กฏหมายทะเลที่น่ารู้


กฎหมายระหว่างประเทศมีแหล่งกำเนิดมาจากอะไรบ้าง

 กฏหมายทะเลที่น่ารู้
กฎหมายระหว่างประเทศมีแหล่งกำเนิดมาจากอะไรบ้าง
1. สนธิสัญญา (Treaty)
2. จารีตประเพณี (Custum)
3. หลักกฎหมายทั่วไป (General Principle)
4. คำพิพากษาของศาลโลก (Court Decision)
UNCLOS III : The Third United Nations Convention on the Law of the Sea (1973 -1982)
    คือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลครั้งที่ 3 หรือ UNCLOS III เป็นเวทีแห่งการประสานประโยชน์กันระหว่างรัฐชายฝั่งและรัฐอื่น ซึ่งต้องการมีเสรีภาพในการเดินเรือผ่านเขตดังกล่าว การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระหว่างปี 1973 - 1982 รวมทั้งสิ้น 11 สมัยประชุมด้วยกัน ซึ่งใช้เวลายาวนานมาก มีการพูดถึง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone หรือ EEZ) เริ่มมีขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 หรือ 1982 UNCLOS ผลการประชุม มีการยกร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ขึ้น เป็นผลสำเร็จ เปิดลงนามรับรองปี 1982 มีผลบังคับปี 1994 มีการพูดถึงในหัวข้อ
ทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (Territorial Sea and Contiguous Zone)
ช่องแคบระหว่างประเทศ (Straits used for International Navigation)
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone)
ไหล่ทวีป (Continental Shelf)
ทะเลหลวง (High Sea)
ระบอบของเกาะ (Regime of Islands)
รัฐหมู่เกาะ (Archipelagic States)
การวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล (Marine Scientific Research)
การปกปักษ์และสงวนรักษาไว้ซึ่งสภาวะแวดล้อมทางทะเล (Protection and Perservation of the marine Environment)
เส้นฐาน (Baseline)
     เส้นฐานมี 2 ประเภทคือ
เส้นฐานปกติ (Normal Baseline) คือเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของอาณาเขตทางทะเลต่าง ๆ เริ่มต้นจากทะเลอาณาเขต หาได้จากแนวน้ำลดต่ำสุดตลอดแนวชายฝั่งทะเลปกติ ซึ่งไม่มีเกาะแก่งเรียงรายอยู่ตามแนวชายฝั่งหรือไม่มีการเว้าแหว่งเข้ามาในแผนดินมาก แนวอาจแตกต่างกันในแต่ละท้องที่
เส้นฐานตรง (Strait Baseline) คือเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของอาณาเขตทะเลต่าง ๆ เกิดจากการกำหนดจุดนอกสุดของชายฝั่งที่เว้าแหว่ง หรือจุดนอกสุดของบรรดาเกาะแก่งต่าง ๆ แล้วลากเส้นเชื่อมชุดเหล่านั้นก็จะเกิดเส้นฐานตรง ใช้กับชายฝั่งที่เว้าแหว่งหรือมีเกาะแก่งชายฝั่งมาก รวมทั้งรัฐหมู่เกาะ น่านน้ำที่อยู่หลังเส้นฐานจะมีสถานะเป็นน่านน้ำภายในของรัฐชายฝั่งนั้นๆ ซึ่งรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือเช่นเดียวกับบนแผ่นดินและทะเลอาณาเขต ทั้งนี้ การลากเส้นฐานตรงจะต้องไม่หักเหไปจากทิศทางโดยทั่วไปของชายฝั่งทะเลจนเกินสมควร
 น่านน้ำภายใน (Internal Waters)
      คือน่านน้ำที่อยู่หลังเส้นฐานปกติ หรือเส้นฐานตรง เข้ามาทางด้านผืนแผ่นดินของรัฐชายฝั่ง ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง และทะเลสาบ น่านน้ำรัฐหมู่เกาะ จัดว่าเป็นน่านน้ำภายในด้วย เช่น น่านน้ำของฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยรัฐจะมีอำนาจอธิปไตยและเขตอำนาจเหนือน่านน้ำภายใน
  น่านน้ำรัฐหมู่เกาะ (Archipelagic Water)
     คือน่านน้ำที่อยู่ภายในของเส้นฐานตรงหมู่เกาะ ซึ่งลากเชื่อมจุดนอกสุดของเกาะต่าง ๆ (1982 UNCLOS , ข้อ 49) รัฐหมู่เกาะ (Archipelagic States) จะมีอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) เหนือบริเวณน่านน้ำหมู่เกาะ ตลอดทั้งพื้นดินใต้ทะเล ดินใต้ผิวดิน ทรัพยากรในเขตนี้ อีกทั้งครองคลุมถึงห้วงอากาศเหนือน่านน้ำด้วย และรัฐหมู่เกาะมีหน้าที่ต้องยอมรับสิทธิของรัฐอื่นในการผ่านน้ำหมู่เกาะ โดยการกำหนดช่องทางจราจรสำหรับรัฐอื่น (Archipelagic Sealane Passage) ด้วย
 ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea)
      เป็นเขตทางทะเลที่อยู่ถัดจากน่านน้ำภายในประเทศออกไปในทะเล ในมาตรา 3 ของอนุสัญญากฎหมายทะเล ค.ศ.1982 กำหนดว่ารัฐทั้งปวงมีสิทธิในการขยายอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตออกไปได้ไกลสุดไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานออกไปในทะเล จะเป็นเขตทางทะเลแรกที่รัฐชายฝั่งมีสิทธิครอบครองโดยกฎหมายภายใน และใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างเต็มที อำนาจนี้สามารถขยายไปยังห้วงอวกาศเหนือทะเลอาณาเขต พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวของทะเลอาณาเขตอีกด้วย
เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone)
     เป็นส่วนหนึ่งของทะเลหลวง มีความกว้างไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต รัฐชายฝั่งมีอำนาจในการป้องกันมิให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร การเข้าเมือง การรัษฎากร และการอนามัยหรือสุขาภิบาล การลงโทษต่อการฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อ ก. ซึ่งได้กระทำในดินแดนหรือภายในทะเลอาณาเขตของรัฐชายฝั่ง
สิทธิการผ่านโดยสุจริต (Right of innocent passage)
     คือการเดินเรือผ่านทะเลอาณาเขตของรัฐชายฝั่งอย่างต่อเนื่องและมิชักช้า ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อสันติภาพ ความสงบและความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง (มาตรา 19(1)) ขณะผ่านต้องไม่ทำการซ้อมหรือฝึกอาวุธชนิดใด ๆ ไม่ทำการประมงใดๆ ไม่นำอากาศยานขึ้นสู่อากาศหรือปล่อยลงพื้น หรือนำขึ้นมาบนเรือ ไม่ส่งขึ้นสู่อากาศ ลงสู่พื้น หรือการนำขึ้นมาบนเรือซึ่งอากาศยานใด ๆ ต้องไม่ปล่อยขึ้นสู่อากาศ ลงสู่พื้นหรือนำขึ้นมาบนเรือซึ่งกลอุปกรณ์ทางทหารใด ๆ ต้องไม่กระทำการใดๆ โดยเจตนาที่ก่อให้เกิดภาวะมลพิษอย่างร้ายแรง ต้องไม่ดำเนินกิจกรรมวิจัยหรือสำรวจ ต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่มุ่งประสงค์เพื่อแทรกแซงระบบการสื่อสารใดๆ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสิ่งติดตั้งอื่นใดของรัฐชายฝั่ง ต้องไม่กระทำการใดๆ ที่มุ่งประสงค์ในการรวบรวมข้อสนเทศที่เป็นการเสื่อมเสียต่อการป้องกัน หรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง ต้องไม่กระทำการขนลง หรือขนขึ้นจากเรือ ซึ่งโภคภัณฑ์ เงินตรา หรือบุคคลใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับทางศุลกากร รัษฎากร การเข้าเมือง หรือการสุขาภิบาลของรัฐชายฝั่ง ต้องไม่กระทำการโฆษณาชวนเชื่อใดๆ ที่มุ่งประสงค์ให้กระทบต่อการป้องกัน หรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ)
     เขตที่มีความกว้างไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (1982 UNCLOS , ข้อ 57) รัฐชายฝั่งมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว อธิปไตยเหนือเขตนี้ในการสำรวจ แสวงหาประโยชน์ อนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต
เสรีภาพของรัฐอื่นใน EEZ ของรัฐชายฝั่ง รัฐอื่น ยังคงมีเสรีภายในเรื่อง
เสรีภาพการเดินเรือ (Freedom of navigation)
เสรีภาพการบินผ่าน (Freedom of overflight)
เสรีภาพในการวงสายเคเบิลและท่อใต้ทะเล (Freedom to lay submarine cables and pipelines)
เสรีภาพในการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล (Freedom of scientific research)

เสรีภาพในการสร้างเกาะเทียมและสิ่งติดตั้งอื่น ๆ (Freedom to construct artificial islands and other installations)

สิทธิและหน้าที่ของรัฐอื่น ใน EEZ
     ในการใช้สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามอนุสัญญานี้ในเขต EEZ ให้รัฐอื่นคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐชายฝั่งและให้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่ออกโดยรัฐชายฝั่งตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาและกฎเกณฑ์อื่นของกฎหมายระหว่างประเทศตราบเท่าที่ไม่เป็นการขัดกับภาคนี้
 สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีป
เพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจไหล่ทวีปและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป
สิทธิตามข้อ 1. เป็นสิทธิโดยจำเพาะโดยนัยที่ว่าหากรัฐชายฝั่งไม่สำรวจไหล่ทวิป หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป ผู้ใดจะดำเนินกิจกรรมเหล่านี้โดยปราศจากความยินยอมอย่างชัดแจ้งของรัฐชายฝั่งมิได้
ทรัพยากรธรรมชาติที่อ้างถึงในภาค 6 ว่าด้วยไหล่ทวีปนี้ ประกอบด้วยแร่และทรัพยากรไม่มีชีวิตอื่น ๆ ของพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดิน รวมทั้งอินทรีย์-ภาพที่มีชีวิตซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่ติดที่ คืออินทรีย์-ภาพ ซึ่งอยู่ในระยะที่อาจเก็บเกี่ยวได้นั้นไม่เคลื่อนที่ไปบนหรือใต้พื้นท้องทะเลหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เว้นแต่โดยการสัมพัสทางกายภายอยู่เสมอกับพื้นดินท้องทะเลหรือดินใต้ผิวดิน
ทะเลหลวงหรือน่านน้ำสากล (High Seas)
     เป็นทะเลที่เปิดให้รัฐทุกรัฐแสวงหาประโยชน์ได้อย่างเสรี ทุกรัฐมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้ประโยชน์จากเขตนี้ รัฐใดรัฐหนึ่งจะไม่มีสิทธิอ้างว่าส่วนใจส่วนหนึ่งของทะเลหลวงอยู่ในอำนาจอธิปไตยของรัฐตนได้ ทุกรัฐจะมีเสรีภาพในการเดินเรือ การบิน การประมง การวางสายเคเบิลและทางท่อใต้ทะเล การสร้างเกาะเทียมและสิ่งติดตั้งอื่น และการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล
การทำประมงในทะเลหลวง จำเป็นต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาหรือแนวทางปฏิบัติสากลดังต่อไปนี้
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea ,1982)
ความตกลงสหประชาชาติ พ.ศ.2538 (The UN Fish Stocks Agreement, 1995)
จรรยาบรรณในการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (Code of Conduct for Responsible fisheries, 1993)
ระบอบของเกาะ
     เกาะคือบริเวณแผ่นดินที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำซึ่งอยู่เหนือน้ำขณะน้ำขึ้น ยกเว้นตามที่ได้บัญญัติไว้ในวรรค 3 ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปของเกาะย่อมพิจารณากำหนดตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้ ซึ่งใช้บังคับแก่อาณาเขตแผ่นดินอื่น รวมถึงโขดหินซึ่งโดยสภาพแล้วไม่สามารถเป็นทีอยู่อาศัยของมนุษย์หรือยังชีพทางเศรษฐกิจได้ มิให้มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือไหล่ทวีป
 แหล่งที่มา   http://www.navy.mi.th/tmbfcc/IntDocSeaLaw.php#F8

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13698เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบทความเกี่ยวกับกฏหมายทะเลหน่อยครับ  มีของแลกเปลี่ยน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท