป็นใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากใจทั้งนั้นดังนั้นคนจะเป็นครูที่มีอุดมการณ์จำเป็นต้องสร้างใจให้เป็นใจที่เต็มบริบูรณ์ด้วยการ มีใจเป็นครู การทำใจให้เต็มนั้นมี มีความหมาย 2 ประการคือ

    ใจครู การทำใจให้เต็มบริบูรณ์ นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบดังนี้

            1. รักอาชีพ ครูต้องมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเห็นว่าอาชีพครูมีประโยชน์

มีเกียรติมีกุศลได้บุญได้ความภูมิใจและพอใจที่จะสอนอยู่เสมอพยายามที่จะแสวงหาวิธีสอนที่ดีเพื่อศิษย์

            2.รักศิษย์มีใจคิดอยากให้ศิษย์พ้นจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาครูต้องมีใจนึกอยากให้ทุกคนมีความสุข พยายามชี้แนะหนทางสู่ความสำเร็จและความสุขให้แก่ศิษย์ยินดีหรือมีมุทิตาจิต เมื่อเห็นศิษย์ประสบความก้าวหน้าในชีวิตความรักศิษย์ย่อมทำให้ครูสามารถทุ่มเทและเสียสละเพื่อศิษย์ได้

    ใจสูง ครูควรพยายามทำใจให้สูงส่ง มีจิตใจที่ดีงาม การจะวัดใจเราว่าสูงหรือไม่ มีข้อที่ลองถามตัวเองได้หลายประการ เช่น

            1.ทำงานอยู่ที่ใดท่านมักจะด่าว่านินทาเจ้านายแห่งนั้นหรือดูถูกสถาบันหรือเปล่า

            2. ท่านมักจะคิดว่าเพื่อน ๆ ร่วมงานของท่านนิสัยไม่ดีส่วนใหญ่หรือเปล่า

            3. ทำไมท่านก็ทำดี แต่เจ้านายไม่เห็น

            4. ทำไมคนอื่น ๆ จึงโง่และเลว

            5. ท่านยอมไม่ได้ที่จะให้คนอื่นดีกว่า เพราะท่านคิดว่าท่านดีกว่าคนอื่น

            6. ทำไมที่ทำงานของท่าน จึงเอาเปรียบท่านและกีดกันท่านตลอด

    การทำจิตใจให้สูง ก็คือ การที่มองเห็นคุณค่าของมนุษย์โลกและการคิดที่จะสร้างสรรค์ให้โลกมีแต่สิ่งที่ดีงาม มองโลกและคนในแง่ดีใจกว้างยอมรับข้อดีและข้อเสียของตนเองและคนอื่นไม่คิดว่าตนเองฉลาด หรือเก่งกว่าผู้ใดไม่คิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่นคิดเสมอว่าจะช่วยให้คนมีความรู้มีความคิดและความประพฤติปฏิบัติที่ดี คิดอย่างเป็นธรรมว่าตนเองมีข้อบกพร่องเช่นกัน

 เต็มเวลา คือ การรับผิดชอบ การทุ่มเทเพื่อการสอน

        ครูที่มีอุดมการณ์ จะต้องใช้ชีวิตครูอย่างเต็มเวลาทั้ง 3 ส่วน คือ           

1.งานสอนครูต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอนอย่างเต็มที่วางแผนการสอนค้นคว้าหาวิธีการที่จะสอนศิษย์ในรูปแบบต่าง ๆและในขณะที่ดำเนินการสอนต้องสอนให้ครบตามเวลาที่กำหนดเข้าสอนตรงเวลา เลิกสอนให้ตรงเวลา

            2. งานครู นอกเหนือไปจากการสอน ครูต้องให้เวลาแก่งานด้านต่าง ๆ เช่น งานธุระการ งานบริหาร บริการและงานที่จะทำให้สถาบันก้าวหน้า          

3.งานนักศึกษาให้เวลาให้การอบรมแนะนำสั่งสอนศิษย์เมื่อศิษย์ต้องการคำแนะนำ หรือต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงาน ครูควรมีเวลาให้ศิษย์

 เต็มคน คือ การพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์            การพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยที่ครูเป็นแม่พิมพ์หรือพ่อพิมพ์ที่คนในสังคมคาดหวังไว้สูง และมีอิทธิพลต่อผู้เรียนมากครูจึงจำเป็นที่ต้องมีความบริบูรณ์ในความเป็นมนุษย์ทั้งร่างกาย จิตใจอารมณ์สังคมครูจึงควรสำรวมกายวาจาใจให้มีความมั่นคงเป็นแบบอย่างที่ดีงามในการแสดงออกทั้งในและนอกห้องเรียน การที่จะทำให้ตนเองเป็นคนที่เต็มบริบูรณ์ได้คนผู้นั้นควรเป็นคนที่ดีมีความคิดที่ถูกต้องเห็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง มีการพูดที่ดีมีการงานที่ดีมีการดำเนินชีวิตที่ดีปฏิบัติการถูกต้องหมั่นคิดพิจารณาตนเอง เพื่อหาทางแก้ไข้ปรับปรุงตนเองให้มีความบริบูรณ์อยู่เสมอ

 เต็มพลัง คือ การทุ่มเทพลังสติปัญญาและความสามารถเพื่อการสอน
            ครูจะต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ทุ่มเทไปเพื่อการสอน เพื่อวิชาการ เพื่อศิษย์ครูต้องอุทิศตนอย่างเต็มที่ทำงานอย่างไม่คิดออมแรงเพื่อผลงานที่สมบูรณ์นั้นก็คือ การปั้นศิษย์ให้มีความรู้ความประพฤติงดงาม เป็นที่พึงประสงค์ของสังคม

ครูที่มีหลักยึดไปครบเต็ม5ประการนี้ย่อมเป็นครูที่มีครุธรรมที่พร้อมจะเป็นผู้ชี้ทางแห่งปัญญา ชี้ทางแห่งชีวิตและชี้ทางแห่งสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดีดังนั้นครูควรสร้างอุดมการณ์ครู เพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย และการพัฒนาวิชาชีพครู

 

คำสำคัญ (Tags): #คุณธรรม
หมายเลขบันทึก: 137198เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2007 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท