labschool project


ICT โรงเรียนในฝัน

labschool project in THAILAND

โรงเรียนในโครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน

   1. การนำ ICT มาพัฒนาโรงเรียนในโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน

ทุกวันนี้ท่านคงทราบดีว่าเราตกอยู่ในสภาวะถูกกระแสของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการบริหารประเทศเลือกทิศทาง “เปิดเสรี” และต้องสมาคมกับประชาคมโลก ด้วยกติกาสากลต่าง ๆ ที่ร่วมกันกำหนดขึ้น

                        เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและรวดเร็วที่สุดในยุคนี้ คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งเข้าไปอยู่ในเครื่องมืออำนวยความสะดวกเกือบทุกอย่าง และที่สำคัญคือการสื่อสาร (Communication)

                        การบริหารจัดการในยุคปัจจุบัน มีการแข่งขันกันสูงมาก การบริหารจัดการ และการตัดสินใจที่ดี คือ การบริหารจัดการและการตัดสินใจที่มี Information ที่ถูกต้องและเพียงพอ ใครมี Information ที่ดีมากกว่า ย่อมได้เปรียบต่อการตัดสินใจ และตัดสินใจได้ไม่ผิดพลาด หรือ ผิดพลาดน้อยที่สุด

                        ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ให้ได้มาซึ่ง  Information มากมายและมีประสิทธิภาพสูง กระบวนการซึ่งจะได้มาซึ่ง Information จะประกอบด้วยกระบวนการหลัก ๆ ดังนี้ คือ

·             การสร้างระบบข้อมูล 

·             การวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล

·             การเรียกใช้ข้อมูลและสารสนเทศ

กระบวนการเหล่านี้  คือ  กระบวนการ  Information and Communication Technology   หรือ  ICT  นั่นเอง
เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบันที่นำมาใช้ในกระบวนการนี้ คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารด้วยระบบ Internet ดังนั้น คนในยุคใหม่ที่จะอยู่ในสังคมโลกเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างกลมกลืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทักษะพื้นฐานที่เพียงพอในด้าน ICT 

จะเริ่มต้นที่ไหน  เมื่อไร

                                        การเริ่มต้นพัฒนาคนในเวลาที่เหมาะสม ควรจะเริ่มต้นในวัยเรียน จริงอยู่การเรียนรู้สามารถจะเรียนได้ตลอดชีวิต  ซึ่งเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่ง ที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น แต่ในขณะอยู่ในวัยเรียน โรงเรียนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน ให้มีทักษะพื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนรู้  พัฒนาความรู้ และ ทักษะได้ด้วยตนเอง

                        ใครจะช่วยนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ในด้านนี้ได้  คงหนีไม้พ้นความรับผิดชอบของผู้ที่จะต้องดำเนินการโดยตรง คือ ผู้บริหารโรงเรียน และ ครู อาจารย์ ทุกท่าน
 
                        ถ้าผู้บริหารและครู อาจารย์ ยังไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ และไม่พยายามศึกษา ไม่เรียนรู้ นักเรียนคงจะพลาดโอกาสที่เหมาะสมไป

  2.  โครงการ  ๑ อำเภอ  ๑  โรงเรียนในฝัน  ฝันไว้อย่างไร? 

                        ต้องเข้าใจก่อนว่าโรงเรียนในฝันไม่ใช่การคิดฝันไปเอง  แต่เป็นความฝัน ความมุ่งหวัง แบบมี Vision ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้แสดงถึงความตั้งใจของรัฐบาล ได้ประกาศเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นจะพัฒนาโรงเรียนทุกโรงให้มีคุณภาพ

                        “เป็นโรงเรียนชั้นดีที่เป็นต้นแบบของบูรณาการการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งรวมทั้งการบริหารจัดการ และการให้ประชาคมมีส่วนร่วมในการปรับปรุง พัฒนาหลักสูตร มีส่วนร่วมในการบูรณาการ จัดกระบวนการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบอยู่ในโรงเรียนทุกโรงเรียน”

                        โรงเรียนในฝันจะต้องมีผู้บริหารที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เปิดใจกว้าง รับแนวคิดในมิติของการร่วมพัฒนาจากทุกฝ่ายที่ศรัทธาและปรารถนาที่จะร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนครูต้องได้รับการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติจากการเรียนการสอนแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ ครูต้องมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู ครูต้องเปิดใจกว้างให้เด็กมีความอบอุ่น กล้าคิด กล้าพูด และต้องเอาใจใส่ สอดส่องดูแลช่วยเหลือเด็กอย่างใกล้ชิดตลอดจนเรียนรู้ร่วมกันกับนักเรียน

      โรงเรียนในฝันจึงเป็นเสมือนโรงเรียนต้นแบบที่หลายหน่วยงานจะมาช่วยกันคิด ช่วยกันศึกษา ช่วยกันพัฒนา จึงตั้งชื่อว่า  “Lab School” ไม่ใช่ Dream School หรือ Ideal School ตามที่หลายท่านพยายามแปลความ 

                        โรงเรียนในฝัน เป็นเจตนารมณ์ที่รัฐบาลจะทำให้เป็นโรงเรียนชั้นดีที่เกิดขึ้นและมีอยู่อย่างน้อย อำเภอละหนึ่งโรงเรียน   โรงเรียนนี้ในขั้นสุดท้าย หรือ ขั้นผลผลิต นักเรียนที่จบจากโรงเรียนแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้อย่างชัดเจน

1.      เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (นิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียนตลอดชีวิต) และมีทักษะกระบวนการเรียน (รู้วิธีเรียน)

2.      เป็นผู้ที่มีทักษะกระบวนการคิด หรือ คิดเป็น  มีระบบ คิด วิเคราะห์สังเคราะห์สร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง (เรียนเป็น)

3.      เป็นผู้ที่มีทักษะการดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ

4.      มีความเป็นไทยด้วยความภาคภูมิใจ
 
  อาจจะสรุปสั้น ๆ ได้ว่า

                        เป็นบุคคลที่ ใฝ่รู้  เรียนเป็น  มีความคิด  ใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด มีความสุข และ มีความเป็นไทยที่สง่างามในเวทีโลก

                        นอกจากนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ  ชินวัตร ได้เสนอความคิด ซึ่งท่านเชื่อว่า  “ผู้ที่มีการศึกษา  มีความคิด  มีปัญญา จะสามารถหนีพ้น ความยากจนได้ “

                        เพื่อพุ่งเป้าไปสู่การพัฒนาโรงเรียนเหล่านี้ ทางคณะทำงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงตั้ง ปณิธาน เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนา เพื่อให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม ช่วยกันกำหนดทิศทางการพัฒนาและภาพความสำเร็จไว้ว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่

“พลิกระบบการศึกษา”

“หยุดวงจรความยากจน”
 
 พลิกระบบการศึกษา   จึงเป็นโจทย์เริ่มต้นว่าจะพลิกอย่างไร  เพื่อที่จะให้คนรุ่นใหม่มีคุณสมบัติได้ตามที่คาดหวังที่กล่าวมาแล้ว  เพื่อเขาจะได้หลุดพ้นจาก วงจรความยากจน  ได้ในอนาคต

ภาพความสำเร็จ:

โครงการได้วางแผนที่กลยุทธ์โดยใช้หลักการวางแผนแบบสมดุล (ฺBalanced Scorecard) กำหนดผลผลิตของโรงเรียนในฝันครบทุกด้าน คือ นักเรียน  กระบวนการจัดการศึกษาในโรงเรียน  การเรียนรู้และการพัฒนา งบประมาณและทรัพยากร  

1 นักเรียน

·       มีนิสัยใฝ่รู้ 

·       รักการอ่านและการค้นคว้า 

·       สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 

·       เป็นคนดีมีคุณธรรม 

·       รู้จักคิดวิเคราะห์ 

·       มีทักษะการดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่

·       ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ สร้างงานสร้างอาชีพ

·       สามารถนำเสนอผลงานได้อย่างสร้างสรรค์

·       สืบสานวิถีวัฒนธรรมไทยอย่างมั่นใจในตนเอง

2 ครู

·       มีทักษะวิชาชีพในการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยใช้สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสมกับนักเรียน

·       มีความกระตือรือร้น สนใจ ใส่ใจ  ดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองตามศักยภาพอย่างเต็มกำลังความสามารถ

3 ผู้บริหาร

·       เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงให้โรงเรียนมีการบริหารจัดการที่ดี

·       มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาวิชาการ หลักสูตร นวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ  เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนโดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

4 โรงเรียน

·       เป็นโรงเรียนชั้นดี มีคุณภาพ

·       มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ปลอดภัยเอื้อต่อการเรียนรู้

·       มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นต้นแบบของการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งเกิดจากการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ ร่วมพัฒนา ร่วมสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาสังคม

5 ผู้ปกครองและชุมชน

·       ให้การยอมรับ เชื่อถือ

·       มีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียน

3.  ICT มีบทบาทสำคัญอย่างไร ในกระบวนพลิกระบบ
     การศึกษา

   
 จากโจทย์

1.  เราจะหยุดความยากจน ด้วยการสร้างปัญญาให้แก่คนไทย
ในอนาคต

2.  เราจะทำให้คนไทยมีความสง่างามในเวทีโลก (วิถีไทยในวิถีโลก)

3.  เราจะสร้างให้เด็กไทยเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ และ เรียนเป็น ฯลฯ

·       ต้องปฏิรูปการเรียนรู้ ต้องจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญา ไม่ใช่การเรียนรู้ เพื่อจำข้อมูล    การจำ  มีความจำเป็นในส่วนที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ส่วน ข้อมูล ควรจะอยู่ใน แหล่งเรียนรู้ ใด ๆ และสามารถเรียกใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อจำเป็น

·      ขยายขีดความสามารถในการเรียนรู้ หรือสามารถเสาะแสวงหาข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

ทักษะทางภาษาทั้งภาษาไทย  ภาษาสากล และ  ทักษะทางด้าน ICT   จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการขยายขีดความสามารถในการเรียนรู้ 


 4.  ICT จะเข้าไปมีบทบาทส่วนไหน กับ โรงเรียนในฝัน 

                   ICT เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในยุคปัจจุบัน มีความเหมาะสมที่จะนำมาเป็น “เครื่องมือ” ที่สำคัญ ถ้าพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ในโรงเรียน อาจจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่การบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน

                  การนำ ICT มาใช้เพื่อการบริหารจัดการ หมายถึงการนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบบริหาร เช่น

-   ทำงานได้เร็วขึ้น ลดเวลาทำงานให้น้อยลง

-   ทำงานได้งานเพิ่มขึ้น ใช้คนน้อยลง

-   คุณภาพงานดีขึ้น

                  การนำ ICT มาใช้เพื่อการเรียนการสอน หมายถึง การนำมาเป็นเครื่องมือสำหรับครูและนักเรียน เช่น

-   สร้างสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ ของครู

-   การนำมาฝึกทักษะพื้นฐานให้แก่นักเรียนเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาคอมพิวเตอร์ให้มีทักษะเพียงพอ

-   ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วิชาอื่น ๆ

-   ใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้เสมือนห้องสมุดที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทั่วโลก    

สรุปว่า มีการใช้  ICT  เป็นเครื่องมือในการทำงาน และเพื่อการเรียนรู้ จนเป็นวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งครูและนักเรียน
 

5.  ถ้าจะให้ ICT เข้ามามีบทบาทดังหัวข้อที่กล่าวมามีเงื่อนไขใดบ้าง ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จเป็นไปตามที่คาดหวังไว้

  • โรงเรียนมี Hardware  และ Software  พื้นฐาน สำหรับงาน ICT เพียงพอหรือเหมาะสมกับจำนวนครู และนักเรียน
  • ผู้บริหารมี วิสัยทัศน์ ด้าน  ICT อย่างถูกต้อง และทักษะพื้นฐานในการใช้งาน พอสมควร มีการบริหารจัดการที่ดี (ถ้าไม่มีแต่ตั้งใจจะมี  ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก)
  • ครู อาจารย์ ทุกคน หรือ ส่วนมากมีทักษะพื้นฐานในการใช้งาน ICT เพียงพอที่จะไปจัดกิจกรรม การเรียนการสอน วิชาต่าง ๆ ได้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (ถ้าไม่มีก็ต้องมีความตั้งใจที่จะฝึกให้มี จึงจะประสบผลสำเร็จ)
  • ครู อาจารย์ แต่ละสาระวิชาจะต้องรู้ว่าแหล่งเรียนรู้ ที่เกี่ยวข้องกับสาระวิชาที่รับผิดชอบ อยู่ที่ไหนบ้าง และจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างไร
  • ผู้บริหารและครู มีความรู้ ความเข้าใจ หลักการวิธีการสอนแบบพัฒนาปัญญา และ มุ่งมั่นจัดการเรียนการสอนแบบพัฒนาปัญญา
  • โรงเรียนและชุมชน มีความร่วมมือกันในการจัดการศึกษา
  • รัฐให้การสนับสนุน ส่งเสริมในด้านการบริหาร และพัฒนาบุคลากร ทรัพยากร ในส่วนที่เป็นข้อจำกัดของโรงเรียนอย่างเหมาะสม และ เพียงพอ
หมายเลขบันทึก: 135480เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2007 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ  ท่าน ดร.อภิชาติ

          โรงเรียนดิฉันเข้าโครงการโรงเรียนในฝัน รุ่นที่ 2 โรงเรียนดีใกล้บ้าน  ยอมรับค่ะว่าการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสามารถกระตุ้นโรงเรียนให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้มาก  การดำเนินงานของโรงเรียนชุมชนคำตานาหนองกุง (จ.อุดรธานี) การพัฒนาเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป  สักวันหนึ่งคงไดรับการนิเทศจากท่านในการพัฒนาโรงเรียนในฝันค่ะ

ยินดีต้อนรับเจ้านาย...สู่ชุมชนนักจัดการความรู้ สพฐ. จ้ะ ... ว่าง ๆ แวะเยี่ยมชมที่ http://gotoknow.org/planet/kmobec 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท