การผลิตอาหารปลอดภัยกับการจัดการห่วงโซ่อุปสงค์และห่วงโซ่อุปทาน


ห่วงโซ่อุปสงค์

การผลิตอาหารปลอดภัยกับการจัดการห่วงโซ่อุปสงค์และห่วงโซ่อุปทาน

อาหารปลอดภัยเป็นความต้องการของพลโลก การปนเปื้อนและปลอมปนในอาหารสร้างภัยอันตรายแก่ชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก บางชนิดเห็นผลต่อร่างกายในทันที และบางชนิดมีการสะสมในร่างกายและรอวันที่จะก่อโรคภัยไข้เจ็บจนคร่าชีวิตมนุษย์ เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง การผลิตอาหารให้ปลอดภัยจึงเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารแหล่งใหญ่ของพลโลก ด้วยข้อบังคับและกฎเกณฑ์การนำเข้าของต่างประเทศ ได้บีบบังคับให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตอาหารให้มีความปลอดภัยตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า และนับวันกฎเกณฑ์ต่างๆ ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มข้อกำหนดต่างๆ มากขึ้น รวมถึงประเทศที่ไม่เข้มงวดกับคุณภาพความปลอดภัยของอาหาร ได้เริ่มให้ความสนใจและกำหนดข้อบังคับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่จะนำเข้ามาบริโภคภายในประเทศ  ความตื่นตัวที่เกิดจากสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การระบาดของโรคไข้หวัดนก และโรควัวบ้า เป็นตัวผลักดันให้หลายประเทศต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ ด้วยการกำหนดมาตรฐานการนำเข้าอาหารที่เข้มงวดมากขึ้นไม่เพียงแต่ข้อกำหนดมาตรฐานเท่านั้นที่มีความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มขึ้น การระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนการผลิต ก็ถูกนำมาเป็นข้อกำหนดหนึ่งของมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร เรื่องนี้ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นอย่างยิ่ง วัตถุดิบที่นำมาแปรรูปมาจากผู้รวบรวมหรือพ่อค้าคนกลางที่ไม่มีการจดบันทึกที่มาของผลผลิตและไม่มีการแบ่งพื้นที่เก็บรักษา โครงสร้างการผลิตอาหารแบบเดิม จึงเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของผู้ผลิตภายในประเทศ การวางรากฐานเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าอาหารปลอดภัย จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีแผนแม่บทที่ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ระยะสั้นและระยะยาว โดยมีตัวแบบ ระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานและ Logistics เป็นเครื่องมือในการประสานกิจกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ ในอนาคตอันใกล้ระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานคงไม่เพียงพอที่จะสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เนื่องจากมุมมองด้านการผลิตตามคำสั่งซื้อหรือการพยากรณ์ยอดขาย จะไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดความต้องการของผู้บริโภค การเข้าใจในรายละเอียดของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปในระบบการจัดการโซ่อุปทาน การปรับกระบวนทัศน์ด้วยการมองย้อนกลับไปดูรายละเอียดด้านคุณภาพและคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องการ  เป็นการเปลี่ยนมุมมองจากด้านอุปทานเป็นด้านอุปสงค์ ห่วงโซ่อุปสงค์จึงเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่จะทำให้การผลิตตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค และสะท้อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนความคิดเดิมจากการผลิตจำนวนมากเพื่อการประหยัดต่อขนาด เป็นการผลิตตามความต้องการเพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภค ด้วยการส่งมอบสินค้าที่ถูกต้องเชื่อถือได้ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า รวดเร็วทันเวลา และต้นทุนโดยรวมต่ำ  กระบวนการห่วงโซ่อุปสงค์จะเป็นการเติมเต็มความต้องการที่ละเอียดอ่อนของผู้บริโภค และช่วยให้เกิดการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ในอดีตอาจจะเป็นไปได้ยากที่จะทราบรายละเอียดข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค แต่ในปัจจุบันระบบสารสนเทศมีความก้าวหน้าเพียงพอที่จะจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลดังกล่าวได้โดยง่ายในการดำเนินกิจกรรมของระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุปสงค์ จะดำเนินการบริหารจัดการโดยเครือข่ายการจัดการห่วงโซ่อุปทานภาคเหนือตอนล่าง กลุ่ม 1 ที่จัดตั้งขึ้น สมาชิกเครือข่ายฯ ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริง จึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันที่จะผลักดันให้หน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนให้การส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นระบบ โดยมีแผนแม่บทที่ผ่านการกลั่นกรองจากสมาชิกและผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดการบูรณาการที่ทุกฝ่ายเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา

ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง ที่นับว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการปรับโครงสร้างการผลิตนี้ คือ กระบวนทัศน์ของการทำงานแบบองค์รวม ที่ต้องมองในภาพใหญ่ ที่เป็นแผนแม่บท แล้วนำกิจกรรมย่อยมาบูรณาการตามพันธกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้นำเสนอเห็นว่าระบบงบประมาณตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและการบริหารราชการเชิงบูรณาการ เป็นระบบงบประมาณที่เหมาะสมสามารถระดมทรัพยากรมาร่วมกันดำเนินกิจกรรมได้ แต่ในสภาพปัจจุบันที่นโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีระบบงบประมาณลักษณะนี้มาใช้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ ดังนั้นการนำเสนอแผนงานดังกล่าวข้างต้นอาจจะเกิดอุปสรรคในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเข้าใจถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรด้วยการพัฒนาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และ Logistics แล้ว จะทราบว่าโอกาสของการพัฒนาแบบแยกส่วน โดยแยกห่วงโซ่อุปทานกลางน้ำคือผู้แปรรูปมาพัฒนาเพียงลำพังแล้ว ผลการพัฒนาจะได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากกระบวนการผลิตวัตถุดิบก่อนเข้าโรงงาน หากไม่ได้คุณภาพและ/หรือการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิดภาระต้นทุนแก่โรงงานแปรรูปโดยเฉพาะต้นทุนในการกำจัดของเสีย สารตกค้าง สิ่งปนเปื้อนและปลอมปน ดังนั้นหากขยายขอบเขตของงานส่งเสริมพัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุปทานของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ออกไปให้ครอบคลุมถึงผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของภาคอุตสาหกรรม และจำกัดเฉพาะเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในห่วงโซ่อุปทานเท่านั้น ก็น่าจะทำให้โอกาสของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น เหตุผลสนับสนุนอีกประการหนึ่งคือปัจจุบันระบบการผลิตอาหารที่ดีต้องเป็นระบบปิด เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารเคมี สารพิษ และเชื้อโรคต่างๆ การขีดวงจำกัดเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในห่วงโซ่อุปทาน จะเปรียบเหมือนกับการผลิตในระบบปิด คือ สามารถควบคุมและบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะทำให้อาหารไม่ปลอดภัยได้เป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 134516เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2007 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท