ปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น..สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้


ปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น..สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้
ปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น..สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้

สาระน่ารู้ สังเกตพฤติกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทัน
สังคมไทยในปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาจิตเวชมากขึ้น เนื่องจากหากสามารถทำให้คนในสังคมมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีก็หมายถึงการมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพที่จะช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการว่าในปี ค.ศ. 2020 โรคจิตเวช จะเป็นโรคที่มีผู้ป่วยสูงเป็นอันดับ 2 ซึ่ง ถือเป็นปัญหาที่สำคัญของโลกในอนาคตข้างหน้าสำหรับประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต10%ของประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 6 ล้านคน

ซึ่งในส่วนของปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในไทยก็เป็นปัญหาที่สังคมไม่ควรมองข้าม เพราะจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตระบุว่า ปัจจุบันเด็กไทยนับล้านคนอยู่ในสภาวะเครียดจัด โดยเป็นผลมาจากการเรียนหนักตามความคาดหวังของพ่อแม่ !??!

โดยเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี พยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากจำนวน 30 คนต่อแสนประชากร เป็น 34 คนต่อแสนประชากร หรือพยายามฆ่าตัวตายปีละ7,800คน หรือเฉลี่ยวันละ 21 คนโดยสามารถฆ่าตัวตายสำเร็จปีละประมาณ 800 คน หรือเฉลี่ยวันละ 2 คนซึ่งเด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ และบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม

ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความสนใจและสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานว่ามีปัญหาผิดปกติหรือไม่ เพื่อที่จะได้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทัน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กจะสามารถสังเกตหรือมองเห็นพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยงของเด็กได้ !!

อย่างไรก็ตามแม้จะเห็นพฤติกรรมหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก แต่ผู้ปกครองหลาย ๆ คนก็ยังไม่รู้ว่าเด็กมีอาการผิดปกติอย่างไร หรือรุนแรงขนาดไหน ถึงควรที่จะพามาพบและปรึกษาจิตแพทย์เด็ก

ทั้งนี้ข้อมูลจาก http://go.to/ramamental ซึ่งจัดทำโดยภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าหากเด็กมีสัญญาณต่อไปนี้อาจบ่งชี้ว่าเด็กหรือวัยรุ่นควรที่จะได้รับความช่วยเหลือ

ในเด็กเล็ก หากเด็กผลการเรียนตกลงอย่างชัดเจน ถึงจะพยายามอย่างมากแต่ผลสอบไม่ได้เท่าที่พยายาม มีพฤติกรรมท่าทางวิตกกังวลอย่างมาก ซึ่งอาจแสดงออกโดยไม่ยอมไปโรงเรียนบ่อย ๆ หรือปฏิเสธไม่ยอมเข้าเรียน หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เด็กวัยเดียวกันมักทำ เด็กซนมาก อยู่ไม่ นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา มากกว่าการเล่นทั่ว ๆ ไป ฝันร้ายบ่อย ๆ ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ก้าวร้าว ต่อต้านผู้ใหญ่เป็นประจำ มีระยะเวลานานกว่า 6 เดือน หรือมีการร้องไห้ อาละวาดบ่อย ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้

ในเด็กโตและวัยรุ่น ถ้าเด็กมีผลการเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้สารเสพติด หรือดื่มสุรา ไม่สามารถแก้ปัญหาและปฏิบัติงานประจำได้ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการนอน และการกินอย่างชัดเจน พูดหรือบ่นเรื่องอาการเจ็บป่วยทางกายมากมาย มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือละเมิดกฎอย่างไม่ก้าวร้าว หรือละเมิดสิทธิผู้อื่นบ่อย ๆ อาทิ ต่อต้านผู้ใหญ่ หนีโรงเรียน ทำลายข้าวของสาธารณะ หรือลักขโมย กลัวความอ้วนอย่างมาก ทั้งที่รูปร่างหรือน้ำหนักของตนไม่ได้เป็นแบบนั้น มีอารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์ไม่แจ่มใสต่อเนื่อง ชอบมองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือรุนแรงถึงขั้นคิดเรื่องตายบ่อย ๆ หรือมีอารมณ์โมโหรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้บ่อย ๆ

ด้านแพทย์หญิงดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ด้านจิต วิทยาเด็ก จากศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า
วีธีการรักษาและบำบัดเด็กที่มีปัญหาด้านจิตเวชนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นและระดับความรุนแรง โดยส่วนใหญ่เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองนำเด็กมาพบแพทย์นั้น การรักษาเริ่มแรกต้องทำการซักประวัติ ตรวจและประเมินเด็ก และทำการทดสอบไอคิวด้วยแบบทดสอบต่าง ๆ ทางจิตวิทยา

ทั้งนี้การรักษาจะต้องเป็นการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล นักจิตวิทยา ครูการศึกษาพิเศษ นักกิจกรรมบำบัด และนักอรรถบำบัด อย่างเช่น เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน โดยมีความบกพร่องหรือขาดทักษะด้านการเรียน (Learning Disable) และการทำงานของสมองผิดปกตินั้น ถ้าหากมีปัญหามากและซับซ้อนก็ต้องปรึกษากับแพทย์หรือบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ ซึ่งการช่วยเหลือด้วยการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กแบบเฉพาะเจาะจงว่ามีปัญหาตรงไหน จะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา

“การดูว่าเด็กมีความบกพร่องในทักษะเรื่องการเรียนหรือไม่ สามารถสังเกตได้ หากเด็กเรียนระดับเดียวกันแต่มีความสามารถในการเรียนน้อยกว่าเพื่อน 2 ชั้น เช่น เด็กเรียนในระดับชั้น ป.4 แต่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เทียบเท่ากับเด็กในระดับ ป.1-ป.2 ก็สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่าเด็กคนดังกล่าวอาจจะ มีความบกพร่องหรือขาดทักษะด้านการเรียน ซึ่งคุณครูจะเป็นผู้ที่รู้ถึง พฤติกรรมการเรียนของเด็กว่าเรียนช้ากว่าเพื่อน ๆ ในห้องหรือไม่ เพราะคลุกคลีใกล้ชิดกับเด็ก” แพทย์หญิงดวงรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียนอาจจะมีปัญหาในเรื่องพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมา เช่น การเก็บตัว ไม่พูดจา เนื่องจากเด็กมีความกดดันจากพ่อแม่ นอกจากนี้เด็กที่มีปัญหาความบกพร่องในทักษะด้านการเรียนบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องดูแลเพราะเด็กอาจจำเป็นต้องได้รับยา

นอกจากนี้ครูการศึกษาพิเศษก็มีส่วนสำคัญในการดูแลการเรียน การสอนในแบบพิเศษ ซึ่งจะต้องอาศัยอุปกรณ์เสริม เพื่อช่วยเหลือเด็กลดความบกพร่องที่เกิดขึ้น ให้เด็กสามารถเรียนต่อได้

ด้านแพทย์หญิงหทัยกานต์พงษ์กาญจนะ จิตแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า “ในส่วนปัญหาจิตเวชในวัยรุ่นนั้น สังคมและสภาพแวดล้อมก็มีส่วนในการหล่อหลอมพฤติกรรมของวัยรุ่นเช่นกัน หากสังคมเต็มไปด้วยความรุนแรง เด็กก็จะมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติและจะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาไปเรื่อย ก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย นอกจากนี้ปัญหาจิตเวชที่เกิดขึ้นอาจเป็นปัญหาที่เกิดต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็ก เช่น สมาธิสั้น ปัญหาเรื่องการเรียน ซึ่งหากเด็กเติบโตขึ้นมาแล้วไม่สามารถปรับตัวได้จะทำให้เกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรียนตก ติดเพื่อน ติดเกม”

อย่างไรก็ตามเมื่อพ่อแม่พบว่าเด็กมีอาการผิดปกติที่แตกต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กได้แล้ว การพาเด็กมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวิเคราะห์และรักษาตามสาเหตุ จะเป็นทางออกช่วยให้เด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีอาการที่ดีขึ้น สามารถปรับตัวให้อยู่ในครอบครัวและสังคมได้ !?!.

คำสำคัญ (Tags): #kmeduyala3#kmobec
หมายเลขบันทึก: 133480เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2007 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท